ผู้เขียน หัวข้อ: การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Results Based Management : RBM)  (อ่าน 50771 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์  (Results  Based  Management : RBM)

บทนำ

        ในช่วงทศวรรษที่  1980  เป็นต้นมา  รัฐบาลของประเทศที่พัฒนาทั้งในทวีปยุโรป  อเมริกาเหนือ  และออสเตรเลีย  ได้เร่งปฏิรูประบบราชการทั้งนี้เนื่องจากประเทศเหล่านั้นประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจทั้งในเรื่องการแข่งขันการค้าระหว่างประเทศ  การใช้จ่ายของรัฐที่มีสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับรายจ่ายรวมทั้งประเทศ  ปัญหาการขาดดุลของงบประมาณภาครัฐและปัญหาเรื่องความล่าช้าในการบริการประชาชน  รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นจึงต้องการที่จะปรับปรุงระบบการบริหารงานราชการให้มีความทันสมัย  ขจัดความไม่คล่องตัวทางการบริหารตลอดจนได้เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์การบริหารแบบเดิมที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อปัจจัยนำเข้าและกฎระเบียบมาใช้วิธีการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์  (Results  Based  Management : RBM)  เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารรัฐกิจให้มีลักษณะเป็นอย่างภาคธุรกิจเอกชน  (ทศพร  ศิริสัมพันธ์, 2543 : 145)  โดยมุ่งเน้นถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารงานกำหนดยุทธศาสตร์  วัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร  พร้อมทั้งต้องสร้างตัวชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินงานที่ชัดเจน  และสามารถตรวจสอบได้

ความหมายและแนวความคิดของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์

       ระบบการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์มักจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป  เช่น  การบริหารงานโดยยึดวัตถุประสงค์  (Management  by  Objective : MBO)  หรือการบริหารผลการดำเนินงาน  (Performance  Management)  ซึ่งมีแนวความคิดหลักเหมือนกัน  แม้ว่าจะแตกต่างกันไปบ้างในราย ละเอียด  การบริหารแบบมุ่งสัมฤทธิ์ได้มีผู้ให้ความหมายไว้ดังต่อไปนี้

        Canadian International Development Agency ; CIDA (1999) กล่าวว่า การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ เป็นวิธีการในการปรับปรุงการบริหารให้เกิดประสิทธิผล (Effectiveness) และโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ (Accountability) โดยที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย ประเมินความเสี่ยง กำกับติดตามกระบวนการดำเนินงานเพื่อการบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางบริหารและการรายงานผลการปฏิบัติงาน

        ทศพร  ศิริสัมพันธ์  (2543 : 146)  กล่าวว่า  การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์  เป็นการบริหารที่เน้นการวางแผน  การกำหนดวัตถุประสงค์  เป้าหมาย  และกลยุทธ์การดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม  ผู้บริหารในแต่ละระดับขององค์การต้องยอมรับและคำนึงถึงผลงาน  รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการจัดวางระบบการตรวจสอบผลงานและการให้รางวัลตอบแทนผลงาน  (Performance  Related)

        ทิพาวดี  เมฆสวรรค์  (2543 : 12)  ได้ให้ความหมาของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์  ว่าเป็นการบริหารโดยมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์หรือความสัมฤทธิ์ผลเป็นหลัก  ใช้ระบบการประเมินผลงานที่อาศัยตัวบ่งชี้เป็นตัวสะท้อนผลงานให้ออกมาเป็นรูปธรรม  เพื่อการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้นและแสดงผลงานต่อสาธารณะ

        จากที่กล่าวมาสามารถสรุปได้ว่า  การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์  (Results  Based  Management : RBM)  เป็นการบริหารที่ให้ความสำคัญต่อผลการดำเนินงานและการตรวจวัดผลสำเร็จในการดำเนินงานขององค์การ  ทั้งในแง่ของปัจจัยนำเข้า  กระบวนการ  ผลผลิตและผลลัพธ์ซึ่งจะต้องมีการกำหนดตัวบ่งชี้วัดผลการดำเนินงาน  (Key  Performance  Indicators : KPIs)  รวมทั้งการกำหนดเป้าหมาย  (Targets)  และวัตถุประสงค์  (Objectives)  ไว้ล่วงหน้า  โดยอาศัยการมีส่วนร่วมระหว่างผู้บริหาร  สมาชิกขององค์การ  และตลอดถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ  (Stakeholders)  ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานขององค์การ

