เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
บทความการศึกษา
การศึกษาแบบไหนสอนให้คิดเป็น
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: การศึกษาแบบไหนสอนให้คิดเป็น (อ่าน 2997 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3925
การศึกษาแบบไหนสอนให้คิดเป็น
เมื่อ:
กุมภาพันธ์ 22, 2016, 07:30:41 PM
โดย เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
ทำไมคนไทยจำนวนมากถือว่า ?ถาม=เถียง? ?วิจารณ์=ด่า? หรือว่าเรายังอยู่ในสังคมวัฒนธรรมอำนาจ สังคมอุปถัมภ์ ที่มีผู้ใหญ่-ผู้น้อย หัวหน้า-ลูกน้อง มีนาย-มีบ่าว แบบก้าวข้ามไปไม่ได้ ?
สังคมแบบนี้เป็นสังคมที่ใช้ความรุนแรง จึงมีแต่ข่าวฆ่ากัน ตีกันตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียนนุ่งกางเกงขาสั้น ไปจนถึงความรุนแรงในครอบครัว ในชุมชน ในเมือง ในชนบทไปทั่ว เป็นสังคมที่ผู้คนต้องอยู่แบบก้มหน้าก้มตา มองหน้าก็ไม่ได้ ถือว่าหาเรื่อง ขับรถปาดหน้าก็ลงมายิงกันแล้ว
เรามีการศึกษาแบบไหนคนถึงไม่ใช้เหตุผล ไม่ใช้สมองคิด ไม่ใช้ปัญญา แต่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา หรือว่าเราใช้แต่เงินในการพัฒนาประเทศ ถึงดูเหมือนว่า ยิ่งเรียนยิ่งโง่ ยิ่งพัฒนายิ่งจน ยิ่งรักษายิ่งเจ็บ กลายเป็นสังคมโง่ จน เจ็บแบบซ้ำซากถาวร วงจรอุบาทว์ที่หาทางออกไม่ได้
เมื่อปี 2549 คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานธนาคารกรุงเทพ พูดเชิงประชดไว้ว่า ?ประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาพัฒนาเพราะเขาคิดเป็น ไม่ได้พัฒนาเพราะเขามีเงิน ถ้าเราคิดไม่เป็นก็อย่าไปพัฒนา การพัฒนา คือ การคิดให้ถูกต้อง? พูดแบบคนเคยทำงานสภาพัฒน์ฯ มาก่อน
ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน นายเจมส์ วอลเฟนโซห์น อดีตประธานธนาคารโลกบอกว่า ?เงินแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้ ถ้าแก้ได้คงแก้ไปนานแล้ว เพราะโลกไม่ได้ขาดเงิน? ประโยคต่อๆ ไป มาเขียนเองดีกว่าว่า สังคมไทยไม่ได้จนทรัพยากร ไม่ได้จนแรงงาน ไม่ได้จนเงิน แต่จนปัญญา
การศึกษามีมานานพอๆ กับญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ตั้งแต่ก่อนอนุบาลไปจนถึงอุดมศึกษา ปริญญาตรีโทเอก เหมือนประเทศอื่น แล้วทำไมเรียนแล้วถึงไม่มีปัญญาเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมให้ดีกว่านี่ วัดผลออกมาทีไรลูกหลานบ้านเราก็สอบตกเกือบทุกวิชา ทุกปี หรือได้ที่ท้ายๆ ทุกครั้งเมื่อเทียบกับชาติอื่น
ความจริง เด็กทุกคนเกิดมาล้วนอยากเรียนรู้และตั้งคำถามากมาย จนมีการพูดกันว่า man is born genius but dies idiot คนเกิดฉลาด แต่ตายโง่ ยิ่งโตยิ่งไม่อยากรู้อะไรอีก ชอบพูดว่า ?รู้แล้วๆ?
