เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย
ปริศนามหาปิรามิด...ยอดชฎา ฐานรามัญ
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: ปริศนามหาปิรามิด...ยอดชฎา ฐานรามัญ (อ่าน 3906 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3923
ปริศนามหาปิรามิด...ยอดชฎา ฐานรามัญ
เมื่อ:
กรกฎาคม 20, 2015, 07:54:08 PM
มหาปิรามิดที่ผมกล่าวถึง คือ "พระมหาเจดีย์แห่งทุ่งภูเขาทอง" สมรภูมิสำคัญในมหากาพย์สงคราม อโยธยา - พม่า กับปริศนาในประวัติศาสตร์ของเรื่องราว รูปทรงสัญฐานและความสำคัญที่ถูกลืมเลือน
มหาวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นเรื่องราวหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ที่คนไทยแทบทุกคนรับรู้และจดจำมานานกว่า 150 ปี ถ่ายทอดจากคนรุ่นสู่รุ่นผ่านการสื่อสารเจ้านาย (ยังไม่มีสื่อสารมวลชน)ในสมัยก่อน ทั้งที่เป็นเรื่องราวของพระราชพงศาวดาร เรื่องราวในภาพเขียนโคลงภาพพระราชพงศาวดาร ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง ในหนังสือศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ในหนังสือเรียนชั้นประถมมัธยม จนเมื่อสื่อสารมวลชนเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ มหาวีรกรรมแห่งชัยชนะยิ่งถูกผลิตซ้ำ (Reproductions) ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในรูปแบบของภาพยนตร์ ละเม็งละคอน หนังสือการ์ตูน นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ จนปัจจุบันกลายมาเป็นมหากาพย์ภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างมหาศาล
แต่สุดท้าย เนื้อหาของเรื่อง ก็ยังคงเป็นเช่นเดิม ตามพระราชพงศาดารที่เขียนขึ้นโดยเจ้านาย"ฝ่ายไทย"
ปริศนาสงครามคราวศึกยุทธหัตถี ได้นำไปสู่ข้อถกเถียงของผู้รู้ ปราชญ์ท้องถิ่น และผู้ศึกษาในแต่ละมุมมอง ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อถือตามกรมพระยาดำรงราชนุภาพ"พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ ไทย" จากจดหมายพระยาอี๋ กรรณสูต ความว่า"พบเจดีย์ร้างที่หนองสาหร่าย ตามที่พระองค์วินิจฉัยไว้แล้ว...ว่าอยู่ที่สุพรรณบุรี ชาวบ้านบอกว่าเป็นที่พระนารายณ์ชนช้างกับพระนเรศวร" ตอกย้ำความเชื่อด้วยการสร้างอนุสรณ์สถานโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดอนเจดีย์หรือเจดีย์ยุทธหัตถี จึงอยู่ที่สุพรรณบุรีในทันที
ในขณะที่การขุดแต่งองค์พระเจดีย์โดยกรมศิลปากร ก็พบร่องรอยของปูนปั้นประดับศิลปะร่วมสมัยในยุคอยุธยาตอนกลาง เป็นข้อสรุปสำคัญว่าเจดีย์ร้างกลางป่าองค์นี้ ในอดีตคือเจดีย์ที่สร้างขึ้นตามพระราชพงศาวดารนั่นเอง
ร่องรอยของพงศาวดารฝ่ายพม่าบางเล่ม ได้นำให้ปราชญ์ท้องถิ่นกาญจนบุรี......ไม่เชื่อเช่นนั้น สมมุติฐานที่ขัดแย้งเกิดขึ้นจากเนื้อความว่า "เจดีย์ที่สร้างขึ้นสวมทับพระศพของพระมหาอุปราชามีขนาดเล็ก และสมรภูมิอยู่ในเส้นทางเดินทัพ" อำเภอพนมทวนจึงกลายเป็นอีกปริศนาของพระเจดีย์อีกองค์หนึ่งที่เชื่อว่า เป็นเจดีย์อนุสรณ์ในมหาวีรกรรมในครั้งนั้น
