เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
เทคนิคการบริหารงานและการปฏิบัติงาน
ผู้นำต้องเป็นนักกลยุทธ์ นักวางแผน
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: ผู้นำต้องเป็นนักกลยุทธ์ นักวางแผน (อ่าน 4504 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3923
ผู้นำต้องเป็นนักกลยุทธ์ นักวางแผน
เมื่อ:
มีนาคม 16, 2016, 08:54:07 AM
การจะมาเป็นผู้นำได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างด้วยกัน โดยต้องมีความเหมาะสมกับภาวะผู้นำ และลูกน้องเคารพนับถือ เพื่อที่จะนำพาองค์กรให้ประสบความสำเร็จต่อไป
จากผลการสัมมนา โดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติในหัวข้อ
"Planning & Systematic Thinking"
หรือ
"เทคนิคการวางแผน และคิดอย่างเป็นระบบ"
ซึ่งมี
"ดร.สุชาติ สังข์เกษม"
เป็นผู้บรรยายพิเศษ ซึ่งประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก คือ
1. ทำคนเดียวเก่ง ทำเป็นทีมแย่
2. ชอบนำญาติมิตรเข้ามาร่วมงาน และวางตัวไม่เป็นกลาง
3. ไม่ชอบแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม แต่ชอบแสดงความคิดเห็นนอกหน้า
4. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แต่ขาดความต่อเนื่อง
ดังนั้นภาวะการเป็นผู้นำ จึงต้องมีการวางแผน เพื่อนำความคิดไปสู่ระบบ ประกอบด้วยองค์ประกอบ 8 ประการ คือ
1. ทำใจว่าง จิตว่าง
2. ใช้สมอง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับปรีชาญาณ วิจารณญาณ และความสำนึกในเหตุผล
3. ตัดสินใจ โดยคำนึงถึงเรื่องที่กำลังพิจารณา บริบท จังหวะ เวลา โอกาส และความเสี่ยง กับการมีสติ
4. มองทิศทาง มีเป้าหมาย
5. เลือกคนเก่ง และดี
6. จัดโครงสร้างองค์กร กระบวนการเลือกคนให้เหมาะกับงาน โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่าย ระยะเวลา งบประมาณ และการปฏิบัติให้บรรลุผล
7. การกระจายอำนาจ
8. ติดตาม ประเมินผลงาน โดยมุ่งเป้าหมายไปที่ประโยชน์ส่วนรวม
แต่กระนั้น การที่จะนำไปสู่เทคนิคการวางแผน และคิดอย่างเป็นระบบแล้ว จะต้องมีพื้นฐาน เพื่อมุ่งไปสู่องค์กรเรียนรู้หลายอย่าง ประกอบด้วย
การมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (Personal Mastery), รูปแบบวิธีการคิด และมุมมองที่เปิดกว้าง (Mental Model), การสร้าง และสานวิสัยทัศน์ (Shared Vision), การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม (Team Learning) และความคิดความเข้าใจเชิงระบบ (System Thinking)
สำหรับการมุ่งสู่ความเป็นเลิศนั้น นอกจากจะมีการสร้างวิสัยทัศน์ส่วนตน ยังจะต้องมีวิสัยทัศน์ในการทำงาน วิสัยทัศน์ในด้านครอบครัว และวิสัยทัศน์เฉพาะตัว ที่สำคัญจะต้องมีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ การใช้ข้อมูลเพื่อคิดวิเคราะห์ และตัดสินใจ มีมุมมองที่เปิดกว้าง ทั้งยังจะต้องฝึกใช้จิตใต้สำนึกในการทำงาน และทุกองค์กรจะต้องสร้างวิสัยทัศน์ แล้วนำไปเป็นเป้าหมายของการกำหนดแผนกลยุทธ์ จากนั้นค่อยมารวมกัน เพื่อประสานให้เกิดวิสัยทัศน์ที่เป็นจริงขึ้นมาด้วยแผนปฏิบัติ
ขณะที่การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม นอกจากจะเกี่ยวข้องกับ IQ (Intelligent Quotient) อันหมายถึงระดับสติปัญญาในการเรียนรู้ หรือช่วยให้ประสบความสำเร็จในการเรียนแล้ว ยังจะเกี่ยวข้องกับ EQ (Emotional Quotient) อันหมายถึงวุฒิภาวะ การควบคุมอารมณ์ การเรียนรู้ รับรู้เข้าใจผู้อื่น และการบริหารอารมณ์ ทั้งยังจะเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร และรูปธรรมของการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม อันประกอบด้วยการใช้วิธีเสวนา การอภิปราย การใช้เทคนิคของการบริหารงานเป็นทีม และการใช้เทคนิคของการบริหารโครงการ