        การบริหารงานของภาครัฐในอดีตจะเน้นที่การบริหารปัจจัยนำเข้า  (Inputs)  ซึ่งได้แก่  ทรัพยากรต่าง ๆ  ที่รัฐจะนำมาใช้ในการปฏิบัติงาน  คือ  เงิน  คน  วัสดุ  ครุภัณฑ์ต่าง ๆ  โดยเน้นการทำงานตามกฏ  ระเบียบ  และความถูกต้องตามกฎหมาย  และมาตรฐาน  แต่การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์จะเน้นที่ผลลัพธ์  (Outcomes)  ของงาน  โดยจะให้ความสำคัญที่การกำหนดพันธกิจและวัตถุประสงค์ของโครงการ / งาน  เป้าหมายที่ชัดเจน  การกำหนดผลผลิตและผลลัพธ์ที่ต้องการของทุกโครงการในองค์การให้สอดคล้องเป็นไปในทางเดียวกับภารกิจและวัตถุประสงค์ขององค์การ  มีการกำหนดตัวบ่งชี้วัดผลการทำงานหลัก  (Key  Performance  Indicators - KPI)  ไว้อย่างชัดเจน  เป็นที่เข้าใจของทุกคนในองค์การ  การวัดความก้าวหน้าของการปฏิบัติงานโดยใช้ตัวบ่งชี้วัดดังกล่าว  การยืดหยุ่นทางการบริหารและสนับสนุนทรัพยากรแก่ผู้บริหารระดับล่างอย่างเหมาะสม  การประเมินผลการปฏิบัติงานและการให้ค่าตอบแทนตามผลงาน  ตลอดจนการปรับปรุงพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น  เพื่อให้สามารถสนองตอบต่อปัญหาและความต้องการของประชาชนในฐานะผู้รับบริการจากองค์กรของรัฐได้เป็นอย่างดี

         ปัจจัยหลักพื้นฐานที่ทำให้การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ประสบความสำเร็จคือ  การมีระบบข้อมูลที่เที่ยงตรงเชื่อถือได้  ไม่ว่าจะเป็นระบบข้อมูลตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานเพื่อให้ทราบความคืบหน้าของการปฏิบัติงาน  หรือระบบการเงินและบัญชีที่สามารถให้ข้อมูลแยกรายโครงการเพื่อให้ทราบต้นทุนค่าใช้จ่ายในแต่ละงาน  การได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้บริหารทุกระดับตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง

          สรุปได้ว่า  การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์  (Results  Based  Management : RBM)  จึงเป็นการบริหารเพื่อการจัดหาให้ได้ทรัพยากรการบริหารมาอย่างประหยัด (Economy)  เน้นใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Efficiency)  และการได้ผลงานที่บรรลุเป้าหมายขององค์การ (Effectiveness)

กระบวนการของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์

          การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์จะประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ ๆ  4  ขั้นตอน  (อ้างถึงใน   วีระยุทธ  ชาตะกาญจน์, 2547 :  2-3)  ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

                  1.  การวางแผนกลยุทธ์ขององค์การ ซึ่งองค์การจะต้องทำการกำหนดทิศทางโดยรวมว่า  ต้องการที่จะทำอะไรอย่างไร  ซึ่งเป็นเรื่องของการวางยุทธศาสตร์หรือวางแผนกลยุทธ์  เพื่อทำการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในองค์การ  (SWOT  Analysis)  และให้ได้มาซึ่งเป้าประสงค์สุดท้ายที่ต้องการขององค์การหรือวิสัยทัศน์  (Vision)  อันจะนำไปสู่การกำหนดพันธกิจ  (Mission)  วัตถุประสงค์  (Objective)  เป้าหมาย  (Target)  และกลยุทธ์การดำเนินงาน  (Strategy)  รวมทั้งพิจารณาถึงปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จขององค์การ  (Critical  Success  Factors)  และสร้างตัวบ่งชี้วัดผลการดำเนินงาน(Key  Performance  Indicators)ในด้านต่าง ๆ