ถึงแม้ว่าจะมีการพิสูจน์โดยกรมศิลปากรแล้วว่า เจดีย์ที่พนมทวน เป็นอุเทสิกเจดีย์ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา แต่ชาวกาญจนบุรีก็ยังคงเชื่อมั่นในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเขา เพราะเส้นทางเดินทัพโบราณ จากด่านพระเจดีย์สามองค์ ผ่านแม่น้ำแคว มาขึ้นที่กาญจนบุรี ต้องผ่านพนมทวน ล่องตามแม่น้ำจระเข้สามพัน ผ่านอู่ทอง เขาพระยาแมน ตัดเข้าสวนแตง บึงไผ่แขก จนถึงเมืองสุพรรณบุรีตามลำน้ำ เรื่องที่จะเดินทัพบกจำนวนมาก....อ้อมขึ้นไปถึงดอนระฆัง ดอนเจดีย์ เป็นเส้นทางสงครามที่ไม่อาจสามารถอธิบายได้ชัดเจนนัก ประกอบกับบริเวณรอบพื้นที่พนมทวนก็มีการขุดพบกระดูกช้าง ม้า และศรัตราวุธนานาชนิดเป็นจำนวนมาก ชาวพนมทวนในทุกวันนี้ ยังคงเชื่อมั่นว่า มหาวีรกรรมครั้งศึกยุทธหัตถี เกิดขึ้นที่นี่อย่างแน่นอน
ปริศนาของเรื่องราวแห่งมหาวีรกรรมในสงครามยุทธหัตถี ยังคงดำมืดมากขึ้น เมื่อมีการใช้บันทึกของชาวต่างประเทศมาอ้างอิงมากขึ้น บันทึกของพม่าระบุว่า เป็นสงครามปรากบฏไม่ใหญ่โตนัก ไม่มีการชนช้างแต่พระมหาอุปราชาต้องปืน(ลึกลับ)สิ้นพระชนม์ สอดรับของบันทึกของตะวันตก ที่บ้างก็ว่า ต้องปืน ถูกขอบังคับช้างโน้มคอลงมาสับ และใช้ทวนสู้กัน หลายเหตุของการสัประยุทธ์ แต่กลับไม่มีเอกสารต่างประเทศเล่มใด ระบุว่ามหาวีรกรรมเกิดขึ้นที่สุพรรณบุรีเลย แต่มีเนื้อหาของบันทึกชาวต่างประเทศโดยเฉพาะของเยเรเมียส ฟานฟรีส และ หมอแกมเฟอร์ ที่ระบุสถานที่ทำสงครามในมหาวีรกรรมครั้งนี้อย่างชัดเจน
ปริศนาของเจดีย์ยุทธหัตถี ถูกกล่าวถึงโดยนักวิชาการในยุคหลังอย่างกว้างขวาง ถึงความมีตัวตนที่แท้จริง การค้นพบที่เป็นปริศนา คติการสร้างเจดีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์สงครามมีจริงหรือ? การสร้างพระสถูปเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และความคลุมเครือมากมายของเจดีย์ยุทธหัตถี จึงนำไปสู่แนวคิดทางวิชาการ เจดีย์ยุทธหัตถีไม่เคยเกิดขึ้น หรือ ไม่เคยมีเจดีย์ยุทธหัตถีเลย
ซึ่งก็เป็นเรื่องราวทางวิชาการ วิชาเกิน จึงไม่ควรถูกนำมาใช้อธิบายเรื่องราวที่ยังเป็นปริศนาจากอดีตในสังคมส่วนใหญ่ ส่วนในท้องถิ่นก็ยังคงความเชื่อมั่นในประวัติศาสตร์ของตน มีความสุขกับการรำลึกถึงมหาวีรกรรม และความเชื่อ ความศรัทธาเดิมก็ยังคงเป็นสิ่งหล่อหลอมให้เกิความรักชาติบ้านเมืองและหวงแหน ในแผ่นดิน ..... อรรถประโยชน์คนละด้าน .....เลือกใช้และเลือกเชื่อ ไม่ขัดแย้งกัน
บันทึกของวันวลิตหรือฟานฟรีส ( เข้ามาในสมัยของพระเจ้าปราสาททอง) อธิบายเรื่องราวของสงคราม "ปลดแอก" ของเจ้าชายชาวสยามว่า....."เกิดขึ้นที่วัดร้างแห่งหนึ่งชื่อ"หนองสาหร่าย" หรือ "แครง"นอกกำแพงเมืองของอยุธยาไปประมาณ 2.5 กิโลเมตรและชาวสยามประสบชัยชนะเหนือกองทัพพะโค " ในขณะที่พงศาวดารพม่าฉบับอูกาลา กล่าวว่า "สงครามครั้งนี้เกิดขึ้นใกล้พระนคร และพระนเรศใช้พระนครตั้งรับศึก"
หมอแกมเฟอร์ เข้ามาตามเส้นทางการค้าของ VOC ในสมัยของพระเพทราชา เขาเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นชาวต่างประเทศคนเดียวที่มีภูมิหลัง ทางวิชาการ มีประสบการณ์และรอบรู้มากกว่าชาวต่างประเทศคนใดที่บันทึกเรื่องราวของชาว สยามในยุคกรุงศรีอยุธยา
