เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
เกร็ดความรู้
ประวัติบุคคลสำคัญของไทย
อ.ถวัลย์ ดัชนี ผู้รังสรรค์งานศิลป์ที่ทรงคุณค่า ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: อ.ถวัลย์ ดัชนี ผู้รังสรรค์งานศิลป์ที่ทรงคุณค่า ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (อ่าน 10319 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3923
อ.ถวัลย์ ดัชนี ผู้รังสรรค์งานศิลป์ที่ทรงคุณค่า ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์
เมื่อ:
เมษายน 24, 2016, 07:29:51 PM
ถวัลย์ ดัชนี (27 กันยายน พ.ศ. 2482 - )
จิตรกร ช่างเขียนรูป แห่งดอยสูงเชียงราย ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เมื่อพ.ศ. 2544 เกิดที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย
ถวัลย์ ดัชนี ศึกษาชั้นมูลและระดับประถมที่โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม ต่อมาบิดาย้ายมาปฏิบัติงานสรรพสามิตที่อำเภอเมืองพะเยา จึงเรียนต่อชั้นประถมที่โรงเรียนบุญนิธิซึ่งตั้งอยู่ริมชายกว๊านพะเยา และชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนพะเยาพิทยาคม เมื่อบิดาย้ายกลับเชียงรายจึงเข้าเรียนจนจบชั้นชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคมจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ของสมัยนั้น
ถวัลย์มีแววด้านการวาดรูปมาตั้งแต่ชั้นมูลและชั้นประถม สามารถวาดตัวละครรามเกียรติ์ได้เกือบทุกตัว นอกจากจะมีความจำเป็นเลิศสามารถจำชื่อเพื่อนร่วมชั้นได้ทุกชั้นปีทั้งที่เชียงรายและพะเยาแล้ว เมื่อถวัลย์มีอายุ 8-9 ขวบก็มีความคิดแผลงๆ จำเรื่องนายมั่นนายคงจากละครวิทยุปลุกใจยุคปลายและหลังสงคราม เที่ยวชักชวนเพื่อนกรีดเลือดสาบานไปอยู่ดงพญาเย็นด้วยกันเมื่อโตขึ้นเป็นต้น
เมื่อจบชั้นมัธยม 6 ที่เชียงราย ถวัลย์ก็ได้รับทุนมาเรียนต่อที่ โรงเรียนเพาะช่าง และได้เป็นนักเรียนดีเด่น ด้วยฝีมือการวาดรูปที่แม่นยำ เฉียบคม ฉับไว จึงเป็นหนึ่งในนักเรียนเพาะช่างดีเด่นด้านจิตรกรรม ที่ผลงานได้รับการคัดเลือกไปแสดงในหอศิลป์แห่งชาติ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้น ถวัลย์ ดัชนี จึงเข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้เป็น
"ศิษย์รุ่นท้ายๆ ของ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี"
ตอนเรียนอยู่ที่ศิลปากรในชั้นปีที่ 1 ถวัลย์ ดัชนี ทำคะแนนการวาดรูปได้ถึง 100+ แต่เมื่อขึ้นปี 2 เขากลับทำได้แค่ 15 คะแนน เพราะเหตุผลที่ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ให้ไว้ว่า ปลาของนายไม่มีกลิ่นคาว นกของนายแหวกว่ายไปในอากาศไม่ได้ ม้าของนายไม่สามารถที่จะควบหรือวิ่งทะยานออกไปได้ นายเป็นเพียงแค่นักลอกรูป มันไม่ใช่งานศิลปะ
คำวิจารณ์ของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีดังกล่าวนี้ทำให้ถวัลย์ ดัชนี เปลี่ยนแปลงการทำงานทุกอย่างใหม่หมด เมื่อคิดและดำรงอยู่ในวิถีทางแห่งศิลปะได้แล้ว เขาจึงได้รับการสนับสนุนจากศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ให้สอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้านสาขาจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง และในระดับปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปะอัมสเตอร์ดัม ที่แห่งนี้เองที่ถวัลย์ได้เรียนร่วมชั้นเดียวกันกับนักเรียนต่างชาติ ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีศิลปินแห่งชาติเกิดขึ้น 3 คนจากสถาบันแห่งนี้ นั่นคือ ศิลปินแห่งชาติของอินโดนีเซีย ด้านการแกะสลัก, ศิลปินแห่งชาติของอเมริกาGiger (ไกเกอร์ หรือ กีเกอร์ ถ้าอ่านแบบเยอรมัน) ซึ่งเป็นศิลปินที่วาดรูปออกแนวอวกาศและเป็นผู้ออกแบบเอเลี่ยน และศิลปินแห่งชาติของไทย ถวัลย์ ดัชนี
เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น รูปเขียนขนาดใหญ่ของเขาหลายรูปถูกนักเรียนกรีดทำลาย ด้วยเหตุที่ว่างานของเขานั้นดูหมิ่นพระพุทธศาสนา ทำให้ถวัลย์ ดัชนี เลิกแสดงผลงานในประเทศไทยไปนานหลายปี กว่าคนไทยจะยอมรับได้ เขาก็ต้องเดินตากแดดตากฝนนานอยู่ถึง สามสิบกว่าปี ในปัจจุบันผลงานของเขาได้รับการยอมรับ และได้รับการยกย่องชื่นชมว่าเป็นงานศิลปะชั้นเลิศ อีกทั้งเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมงานศิลปะทั่วไปอีกด้วย
ถวัลย์ ดัชนี ได้ฝากศิลปะไทยจิตวิญญาณตะวันออกของเขา ไว้ในหลายๆ ที่ในโลก "ผลงานบางส่วนถูกเขียนขึ้นในปราสาทที่มีถึง 500 ห้อง ในประเทศเยอรมนี ซึ่งมีชื่อว่าปราสาทกอททอฟ (Gottorf Castle) " ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ปราสาทนี้ไม่เปิดให้ใครได้เข้าชมแล้ว เพราะอากาศที่หนาวเย็นจะทำให้มีหยดน้ำมาเกาะบนกำแพง ทำให้ภาพเสียหาย แต่รายการโทรทัศน์ที่ได้เข้าไปถ่ายทำเป็นรายการสุดท้ายนั่นคือ รายการชีพจรลงเท้า
ยามว่างจากการเขียนรูป ถวัลย์ ดัชนีจะเดินไปในป่าเพื่อหาเขากวางที่ผลัดแล้วมาเก็บไว้ เพื่อเป็นเครื่องลับจินตนาการให้เฉียบคมอยู่ตลอดเวลา
ประวัติการศึกษา
พ.ศ. 2485-2491 ศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม จังหวัดเชียงราย
พ.ศ. 2492-2498 ศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จังหวัดเชียงราย
พ.ศ.2498-2500 ศึกษาระดับประโยคครูประถมการช่าง (ปปช.) จากโรงเรียนเพาะช่าง
พ.ศ.2500-2505 ศึกษาประดับปริญญาตรีศิลปบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากคณะจิตรกรรม ปฏิมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
พ.ศ. 2506-2512 ศึกษาระดับปริญญาโท ทางด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผงเมือง และปริญญาเอก ั
สาขาอภิปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปแห่งชาติ อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ (RIJKS AKADEMIE VAN BEELDEN DE KUNSTEN AMSTERDAM NEDERLAND)
* เลขทะเบียนประจำตัวนักศึกษาที่ 398 ข้อมูลจากสมุดทะเบียนนักศึกษาเล่มแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร 2486-2516
ประวัติการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ
นับแต่เรียนสำเร็จชั้นมัธยมที่จังหวัดเชียงราย ถวัลย์ได้เข้าเรียนศิลปะ ที่โรงเรียนเพาะช่าง ด้วยทุนการศึกษาของจังหวัดเชียงราย และเป็นนักเรียนเพาะช่างดีเด่น ด้วยฝีมือการวาดรูป เหมือนจริงที่แม่นยำฉับไว ภาพวัดเบญจมบพิตรได้รับคัดเลือกให้แสดงในหอศิลปแห่งชาติ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นและแสดงในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยแห่งชาติ ประเทศไทย
เมื่อจบจากโรงเรียนเพาะช่าง ในปี พ.ศ. 2500 ถวัลย์ได้เดินตามแนวทางของ ดำรง วงศ์อุปราช จิตรกรรุ่นพี่ นักเรียนทุนจากลำปาง ซึ่งเป็นผู้จุดประกายให้เขาสอบเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม ปฏิมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การอำนวยการสอนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และสถาบันแห่งนี้ได้หล่อหลอมให้ถวัลย์พัฒนางานจากภาพวาดเหมือนจริงไปเป็นภาพวาดที่ให้ความรู้สึกประทับใจ (Impressionism) แบบไทย แล้วยังเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างถวัลย์ ดัชนี กับ พลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมท ซึ่งเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิต และวิธีคิดที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเขาเป็นอย่างยิ่ง