                  2.  การกำหนดรายละเอียดของตัวบ่งชี้วัดผลการดำเนินงาน เมื่อผู้บริหารขององค์การได้ทำการตกลงร่วมเกี่ยวกับตัวบ่งชี้วัดผลการดำเนินงานแล้ว  จะเริ่มดำเนินการสำรวจเพื่อหาข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับสภาพในปัจจุบัน  (Baseline  Data)  เพื่อนำมาช่วยในการกำหนดความชัดเจนของตัวบ่งชี้ดังกล่าว  ทั้งในเชิงปริมาณ  (Quantity)  คุณภาพ  (Quality)  เวลา  (Time)  และสถานที่หรือความครอบคลุม  (Place)  อันเป็นเป้าหมายที่ต้องการของแต่ละตัวบ่งชี้

                  3.  การวัดและการตรวจสอบผลการดำเนินงาน  ผู้บริหารจะต้องจัดให้มีการตรวจสอบและรายงานผลการดำเนินงานของแต่ละตัวบ่งชี้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้  เช่น  รายเดือน  รายไตรมาส  รายปี  เป็นต้น  เพื่อแสดงความก้าวหน้าและสัมฤทธิ์ผลของการดำเนินงานว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการหรือไม่  อย่างไร  นอกจากนี้ในบางกรณีอาจจะจัดให้มีคณะบุคคลเพื่อทำการตรวจสอบผลการดำเนินงานเป็นเรื่อง ๆ  ไปก็ได้

                  4.  การให้รางวัลตอบแทน หลังจากที่ได้พิจารณาผลการดำเนินงานแล้ว  ผู้บริหารจะต้องมีการให้รางวัลตอบแทนตามระดับของผลงานที่ได้ตกลงกันไว้  นอกจากนี้อาจจะมีการให้ข้อเสนอแนะหรือกำหนดมาตรการบางประการเพื่อให้มีการปรับปรุงผลงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

                  จากรายละเอียดของกระบวนการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์นั้นสามารถจะสรุปแผนภาพเพื่อเพิ่มความเข้าใจได้ดังนี้

                    การวางแผนกลยุทธ์ขององค์กร

                      การให้รางวัล     
                      การกำหนดรายละเอียด
                      ผลตอบแทน
                      ของตัวชี้วัด
                      การติดตามตรวจสอบ             
                      ผลการดำเนินงาน


                  แผนภาพที่ 1  กระบวนการของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์

ลักษณะขององค์การที่บริหารงานแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์

                  องค์การที่ได้ใช้ระบบการบริหารงานแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์จะมีลักษณะทั่ว ๆ  ไปดังต่อไปนี้  (ทิพาวดี  เมฆสวรรค์, 2543  :  20 ? 22)           

                  1.  มีพันธกิจ วัตถุประสงค์ขององค์การที่ชัดเจน  และมีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม  โดยเน้นที่ผลผลิตและผลลัพธ์  ไม่เน้นกิจกรรมหรือการทำงานตามกฎระเบียบ

                  2.  ผู้บริหารทุกระดับในองค์การต่างมีเป้าหมายของการทำงานที่ชัดเจน  และเป้าหมายเหล่านั้นสั้นกระชับ  ไม่คลุมเครือ  และเป็นเป้าหมายที่มีฐานมาจากพันธกิจขององค์การนั้น

                  3.  เป้าหมายจะวัดได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยมีตัวบ่งชี้ที่สามารถวัดได้  เพื่อให้สามารถติดตามผลการปฏิบัติงานได้  และสามารถเปรียบเทียบผลการปฏิบัติงานกับองค์กรอื่นที่มีลักษณะงานที่เทียบเคียงกันได้

