ผู้เขียน หัวข้อ: พระราชกรณียกิจด้านการศึกษานอกโรงเรียน  (อ่าน 8057 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
สำหรับการศึกษาของประชาชนชาวไทยที่เป็นการศึกษานอกระบบโรงเรียนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาสำหรับประชาชนที่อยู่ในชนบทอย่างมาก จึงทรงริเริ่มโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษานอกระบบหลายโครงการเพื่อให้การศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาให้มีความรู้และความสามารถประกอบสัมมาอาชีพอย่างมีความสุข และการศึกษาสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับต่าง ๆ ให้มีปัญญา และความสามารถที่จะปรับตนให้เข้ากับสภาวะแท้จริงของชีวิต พร้อมดำรงตนให้อยู่ในสังคมอย่างเป็นสุขและเจริญมั่นคงได้
 
ศาลารวมใจ

การศึกษาสำหรับชาวชนบทในถิ่นทุรกันดาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มจัดตั้ง "ศาลารวมใจ" เพื่อใช้เป็นห้องสมุดประจำหมู่บ้าน สำหรับประชาชนเข้าไปศึกษาหาความรู้เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และหนังสือประเภทต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาสาระ อ่านเข้าใจง่ายตลอดจนภาพประกอบคำบรรยายเกี่ยวกับปูชนียบุคคล ปูชนียสถานในประเทศไทย และภาพเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพอนามัยแก่ห้องสมุด "ศาลารวมใจ"
 
โรงเรียนพระดาบส

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังเช่าที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์บริเวณตรงข้ามหอสมุดแห่งชาติ สร้างเป็นโรงเรียนสำหรับฝึกวิชาชีพ โดยมีพระบรมราโชบายให้ดำเนินการเป็นแบบอาสมพระดาบส เป็นศูนย์กลางประสิทธิ์ประสาทวิชาทุกสาขาเพื่อเป็นวิทยาทานแก่บุคคลทั่วไป โดยเน้นความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ คุณวุฒิของผู้สำเร็จการศึกษาไม่ต้องเทียบกับทางราชการ เพียงแต่ให้ประกอบอาชีพได้เท่านั้น โรงเรียนพระดาบสได้เปิดอบรมเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ รับนักเรียนเข้าอบรมช่างไฟฟ้าและช่างวิทยุเบื้องต้น จำนวน ๕ คน มีครูอาสาสมัครสอบจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากของรัฐและบริษัทเอกชนจำนวน ๕ นาย เช่นกัน เงินทุนที่ใช้ในการดำเนินโครงการโรงเรียนพระดาบสครั้งแรก เป็นเงินพระราชทานจากเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ. ๒๕๑๘ จำนวน ๒,๕๗๒,๐๐๐ บาท ซึ่งนำไปใช้เป็นค่าซ่อมแซมอาคารเรียนและที่พักนักเรียน รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอน ที่เหลือได้ฝากธนาคารนำดอกผลไปใช้ในการดำเนินกิจการของโครงการ

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

การศึกษานอกระบบโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแก่ประชาชนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" เพื่อเป็นศูนย์รวมของการศึกษาค้นคว้าทดลองวิจัยและแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการประกอบอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศนั้น ๆ ปัจจุบันศูนย์การพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริมี ๖ ศูนย์กระจายอยู่ใน ๔ ภาคดังนี้
 
๑. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส
๒. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร
๓. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี
๔. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่
๕. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี
๖. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา
 
โครงการพระราชดำริต่าง ๆ

นอกจากนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ของกรมการศึกษานอกโรงเรียนได้เข้าร่วมดำเนินการในโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นต้นมาดังนี้

๑. โครงการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เป็นโครงการจัดการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ เพื่อพัฒนาชาวเขาเผ่าแม้ว และเผ่ากะเหรี่ยง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 11 หมู่บ้าน ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นต้นมา

๒. โครงการพัฒนาชุมชนตำบลบ้านจันทร์ เป็นโครงการจัดการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จขั้น พื้นฐาน ๑๒ ห้องเรียน โดยจัดหนังสือหมุนเวียนทุกหมู่บ้าน และจัดการศึกษาผู้ใหญ่ระดับ ๓-๔ ทางวิทยุและไปรษณีย์ จัดอบรมกลุ่มแม่บ้านและจัดโครงการศึกษาวิชาชีพเคลื่อนที่สู่ชนบท เพื่อพัฒนาชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง อำเภอเม่แจ่ม จังหวัดชียงใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นต้นมา