หรือว่าการศึกษาของเราแทนที่จะทำให้เด็กฉลาดขึ้น กลับทำให้โง่ลง บอนไซแบบทำลายศักยภาพของเด็ก เป็นกระถางที่ครอบต้นไม้ไม่ให้โต ไม่ให้ลงดิน ไม่ให้โตเป็นต้นไม้ใหญ่ พึ่งตนเองได้ ทำให้คนและสัตว์ได้พึ่งพาอาศัยด้วย
การศึกษาไทยไม่สอนให้คนตั้งคำถาม สอนแต่ให้ท่องจำคำตอบสำเร็จรูป การเรียนคือการท่องจำ การเตรียมสอบคือการเก็งข้อสอบ การติวคือการเอาข้อสอบต่างๆ มาเรียนเพื่อจะได้ตอบให้ตรงคำถาม
เมื่อเรียนแต่เพื่อตอบคำถามที่ครูหรือใครก็ไม่รู้ตั้งเอาไว้ จึงได้แต่คำตอบที่ไม่ตรงคำถามชีวิตของตนเอง ไม่ตรงคำถามของสังคม เรียนไปจึงพึ่งพาตนเองไม่ได้ ทำงานไม่เป็น
เด็กไทยไม่ถาม เพราะถามไม่เป็น การศึกษาไม่ได้สอนให้ถามเป็น สอนให้ตอบเป็นอย่างเดียว ไม่สอนให้ถกเถียง เพราะเถียงเป็นเรื่องไม่ดี เถียงผู้ใหญ่ไม่ได้ เถียงครูไม่ได้ เด็กดีจึงไม่ถาม ไม่เถียง ไม่วิจารณ์ พอมีโอกาสจึงทะลุกลางป้องเป็นการเถียงและด่าไปเลย กลายเป็นความรุนแรง เพราะทนอัดอั้นกันมานาน จึงมีสังคมนิรนามที่นิยมเขียนบัตรสนเท่ในโลกออนไลน์ ที่คนไทยใช้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ไม่เช่นนั้นก็มีการใช้เหตุผลแบบข้างๆ คูๆ เอาสีข้างเข้าถู แบบศรีธนญชัย คงเพราะการศึกษาไม่ได้สอนให้คิดเป็น ไม่ได้สอนให้ใช้เหตุผล ให้เล่นคำ เล่นสำนวนโวหาร ตีฝีปาก ให้ฟังดูดีมีความน่าเชื่อถือ แต่เป็นตรรกะหลอกๆ อย่างที่นักการเมืองบางคนชอบใช้
การเกิดขึ้นของ ?โรงเรียนแห่งแรกของโลก? ในตะวันตก ที่ประเทศกรีซเมื่อ 2,500 ปีก่อน เมื่อเพลโต นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ได้ก่อตั้ง ?Academia? จัดการเรียนแบบที่โสคราติส ครูของเขาได้เริ่มต้น คือ การเรียนการสอนแบบ ?วิภาษวิธี? (dialectic) ซึ่งเริ่มจากการตั้ง ?ตัวยืน? (thesis) ข้อเท็จจริงหรือสิ่งที่คนเข้าใจหรือเชื่อ แล้วเกิดคำถาม ความเห็นแย้ง การวิจารณ์ (anti-thesis)ที่จะนำไปสู่การหาข้อสรุปใหม่ (synthesis) จากนั้นก็มีการตั้งคำถาม ความเห็นแย้งใหม่อีก และนำไปสู่ข้อสรุปใหม่เช่นนี้เรื่อยไป
กระบวนการนี้เองที่ทำให้เกิดความรู้ใหม่ เกิดนวัตกรรม เกิดการเปลี่ยนแปลง ปลดปล่อยก้าวข้ามวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ทุกอย่างมีคำตอบหมดแล้ว ตอบด้วยตำนาน เรื่องราวของเทพเจ้าทั้งหลาย ที่บอกผู้คนว่า โลกเป็นมาอย่างไร เป็นอยู่อย่างไร และเปลี่ยนไปอย่างไร
โสคราติสตั้งคำถามให้คนหนุ่มสาวในสนามหลวงกรุงเอเธนส์พยายามคิดหาคำตอบใหม่ กลายเป็นการวิพากษ์ความเชื่อ ความรู้แบบเดิม สร้างวิญญาณขบถ ที่ทำให้เกิดความรู้ใหม่และวิชาการใหม่ๆ ในตะวันตกในเวลาต่อมา
โสคราติสบอกว่า ?ชีวิตไม่มีค่า ถ้าไม่มีการตรวจสอบ? การตรวจสอบ คือ การตั้งคำถาม และต้องตั้งให้ดี ตั้งให้เป็น จึงจะได้คำตอบที่ดี มีพลัง (dynamics) ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อเดินหน้าต่อไป
ไอน์สไตน์บอกว่าความรู้ดีที่สุดมาจากการปฏิบัติ เพราะเราเป็นผู้สร้างความรู้นั้นเอง เป็น ?ความรู้มือหนึ่ง? ที่เราต่อยอดความรู้อื่น หรือสร้างจากจินตนาการ ซึ่งไอนส์ไตน์บอกว่า สำคัญกว่าความรู้
วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบวิภาษวิธีส่งเสริมให้คนมีอิสระทางความคิด ทำให้เกิดจินตนาการ และกล้าหาญที่จะคิดนอกกรอบ ออกนอกกรอบ เพื่อแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า
การศึกษาที่ดีจะไม่ทำลายความฝัน ความใฝ่ฝันของเด็ก ของผู้เรียน แต่จะสร้างแรงบันดาลใจให้มีจินตนาการ กล้าถาม และกล้าหาคำตอบเอง การศึกษาแบบนี้ต่างหากที่ทำคนคิดเป็นทำให้สังคมเจริญพัฒนาด้วยความรู้ใหม่ที่สร้างนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่ปรับวัฒนธรรมการเรียนรู้ สังคมไทยจะได้แต่หุ่นยนต์หรือบอนไซกับไม้ในกระถางเท่านั้น
ที่มา สยามรัฐ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
บทความการศึกษา
การศึกษาแบบไหนสอนให้คิดเป็น
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?