                  4.  การตัดสินในการจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานหรือโครงการต่าง ๆ  จะพิจารณาจากผลสัมฤทธิ์ของงานเป็นหลัก  ซึ่งจะสอดคล้องกับการให้ค่าตอบแทน  สวัสดิการและรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ที่จะประเมินจากผลการปฏิบัติงานเป็นหลัก

                  5.  เจ้าหน้าที่ทุกคนรู้ว่างานที่องค์การคาดหวังคืออะไร  ทุกคนในองค์การจะคิดเสมอว่างานที่ตนทำอยู่นั้นเพื่อให้เกิดผลอย่างไร  ผลที่เกิดขึ้นจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายของโครงการและองค์การอย่างไร  และทุกคนรู้สึกรับผิดชอบต่อผลงานที่ได้กำหนดไว้อย่างเหมาะสมกับกำลังความสามารถของแต่ละคน

                  6.  มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจ  การบริหารเงิน  บริหารคน  สู่หน่วยงานระดับล่างเพื่อให้สามารถทำงานบรรลุผลได้อย่างเหมาะสม  เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารระดับต้นและระดับกลาง  ซึ่งเข้าใจปัญหาเป็นอย่างดีได้เป็นผู้แก้ปัญหาและสะสมประสบการณ์เพื่อก้าวสู่ผู้บริหารระดับที่สูงขึ้นไป  ซึ่งนอกจากช่วยลดขั้นตอนในการทำงาน  แก้ปัญหาการทำงานที่ล่าช้าแล้ว  ยังเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการทำงานอีกด้วย

                  7.  มีระบบสนับสนุนการทำงาน  ในเรื่องระเบียบการทำงาน  สถานที่  อุปกรณ์ในการทำงาน  เช่น  มีระเบียบที่สั้นกระชับในเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น  มีสถานที่ทำงานที่สะอาด  เป็นระเบียบ  และมีเทคโนโลยีสารสนเทศที่สนับสนุนให้สามารถตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่ถูกต้องและให้บริการได้อย่างรวดเร็ว  ทันเวลา

                  8.  มีวัฒนธรรมและอุดมการณ์ร่วมกันเพื่อการทำงานที่สร้างสรรค์  เป็นองค์การที่มุ่งเน้นจะทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้  เป็นองค์การเอื้อการเรียนรู้ที่เปิดกว้างต่อความคิดและความรู้ใหม่ ๆ  สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ  ได้ดี

                  9.  เจ้าหน้าที่มีขวัญและกำลังใจดี  เนื่องจากมีโอกาสปรับปรุงงาน  และได้ดุลยพินิจในการทำงานที่กว้างขวางขึ้น  ทำให้ผู้รับบริการได้รับความพึงพอใจ  ส่วนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเองก็จะได้การตอบแทนตามผลการประเมินจากผลสัมฤทธิ์ของงาน

การวัดผลการปฏิบัติงานตามแนวทางการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์

                  การวัดผลการปฏิบัติงานเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมาย  ตัวบ่งชี้วัดผลสำเร็จของกิจกรรม  การจัดเก็บข้อมูลและเปรียบเทียบผลงานกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า  การวัดผลการปฏิบัติงานจะช่วยให้องค์การ / ผู้ปฏิบัติงานได้รับข้อมูลและสารสนเทศย้อนกลับที่แสดงถึงผลสำเร็จของการดำเนินงานปัญหาหรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้น  เพื่อนำไปสู่การแสดงถึงการมีพันธะ  หน้าที่และความรับผิดชอบต่อสาธารณะ  ผู้กำหนดนโยบาย  แหล่งสนับสนุนงบประมาณ  ฯลฯ  การเสริมสร้างการเรียนรู้ให้แก่บุคลากรและองค์การเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการบริหารการพัฒนาองค์การ  การออกแบบ / ทบทวนโปรแกรม  กระบวนการดำเนินงานขององค์การหรือของทีมงานที่รับผิดชอบกิจกรรมการดำเนินงาน  รวมทั้งช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรเพื่อการสนับสนุนการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  การวัดผลการปฏิบัติงานเป็นกระบวนการที่พึงต้องดำเนินการคู่ขนานหรือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดการผลงาน  มีกิจกรรม / กระบวนการที่สำคัญ  สรุปได้ดังแผนภาพต่อไปนี้

