เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย
พระมหาธรรมราชา คนทรยศหรือผู้กอบกู้
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: พระมหาธรรมราชา คนทรยศหรือผู้กอบกู้ (อ่าน 5007 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3923
พระมหาธรรมราชา คนทรยศหรือผู้กอบกู้
เมื่อ:
ธันวาคม 05, 2016, 10:20:22 PM
ในสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง คนไทยจำนวนมากคงรู้ว่าการที่ทัพหงสาวดีสามารถตีกรุงศรีฯ ได้ ก็ด้วยความช่วยเหลือของพระยาจักรี อดีตขุนนางอโยธยาที่ทรยศไปเป็นไส้ศึกให้กับพระเจ้าบุเรงนอง ทว่าคนที่ไปร่วมมือกับหงสาวดีนั้น หาใช่มีเพียงออกญามีชื่อผู้นี้ไม่
หากศึกษาข้อมูลจากพงศาวดารหลายฉบับทั้งของพม่าและไทย จะเห็นว่าผู้ที่เป็นกำลังสำคัญของพระเจ้าบุเรงนองในการตีกรุงศรีอยุธยานั้น ก็คือ เจ้าฟ้าสองแคว หรือ พระมหาธรรมราชา เจ้าผู้ครองนครพิษณุโลก ซึ่งในครั้งนั้นหลังสงครามช้างเผือกจบลง พระมหาธรรมราชาก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าได้หันไปเข้ากับฝ่ายหงสาวดี
โดยเมื่อครั้งที่อโยธยาจะผูกมิตรกับล้านช้างเพื่อร่วมกันต่อต้านหงสาวดีและส่งพระเทพกษัตรี พระธิดาองค์สุดท้องของพระมหาจักรพรรดิและพระสุริโยทัยไปเป็นพระมเหสี สมเด็จพระไชยเชษฐา กษัตริย์ล้านช้าง พระมหาธรรมราชาก็ได้ลอบส่งข่าวไปแจ้งพระเจ้าบุเรงนองให้ส่งทัพมาชิงตัวพระนางไป
ต่อมาเมื่อเกิดสงครามระหว่างหงสาและอโยธยาขึ้น นอกจากจะนำกองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือเข้าร่วมกับทัพหงสาวดีในการยกมาล้อมพระนครแล้ว พระมหาธรรมราชายังออกอุบายให้บุเรงนองขอตัวออกญารามรณรงค์ แม่ทัพสำคัญของอโยธยาที่ฝีมือรบเข้มแข็งที่สุดจากพระมหินทราธิราช จนทำให้อโยธยาเสียกำลังสำคัญในการป้องกันพระนคร และเมื่ออโยธยาส่งสาส์นไปขอให้ทัพล้านช้างยกมาช่วยรบ พระมหาธรรมราชาก็เกลี้ยกล่อมให้ออกญารามฯ เขียนสาส์นไปลวงทัพล้านช้างจนถูกทัพหงสาวดีโจมตีแตกพ่ายไป
นอกจากนี้ในบันทึกฝ่ายพม่า ยังบอกไว้ว่า มีครั้งหนึ่งดินปืนของทัพหงสาขาดแคลน พระเจ้าบุเรงนองจึงให้พระมหาธรรมราชาลอบติดต่อกับพระมเหสีคือ พระวิสุทธิกษัตรี ให้ลอบส่งดินปืนในพระนครมาให้ทัพหงสา ซึ่งพระมหาธรรมราชาก็ดำเนินการให้ทุกประการ และเมื่อกองทัพหงสาวดีตีกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว พระเจ้าบุเรงนองก็ทรงประทานรางวัลให้พระมหาธรรมราชาขึ้นครองบัลลังก์เป็นกษัตริย์อโยธยา
ซึ่งหากมองดูบทบาททั้งหมดนี้แล้ว ก็เห็นได้ชัดเจนว่า พระมหาธรรมราชาทรงทำทุกอย่างเพื่อช่วยให้พระเจ้าบุเรงนองยึดครองอโยธยาสำเร็จ แม้จะมีบางคนอาจอธิบายว่า พระมหาธรรมราชาอาจทรงจำใจทำเช่นนั้น เพราะในเวลานั้น พระนเรศ โอรสองค์โตของพระองค์ถูกส่งไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดี หากพระมหาธรรมราชาไม่ยอมร่วมมือด้วยก็อาจเกิดอันตรายกับพระโอรสได้ ทว่านั่นอาจยังไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้พระมหาธรรมราชายอมร่วมมือกับหงสาวดีอย่างเต็มที่
