เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
บทความดีดี
บทความ และเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่านและแหล่งเรียนรู้
ลบภาพคนไทย 8 บรรทัด ผลสำรวจล่าสุดเผย คนไทยอ่านหนังสือ 80 นาที/วัน
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: ลบภาพคนไทย 8 บรรทัด ผลสำรวจล่าสุดเผย คนไทยอ่านหนังสือ 80 นาที/วัน (อ่าน 3554 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3923
ลบภาพคนไทย 8 บรรทัด ผลสำรวจล่าสุดเผย คนไทยอ่านหนังสือ 80 นาที/วัน
เมื่อ:
กรกฎาคม 07, 2019, 12:34:32 AM
มีคำกล่าวว่าอุตสาหกรรมหนังสือกำลังเป็นช่วงขาลง โดยมีมูลค่ารวมราว? 2.39 หมื่นล้านบาท แต่พบว่าคนไทยยังคงนิยมซื้อหนังสือเล่ม ซึ่งติดอันดับ 4 ของโลก ขณะที่นักอ่านไทยมีจำนวนมากถึง 49.7 ล้านคน โดยใช้เวลาอ่านมากขึ้นถึง 80 นาทีต่อวัน
คนไทยซื้อหนังสืออันดับ 4 ของโลก
หนังสือ มีพลังอำนาจและประสิทธิภาพในการกระจายความรู้และรักษาไว้ซึ่งความรู้เพื่อมนุษยชาติ คือเหตุผลที่องค์การยูเนสโก ต้องการส่งเสริมการอ่าน และปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาผ่านลิขสิทธิ์ ซึ่งรณรงค์ผ่านวันหนังสือและลิขสิทธิ์สากล (World Book and Copyright Day) ตรงกับวันที่ 23 เม.ย. ของทุกปี จากการสำรวจเกี่ยวกับธุรกรรมในร้านหนังสือออนไลน์ โดย picodi.com ทำให้ทราบว่าประเทศที่มีการซื้อหนังสือบ่อยที่สุดในโลกคือ ตุรกี ถึง 87% ของผู้ที่ซื้อหนังสืออย่างน้อยหนึ่งเล่มในปีที่ผ่านมา
ขณะที่ ไทย รั้งในอันดับ 4 ที่ 79% ซึ่งพบว่าแนวโน้มในการซื้อหนังสืออย่างน้อยหนึ่งเล่มของผู้หญิง อยู่ที่ 86% ส่วนผู้ชาย 71% จากเหตุผลสำคัญเพราะชื่นชอบในการอ่าน โดยยังคงนิยมอ่านหนังสือเล่ม และซื้อในร้านหนังสือแบบดั้งเดิมอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เลือกอ่านนิยาย โดยที่งานเขียนแนวไซไฟและแฟนตาซี และการ์ตูน ครองใจผู้อ่านสูงสุด แต่ที่น่าสังเกตคือมีการซื้อหนังสือเพียงไม่กี่ครั้งต่อปี และสำนักพิมพ์ของไทย ไม่ได้มีการเผยแพร่จำนวนหนังสือที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ขณะที่ความต้องการในการซื้อหนังสือในร้านหนังสือออนไลน์ก็เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเดือน มี.ค. เม.ย. และ ต.ค. ซึ่งแต่ละเดือนมีสัดส่วนถึง 10% ของการทำการซื้อประจำปี
ชี้หนังสือเล่มยังไม่ตาย
แม้จะกล่าวกันว่าหนังสือเล่มกำลังจะตาย แต่จากผลสำรวจการอ่านของประชากร ปี 2561 โดย สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยยังคงอ่านหนังสือเล่มอยู่ ซึ่งสูงถึง 88% โดยอัตราการลดลงของการอ่านหนังสือเล่มกลับไม่สูงเท่าไรนัก เมื่อเทียบปี 2558 อยู่ที่ 96.1% ส่วนการอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ก็มาแรงถึง 75.4% จากเดิม 54.9% ซึ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยการอ่านทั้งสองรูปแบบที่มีความใกล้เคียงกัน สะท้อนได้ว่าหนังสือเล่มสามารถอยู่เคียงคู่สื่อใหม่ได้
ขณะที่ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ระบุว่าคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 3 เล่ม/เดือน โดยพฤติกรรมของผู้อ่านส่วนใหญ่รับรู้มาก่อนว่าจะมีหนังสือออกใหม่ แล้วตั้งใจไปซื้อที่ร้านและงานหนังสือเป็นหลัก ซึ่งสื่อออนไลน์นับว่าเป็นช่องทางหลักในการประชาสัมพันธ์ เฉพาะอย่างยิ่งนักเขียนและสำนักพิมพ์ที่ประกาศในเฟซบุ๊กของตน แต่ในด้านยอดขาย ภาพรวมของตลาดอุตสาหกรรมหนังสือสิ่งพิมพ์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องมาหลายปี ล่าสุดในปี 2560 มีมูลค่า 23,900 ล้านบาท ส่วนยอดขายในงานหนังสือปี 2561 อยู่ที่ 277 ล้านบาท ลดลง 8%
คนไทยอ่านหนังสือนาน 80 นาที
ลืมคำพูดที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัดไปได้เลย เมื่อผลสำรวจการอ่านของประชากร ปี 2561 ยังระบุว่าปริมาณการอ่านหนังสือของคนไทย เพิ่มขึ้นเป็น 80 นาที/วัน จากเดิมในปี 2558 ซึ่งใช้เวลา 66 นาที/วัน ปัจจัยจากนโยบายส่งเสริมการอ่าน ที่มีการรณรงค์และจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน รวมทั้งการเพิ่มจำนวนและพัฒนาพื้นที่การอ่าน