                                                                                  การกำหนดผลลัพธ์

                                                                                (ตัวบ่งชี้และมาตรฐาน)                                   

                                                                                   Detine  Results

                                 รายงานผลลัพธ์   >  การวัดผลการปฏิบัติงาน  > Report  Results    >   Measure Performance
           
                                                                    แผนภาพที่ 2  กระบวนการวัดผลการปฏิบัติงาน


                การกำหนดผลลัพธ์  (ตัวบ่งชี้วัดผลงานและมาตรฐาน)  ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการวัดผลการปฏิบัติงาน  ผู้ดำเนินการ / องค์การจะต้องระบุหรือคัดเลือกกิจกรรมหลักที่มีความสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์  และพันธกิจขององค์การ  พร้อมทั้งระบุหรือกำหนดตัวบ่งชี้วัดผลงานและมาตรฐานที่ต้องการบรรลุถึงของแต่ละกิจกรรม  การกำหนดตัวบ่งชี้วัดผลงานเพื่อดำเนินการวัดผลการปฏิบัติงานจะดำเนินการภายใต้กรอบของระบบการดำเนินงานทั่วไป  โดยมีจุดเน้นในการดำเนินการสรุปได้ตามแผนภาพต่อไปนี้

วัตถุประสงค์ >    ปัจจัยนำเข้า  >   กิจกรรม  >  ผลผลิต  >   ผลลัพธ์ Objectives > Inputs >  Process  > Outputs > Outcome  > ความประหยัด

                                            แผนภาพที่ 3  หลักการพื้นฐานของการวัดผลการปฏิบัติงานขององค์การ

                จากแผนภาพจะเห็นได้ว่า  การดำเนินกิจกรรมจะมีจุดเริ่มต้นที่วัตถุประสงค์การดำเนินงาน  ซึ่งได้แก่  การระบุถึงรายละเอียดของผลงาน  (ผลผลิตและผลลัพธ์)  ที่คาดหวังที่ส่วนใหญ่จะต้องพัฒนามาจากวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ขององค์การ  ซึ่งมีปัจจัยนำเข้า  ได้แก่  ทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการดำเนินกิจกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงปัจจัยนำเข้าให้เป็นผลผลิตและผลลัพธ์  การวัดผลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปจะมีจุดเน้นของการดำเนินการ  3  ด้าน  ได้แก่

                  1)  ความประหยัด  (Economy) หมายถึงการใช้ทรัพยากรน้อยที่สุดในการผลิตหรือการดำเนินกิจกรรม

                  2)  ความมีประสิทธิภาพ  (Efficiency) หมายถึงการสร้างผลผลิตในระดับที่สูงกว่าปัจจัยนำเข้า  ความมีประสิทธิภาพสามารถวัดได้โดยนำปัจจัยนำเข้าจริงหารด้วยผลผลิตจริง  หากได้ค่าน้อยแสดงว่ามีผลผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นของปัจจัยนำเข้า  ซึ่งหมายถึงการดำเนินกิจกรรม / องค์กรมีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

                  3)  ความมีประสิทธิผล  (Effectiveness)  หมายถึงระดับการบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้าว่าได้ก่อให้เกิดผลผลิต  ผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้มากน้อยเพียงใด

                  ตัวชี้วัดผลงานตามแนวทางการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์  จะประกอบด้วยตัวชี้ที่สำคัญ  5  ประการ  ดังต่อไปนี้  (ทิพาวดี  เมฆสวรรค์,  2545 :  27 ? 28)