หากจะตัดสินสิ่งที่พระมหาธรรมราชาทำ ก็คงต้องย้อนไปดูช่วงเวลาก่อนหน้านั้น คือ พระมหาธรรมราชานั้น ทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ฝ่ายเหนือแห่งราชวงศ์พระร่วงสุโขทัย ที่ถูกผนวกเข้ารวมกับอโยธยาที่ปกครองโดยราชวงศ์สุพรรณภูมิ
ในยุคเริ่มแรกของอโยธยานั้น เมื่อพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงขึ้น พระองค์ได้รับความช่วยเหลือจากพระญาติฝ่ายพระมเหสีที่เป็นเจ้าครองนครสุพรรณบุรี ในยามนั้นสุพรรณบุรีเป็นเมืองใหญ่ และเป็นกำลังสำคัญของอโยธยา ทว่าแท้จริงแล้ว ราชวงศ์สุพรรณภูมิแห่งนครสุพรรณบุรีก็ได้คิดชิงอำนาจกับราชวงศ์อู่ทองอย่างลับ ๆ แต่การจะทำเช่นนั้นได้ จำต้องมีกำลังสนับสนุน ในยามนั้นอโยธยาได้ทำศึกกับสุโขทัยและได้รับชัยชนะ โดยผู้ที่เป็นแม่ทัพไปรบสุโขทัย คือ ขุนหลวงพะงั่ว เจ้าราชวงศ์แห่งสุพรรณบุรี มีบันทึกว่าในการสงบศึก ขุนหลวงพะงั่วได้น้องสาวของพญาลิไท กษัตริย์แห่งสุโขทัยมาเป็นชายา และนั่นคือจุดเริ่มต้นความผูกพันของราชวงศ์สุโขทัยและสุพรรณภูมิ
สิ่งที่สุโขทัยต้องการ ในยามนั้น คือ ดินแดนและอำนาจที่เสียไปให้กับอโยธยา ส่วนสิ่งที่ราชวงศ์สุพรรณภูมิปรารถนาคือราชบัลลังก์อโยธยา ซึ่งต่อมา หลังการสวรรคตของพระเจ้าอู่ทอง พระราเมศวร โอรสของพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อ ทว่าขุนหลวงพะงั่ว ผู้มีศักดิ์เป็นลุง (พี่ชายของแม่) ได้เข้ามายึดอำนาจโดยปลดพระราเมศวร (แต่ไม่ได้สังหาร) และขึ้นเป็นกษัตริย์แทน โดยมีกำลังสนับสนุนทั้งจากสุพรรณบุรีและสุโขทัย อย่างไรก็ตาม ในรัชกาลขุนหลวงพะงั่ว สุโขทัยกลับถูกควบคุมจากอโยธยามากยิ่งขึ้น จนกลายสภาพเป็นกึ่งประเทศราช จากนั้นเมื่อสิ้นรัชกาลขุนหลวงพะงั่ว และพระโอรส นามว่า พระเจ้าทองลัน ขึ้นสืบราชย์ต่อ พระราเมศวรก็นำกำลังเข้าชิงราชสมบัติและปลงพระชนม์เจ้าทองลัน ทำให้อำนาจปกครองกลับสู่ราชวงศ์อู่ทองอีกครั้ง
ในยามนี้เอง ที่พระนครอินทร์ ซึ่งเป็นเชื้อสายฝ่ายสุพรรณภูมิต้องไปขอพึ่งสุโขทัย โดยทางสุโขทัยก็ยินดีช่วย เนื่องจากคาดหวังว่า หากวันใด สุพรรณภูมิกลับสู่อำนาจ ก็จะตอบแทนฝ่ายตนด้วยการมอบอำนาจปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือคืนให้ดังเช่นก่อน
ทว่า เมื่อพระนครอินทร์ชิงบัลลังก์จากราชวงศ์อู่ทองได้สำเร็จ ทางสุโขทัยกลับไม่ได้รับสิ่งที่คาดหวังไว้ ทั้งในเวลาต่อมา สุโขทัยได้เกิดความวุ่นวาย ทางอโยธยาก็ได้ส่งกองทัพขึ้นไปอีกครั้งและควบคุมสุโขทัยไว้ในอำนาจโดยปริยาย
แม้สุโขทัยในยามนี้ จะถูกผนวกกับอโยธยาแล้ว ทว่าราชวงศ์พระร่วง ยังหาทางดิ้นรนให้ฝ่ายตนได้อำนาจกลับคืนมาอีกครั้ง ดังเช่นในสมัยเจ้าสามพระยา ที่เมืองชากังราวแข็งข้อ จนอโยธยาต้องยกทัพไปตี และในสมัยพระบรมไตรโลกนาถที่ พญายุทธิษเฐียร โอรสของพระมหาธรรมราชาบรมปาล ได้แปรพักตร์ไปเข้ากับพญาติโลกราชแห่งล้านนาเพื่อขอให้ทัพล้านนาช่วยชิงแคว้นสุโขทัยมาจากอโยธยา
ความคิดกระด้างกระเดื่องของหัวเมืองฝ่ายเหนือ เป็นที่รับรู้ของราชวงศ์สุพรรณภูมิมาโดยตลอด ดังเช่นในสมัยพระรามาธิบดีที่สอง ที่ให้มีการประหารขุนนางฝ่ายเหนือเป็นอันมาก ด้วยสงสัยว่าจะกระด้างกระเดื่อง และในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช ที่ให้ขุนนางฝ่ายเหนือลงมารับราชการในพระนครเพื่อให้อยู่ในการควบคุม ซึ่งในบรรดาขุนนางฝ่ายเหนือ เชื้อพระวงศ์สุโขทัยเหล่านี้ ก็รวมถึง ขุนพิเรนทรเทพ หรือ พระมหาธรรมราชาด้วย