ถวัลย์ ดัชนี จัดเป็นบัณฑิตคนหนึ่งในจำนวนไม่กี่คน ของมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้น ที่สามารถเรียนต่อในระดับปริญญาตรีได้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ถ้าไม่มีความรู้ความสามารถโดดเด่นแท้จริงแล้ว จะได้เพียงอนุปริญญา และหลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ด้วยการสนับสนุนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีในเวลานั้น ถวัลย์ได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมและการศึกษา ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเป็นเวลา 5 ปี ที่ราชวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติ อัมสเตอร์ เนเธอร์แลนด์
ระหว่างที่ศึกษา ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผลงานการสร้างสรรค์ของถวัลย์โดดเด่น เป็นที่นิยมชมชอบของวงการศิลปะสากลอย่างกว้างขวาง จึงได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในการประชุมสัมมนาทางศิลปะระดับนานาชาติอยู่เสมอ ทั้งจากสถาบันการศึกษา สถาบันทางศิลปะให้จัดแสดงผลงานที่เรียกว่า One Man Show และแสดงกลุ่มมากมายหลายครั้งทั้งในประเทศและต่างประเทศ นับตั้งแต่เข้ามามีบทบาทในวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย ดังนี้
พ.ศ. 2497 - นิทรรศการศิลปะของโรงเรียนเพาะช่าง
พ.ศ.2498 - นิทรรศการแสดงของนักเรียนเพาะช่างที่เด่นด้านจิตรกรรม ณ หอศิลปแห่งชาติโตเกียว
ประเทศญี่ปุ่น
พ.ศ. 2499 - นิทรรศการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ กรุงเทพฯ
- นิทรรศการแสดงภาพของนักเรียน โรงเรียนเพาะช่างประจำปี
- แสดงเดี่ยวงานจิตรกรรม ประติมากรรมนูนต่ำ เครื่องหนัง เครื่องไม้ไผ่ เครื่องโลหะ ณ โรงเรียน สามัคคีวิทยาคม จังหวัดเชียงราย
พ.ศ. 2508 - ร่วมแสดงผลงานจิตรกรรมไทยกับอินสนธิ์ วงศ์สาม ปรีชา บางน้อย ณ ทำเนียบทูตไทย
นายบุณย์ เจริญชัย เอกอัครราชทูตไทย กรุงปารีส (ปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศ นำภาพเขียน ขนาดใหญ่จากประเทศฝรั่งเศสมาประดับไว้ที่กรมพิธีการทูต (กรุงเทพฯ)
พ.ศ. 2509 - นิทรรศการแสดงกลุ่มนักศึกษาภายหลังปริญญาตรี ของราชวิทยาลัยศิลปแห่งชาติ อัมสเตอร์ดัม
- นิทรรศการมหกรรมศิลปไทย หอศิลป กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์
พ.ศ. 2510 - นิทรรศการแสดงเดี่ยว ณ หอศิลปแห่งชาติร่วมสมัย จัดโดยพิพิธภัณฑ์ศิลปร่วมสมัยแห่งชาติ อมสเตอร์ดัม ั
พ.ศ. 2511 - นิทรรศการแสดงเดี่ยวหอศิลปแห่งชาติ กรุงอัมสเตอร์ดัม
พ.ศ. 2512 - เดินทางกลับประเทศไทยแวะศึกษาจิตรกรรมที่ประเทศอิตาลีระยะหนึ่งและได้ก่อสร้างบ้านพัก ส่วนตัวครั้งแรกที่บ้านเกิดจังหวัดเชียงราย
- จัดนิทรรศการงานศิลปะรวบยอด เพาะช่าง ศิลปากร อัมสเตอร์ดัมที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม
พ.ศ. 2514 - นิทรรศการแสดงเดี่ยว สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพฯ
- นิทรรศการแสดงเดี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พ.ศ. 2515 - นิทรรศการแสดงเดี่ยว บริติชเคาน์ซิล กรุงเทพฯ
- นิทรรศการแสดงเดี่ยว ศูนย์วัฒนธรรมเยอรมัน กรุงเทพฯ
พ.ศ. 2516 - นิทรรศการแสดงเดี่ยว ศูนย์วัฒนธรรมเยอรมัน ร่วมกับ บริติชเคาน์ซิล ที่บริติชเคาน์ซิล กรุงเทพฯ
พ.ศ. 2517 - นิทรรศการแสดงเดี่ยว หอศิลปแห่งชาติ ฮาวาย สหรัฐอเมริกา ศูนย์การศึกษาตะวันตก-ตะวันออก มหาวิทยาลัยฮาวาย
พ.ศ. 2520 - นิทรรศการแสดงเดี่ยว การแสดงศิลปกรรมครั้งแรก ที่ได้รับเชิญให้เป็นตัวแทนของประเทศไทย
ณ หอศิลปแห่งชาติ นครเยรูซาเล็ม อิสราเอล หอศิลปเมืองอายน์คาเร็ม อิสราเอล และเป็นแขก พำนัก ณ มิชเคนอทชาอานานิม อาศรมรังสรรค์สันติภาพ เยรูซาเล็ม อิสราเอล
พ.ศ. 2521 - นิทรรศการแสดงเดี่ยว หอศิลป เมืองซานดาม เนเธอร์แลนด์
- นทรรศการแสดงเดี่ยว พิพิธภัณฑ์ศิลปแห่งชาติ ซูริค สวิตเซอร์แลนด์ ิ
- นิทรรศการแสดงเดี่ยว หอศิลป กรุงเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์
พ.ศ. 2525 - นิทรรศการแสดงเดี่ยว บริติชเคาน์ซิล กรุงเทพฯ