                  1)  ตัวชี้วัดปัจจัยนำเข้า  (Input  Indicators)  ได้แก่  จำนวนทรัพยากรโดยรวมที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมหรือบริการ  เพื่อก่อให้เกิดผลผลิตผลลัพธ์  เช่น  จำนวนเงินที่ใช้  จำนวนบุคลากรที่จำเป็นในการให้บริการ  จำนวนวัตถุดิบและอุปกรณ์การผลิต  เป็นต้น

                  2)  ตัวชี้วัดผลผลิต  (Output  Indicators)
เป็นตัวบ่งชี้ที่แสดงถึงปริมาณ  จำนวนสิ่งของที่ผลิตได้จากการดำเนินกิจกรรม  เช่น  จำนวนผู้เข้ารับอบรมการพัฒนาอาชีพ  จำนวนนักเรียนที่รับเข้าเรียน  จำนวนบัณฑิตที่จบการศึกษาเป็นต้น

                  3)  ตัวชี้วัดผลลัพธ์  (Outcome  Indicators) หมายถึงตัวชี้วัดที่แสดงถึงผลสัมฤทธิ์ของกิจกรรมเช่น  จำนวนผู้จบการศึกษาที่มีงานทำ  จำนวนกิโลเมตรของทางด่วนที่มีสภาพอยู่ในเกณฑ์ดี  และยังรวมถึงตัวบ่งชี้วัดผลลัพธ์คุณภาพของการบริการ  (Qualiry  Ineicators)  เช่น  จำนวนสินค้าที่บกพร่อง  จำนวนใบแจ้งหนี้ที่ผิดพลาด  จำนวนหนี้ค้างชำระ  ระดับความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อการทำงานขององค์การ  เป็นต้น

                  4)  ตัวชี้วัดประสิทธิภาพ  (Efficiency  Indicators)  หมายถึงตัวบ่งชี้วัดผลงานที่แสดงค่าใช้จ่ายต่อหน่วยของผลผลิต  หรือระยะเวลาในการให้บริการต่อรายการ  เช่น  ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักเรียนสำเร็จการศึกษา  เวลาการทำงานในการปรับสภาพพื้นฐานผิวถนน  1  กิโลเมตร

                  5)  ตัวชี้สารสนเทศเชิงอธิบาย  (Explanatory  Information) หมายถึง  ข้อมูลที่อธิบายถึงองค์ประกอบที่มีผลกระทบต่อผลการปฏิบัติงานขององค์การ  ซึ่งอาจจะอยู่ภายใต้หรืออยู่นอกเหนือการควบคุมขององค์การก็ได้  เช่น  อัตราส่วนของนักเรียนต่อครู  อายุการใช้งานของอุปกรณ์ที่ใช้ในการซ่อมถนน  ร้อยละของนักเรียนที่นับถือศาสนาพุทธ  เป็นต้น

                  ในกระบวนการบริหารงานแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์  การวัดผลการปฏิบัติงานจะมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ที่การทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลสารสนเทศสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการปฏิบัติงานขององค์การให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น  ระบบการวัดผลการปฏิบัติงานที่ดีจึงควรเป็นระบบที่สามารถผลิตข้อมูลสารสนเทศที่แสดงถึงความก้าวหน้าของผลการดำเนินงานที่มีความครอบคลุม  ครบถ้วน  สมบูรณ์และทันกาล

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์

                  ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ประสบความสำเร็จอยู่ที่ความเข้าใจแนวคิด  วิธีการและประโยชน์ของวิธีการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานรวมถึงความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่จะสามารถปรับตัวและสามารถทำงานภายใต้ระบบงานที่จะต้องรับผิดชอบต่อการปฏิบัติงาน  ทั้งนี้เงื่อนไขความสำเร็จที่สำคัญมีดังต่อไปนี้ (ทิพาวดี  เมฆสวรรค์,  2543  :  39 ? 42)

                  1.  ผู้บริหารระดับสูงมีความเข้าใจและสนับสนุน  การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์จะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อผู้บริหารระดับสูงมีความเข้าใจและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่  คือสนับสนุนในการจัดทำระบบวัดผลการปฏิบัติงาน  การใช้ข้อมูลผลการวัดผลการปฏิบัติงาน  การจัดสรรงบประมาณ  การสร้างสิ่งจูงใจเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์  รวมถึงการมอบอำนาจในการตัดสินใจเพื่อแลกเปลี่ยนกับความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงาน

                             1.1 การกำหนดพันธกิจและแผนกลยุทธ์ที่ชัดเจน  ผู้บริหารขององค์การจะต้องให้ความสำคัญและเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดพันธกิจและแผนกลยุทธ์  วัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการเพื่อให้เกิดผล

                             1.2 การใช้ข้อมูลผลการปฏิบัติงานในการบริหาร  ผู้บริหารจะต้องระลึกเสมอว่าการวัดผลไม่ได้ทำให้ผลการปฏิบัติงานดีขึ้นโดยอัตโนมัติ  แต่ข้อมูลจากการวัดผลการปฏิบัติงานจะเป็นข้อมูลที่จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น  แก้ปัญหาได้ถูกต้องมากขึ้น  ดังนั้นผู้บริหารจึงต้องเอาข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์อย่างรอบคอบเพื่อกำหนดมาตรการที่จะปรับปรุงผลการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นต่อไป

                  2.  การจัดระบบข้อมูลผลการปฏิบัติงาน การจัดทำระบบข้อมูลผลการปฏิบัติงานจะต้องคำนึงเสมอว่า  ระบบข้อมูลนั้นสามารถที่จะแสดงถึงระดับการเปลี่ยนแปลงของผลลัพธ์สู่เป้าหมายขององค์การได้  ซึ่งจะต้องจัดทำเพิ่มเติมขึ้นจากระบบข้อมูลเดิม  ที่เน้นปัจจัยนำเข้าและกิจกรรมเพื่อให้ผู้บริหารมีข้อมูลในการตัดสินใจได้ดีขึ้น

                             2.1 การพัฒนาตัวบ่งชี้  การเลือกตัวบ่งชี้ที่จำเป็นต่อการให้บริการและการตัดสินใจนั้น  จะต้องเลือกตัวบ่งชี้ให้ครอบคลุมความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งจะต้องพัฒนาโดยผู้ที่มีประสบการณ์ในงานด้านนั้น ๆ  กับผู้มีส่วนได้เสียกับงานนั้น ๆ  ด้วย  โดยตัวบ่งชี้จะมีทั้งส่วนของปัจจัยนำเข้า  กิจกรรม  ผลผลิต  และผลลัพธ์  รวมถึงตัวบ่งชี้ที่แสดงความพึงพอใจของผู้รับบริการ  แต่ควรจะให้มีตัวบ่งชี้ในจำนวนเท่าที่จำเป็น  โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าของการจัดทำและรักษาระบบข้อมูลนี้ด้วย

                             2.2 การวางระบบสารสนเทศเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลและประมวลผลข้อมูลผู้พัฒนาระบบจะต้องมีความเข้าใจเนื้อหาสาระของโครงการหรืองานที่จะวัดผลการปฏิบัติงาน  โดยต้องคำนึงถึงการจัดทำรายงานผลซึ่งจะแยกเป็น 2 ส่วน  คือ  ส่วนที่จะรายงานเป็นช่วงเวลาตามกำหนดทุกครึ่งปีหรือหนึ่งปี  เพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและวางแผนหรือการจัดทำงบประมาณประจำปี  และส่วนที่เป็นการรายงานเฉพาะกิจที่สามารถเรียกดูข้อมูลตัวบ่งชี้ได้ทันในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น  ซึ่งความสำเร็จในการจัดทำระบบข้อมูลผลการปฏิบัติงานที่ใช้ประโยชน์ได้  จึงอยู่ที่การจัดทำข้อมูลที่สะท้อนผลงานจริง  ทันเวลา  และมีปริมาณข้อมูลที่เหมาะสม  โดยมีค่าใช้จ่ายที่ประหยัด

