ผู้เขียน หัวข้อ: โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หญ้าแฝก  (อ่าน 6445 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923

เกี่ยวกับโครงการ

"...ทุกคนควรจะได้สนใจสังเกต  ศึกษาเรื่องราว  บุคคลและสิ่งต่าง ๆ  ที่แวดล้อมและเกี่ยวข้องกับตัวเองให้มากอย่าละเลยหรือมองข้ามแม้แต่สิ่งเล็กน้อย  เช่น  ต้นหญ้า  ซึ่งถ้าศึกษาพิจารณาให้ดีก็จะก่อให้เกิดปัญญาได้  หญ้านั้นมีทั้งหญ้าที่เป็นวัชพืชซึ่งเป็นโทษ  และหญ้าที่มีคุณอย่าง  "หญ้าแฝก"  ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การอนุรักษ์ดินและน้ำ  เพราะมีรากที่หยั่งลึกแผ่กระจายลงไปตรง ๆ  ทำให้อุ้มน้ำและยึดเหนี่ยวดินได้มั่นคงและมีลำต้นชิดติดกันแน่นหนา ทำให้ดักตะกอนดินและรักษาหน้าดินได้ดี..." 

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  วันที่  ๒๔  กรกฎาคม  ๒๕๔๐

การชะล้างพังทลายของดินเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนี่งของประเทศ มีผลต่อความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการป้องกันและแก้ไขปัญหา จึงพระราชทานพระราชดำริให้มีการนำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ  เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขี้น เนื่องจากหญ้าแฝกเป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ง่าย มีรากที่ยาว แผ่กระจายลงไปในดินตรง ๆ เป็นแผง และง่ายต่อการรักษา

เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๓๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเป็นครั้งแรกให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำการศึกษา ทดลอง และดำเนินการปลูกหญ้าแฝกเพื่อเป็นการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและเพื่อประโยชน์อื่น ๆ หน่วยงานทั้งหลายจึงได้รับสนองพระราชดำริตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาโดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เป็นผู้ประสานงาน

การดำเนินโครงการ

พระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการศึกษาและปลูกหญ้าแฝกมีใจความสรุปได้ว่า
 
๑. หญ้าแฝกเป็นพืชที่มีระบบรากลึก แผ่กระจายลงไปในดินตรง ๆ เป็นแผงเหมือนกำแพง ช่วยกรองตะกอนดินและรักษาหน้าดินได้ดี จึงควรนำมาศึกษาทดลองปลูก ให้ทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดินในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาและพื้นที่อื่น ๆ ที่เหมาะสมอย่างกว้างขวาง
๒. การดำเนินการทดลองการปลูกหญ้าแฝก ให้พิจารณาลักษณะของภูมิประเทศ ซึ่งแบ่งตามลักษณะของพื้นที่ดังนี้
ก. การปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ภูเขา ให้ปลูกหญ้าแฝกตามแนวขวางของความลาดชันและในร่องน้ำของภูเขา เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินและช่วยเก็บความชื้นในดินไว้ด้วย
ข. การปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ราบ ให้ดำเนินการในลักษณะดังนี้
              - ปลูกโดยรอบแปลง
              - ปลูกลงในแปลง แปลงละ ๑ หรือ ๒ แนว
              - สำหรับแปลงพืชไร่ ให้ปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่
ค. การปลูกหญ้าแฝกรอบสระน้ำ เพื่อป้องกันอ่างเก็บน้ำมิให้ตื้นเขินอันเนื่องมาจากตะกอนจากการพังทลายของดิน ตลอดจนช่วยรักษาดินเหนืออ่างและช่วยให้ป่าไม้ในบริเวณพื้นที่รับน้ำทวีความสมบูรณ์ขี้นอย่างรวดเร็ว
ง. การปลูกหญ้าแฝกเหนือบริเวณแหล่งน้ำ ปลูกแฝกเป็นแนวป้องกันตะกอนดินและกรองของเสียต่าง ๆ ที่ไหลลงในแหล่งน้ำทั้งนี้ให้บันทึกภาพก่อนดำเนินการและหลังการดำเนินการไว้เป็นหลักฐาน
 
หน่วยงานต่างๆ ได้ให้ความสำคัญและนำเทคนิควิธีการหญ้าแฝกมาประยุกต์ใช้ในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินเชิงลาดถนน และได้มีการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้เทคนิคการปลูกหญ้าแฝกในงานทางแก่เจ้าหน้าที่   เพื่อให้มีความรู้เข้าใจถึงประโยชน์ของหญ้าแฝกในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน เป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นและประหยัดงบประมาณด้านการบำรุงรักษา ได้มีการนำหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์โดยการปลูกในสายทางต่างๆที่มีปัญหาเรื่องการชะล้างพังทลายของดิน เช่น ในสายทางพื้นที่ภูเขาภาคเหนือ-ภาคใต้ ในลักษณะที่เป็นงานส่วนหนึ่งซี่งสามารถกระทำได้เป็นปกติ ที่ดำเนินการได้เอง เมื่อเกิดปัญหาในงานบำรุงปกติ งานก่อสร้างแก้ไขการเคลื่อนตัวของเชิงลาด (Slide) ตลอดจนแขวงการทางบางแห่งได้มีการปลูกขยายพันธุ์กล้าหญ้าแฝกสำรองไว้ใช้เอง

คุณค่าต่อสังคมไทย

 ?ให้ใช้หญ้าแฝกในการพัฒนา ปรับปรุงบำรุงดิน ฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ และแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรมดำเนินการขยายพันธุ์ ทำให้มีกล้าหญ้าแฝกเพียงพอด้วย ที่สำคัญต้องไม่ลืมหน้าที่ของหญ้าแฝก ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ และเพื่อการรักษาดิน ให้ทุกหน่วยงานและหน่วยงานราชการที่มีศักยภาพในการขยายพันธุ์ ให้ความร่วมมือกับกรมพัฒนาที่ดิน ในการผลิตกล้าหญ้าแฝก และแจกจ่ายกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เพียงพอ? พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ณ ศาลาเริง วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546)
 
ดังคำกล่าวที่ว่า ป่าและต้นน้ำคือชีวิต โครงการหญ้าแฝกตามพระราชดำริเป็นทฤษฎีการป้องกันการเสื่อมโทรมและพังทลายของดินและคืนธรรมชาติสู่แผ่นดิน  เป็นการสร้างความสมดุลให้กับป่าไม้ซึ่งเป็นต้นน้ำลำธาร  ทำให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศน์  เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ IECA ได้มีมติถวายรางวัล The International Merit Award แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงมุ่งมั่นในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ และผลการดำเนินงานหญ้าแฝกในประเทศไทยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลก ความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดินที่กลับคืนมานี้ เป็นเพราะพระวิริยะอุตสาหะและพระปรีชาญาณอันยาวไกลแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงศึกษาวิเคราะห์เพื่อหาหนทางในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยที่กำลังถูกทำลายไปอย่างรวดเร็วทั้งนี้เพื่อความมั่งคั่งสมบูรณ์พูนสุขของประชาชนอย่างแท้จริง


ที่มา : http://www.weloveroyalty.com/