พ.ศ.2526-2527
- แสดงกลุ่มศิลปกรรมไทย ทูบิงเก้น เยอรมนี
พ.ศ.2529-2530
- เป็นผู้แทนจากประเทศไทย ไปปฏิบัติงานจิตรกรรมร่วมสมัยกับ 17 ชาติในเอเชีย
ที่กวนตัน มาเลเซีย คลับเมดแห่งมาเลเซีย
- เข้าร่วมประชุมด้านจิตรกรรมที่ มาดริด สเปน
- นิทรรศการแสดงเดี่ยวศิลปกรรมไทย สถาบันวัฒนธรรมเยอรมนี ณ นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา
พ.ศ. 2531 - นิทรรศการแสดงเดี่ยว สภาศิลปกรรมไทย กับพิพิธภัณฑ์ศิลป เมืองพาซาเดน่า ณ ลอสแองเจลิส
พ.ศ.2532 - นิทรรศการศิลปกรรมไตยวน การแสดงกลุ่มศิลปะของศิลปินล้านนา จากเชียงราย 5 คน ครั้งแรก ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ
พ.ศ. 2536-2537
- แสดงนิทรรศการเดี่ยวที่หอศิลป มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย
พ.ศ. 2540 - เป็นตัวแทนศิลปินไทย 1 ใน 10 ไปแสดงงานศิลปะเปิดสถานทูตไทยใหม่ที่ นครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา เป็นศิลปินไทยตัวแทนคัดเลือกผู้เดียวจากสหประชาชาติ แสดงรูปที่องค์การ
สหประชาชาติ นิวยอร์ค
พ.ศ. 2541 - ออกแบบและร่วมมือกับจังหวัดเชียงรายทำตุงทองคำ ขนาดเท่าพระองค์พระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ
พ.ศ. 2542 - นิทรรศการเดี่ยวครบ 5 รอบ ถวัลย์ ดัชนี ธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า บ้านดำ นางแล ไร่แม่ฟ้า หลวง เปิดหอศิลปส่วนตัวถวัลย์ ดัชนี โดยนักสะสมภาพชาวเยอรมัน ดร.ยอร์กี้ วันธ์ ประธาน ิก
กรรมการ บริษัทแก้ว มึนเช่น เมืองมึน เช่น (นครมิวนิค) เยอรมนี
พ.ศ. 2543 - นิทรรศการย้อนถวัลย์ ดัชนี 60 ผลงาน 60 ชิ้น จากอายุ 16 ถึง 60 บ้านดำ นางแล เปิดหอศิลป ถวัลย์ ดัชนี 1 ตึกยูคอม กรุงเทพฯ งานแสดงร่วมกลุ่มจิตรกรนานาชาติ ลิสบอน พิพิธภัณฑ์ศิลป ร่วมสมัยโปรตุเกส เป็นตัวแทนจิตรกรเชียงราย เขียนรูปพลังแผ่นดิน เป็นราชพลีแก่แผ่นดินเพื่อ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมแสดงในงานสล่าชาวเชียงราย สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบัน
ราชภัฏเชียงราย
พ.ศ. 2544 - เป็นตัวแทนจิตรกรไทยร่วมกับ 70 จิตรกร จาก 25 ชาติทั่วโลก แสดงงานศิลปะ และเป็นศิลปินใน พำนักที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาเลเซีย ที่เกาะลังกาวี ประสานงานกับดาโต๊ะอิบราฮิบ ฮุสเซ็น ศิลปินแห่งชาติ มาเลเซีย นิทรรศการเดี่ยว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมืองฟูกุโอกะ ถวัลย์ ดัชนี ได้รับรางวัลศิลปวัฒนธรรมแห่งอาเซียน จิตรกรคนแรกและคนเดียวในโลกตะวันออกที่ได้รับรางวัล นี้ในฐานะจิตรกร นับตั้งแต่สิบสองปีของรางวัลฟูกุโอกะ นิทรรศการแสดงเดี่ยวพุทธปรัชญาเซ็น ปรากฏรูปในงานศิลปร่วมสมัยต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชินีมากาเรตเต้ เจ้าชายเฮนดริก และมกุฎราชกุมารเฟเดอริดแห่งเดนมาร์ก ที่ไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
นอกจากการแสดงผลงานแล้ว ตลอดระยะเวลาว่า 40 ปี ของการสร้างงานศิลปะ ถวัลย์ ดัชนี ยังมีผลงานติดตั้งแสดงถาวรอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปสมัยใหม่ และสถานที่สำคัญๆ หลายแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนี้
พ.ศ. 2503 - ภาพเขียนสีน้ำมัน 10 ภาพ ซื้อโดยพลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ประดับที่ โรงพิมพ์สยามรัฐ
พ.ศ. 2505 - งานจิตรกรรมวิทยานิพนธ์ศิลปบัณฑิต คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
ซื้อโดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ 12 ภาพ ประดับที่สถานทูตไทยบูไอโนสแอร์เรส อาร์เจนตินา นครเวียนนา ออสเตรีย และนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ
พ.ศ.2506 - นิทรรศการเดี่ยว ณ นครกัวลาลัมเปอร์ ซื้อโดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินคร กัวลาลัมเปอร์ ปีนัง สิงคโปร์ ตามลำดับ
พ.ศ. 2507 - ผลงานวาดเส้นและจิตรกรรมขนาดใหญ่ ซื้อโดย ธนาคารเชสแมนฮัตตัน นครจาร์กาต้า อินโดนีเซีย 5 ภาพ ปัจจุบันเป็นผลงานในการสะสมของโซธปี้ สิงคโปร์ ประมูลมาจากอินโดนีเซีย หนึ่งในงาน จิตรกรรมที่มีมูลค่าสูงสุดของเอเชีย
พ.ศ.2508-2509
- เขียนภาพจิตรกรรมขนาดใหญ่ประดับสถานทูตไทย ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส
พ.ศ.2510-2511
- เขียนภาพประดับผนังปราสาทอาชิลล์ คลารัค คณบดีทูต เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ภาพ จิตรกรรม 26 ภาพ คัดเลือกเข้าแสดงนิทรรศการเดี่ยว ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปสมัยใหม่ สเตเดลิกซ์ นครอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ เขียนภาพการกำเนิดจักรวาล สำหรับสำนักกลางคริสเตียนประเทศ ไทย กรุงเทพฯ
พ.ศ.2512-2513
- มีผลงานสะสมอยู่ในสถานทูตเนเธอร์แลนด์ กรุงเทพฯ และพิพิธภัณฑ์ศิลปพื้นบ้าน นครฮัมบวร์ก เยอรมนี
พ.ศ. 2515 - มีผลงานเก็บสะสมในพิพิธภัณฑ์นครลอสแองเจลีส เคาน์ตี้มิวเซียมและในหอศิลปแห่งซานฟรานซิส โก เบย์เอเรียมิวเซียมจากการแสดงนิทรรศการแสดงเดี่ยวที่ฮาวาย และซานฟรานซิสโก
พ.ศ. 2517-2518
- ได้รับเชิญให้เป็นจิตรกรในพำนัก ที่เยอรมนี และอังกฤษ ผลงานวาดเส้นสะสมไว้ในหลายพิพิธภัณฑ์ ศิลปแห่งเยอรมนี ที่นครดือซัลดอร์ฟ บอนน์ โคโลญจน์ และมิวนิค ตลอดจนงานวาดเส้น ในคฤหาสน์ส่วนตัวของอดีตผู้อำนวยการบริติชเคาน์ซิล ประจำประเทศไทย มร.มัวรัช คาร์คิฟ สโตนเฮาล์ ออกซฟอร์ด
พ.ศ. 2519-2520
- ผลงานสะสมในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงสต๊อคโฮล์ม สวีเดน พิพิธภัณฑสถาน เมืองซานดาม เนเธอร์แลนด์ เขียนภาพประดับขนาดใหญ่ทั้งห้องในปราสาทครอททอร์ฟ เยอรมนี
พ.ศ. 2521 - ผลงานจิตรกรรมซื้อโดย พิพิธภัณฑ์ศิลปร่วมสมัยนานาชาติ ที่เมืองวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา
พ.ศ. 2523 - เขียนภาพประดับขนาดใหญ่ ประดับบริษัทเซลล์ แห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2525 - ผลงานวาดเส้นสามรูปใหญ่ เป็นงานสะสมในธรรมสถานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ออกมา เป็นการ์ดวันวิสาขบูชา โดยศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล
พ.ศ. 2527-2528
- ออกแบบตราพระราชลัญจกร ตำหนักแกรนด์ซัน ให้แก่จอห์น เดอซาลิสเคาน์ เดอ ซาลิส ลอนดอน อังกฤษ เขียนภาพประดับอีกห้องในปราสาท ครอททอร์ฟ เยอรมนี
พ.ศ. 2529-2530
- ออกแบบตราสารให้แก่ เคาน์ ออฟเปอรสคอรฟ ปราสาทซอนเนนพลาส นครซูริค เขียนภาพ จิตรกรรมขนาดใหญ่ประดับ ธนาคารแห่งประเทศไทย ทำศาลาไม้ สมาคมไทยเยอรมัน ที่สถาบัน วัฒนธรรมเยอรมัน กรุงเทพฯ ทำศาลาไม้ในสวนหลวง ร.9 ศาลาพุฒ-จันทร์ สถาปัตยกรรมล้านนา
พ.ศ. 2531-2532
- ผลงานสะสมที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พาซาเดน่า สหรัฐอเมริกา
พ.ศ. 2533 - ได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลญี่ปุ่น เป็นจิตรกรในพำนักและนิทรรศการศิลปกรรมเดี่ยว นับเป็น จิตรกรคนที่สามแห่งเอเชียต่อจากจีน และฟิลิปปินส์ ณ เมืองฟูกุโอกะ พิพิธภัณฑ์ศิลปร่วมสมัยและ ที่ศูนย์วัฒนธรรมญี่ปุ่น นครโตเกียว งานจิตรกรรมห้าชิ้น สะสมโดยพิพิธภัณฑ์ฟูกุโอกะ
พ.ศ. 2534 - ได้รับเชิญจากปราสาทอัลสตริมมิค นครโคเบล็นช เยอรมนี เขียนภาพ ภูมิจักรวาลตามไตรภูมิ ของปกิรณัมไทย และเป็นจิตรกรในพำนัก มหาวิทยาลัยศิลปนานาชาติ ที่นครเทรีย เยอรมนี
พ.ศ. 2535 - ได้รับเชิญจากรัฐบาลตุรกี ให้เป็นตัวแทนศิลปินไทย สาขาจิตรกรรม ไปร่วมงานศิลปกรรมร่วมสมัย ที่นครอิสตันบูล อัลทานญ่า และดูงานสถาปัตยกรรมในกรีก โรม และอียิปต์
