ผู้เขียน หัวข้อ: ปลุกเด็กไทยให้?ตื่นรู้?  (อ่าน 3682 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
เมื่อ: เมษายน 02, 2018, 02:38:52 PM
          ความรวดเร็วของสังคมยุคโลกาภิวัตน์ทำให้คนเราต้องเร่งรีบในการใช้ชีวิตต่อสู้ดิ้นรนเพื่อตัวเอง จนอาจจะลืมนึกถึงคนอื่น เป็นที่มาของปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่เราเห็นกันจนชินตา เช่น การทิ้งขยะไม่เป็นที่ ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ขับรถย้อนศร หรือการจอดรถในที่ห้ามจอด ฯลฯ

          แนวทางหนึ่งที่น่าสนใจว่า อาจเป็นหนทางแก้ไขหรือสร้างสังคมให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน นั่นคือการสร้างคนที่มีความตระหนักรู้และสนใจปัญหาสังคม อย่างที่เรียกว่า Active Citizen หรือ ?พลเมืองตื่นรู้? ให้เกิดขึ้นในสังคม Active Citizen หรือ พลเมืองตื่นรู้ นอกจากจะเป็นคนที่มีจิตอาสาแล้ว ยังต้องพร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ รู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีจิตสาธารณะ โดยหวังว่า การเป็นพลเมืองที่แอคทีฟจะทำให้เราใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ และเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การสร้างพลเมืองตื่นรู้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยดูจะไม่ง่ายนักเพราะวิธีการเรียนรู้ของระบบการศึกษาไทยนั้นชวนหลับเสียเหลือเกิน

          ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวบนเวทีเสวนาเรื่อง ?การจัดการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง? ในโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ปี 3 ว่า พลเมืองตื่นรู้ ไม่สามารถสร้างขึ้นได้จากระบบการศึกษาของไทย ที่เน้นการท่องจำ และมองว่า จุดประสงค์ของการศึกษาคือการเรียน อ่าน และท่องจำเพื่อนำไปสอบ ?ระบบการศึกษาไทยทุกวันนี้ ทำให้เด็กผูกติดอยู่กับตำรา ไม่ค่อยไขว่คว้าหาความรู้ใหม่ ๆ และไม่ได้ออกไปหาความรู้ในชุมชนหรือจากคนใกล้ตัว จึงขาดทักษะไม่ผูกพันกับชุมชน ไม่รักบ้านเกิด และกลายเป็น พลเมืองที่เนือยนิ่ง หรือ Passive Citizen ในที่สุด? ตามมุมมองของ ดร.สมพงษ์ เห็นว่า การสร้าง Active Citizen ต้องอาศัยการศึกษานอกห้องเรียนที่ใช้กระบวนการ Active Learning เพราะเด็กจะมีโอกาสฝึกคิด วางแผน ลงมือปฏิบัติ และออกไปเรียนรู้สิ่งที่อยู่นอกตำรา ได้สำรวจ พูดคุย รวมทั้งมีปฏิสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดทักษะในการดำรงชีวิต มีความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่น รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เกิดความผูกพัน รัก หวงแหน จนเกิดความคิดที่อยากจะดูแลและพัฒนาชุมชนหรือสังคม