การรวบอำนาจเข้าสู่พระนคร ยังความไม่พอใจให้กับเชื้อพระวงศ์ฝ่ายเหนือเป็นอันมาก ครั้นเมื่อพระไชยราชาสวรรคต และ ยุวกษัตริย์ พระยอดฟ้าขึ้นครองราชย์ต่อ โดยมีท้าวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศา ทำหน้าที่สำเร็จราชการ ก็ยังใช้นโยบายเดิม ทั้งยังมีการส่งขุนนางจากพระนครไปดูแลหัวเมืองเหนือแทนด้วย
แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้น สร้างความโกรธแค้นให้แก่ราชวงศ์สุโขทัยเพิ่มมากขึ้น และเมื่อเกิดเหตุพระยอดฟ้าสวรรคตกะทันหัน โดยเชื่อกันว่า เกิดจากฝีมือของขุนวรวงศาธิราช การก่อการจึงเริ่มขึ้น โดยขุนพิเรนทรเทพ ผู้เป็นเชื้อพระวงค์สุโขทัยได้ร่วมมือกับขุนนางฝ่ายเหนืออย่าง ออกญาพิชัย ออกญาสวรรคโลก หลวงศรียศ ก่อเหตุกำจัดขุนวรวงศา ท้าวศรีสุดาจันทร์และพรรคพวกจนหมด จากนั้นจึงเชิญพระเทียรราชาขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ โดยบำเหน็จที่ได้คือ ขุนพิเรนทรเทพได้ขึ้นเป็น พระมหาธรรมราชา เจ้าผู้ครองนครพิษณุโลกและหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง ซึ่งเป็นการฟื้นอำนาจราชวงศ์สุโขทัยอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม จากนั้นไม่นาน ก็เกิดความระหองระแหงขึ้นระหว่าง พระมหาธรรมราชากับทางอโยธยา โดยเฉพาะพระมหินทร์ โอรสองค์รองของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงระแวงพระมหาธรรมราชาว่าจะคิดการกระด้างกระเดื่อง เนื่องจากมีอำนาจมาก จนกระทั่งเกิดกรณี พระเจ้าบุเรงนองส่งทูตมาขอช้างเผือกแต่อโยธยาปฏิเสธจนเกิดสงครามช้างเผือกขึ้น
ในบันทึกพงศาวดารเล่าไว้ว่า กองทัพมหึมาของหงสาวดีมีรี้พลถึงห้าแสนและเข้าตีหัวเมืองฝ่ายเหนือไว้ได้อย่างง่ายดาย ขณะที่พระมหาธรรมราชาสามารถรักษาพิษณุโลกได้เพียงสองสัปดาห์ก่อนจะยอมจำนนต่อทัพหงสาวดี
ไม่มีใครบอกได้ว่า แท้จริง พระมหาธรรมราชาคิดอย่างไรกับกองทัพหงสาวดีที่ยกมา ในสงครามช้างเผือก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังสงครามครั้งนี้ คือ พระมหาธรรมราชาทรงหันไปเข้ากับฝ่ายหงสาวดีอย่างเต็มตัวและกลายเป็นกำลังสำคัญในการยึดกรุงศรีอยุธยาได้ในสงครามเสียกรุงครั้งที่หนึ่ง จากนั้น พระองค์ก็ได้เป็นกษัตริย์แห่งอโยธยา ภายใต้อำนาจของบุเรงนอง โดยราชวงศ์ของพระมหาธรรมราชานี้ก็คือ ราชวงศ์สุโขทัยนั่นเอง
เรียกได้ว่า สุดท้าย หลังจากขับเคี่ยว ชิงไหว ชิงพริบกันมานานนับร้อยปี สุดท้าย ราชวงศ์สุโขทัยก็สามารถทวงคืนอำนาจของตนจากสุพรรณภูมิได้สำเร็จ แม้จะต้องอาศัยแสนยานุภาพจากหงสาวดีก็ตาม และหากมองในมุมของชาวสุโขทัยในยุคนั้นแล้ว ทั้งหมดที่พระมหาธรรมราชาทำ ก็เพื่อกอบกู้อำนาจแห่งสุโขทัยที่เสียไป ให้กลับคืนมา ในขณะที่มุมมองของชาวอโยธยาย่อมมองว่า พระองค์คือคนทรยศที่ไปเข้ากับศัตรูต่างชาติมาโจมตีบ้านเมืองตนเอง
ที่มา :
http://www.komkid.com/
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย
พระมหาธรรมราชา คนทรยศหรือผู้กอบกู้
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?