ผู้เขียน หัวข้อ: มหาชนสมมติ ราชา พระมหากษัตริย์ และจักรพรรดิราช ตามคติในศาสนาพุทธ  (อ่าน 4941 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
มหาชนสมมติ ราชา พระมหากษัตริย์ และจักรพรรดิราช ตามคติในศาสนาพุทธ
โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (9 ตุลาคม 2561)

คนไทยมีความเคารพพระมหากัษตริย์ในฐานะทรงเป็นสมมติเทวราช หรือ ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ มีหน้าที่ปกป้องรักษาอาณาประชาราษฎร์ให้อยู่ดีมีสุข พระมหากษัตริย์ต้องมีธรรมะในการปกครอง โดยเฉพาะหลักทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร และหลักธรรมสำคัญจำนวนมาก ในอัคคัญญสูตร ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์ย่อมมีความเสื่อม ดังนั้นจึงต้องทำการเลือกผู้ปกครองที่เหมาะสม เป็นผู้ครองตนในธรรมมาปกครอง ขยายความดังนี้

พระไตรปิฎก เล่มที่ 11 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 3 ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อัคคัญญสูตร ได้กล่าวถึง มหาชนสมมุติ ราชา และพระมหากษัตริย์และไว้ดังนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารบุพพาราม เป็นปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา เขตพระนครสาวัตถี ทรงแสดงธรรมแก่ วาเสฏฐสามเณริกับ ภารทวาชสามเณร อธิบาย ภูมิกำเนิดและหน้าที่ของวรรณะที้ง 4 ตามคติของศาสนาพราณ์ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ทรงอธิบายถึงวรรณกษัตรย์ดังนี้

"พวกเราจักสมมติสัตว์ผู้หนึ่งให้เป็นผู้ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ ส่วนพวกเราจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น ดังนี้ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นแล้ว สัตว์เหล่านั้น พากันเข้าไปหาสัตว์ที่สวยงามกว่า น่าดูน่าชมกว่า น่าเลื่อมใสกว่า และน่าเกรงขามมากกว่าสัตว์ทุกคน แล้วจึงแจ้งเรื่องนี้ว่า ข้าแต่สัตว์ผู้เจริญ มาเถิดพ่อ ขอพ่อจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ จงติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้ โดยชอบเถิด ส่วนพวกข้าพเจ้าจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่พ่อ ดูกรวาเสฏฐะและ ภารทวาชะ สัตว์ผู้นั้นแลรับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว จึงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ ส่วนสัตว์เหล่านั้นก็แบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่สัตว์ที่เป็นหัวหน้านั้น ฯ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้าอัน "มหาชนสมมติ" ดังนี้แล อักขระว่า มหาชนสมมติ จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับแรก"

เพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้า เป็นใหญ่ยิ่งแห่งเขตทั้งหลาย ดังนี้แล อักขระว่า "กษัตริย์" กษัตริย์ จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับที่สอง"

"พราะเหตุที่ผู้เป็นหัวหน้ายังชนเหล่าอื่นให้สุขใจได้โดยธรรม ดังนี้แล อักขระว่า "ราชา" ราชา จึงอุบัติขึ้นเป็น อันดับที่สาม ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังนี้แล"

อัคคัญญสูตร ได้อธิบายความหมายของ มหาชนสมมติ พระมหากษัตริย์ และราชาว่า

การบังเกิดขึ้นแห่งพวกกษัตริย์นั้น มีขึ้นได้เพราะอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณ อย่างนี้แล เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม ดูกรวาเสฏฐะและ ภารทวาชะ ความจริง ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุดในประชุมชนทั้งในเวลา ที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิบายเป็นสภาษิต คาถาว่า

"กษัตริย์เป็นประเสริฐที่สุด ในหมู่ชนผู้รังเกียจ ด้วยโคตร ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ ฯ"

นอกจากนี้มีคำว่า "จักรพรรดิราช"เป็นการยกให้สถานะผู้ปกครองในขั้นสุด มีธรรมในการปกครองสูงกว่า มีเครื่องประกอบสถานะมากกว่า ในคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วงได้อธิบายว่าอยู่ในมนุสสภูมิ แผ่นดินอุตตรกุรุ อธิบายถึงผู้ปกครองที่จะมีบารมีถึงพระยาจักรพรรดิราชเป็นผู้มียศศักดิ์อำนาจเป็นเจ้าโลก ต้องเป็นผู้ที่เคยบำเพ็ญบุญกุศลมาแล้วมากมาย คือ

ทรงสดับพระธรรมเทศนาและทรงศีล 5 มิได้ขาด วันอุโบสถพระองค์ ทรงศีล 8 พระราชทานพระราชทรัพย์ ทรงเจริญเมตตาภาวนา สอนคนทั้งหลายให้รู้ธรรมเหมือนดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติมา ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ตัดคดีสินความด้วยความ เที่ยงธรรม เลี้ยงดูไพร่พลบริวารดี เก็บภาษีด้วยความชอบธรรม เก็บภาษีชอบธรรม เลี้ยงดูรักษาสมณพราหมณ์และนักปราชญ์ราชบัณฑิต เป็นต้น

อีกทั้งยังมีแก้ว 7 ประการ อันแสดงถึงบุญบารมีมาก ได้แก่ กงจักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว ดวงแก้ว นางแก้ว ขุนคลังแก้ว และขุนพลแก้ว

แก้วทั้ง 7 จะหมดอำนาจลงหรือหายไปหากสิ้นบุญของจักรพรรดิราช และจะปรากฏอีกครั้งเมื่อผู้มีคุณสมบัติครบในการเป็นจักรพรรดิราช

พระมหากษัตริย์นับตั้งแต่ราชธานีสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ได้ใช้คติ หลักการ และหลักนี้ในการปกครองประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุขมาจนถึงปัจจุบัน

ที่มาเพจ บทความไทยศึกษา คติชนวิทยา