พ.ศ. 2536 - ได้รับเชิญจากรัฐบาลออสเตรเลีย เป็นจิตรกรพำนักของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น เดินทางไปทัศน ศึกษาทั่วทวีปออสเตรเลีย ตั้งแต่ อลิชสปริงซิดนีย์ แคนเบอร่า ยูลาล่า เพิร์ท ไปจนถึงอาร์เนมแลนด์
พ.ศ. 2537 - เป็นจิตรกรไปพำนักที่วัดโอคัง วัดทาชิงลังโป มหาวิหารเคียน เชชิกัตเซและมหาวิหารไปทาละ ประเทศทิเบต พำนักบนเทือกเขาหิมาลัย บนยอดภูมัจฉา ปูเร เนปาล เพื่อศึกษาภาพเขียน จิตรกรรม ตันตริกของพุทธศาสนานิกาย มหายาน และศึกษาปฏิจสมุปบาทแบบมหายาน
พ.ศ. 2538 - เขียนภาพประดับธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นงานสะสมถาวรประจำธนาคาร ได้รับเชิญจาก ธนาคารกรุงเทพฯ และธนาคารไทยพาณิชย์ รังสรรค์งานจิตรกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย
(15 เมตร x 25 เมตร) ประดับที่ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ สาธรซิตี้ เรียลตี้ และสร้างงาน สถาปัตยกรรม จิตรกรรม แกะสลักไม้ ศาลาศิลป์สู่ภูสรวงประดับที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงาน ใหญ่ รัชโยธิน
พ.ศ.2539 - เริ่มงานสะสมถาวรกับบริษัทยูคอมประเทศไทย
ผลงานและชื่อเสียงของถวัลย์ ดัชนี ได้รับการกล่าวขานอย่างกว้างขวาง เห็นได้จากเอกสารสิ่งพิมพ์ ภาษาต่างประเทศที่เผยแพร่ไปทั่วโลกมากมาย สิ่งพิมพ์ ดังกล่าว อาทิ
1. ถวัลย์ ดัชนี จิตรกรรมไทยสากลวิญญาณตะวันออก (พิมพ์ 3 ภาษา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน) โดยกิลเบิร์ท บราวน์สโตน
2. ภาพร่างเส้นใยวิญญาณ ถวัลย์ ดัชนี (ภาษาเยอรมัน) โดยอูลลิซ ชาร์คอสสกี้
3. งานจิตรกรรม งานแกะไม้ งานภาพลายเส้นของถวัลย์ ดัชนี พิมพ์ที่สหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ. 2509-2512 ยุคปลายสมัยศิลปากร-อัมสเตอร์ดัม
4. หนังสืออ้างอิงชีวประวัติเล่มแรกของจิตรกรไทยที่มีชีวิตในประวัติศาสตร์วงการศิลปะลายเส้นพุทธปรัชญานิกายหินยาน ทศชาติชาดก โดย ดร. เคล้าส์ เว้งค์
5. ชีวิตและงานของถวัลย์ ดัชนี ระหว่าง พ.ศ. 2505-2535 (ภาษาอังกฤษ) โดย รัสเซล มาร์คัส
ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีผลงานเผยแพร่ในสื่อภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์หลายรายการ อาทิ
1. ภาพยนตร์ 16 มม. เรื่องแรกโดยยูซิสแห่งประเทศไทย 2505 ภาพยนตร์สารคดีศิลปร่วมสมัย ปรัชญาพุทธศาสนานิกายเซ็น 2512 สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน มิวนิค เยอรมนี
2. ภาพยนตร์ เสี้ยวรังสรรค์ ของ ถวัลย์ ดัชนี โดย บรรจง โกศัลวัฒน์ อำนวยการสร้างโดย สฤษฎิเดช สมบัติพานิช 2518
3. ภาพยนตร์สารคดี ศิลปวัฒนธรรม ทีวีเยอรมันจากนครโคโลญจ์ เยอรมนี 2528 เรื่องราว รูปเขียน สัญลักษณ์ ความหมาย ปรัชญา และพลังรังสรรค์ ของถวัลย์ ดัชนี ในปราสาทครอททอร์ฟ เยอรมนี
4. ภาพยนตร์สารคดี ศิลปวัฒนธรรมไทยแลนด์พาโนรามา โดย บีบีซี อังกฤษ 2532 เรื่องราวการนำเสนอ พลังเนรมิต ความฉับพลันของสภาวะจิต ความขัดแย้งระหว่างอุปาทานขันธ์ สมมุติสัจจะและปรมัติสัจจะ
5. ภาพยนตร์สารคดีชีวิต ถวัลย์ ดัชนี จิตรกรในพำนักมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย 2537 เรื่องราวเกี่ยวกับบ้านที่อยู่อาศัย สถาปัตยกรรมท้องถิ่น ความคิดศรัทธา และความเห็นชอบในอริยมรรคของถวัลย์ ดัชนี
6. รายการชีพจรลงเท้า 3 ครั้ง หนึ่งในร้อย ที่นี่กรุงเทพ ศิลปวัฒนธรรมบันเทิง มาลัยเก้าเกียรติยศ ตลอดจนรายการหลากหลาย กับงานศิลปะ บทกวีรวมเล่มภาษาอังกฤษ โดยถวัลย์ ดัชนี และเพื่อนทั้งสาม อดุล เปรมบุญ ประพันธ์ ศรีสุตา ผดุงศักดิ์ ขัมภรัตน์ 2512
7. บทความเกี่ยวกับศิลปวิจารณ์ ของถวัลย์ ดัชนี ในดำแดงปริทัศน์ของโรงเรียนเพาะช่าง 2516-2515
8. บทวิจารณ์งานศิลปกรรมบัวหลวง ในฐานะกรรมการตัดสินศิลปกรรมระหว่างชาติ 2528-2533 จากนั้นได้มอบให้ผู้อื่นทำหน้าที่เขียนบทวิจารณ์แทน
ฯลฯ
รางวัลและเกียรติคุณที่เคยได้รับ