ส่วนความคิดความเข้าใจเชิงระบบ นอกจากจะเกี่ยวข้องกับการรีเอ็นจิเนียริ่งองค์กร ยังจะเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพ นอกจากจะต้องมีการพัฒนาวิสัยทัศน์ขององค์กร ยังจะต้องมีการพัฒนาระบบการวางแผนงาน การพัฒนาระบบการเรียนรู้ และการพัฒนาระบบการบริหารเชิงคุณภาพ อันไปเกี่ยวข้องกับกุญแจความสำเร็จของการพัฒนาองค์กรเรียนรู้ อันประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ คือ
1. การพัฒนาภาวะผู้นำ (Leadership)
2. การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม (Team Learning)
3. ความคิดความเข้าใจเชิงระบบ (System Thinking)
แต่กระนั้น "ดร.สุชาติ" ก็มองว่า เทคนิคการวางแผน และคิดอย่างเป็นระบบ อาจมีอุปสรรคของการเรียนรู้ให้เห็นอยู่บ้าง อาทิ ความคร่ำครึขององค์กร ภาคภูมิใจกับความสำเร็จในอดีตมากเกินไป ไม่เปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ ผู้นำองค์กรไม่มีความสามารถ ผู้นำองค์กรทุกระดับไม่สนใจจะใฝ่รู้ และการติดต่อสื่อความ
ฉะนั้น ผู้นำองค์กรจะต้องคิดอย่างคนเก่ง คิดให้ลึกเชิงวิเคราะห์ คิดให้กว้างขวางอย่างสร้างสรรค์ คิดให้ครบจบเรื่อง และคิดในภาพรวมทั้งระบบ จึงจะทำให้วิธีคิดปรากฏอย่างสร้างสรรค์ อันไปเกี่ยวเนื่องกับการคิดให้กว้างอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ อาทิ ความมุ่งมั่นตั้งใจจริง และแรงบันดาลใจ ความแปลกใหม่ที่แตกต่างไปจากธรรมดา และความมีคุณค่า ทั้งยังจะเกี่ยวข้องกับการเตรียมตัว เตรียมใจให้พร้อมต่อการใช้ความคิด การเก็บรวบรวมข้อมูล การจัดหมวดหมู่ความคิดออกเป็นด้าน ๆ หรือส่วน ๆ ตามกลุ่ม หรือตามจำนวน
วิธีคิดเพื่อให้เห็นเป็นภาพรวมทั้งระบบ ซึ่งเริ่มจากการพิจารณาเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ ในสิ่งที่กำลังคิดจะทำ การกลับมาคิดถึงกิจกรรม หรือโครงการที่จะต้องทำ ว่าจะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง รวมไปถึงการคำนึงถึงระบบ วิธีการ และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในที่สุด สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. การคิดโดยไม่ต้องมีจุดหมาย
ซึ่งเป็นความคิดอย่างต่อเนื่อง และความคิดในลักษณะนี้จะมีองค์ประกอบย่อยต่าง ๆ อาทิ คิดได้ตามใจชอบ คิดตามคำสั่ง ฝันอยากได้ในสิ่งที่ชีวิตจริงตนไม่ได้รับ ฝันต่อเนื่องจากเรื่องราวที่เป็นจริง บางครั้งไม่สมเหตุสมผล หรือการคิดที่ขึ้นอยู่กับความเชื่อ และอารมณ์ของผู้คิดมากกว่าลักษณะที่แท้จริง
2. การคิดอย่างมีจุดหมาย
คือการคิดตัดสินปัญหา หมายความว่า เมื่อเราตัดสินของสองสิ่งว่า อะไรดีกว่ากัน หรือมีค่ามากกว่ากัน หรือสวยมากกว่ากัน เราจะใช้การคิดอย่างมีจุดหมายนี้ช่วยพิจารณา ขณะเดียวกัน ก็จะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ อันหมายความว่า ความคิดสร้างสรรค์ สำหรับแก้ปัญหาต่าง ๆ และคิดสร้างสิ่งใหม่ โดยทั่วไปแล้ว ก่อนที่นักคิดส่วนมากจะค้นพบสิ่งใหม่ หรือหาทางแก้ปัญหา ได้ช้าหรือเร็ว มักจะมีกระบวนการคิดตามลำดับชั้น อาทิ การเตรียมตัวแก้ปัญหา การฟักตัวของความคิด การพบทางออกของปัญหา และการพิสูจน์ทางออกของปัญหาที่ค้นพบ จึงจะทำให้เทคนิคการวางแผน และคิดอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นจริง
อ้างอิง : ดร.สุชาติ สังข์เกษม
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
เทคนิคการบริหารงานและการปฏิบัติงาน
ผู้นำต้องเป็นนักกลยุทธ์ นักวางแผน
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?