โดยมีคนอ่านจำนวนกว่า 49.7 ล้านคน หรือคิดเป็น 78.8% สูงขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก การสำรวจในปี 2558 ที่มี 77.7% หลังจากได้ปรับนิยามการอ่านให้ครอบคลุมทั้งการอ่านหนังสือและการอ่านเนื้อหาผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยสื่อสังคมออนไลน์ ได้รับความนิยมในการอ่านสูงสุด ส่วนสถานที่ที่มีการอ่านมากสุดคือบ้าน และในพื้นที่กรุงเทพฯ มียอดคนอ่านสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 92.9%
แต่อีกด้าน กลุ่มคนที่ไม่อ่านก็มีถึง 13.7 ล้านคน หรือ 21.2% ซึ่งในกลุ่มนี้เป็นคนที่ไม่ชอบและไม่สนใจอ่านประมาณ 3,450,000 คน คิดเป็น 25.2% ซึ่งเมื่อลงลึกดูในแต่ละช่วงวัยพบว่า กลุ่มเด็ก อายุ 6-14 ปี มีแนวโน้มอ่านเพิ่มขึ้น ชี้ถึงการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านค่อนข้างได้ผล แต่ในกลุ่มเด็กอายุ 15-24 ปี และผู้ใหญ่ 25-50 ปี กลับไม่ชอบอ่านถึง 34.9% และ 32.8% ตามลำดับ รวมถึงผู้สูงวัยที่ไม่ชอบอ่านก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยด้วย อาจสะท้อนได้ว่าหลังการศึกษาช่วงมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงทำงาน และเกษียณอายุ ขาดนิสัยรักการอ่าน และการปลูกฝังเรื่องรักการอ่าน ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
เด็กเล็ก 1.1 ล้านคน ถูกมองว่าเยาว์วัยเกินกว่าจะอ่าน
นอกจากนี้ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ราว 1.1 ล้านคน หรือ 63.8% ขาดโอกาสเข้าถึงการอ่าน เพราะความเข้าใจที่ว่ายังเด็กเกินไป จนอาจเป็นสาเหตุสำคัญให้เด็กไม่ได้รับการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน รวมถึงอ่านไม่ออกหรืออ่านไม่คล่อง อีกทั้งการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียวมีกว่า 5.4% เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ซึ่งมีเด็กถึง 145,000 คน ถูกพ่อแม่เลี้ยงโดยให้ดูสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียว จึงน่าเป็นห่วงกับพัฒนาการการเรียนรู้ โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดจนถึง 1 ขวบครึ่ง ซึ่งการส่งเสริมการอ่านในเด็กเล็ก พ่อแม่สามารถอ่านหนังสือ เล่านิทาน ให้เด็กฟังได้ตั้งแต่แรกเกิด เป็นการบ่มเพาะนิสัยรักการอ่านได้
หนังสือลดภาษีได้ 1.5 หมื่นบาท
ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 โดยในส่วนของการส่งเสริมการอ่านนั้น สามารถนำค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือ e-Book ที่จ่ายให้แก่บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค. 2562 มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งผู้ที่ใช้สิทธิ์ชอปช่วยชาติในช่วงวันที่ 1 - 16 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา ต้องนำมารวมด้วย
____________________
คุณกิตติรัตน์ ปิติพานิช - ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้
?เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล การอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ย่อมส่งผลต่อการอ่าน ทำให้ห้องสมุด ร้านหนังสือ หรือส่วนงานที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัวตาม อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปที่ตัวเลขของกลุ่มที่ไม่อ่าน เกือบ 14 ล้านคน ในจำนวนนั้นมีคนที่บอกไม่ชอบและไม่สนใจอ่านถึง 3,450,000 คน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อยทีเดียว ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของอุทยานการเรียนรู้ TK Park และหน่วยงานที่ทำงานด้านส่งเสริมการอ่านทั้งหลาย?
ที่มา :
http://www.bltbangkok.com
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
บทความดีดี
บทความ และเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่านและแหล่งเรียนรู้
ลบภาพคนไทย 8 บรรทัด ผลสำรวจล่าสุดเผย คนไทยอ่านหนังสือ 80 นาที/วัน
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?