นายถวัลย์ ดัชนี ได้รับรางวัลทางศิลปะ ดังนี้
พ.ศ. 2503 รางวัลที่ 2 การประกวดศิลปกรรม ณ วังสวนผักกาด
พ.ศ. 2505 รางวัลที่ 1 การประกวดศิลปกรรม จัดโดย องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว กรุงเทพฯ
พ.ศ. 2528 ได้รับรางวัลเกียรติยศเหรียญทองจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในฐานะจิตรกรผู้สร้างสรรค์ศิลปะร่วม สมัย
พ.ศ. 2540 ได้รับเลือกจากองค์การสหประชาชาติ ให้เป็นผู้แทนวัฒนธรรมทางศิลปะภาคตะวันออกไปแสดงผล งานที่นิวยอร์ค ปารีส โรม ลิสบอน แคนเบอร่า และโตเกียว ตามลำดับ
พ.ศ. 2544 ได้รับคัดเลือกจาก FUKUOKA ASIAN CULTURE PRIZE COMMITTEE ให้รับรางวัล Arts and Culture Prize ค.ศ. 2001
พ.ศ. 2545 ปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวิชาจิตรกรรม) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปี
การศึกษา 2544
ภาพลักษณ์ของ ถวัลย์ ดัชนี
ภาพลักษณ์ของถวัลย์ ดัชนี ที่ปรากฏต่อสาธารณชนคือ ชายร่างใหญ่ ค่อนข้างเจ้าเนื้อ แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองเหนือสีครามเข้ม หรือสีกรัก มีเขี้ยวเล็บ กระดูกสัตว์ป่าเป็นเครื่องประดับ นับตั้งแต่อายุ 55 ปี ไม่เคยใส่เครื่องประดับกายชนิดใดเลย รูปลักษณ์ที่ปรากฏแก่คนทั่วไปเช่นนี้เป็นจุดยืนอันเด่นชัดของ ถวัลย์ ดัชนี ที่ไม่ยอมรับแฟชั่นหรือกระแสวัฒนธรรมทางวัตถุใดๆ ชีวิตส่วนตัวเป็นคนสมถะ กินน้อย นอนน้อย ทำงานมาก มีงานวาดรูปเป็นกิจนิสัย ตลอดชีวิตไม่เคยข้องแวะกับอบายมุขหรือสิ่งเสพย์ติดใดๆ เป็นคนเปิดเผยตรงไปตรงมา มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน ถวัลย์ศึกษาหลักธรรมในพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ปฏิบัติสมาธิด้วยการทำงานวาดรูป จึงสามารถนำปรัชญาธรรมในพุทธศาสนามาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะ จนได้ชื่อว่าเป็นสื่อกลางเชื่อมโลกตะวันออกและตะวันตกเข้าหากนในยุคปัจจุบัน ั
การทำประโยชน์เพื่อสังคม
ถวัลย์ ดัชนี มีโภคทรัพย์อันเกิดจากการวาดรูปค่อนข้างมากในความรู้สึกของคนทั่วไป แต่สำหรับถวัลย์แล้ว เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุด เงินไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนัก เขายังคงเป็นถวัลย์ ดัชนี ผู้มีชีวิตเรียบง่าย นอบน้อมถ่อมตน ยังคงกินน้อย นอนน้อย ทำงานวาดรูปมาสม่ำเสมออยู่เช่นเดิม ถวัลย์ผันเงินส่วนใหญ่ไปทำประโยชน์แก่วงการศิลปะ ทั้งวงการศึกษาและการสร้างสรรค์เขายังหวังอยู่ว่าวันหนึ่งสังคมไทยจะให้ความสำคัญแก่ศิลปะและการสร้างสุนทรียรสให้แก่ผู้คน เขาทุ่มเทเวลาส่วนหนึ่งฟูมฟักศิลปสถาน ที่ชาวบ้านเรียกว่า บ้านดำ นางแล ที่จังหวัดเชียงราย บ้านเกิดให้กลายเป็นสถานที่ทางการศึกษาศิลปวัฒธรรมของชาติ ด้วยการจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้านในเนื้อที่กว่าร้อยไร่ ประกอบด้วยอาคารแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคเหนือกว่า 25 หลัง และอาคารสถาปัตยกรรมท้องถิ่นประยุกต์หลายหลังสำหรับจัดแสดงศิลปะพื้นบ้าน (Folk Art) ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์ของช่างท้องถิ่น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านี้ ถวัลย์ ดัชนี ใช้เวลารวบรวมด้วยความตั้งใจมาเป็นเวลานานกว่า 25 ปี พิพิธภัณฑ์นี้เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมบ้างแล้ว