หมอแกมเฟอร์เข้ามาอยู่อยุธยาเพียง 2 เดือน แต่เรื่องราวในบันทึกของเขาเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยเป็น อย่างมาก ทั้งเรื่องการคลี่คลายการสืบราชสมบัติของพระเพทราชา บ้านเมืองของสยาม รวมทั้งการเยือนมหาเจดีย์องค์"สำคัญ"องค์หนึ่งของชาวสยาม ที่เขาระบุตามคำบอกเล่าของขุนนางระดับสูงแห่งราชสำนักว่า " เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงชัยชนะเหนือหงสาวดี โดยพระนเรศวร" พร้อมภาพวาดลายเส้นรูปทรงสัญฐานเจดีย์โดยละเอียด
ปริศนาเจดีย์ยุทธหัตถีจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อมีวิชาการรุ่นใหม่นำเรื่องราวในบันทึกมาเป็นข้อเสนอโดยสรุปว่า" เจดีย์ยุทธหัตถีควรจะอยู่ที่ทุ่งภูเขาทอง พระนครอยุธยานี้เอง" ซึ่งก็ไม่ค่อยได้รับการยอมรับโดย"ตรง"จากนักวิชาการรุ่นเก่าและผู้ชื่นชมพระ ราชพงศาวดารมากนัก แต่ในทาง"อ้อม" อนุสรณ์สถานพระนเรศวรทรงม้าขนาดใหญ่ กลับถูกสร้างขึ้นบริเวณด้านทิศเหนือในช่วงระยะเวลาไมกี่ปีมานี้ รวมทั้งการจัดงานระลึกมหาวีรกรรม ในวันกองทัพไทยก็เลือกเจดีย์ภูเขาทองเป็นสถานที่จัดงาน .......
คนไทยนี้น่ารักนะครับ ปากว่าตาขยิบ น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย ไม่ทำให้เรื่องราวที่เชื่อไม่เหมือนกันมากระทบกระเทือนความรู้สึกกันและกัน โดยเฉพาะความเชื่อเนี่ย ทะเลาะกัน เกลียดกัน ฆ่ากันมานักต่อนักแล้ว......
เจดีย์ภูเขาทอง เป็นเจดีย์เพียงองค์เดียวในคติพุทธบูชาหลังสงครามเพื่อระลึกถึงการปลดแอก ซึ่งนำไปสู่การฆ่าฟันและทำลายล้างชีวิตศัตรู หรือจะเป็นหนึ่งในเจดีย์ที่สร้างขึ้นในยุคสมัยของปริศนามหาวีรกรรม หรือไม่ ......ไม่ใช่เรื่องสำคัญของปริศนาครับ ปริศนาของเรื่องไม่ได้อยู่ที่เรื่องราวหรือประวัติศาสตร์
แต่หลักฐานที่เป็นรูปทรงสัญฐานต่างหากที่ยืนยันความสำคัญของมหาเจดีย์องค์นี้
ปริศนาที่ถูกปกปิดโดยประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง หากท่านได้ลองอ่านประวัติของมหาเจดีย์องค์นี้ ในหนังสือหรือใน web ก็นำเสนอประวัติการสร้างเหมือนกันว่า " สร้างขึ้นโดยบัญชาของบุเรงนอง กะยอดินนรธา" แต่การสวมพระเจดีย์ทรงย่อมุมสิบสอง บ้างก็ยกให้พระนเรศวรสร้าง แต่แปลกที่ว่า เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองเป็นคติการสร้างหลังสมัยพระเจ้าปราสาททอง ห่างจากพระนเรศวรราว 50 ปี หรือจะมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองเกิดขึ้นแล้ว ดังความพยายามอธิบายเจดีย์สุริโยทัยว่าสร้างขึ้นในสมัยพระมหาจักรพรรดิของ นักวิชาการอวุโสท่านหนึ่ง ปริศนาต่อมาคือ "เจดีย์องค์นี้ทรุดโทรมลง ถูกบูรณะและสร้างเจดีย์(ย่อมุมไม้สิบสอง)ขึ้นใหม่ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรม โกษ " ห่างจากสมัยแรกสร้างถึง 140 ปี
ที่น่าฉงนก็คือ ลายเส้นของหมอแกมเฟอร์ในยุค 80 ปี หลังการสร้าง กลับมีรายละเอียดไม่ต่างจากพระเจดีย์ในปัจจุบัน ? แล้วจะมาสร้างเจดีย์ภายหลังในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษได้อย่างไร ?นอกจากการบูรณะใหญ่ ?