๓. โครงการพัฒนากลุ่มห้วยแม่เพรียง เป็นโครงการจัดการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จขั้นพื้นฐานและจัดสอนวิชาชีพระยะสั้น จัดที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน จัดกลุ่มสนใจ และจัดโสตทัศนศึกษาให้ราษฎร อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

๔. โครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน เป็นโครงการที่เกิดจากมีผู้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน๑ ราย จำนวน ๑,๔๙๑ ไร่ กรมการศึกษานอกโรงเรียนได้เข้าไปจัดการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จขั้นพื้นฐานที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน โครงการอบรมวิชาชีพในการให้การศึกษาผู้ใหญ่ในชนบทและดำเนินตามโครงการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือแห่งชาติให้แก่ราษฎรในอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นมา

๕. โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ ไร่ให้ราษฎรใช้เป็นที่ทำกิน กรมการศึกษานอกโรงเรียนได้ดำเนินการจัดการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จขั้นพื้นฐานสอนวิชาชีพต่าง ๆ จัดที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน บริการหนังสือเคลื่อนที่จัดกลุ่มสนใจ จัดบริการโสตทัศนศึกษาและโครงการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือแห่งชาติในพื้นที่อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นมา

๖. โครงการศิลปาชีพ จังหวัดสกลนคร เป็นโครงการศิลปาชีพเพื่อพัฒนาอาชีพของประชาชนในด้านศิลปกรรมและหัตถกรรมพื้นบ้าน การศึกษาและอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้าน ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดสกลนคร ได้เข้าร่วมโครงการนี้ในด้านการสอนวิชาชีพระยะสั้นที่จังหวัดสกลนคร ตั้งแต่ พ.ศ. 2๒๕๒๖ เป็นต้นมา

๗. โครงการพัฒนาที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้มีการพัฒนาด้านเกษตรกรรมที่ราบเชิงเขาที่ติดกับวนอุทยานแห่งชาติในเขตอำเภอนาคี สระแก้ว ประจันตคาม วัฒนานคร และกิ่งอำเภอคลองหาด จังหวัดปราจีนบุรี ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดปราจีนบุรี ได้ดำเนินการสอนวิชาชีพระยะสั้น จัดกลุ่มสนใจ การศึกษานอกโรงเรียนแบบเบ็ดเสร็จ ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านและโสตทัศนศึกษาแก่ประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นมา

๘. โครงการสวนป่าเปิดเขาเขียว เป็นโครงการตามพระราชดำริเพื่อสร้างและส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติในบริเวณเขาเขียว จังหวัดชัยภูมิ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนของจังหวัดได้เข้าไปดำเนินการสอนวิชาชีพระยะสั้น จัดกลุ่มสนใจ การศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จขั้นพื้นฐาน จัดที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน จัดโสตทัศนศึกษาแก่ราษฎรในโครงการนี้

๙. โครงการศิลปาชีพเพื่อความมั่นคง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นโครงการเพื่อพัฒนาชาวเขา เผ่ามูเซอ ม้ง กะเหรี่ยง อำเภอแม่สะเรียง อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้รู้จักทำมาหากินเป็นหลักแหล่งกรมการศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เข้าไปสอนวิชาชีพระยะสั้น และการศึกษาผู้ใหญ่เบ็ดเสร็จแบบพื้นฐาน

๑๐. โครงการอาศรมวัดญาณสังวราราม เป็นโครงการตามพระราชดำริให้ราษฎรบริเวณชายแดน ภาคตะวันออก มารับการฝึกอบรมด้านการเกษตร ด้านคุณธรรม จริยธรรม การรู้หนังสือที่วัดญาณสังวราราม อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี กรมการศึกษานอกโรงเรียนได้จัดสอนวิชาชีพระยะสั้นให้กลุ่มสนใจ และจัดที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นต้นมา

ที่มา http://web.ku.ac.th/king72/2542-08/main2.htm