ตลอดระยะ 25 ปีที่ผ่านมา ถวัลย์ ดัชนี อยู่เบื้องหลังการรวมตัวของช่างผู้รังสรรค์ศิลปะ ทั้งช่างในท้องถิ่นและภาคอื่นๆ ของประเทศไทย เพื่อเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมทางศิลปะอย่างเป็นรูปธรรม มีผลงานศิลปะหลากหลายออกสู่สายตาสาธารณชน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก และยังได้บริจาคเงิน 12 ล้านบาท จัดตั้งมูลนิธิถวัลย์ ดัชนี ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 ด้วยการใช้ดอกผลจากกองทุนนี้สนับสนุนการศึกษาของสถานศึกษาที่ถวัลย์เคยเกี่ยวข้อง ได้แก่ โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม โรงเรียนสามัคคีวิทยา จังหวัดเชียงราย วิทยาเขตเพาะช่าง และมหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ สถาบันละ 10 ทุน ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ทุนสนับสนุนสอนศิลปะไทย โดย ดร. กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ ทุนวิจัยแก่มูลนิธิ ม.ล. มานิจ ชุมสาย ณ อยุธยา ทุนมูลนิธิบ้านอาจารย์ พลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช มูลนิธิ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเชียงราย บูรณปฏิสังขรณ์ วังพญาไท กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ ถวัลย์ ดัชนี ยังเป็นกรรมการตัดสินงานศิลปกรรมแห่งชาติ รางวัลจิตรกรรมบัวหลวง รางวัลศิลปกรรมร่วมสมัย ธนาคารกสิกรไทย รางวัลพานาโซนิค ศิลปะร่วมสมัยมาตลอดระยะเวลา 25 ปี เป็นมาสเตอร์เอเชีย อบรมยุวศิลปินทั่วเอเชีย 10 ประเทศ เป็นอาจารย์ในพำนักสอนศิลปะ ปรัชญาทั้งในยุโรป อเมริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และหลายมหาวิทยาลัย สถาบันศิลปะหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศให้ทุนวิจัยศิลปินในพำนักที่บ้านดำ นางแล มาตลอด 25 ปี แก่ศิลปินทั่วโลกโดยทุนส่วนตัว ทะนุบำรุงจิตรกร ปฏิมากร คีตกร นาฏกร ทั้งในและต่างประเทศมาตลอดเวลาของชีวิต เขียนบทนำ บทความแนะนำตัวผู้รังสรรค์ศิลปะมาโดยตลอด หลังจากอายุ 60 ปี ร่วมมือกับชาวสล่าเชียงรายทำงานเผยแพร่อนุรักษ์ วิจัยระบบนิเวศวิทยาเชิงศิลปะ และรวบรวมงานศิลปะทางมานุษยวิทยา พัฒนาไปสู่ความร่วมสมัย เป็นประธานและหัวหน้าคณะทำงานจิตวิญญาณตะวันออก ลมหายใจไทย ร่วมมือกับบุญชัย เบญจรงคกุล ดีแทค จัดประกวดงานศิลปะร่วมสมัยขึ้นเป็นปีแรก ใน พ.ศ. 2545 เขียนตำรากายวิภาค คน สัตว์ แมลง สัตว์เลื้อยคลาน และนก จัดพิมพ์โดยสหประชาชาติ ร่วมมือกับ มร. โคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ให้ทุนวิจัยดนตรี กวี และการละเล่นพื้นเมือง ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ทุนแก่ยุวจิตรกรเชียงรายที่เขียนภาพผนังหลายวัดในจังหวัดเชียงราย ร่วมมือกับไร่แม่ฟ้าหลวง สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเชียงราย จัดนิทรรศการหมุนเวียนมาตลอด 25 ปี ให้ทุนสนับสนุนสมาคมศิษย์เก่าเพาะช่าง มหาวิทยาลัยศิลปากรโดยตลอด
ปัจจุบัน นายถวัลย์ ดัชนี พำนักอยู่บ้านเลขที่ 414 หมู่ที่ 4 ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 57100 โทร 0 5370 5834 หรือ ที่บ้านเลขที่ 6 ถนนสุขาภิบาล 2 หมู่บ้านนวธานี เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร 10240 โทร 0 2376 1423
จากประวัติชีวิตและผลงานดังกล่าว แสดงถึงความเป็นศิลปินของนายถวัลย์ ดัชนี ?ช่างวาดรูป? ผู้มีพุทธิปัญญาที่นำแนวปรัชญาพุทธศิลป์มาสร้างสรรค์งานศิลปะไทยร่วมสมัยอันทรงพลังลุ่มลึกและแกร่งกร้าวด้วยปัจเจกภาพส่วนตน มีเนื้อหาสาระและท่วงทีที่มีชีวิตวิญญาณของความเป็นไทยให้เห็นเกือบทุกชิ้นงาน เป็นผู้นำศิลปะไทยเสนอต่อสายตาชาวโลกด้วยวิธีการที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ทั้งยังได้สร้างคุณูปการต่อวงการศิลปะ เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ นายถวัลย์ ดัชนี เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พุทธศักราช 2544
ที่มา :
http://www.arayanewspaper.com
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
เกร็ดความรู้
ประวัติบุคคลสำคัญของไทย
อ.ถวัลย์ ดัชนี ผู้รังสรรค์งานศิลป์ที่ทรงคุณค่า ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?