การบูรณะครั้งใหญ่ในปี 2541 ทำให้เห็นรากฐานเดิมและรากฐานที่มีการสร้างทับ มีการบูรณะถึง 4 ครั้ง ครั้งสุดท้ายอยู่ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงครามและเชื่อว่าในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็ได้มีการซ่อมแซมจริง แต่ไม่ได้มีการสร้างพระเจดีย์ขึ้นใหม่ การซ่อมในครั้งนั้นพบรอยร้าวก่อเป็นช่องอากาศขนาดใหญ่ แยกส่วนของผิวนอกกับแกนในออก จึงต้องใช้เทคนิคการฉีดซีเมนต์เพื่อยึดเข้าด้วยกัน
จากการบูรณะทำให้เรารู้ว่าการสร้างทับในครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นร่วมสมัยกับการสร้างครั้งแรก นั่นก็คือสร้างขึ้นในช่วงรัชสมัยของพระนเรศวรราชาธิราชนั่นเอง การบูรณะในครั้งนี้ได้เปิดเผยความจริงบางอย่างของการสร้างมหาเจดีย์ที่เป็น ปริศนามายาวนาน
เจดีย์องค์นี้ สร้างขึ้นโดยสองกษัตราผู้ยิ่งใหญ่ หรือสร้างขึ้นโดยสองจักพรรดิราชา.....แห่งสุวรรณภูมิ
ระบบการปกครองและการควบคุมคนในสมัยโบราณ มีคัมภีร์ทางศาสนาความเชื่อ และคติชนมาเป็นตัวกำหนดโครงสร้างและรายละเอียด ในยุคสมัยของบุเรงนอง ระบอบการปกครองแบบจักรพรรดิราชา ผู้ครอบครองทวีปทั้งสี่ ผู้เป็นจักรพรรดเหนือราชา ครอบครองสัญลักษณ์แก้วเจ็ดประการ อันได้แก่ ช้างแก้ว ม้าแก้ว จักรแก้ว มณีแก้ว นางแก้ว ขุนคลังแก้ว ลูกแก้ว การสงครามขยายพระราชอาณาจักรคือการขยายทิศจักรวรรดิในไตรภูมิ
ในประวัติศาสตร์ไม่เข้าใจเรื่องคติชน จึงเอาเรื่องของช้างแก้ว กลายเป็นเรื่องการอ้างขอช้างเผือกของพระมหาจักรพรรดิเป็นเหตุของการสงคราม และเหตุที่พระมหาจักรพรรดิประกาศตนเป็นเจ้าแห่งราชาทั้งปวงเช่นกัน จักรพรรดิราชามีได้เพียงองค์เดียว สงครามระหว่างทวีปจึงเกิดขึ้นและก็เป็นเรื่องราวของการเสียเอกราชของสยามใน ประวัติศาสตร์ แต่ในศาสนาความเชื่อ พระเจ้าบุเรงนอง ได้เข้าครอบครองทวีปทั้ง 8 ทิศ โดยสมบูรณ์และได้สร้างพระราชวังของผู้ใต้การปกครองของจักรวรรดิ รอบพระที่นั่งของพระองค์ที่หงสาวดี เป็นสัญลักษณ์"ศูนย์กลางของจักรวาล" ดั่งที่เกิดพระราชวังโยเดียในหงสาวดีเพื่อเป็นที่ประทับของพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา
พระเจ้าบุเรงนอง จะสร้างมหาเจดีย์รูปทรงปิรามิด ที่มีสัญฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ย่อชั้นปะทักษิณขึ้นไปมีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ทิศในทุกแว่นแคว้นที่ทรงครอบ ครองได้ คติของเจดีย์ คือการสร้าง"เขาพระสุเมรุ" ในสัญลักษณ์ของจักรวาลทั้งสิ่ทิศ ด้านบนเป็นสถูปในพระพุทธศานา รูปทรงโอคว่ำ ครึ่งวงกลม ปัจจุบันยังพบเจดีย์รูปทรงเดียวกันนี้ทั่วไปในประเทศพม่า
