ผู้เขียน หัวข้อ: ว่าด้วยประวัติศาสตร์ ?และ? ชาติไทย ทำไมควรเชื่อมด้วย ?และ?  (อ่าน 4390 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
ว่าด้วยประวัติศาสตร์ ?และ? ชาติไทย ทำไมควรเชื่อมด้วย ?และ? และวาทกรรมเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครนั้นจริงหรือ
******************************

ปี 2560 กศน. ของเรา ได้ส่งเสริมการเรียนรู้ ?ประวัติศาสตร์ชาติไทย? ให้กับนักศึกษาและประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจและภูมิใจในความเป็นชาติ และในปี 2561 ก็คงมีนโยบายอย่างต่อเนื่อง แต่มีคำสองคำ ที่มีความหมายอย่างมีนัยยะ คือคำว่า ?ประวัติศาสตร์? กับ คำว่า ?ชาติไทย? ที่ไม่มีคำว่า ?และ? เชื่อมระหว่างคำ ซึ่งอาจทำให้มีความคลาดเคลื่อนในความการตีความกับความหมายของคำนั้น

เราเริ่มสอนประวัติศาสตร์และบอกความเป็นชาติไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ต่อด้วยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ แท้จริงถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ แล้วทำไมคำว่า สยาม มีเอ่ยถึงน้อยเหลือเกิน

มาดูคำว่า ?ชาติ?คร่าวๆนั้นมีความหมายว่าอย่างไร คำว่า ?ชาติ? หมายถึงกลุ่มคนที่มีเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม เดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ต้องมีจุดร่วมหรือศูนย์รวมจิตใจของการเป็นชาติด้วย เช่น มีประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมา มีสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีอาณาเขตค่อนข้างชัดเจน ปกครองโดยรัฐเดียวกัน และมีเป้าหมายของคนในชาติร่วมกัน

ถ้าหากพิจารณาดูในความเป็นจริง สุโขทัย อยุธยา หรือ แม้แต่ธนบุรี ล้วนเป็นอาณาจักร ปกครองเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง โดยอาณาจักรต่างๆ มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เมื่อเทียบกับแผนที่ประเทศไทยในปัจจุบัน และยังไม่ได้รวมอีกหลายอาณาจักรเข้าด้วยกัน ส่วนรัตนโกสินทร์ตอนต้น เริ่มรวมอาณาจักรหลายอาณาจักรเข้าด้วยกันจนขยายพื้นที่มากขึ้น

ถ้าหากจะดูจากความหมายของคำว่า ?ชาติ? เราก็เพิ่งจะมีความเป็นชาติเมื่อไม่นานมานี้ คือประมาณ 100 กว่าปีที่ผ่านมา โดยทั่วไปใช้คำว่า "สยาม"
ซึ่งพระมหากษัตริย์ของไทยได้พยายามสร้างศูนย์รวมจิตใจ โดย สร้างพระสยามเทวาธิราช เพื่อเป็นพระพุทธรูปประจำชาติ และยกหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงนัยว่า เรามีภาษาที่เราใช้ร่วมกัน ในสมัยรัชกาลที่ 4 (แท้จริงหลักศิลาจารึกนี้เกิดขึ้นจริงสมัยสุโขทัยหรือไม่ลองค้นคว้ากันดู)

หลังวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 เรามีดินแดนหรืออาณาเขตค่อยข้างชัดเจน หลังจากการเสียดินแดน ในสมัยรัชกาลที่ 5

มีธงชาติหรือธงไตรรงค์ที่เป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นชาติ ในสมัยรัชกาลที่ 6

เรามีการปกครองที่มีรูปแบบเป็นรัฐ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ในสมัยรัชกาลที่ 7

และเราเปลี่ยน ?สยาม?เป็น ?ไทย? พ.ศ.2482 จากนโยบายชาตินิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ((หากใครรู้ว่าทำไมใช้ ไทย ที่มี ย.ยักษ์ แทนคำว่า ไท ซึ่งมีความหมายคงจะอมยิ้ม)) มีการใช้ภาษากลาง มีศาสนาประจำชาติ และหลอมรวมวัฒนธรรมหลายๆอย่างเข้าด้วยกัน สืบเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

และกับวาทกรรม ?เราไม่เคยเสียเอกราชให้ใคร? ก็ต้องมาดูเหตุและผลกัน หากเรานับความเป็นชาติตั้งแต่สุโขทัย เราไม่เคยเสียเอกราชให้ใครจริงหรือไม่

อาณาจักรสุโขทัย เริ่มสถาปนาใน พ.ศ.1800 ส่วนอาณาจักรอยุธยา เริ่มสถาปนา พ.ศ.1893 ซึ่งดูแล้วเกิดขึ้นใกล้เคียงกัน โดยสุโขทัยเกิดขึ้นก่อนเล็กน้อย และในสมัยของพระเจ้าลือไท ก็ถูกกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา แต่สุโขทัยก็ยังปกครองตนเองในฐานะรัฐบรรณาการอยู่ แม้ถูกรวมเข้ากับอยุธยา แล้วแบบนี้ ?สุโขทัย? เสียเอกราช ให้ ?อยุธยา? หรือไม่ ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง ในสมัยอยุธยา เราเสียกรุงครั้งที่ 1 ในรัชสมัยของพระมหาจักรพรรดิ พ.ศ.2112 และ เสียกรุงครั้งที่ 2 ในรัชสมัยของพระเจ้าเอกทัศน์ พ.ศ.2310 ให้กับพม่า ยังไม่รวมสงครามช้างเผือก พ.ศ. 2106 แบบนี้เราเสียเอกราชให้กับพม่าหรือไม่ หากจะนับความเป็นชาติตั้งแต่สมัยสุโขทัย

เราเรียนประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น เพื่อเรียงร้อยเข้าด้วยกัน ค่อยๆหลอมรวม จนก่อเกิดความเป็นชาติจริงๆในสมัยรัตนโกสินทร์ราวๆ 100 กว่าปีที่ผ่านมานี้ โดยเชื่อมโยงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ต่อเนื่องหลายๆพระองค์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจ

ดังนั้น การเรียนและการสอนประวัติศาสตร์ของไทย ควรแยกส่วน ระหว่างคำว่า "ประวัติศาสตร์" และ คำว่า "ชาติไทย" เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน และควรสอนเหตุและผลของประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในเรื่องสำคัญต่างๆ เพื่อเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นอีก โดยเฉพาะเรื่องการชิงดีชิงเด่น การแตกความสามัคคี การเอารัดเอาเปรียบ และการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ดีกว่าการสอนให้คลั่งชาติ แต่ไม่สอนให้ทำประโยชน์เพื่อชาติ หรือ ยกตนข่มประเทศอื่นๆข้างเคียง ในอาเซียนว่าเราเหนือกว่าใคร ในการไม่เสียเอกราช ซึ่งในปัจจุบันประเทศข้างเคียงที่เราเคยดูถูกนั้น เจริญกว่าเราไปหลายด้านแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษา จริงหรือไม่นั้น นักการศึกษาคงทราบดีครับ

*********************
เลิศชาย ปานมุข
15 กันยายน 2560
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 15, 2017, 09:57:53 PM โดย เลิศชาย ปานมุข »