                  3.  การพัฒนาบุคลากรและองค์การ ผู้บริหารทุกระดับถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ  ให้บรรลุเป้าหมายภายใต้ระบบการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์  ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องการพัฒนาผู้บริหารไว้ล่วงหน้าให้สามารถปฏิบัติงานที่ต้องรับผิดชอบต่อผลสัมฤทธิ์ของงาน  ภายใต้สภาวะที่มีความคล่องตัวและมีอำนาจในการบริหารเพิ่มขึ้น  ผู้บริหารทุกคนจะต้องมีความรู้ในการวางแผนกลยุทธ์  การวัดผลการปฏิบัติงาน  รวมถึงการใช้ข้อมูลผลการปฏิบัติงานเพื่อการตัดสินใจในการทำงานประจำวัน  ในขณะเดียวกันจะต้องมีระบบการพัฒนาและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้มีความชำนาญที่หลากหลายมากขึ้น  เพื่อให้มีศักยภาพที่จะสับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ได้ในยุคที่มีความเปลี่ยนเปลงอย่างรวดเร็ว  และเข้าใจเรื่องการวัดและการใช้ข้อมูลผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติงานประจำวันด้วย

                  สรุป การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์  (Results  Besed  Management : RBM)  เป็นนวัตกรรมทางการบริหารที่ประเทศต่าง ๆ  ที่พัฒนาแล้ว  นำมาใช้ในการปฏิรูประบบราชการให้เกิดประสิทธิภาพ  ประสิทธิผล  โปร่งใส  สามารถตรวจสอบได้  ซึ่งประเทศไทยโดยสำนักงานคณะกรรม การข้าราชการพลเรือนก็กำลังจะใช้วิธีการบริหารรูปแบบใหม่นี้  ผสานกับเปลี่ยนแปลงระบบงบประมาณเป็นแบบมุ่งเน้นผลงาน  (Performance  Based  Budgeting  Sustem : PBBS)  ทำการปฏิรูปองค์การภาครัฐ  ให้สามารถจัดบริการสาธารณะให้เป็นที่พึงพอใจของประชาชนมากขึ้น  หัวใจสำคัญของความสำเร็จในการใช้วิธีการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์นั้นอยู่ที่การสร้างตัวบ่งชี้ผลการปฏิบัติงาน  (Key  Performance  Indicators)  ที่มีความตรงเป็นที่ยอมรับ  และสะดวกในการนำไปใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งสารสนเทศสำหรับการกำกับ  ติดตาม  และรายงานผลการดำเนินงานขององค์การ

ผู้เขียน นายพรศักดิ์  จินา

บรรณานุกรม

ทิพาวดี  เมฆสวรรค์.  การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์. สถาบันมาตรฐานสากลภาครัฐแห่งประเทศไทย
                 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน

ทศพร    ศิริสัมพันธ์.  การบริหารผลการดำเนินงาน(Performance  Management)
                 รวมบทความวิชาการ  100  ปี รัฐประศาสนศาสตร์ไทย. ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2543

วีระยุทธ  ชาตะกาญจน์. การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ (oทline). 2547.แหล่งที่มา : http;//isc.ru.ac.th/data/EDOOO3477.doc (10 กันยายน  2549)

รองศาสตราจารย์ ดร. ไพศาล   หวังพานิช  เอกสารประกอบการบรรยาย  เรื่อง  การประเมินโครงการ (เอกสารอัดสำเนา)

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  คู่มือปฏิบัติการพัฒนาประสิทธิ์ภาพในส่วนราชการ กระทรวงศึกษาธิการ  .2542

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.  เอกสารประกอบการประชุมสัมมนา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา   เรื่องการกำกับกลยุทธ์ สำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ  2550  (เอกสาร  อัดสำเนา)

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.  เอกสารประกอบการสัมมนา  ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา   เรื่อง การกำกับกลยุทธ์ตามแนวการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ (เอกสารอัดสำเนา)

Canadian International Development Agency. Results Based Management in CIDA : An Introductory Guide to  Concept and Principles. http://www.acdi-cida.gc.ca/cida_ind.nsf,2001




ที่มา : http://www.sri3.obec.go.th/home/0002.php?name=news3&file=readnews3&id=9