          ส่วนวิธีและขั้นตอนของการสร้างการเรียนรู้แบบ Active Learning นั้น ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้บริหารโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้สู่ภูมิสังคมภาคตะวันตก เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นที่สำคัญของ Active Learning คือ การฟังเสียงเด็กว่าเขาอยากเรียนรู้เรื่องอะไร และนำสิ่งนั้นมาเป็นโจทย์ในการเรียนรู้ ให้เขาลงมือปฏิบัติจริง โดยสอดแทรกความรู้ต่าง ๆ ตลอดการทำโครงการทั้งความรู้เกี่ยวกับชุมชน รวมถึงความรู้เรื่องสิทธิและความเป็นพลเมือง ?กระบวนการเรียนรู้แบบนี้ อาจนำไปปรับใช้กับการเรียนในระบบได้ เพราะผู้สอนสามารถนำเนื้อหาที่จำเป็นสอดแทรกเข้าไประหว่างการทำกิจกรรม ซึ่งจะส่งผลให้การเรียนไม่น่าเบื่อ ทั้งยังทำให้เด็กได้ความรู้ รวมทั้งประสบการณ์ จากการเรียนเนื้อหาและลงมือปฏิบัติ?  อย่างไรก็ตาม การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อสร้าง Active Citizen ไม่ใช่แค่ฝึกฝน ให้ความรู้ และทักษะแก่เด็กเท่านั้น แต่ยังต้องมีการอบรมครูและผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวเด็ก ให้เข้าใจ เปิดโอกาส และไม่เข้าไปครอบงำเด็ก เพราะจะทำให้เด็กไม่สามารถเกิดการเรียนรู้อย่างอิสระได้ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีครูและอาจารย์ที่สอนในระดับต่าง ๆ ทั้งมัธยมศึกษา อาชีวะศึกษา รวมถึงอุดมศึกษามาร่วมแลกเปลี่ยนบทเรียนและประสบการณ์จากการเป็นพี่เลี้ยงของโครงการ เพราะการเรียนแบบ Active Learning เน้นที่ตัวผู้เรียนเป็นหลัก ดังนั้น วิธีการสอนจึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมของแต่ละช่วงวัย

          อย่างในระดับอาชีวะศึกษา และอุดมศึกษาอาจมีความท้าทายที่ค่อนข้างแตกต่างกัน คือนักเรียนอาชีวะศึกษานั้นจะถนัดเรื่องการลงมือปฏิบัติ จึงต้องเพิ่มเติมความรู้ในเชิงทฤษฎีเข้าไป ในทางกลับกัน เยาวชนในระดับอุดมศึกษาจะมีความรู้เชิงทฤษฎีที่ค่อนข้างแน่น แต่ขาดการลงมือปฏิบัติ หน้าที่ของอาจารย์จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำ ส่วนในระดับมัธยมศึกษานั้น กมลเนตร เกตุแก้ว อาจารย์จากโรงเรียนเทพมงคลรังสี จังหวัดกาญจนบุรี ผู้เคยเป็นพี่เลี้ยงระดับชั้นมัธยม ในโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้สู่ภูมิสังคมภาคตะวันตก ร่วมแบ่งปันเรื่องราวและมุมมองว่า การเรียนรู้แบบ Active Learning เปลี่ยนบทบาทให้นักเรียนเป็นผู้นำ และครูเป็นผู้ตาม จากผู้สอนกลายเป็นผู้เฝ้าดูและแนะนำเท่านั้น ?ครูไม่ใช่ผู้กำหนดวิธีการเรียนรู้และไม่มีคำตอบที่ตายตัว แต่เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่ และได้รับบทเรียนผ่านการถอดบทเรียนในแต่ละวัน คิด แก้ปัญหา มานั่งเปิดใจคุยกัน ชอบวิธีการนี้มากกว่า และเขาบอกว่าเขาสามารถเข้าใจเนื้อหา และวิธีการแก้ปัญหาได้ดีกว่าเวลานั่งฟังครูหรือดูกระดาน? สำหรับสิ่งที่ยากในกระบวนการ Active Learning ระดับมัธยม อาจารย์กมลเนตร บอกว่า เป็นเรื่องการปลูกฝังทั้งความรักในการเรียนรู้ และสำนึกความเป็นพลเมือง ซึ่งค่อนข้างใช้ระยะเวลา โดยเฉพาะระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเพราะต้องคอยกระตุ้นให้เขาคิดเกิดกระบวนการเรียนรู้ ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยดูไม่ให้เขาคิดออกนอกกรอบเกินไปจนทำไม่ได้ ท้ายที่สุดแล้ว กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning อาจนำไปปรับใช้ในระบบการศึกษาของไทยได้ เพียงแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนทั้งครู-อาจารย์ ผู้เรียน ผู้ปกครอง คนในชุมชน หน่วยงานเกี่ยวกับการศึกษา โดยเฉพาะผู้บริหารในกระทรวงซึ่งมีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ต้องเข้าใจ เห็นความสำคัญ และช่วยกันเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างพลเมืองตื่นรู้ให้เกิดขึ้นในสังคมได้ในที่สุด

          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