ด้วยสัญลักษณ์มงคลพระสุเมรุของมหาเจดีย์รูปทรงปิรามิดที่มีขนาดใหญ่ที่ สร้างขึ้นในสมัยของบุเรงนอง ชานกรุงศรีอยุธยา เมื่อสิ้นรัชกาล พระนเรศวรราชาธิราช ผู้ได้รับการถ่ายทอดศิลปะวิทยาการครั้งไปปะกันตนในราชสำนักบุเรงนอง พระองค์ได้รับการสั่งสอนมาจากบุเรงนองโดยตรง จักรวรรดิราชหงสาวดีได้ถึงกาลสิ้นสุดแล้ว
จักรพรรดิราชาพระองค์ใหม่ จะเกิดขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา สงครามปลดแอก สงครามกู้เอกราช หรือสงครามปราบกบฏ ใด ๆ ก็ตามจึงเกิดขึ้นเป็นเวลายาวนานในสมัยของพระองค์ นั่นคือการสถาปนาระบอบจักรพรรดิราชาขึ้นใหม่
มหาเจดีย์ทุ่งภูเขาทอง จึงมิใช่เป็นเพียงสัญลักษณ์ อนุสรณ์สถานหรือที่ระลึกในมหาวีรกรรมคราวพระมหาอุปราชา ด้วยความสำคัญมันมีมากกว่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หลายเท่านัก
พระนเรศวรราชาธิราช ทรงโปรดให้สร้างพระสถูปทรงสยาม บนสัญลักษณ์"เขาพระสุเมรุ"ของจักรวรรดิราชาแห่งหงสาวดี ในความหมายว่า "นับแต่นี้ไป กรุงศรีอยุธยาคือจักรพรรดิราชเหนือราชาแห่งหงสาวดีและราชาทั้งปวง" สัญลักษณ์ใหม่เกิดขึ้น พร้อมกับการขยายพระราชอาณาจักรแห่งจักรวรรดิ ออกไปทุกทิศทาง พิชิตกัมพูชา มาลายู เชียงใหม่ ล้านช้าง หงสาวดี มอญและครอบครองเบลกอล เปิดสถานีการค้าของสยามอยุธยาเป็นครั้งแรก นำมาสู่ความมั่นคงและมั่งคั่งของมหานครกรุงศรีอยุธยาในยุคสมัยต่อมา
พระมหาเจดีย์ทุ่งภูเขาทอง จึงเป็นสัญลักษณ์ของสองมหาจักรพรรดิราชาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอุษาคเนย์หรือ สุวรรณภูมิ ในยุคสมัยหนึ่ง ไม่ใช่เป็นเพียงเจดีย์ยุทธหัตถี แต่เป็นมหาเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกรุงศรีอยุธยา
สัญลักษณ์แห่งมหาจักรวรรดิ ผู้ปกครองทวีปทั้งสี่ ผู้ครอบครองแก้วเจ็ดประการหรือผู้ปกครองโลกในไตรภูมิ 2 พระองค์ สถิตอยู่ที่นี่ มหาปิรามิดแห่งอยุธยา ยอดชฎา ......ฐานรามัญ
มหาเจดีย์ ยอดชฎา....ฐานรามัญ ยังคงตระหง่านเหนือทุ่งภูเขาทอง เป็นหลักฐานความยิ่งใหญ่ที่เก็บงำปริศนาจากอดีตไว้....ให้เราได้ชื่นชม
ที่มาจาก http://www.oknation.net
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย
ปริศนามหาปิรามิด...ยอดชฎา ฐานรามัญ
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?