ผู้เขียน หัวข้อ: ตามรอยพระพนรัต (พระมหาเถรคันฉ่อง) พระอาจารย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  (อ่าน 4793 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923

ตามรอยสมเด็จพระพนรัต พระสังฆราชอรัญวาสี (มหาเถระคันฉ่อง) พระอาจารย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

เพื่อเป็นการเผยแพร่พระเกียรติคุณ สมเด็จพระอริยวงศาญาณ ปริยัติวราสังฆราชาธิปดี ศรีสมณุตมาปรินายก ติปิฎธรจารย์สฤษดิ์ ขัตติยสารสุนทร มหาคณฤศรอุตรวาม คณะสังฆรารามคามวาสี

ขออนุญาตคัดลอกบทบันทึกเกี่ยวกับที่มาของภาพสมเด็จพระพนรัต พระสังฆราชอรัญวาสี (มหาเถระคันฉ่อง) พระอาจารย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยพระพีระ จิตตวีโร สำนักสงฆ์วัดป่าแก้ว บ้านป่าโหล?ผาใต้ ต. ท่าตอน อ. แม่อาย เชียงใหม่ เพื่อทุกท่าน จะได้รู้จักพระมหาเถระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ต่อประชาชนคนไทย นับแต่เวลาที่ได้กอบกู้เอกราชฟื้นฟูประเทศจากการตกเป็นเมืองขึ้น ซึ่งเราชาวไทยต่างทราบกันดีว่าเป็นพระปรีชาสามารถของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ได้กระทำการในครั้งนั้น จนกระทั้งเราเป็นเอกราชมาจนทุกวันนี้ แต่ยังมีอีกหลายท่านที่มิได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งดี อาจมองผ่านประวัติศาสตร์ในส่วนที่มีความสำคัญผูกพันระหว่าง ความเป็นความตายในพระชนม์ชีพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยมีพระเถระชาวรามัญรูปหนึ่ง ซึ่งพระองค์ทรงให้ความเคารพบูชาอย่างสูงสุด ดังความคัดลอกเหตุการร์อันเกี่ยวเนื่องในบางตอนของประวัติศาสตร์ชาติไทยมา เผยแพร่ดังต่อไปนี้

เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๒๖ พระเจ้ากรุงอังวะเป็นกบฏ เนื่องจากไม่พอใจทางกรุงหงสาวดีอยู่หลายประการ จึงแข็งเมืองพร้อมกับเกลี่ยกล่อมเจ้าไทยใหญ่อีกหมายเมืองให้เข้มแข็งเมือง ด้วย คราวนั้นพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจึงยกทัพหลวงไปปราบ ในการณ์นี้ได้สั่งให้เจ้าเมืองแปร เจ้าเมืองตองอู และเจ้าเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งทางกรุงศรีอยุธยาด้วย ให้ยกทัพไปช่วย ทางไทย เมื่อนั้นสมเด้จพระมหาธรรมราชาทรงโปรดให้สมเด็จพระนเรศวรยกทัพออกจากเมือง พิษณุโลก เมื่อวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะแม พุทธศักราช ๒๑๒๖ แต่ยกทัพไปไม่ทันกำหนด ทำให้พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงคลางแคลงใจว่า ทางไทยคงจะถูกพระเจ้าอังวะชักชวนให้เข้าร่วมด้วย จึงสั่งให้พระมหาอุปราชาคุมทัพรักษาเมืองหงสาวดีไว้ ถ้าทัพไทยยกมาให้ต้อนรับและหาทางกำจัดเสีย และพระองค์ได้สั่งให้พระยามอญสองคน คือ พระยาเกียรติ และพระยาราม เมื่อไปถึงเมืองแครงแล้ว ได้ขยายความลับนี้แก่พระมหาเถรคันฉ่องผู้เป็นอาจารย์ของตน

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จมาถึงเมืองแครง เมื่อวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีวอก พุทธสักราช ๒๑๒๗ ทรงพักทัพอยู่ใกล้วัดของพระมหาเถรคันฉ่อง จากนั้นสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปเยี่ยมพระอาจารย์ซึ่งคุ้ยเคยกันดีมาก่อน พระมหาเถรคันฉ่องจึงได้กราบทูลถึงเรื่องการคิดปองร้ายของทางกรุงหงสาวดี แล้วให้พระยาเกียรติกับพระยาราม และเหล่าทหารมอญมาประชุมพร้อมกัน แล้วนิมนต์พระมหาเถรคันฉ่องพร้อมพระสงฆ์มาเป็นสักขีพยาน ทรงแจ้งเรื่องให้คนทั้งปวงที่มาประชุม ณ ที่นั้นทราบว่า พระเจ้าหงสาวดีคิดประทุษร้ายต่อพระองค์ จากนั้นพระองค์ได้ทรงหลั่งน้ำลงสู่แผ่นดินด้วยสุวรรณภิงคาร (พระน้ำเต้าทองคำ) แลประกาศแก่เทพยดาฟ้าดินว่า

? ด้วยพระเจ้าหงสาวดี มิได้อยู่ในครอบสุจริตมิตรภาพขัตติยราชประเพณี เสียสามัคคีรสธรรมประพฤติพาลทุจริต คิดจะทำอันตรายแก่เรา ตั้งแต่นี้ไป กรุงศรีอยุธยาขาดไมตรีกับกรุงหงสาวดี มิได้เป็นมิตรสุวรรณปฐพีเดียวกันดุจดังแต่ก่อนสืบไป?

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา พระองค์ชกชวนพระมหาเถรคันฉ่อง พระยาเกียรติ พระยาราม พร้อมครอบครัวและบริวารมายังกรุงสรอยุธยาด้วย พระองค์ทรงขอพระราชทานความดีความชอบต่อพระมหาธรรมราชา พระมหาธรรมราชาทรงแต่งตั้งพระมหาเถรคันฉ่อง เป็นสมเด็จพระพนรัตในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ส่วนชาวมอญที่ติดตามมาทรงโปรดให้อยู่ ณ ตำบลบ้านหลังวัดนก (ปัจจุบันเป็นวัดร้างตั้งอยู่ทาทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดมหาธาตุ) ส่วนพระยาเกียรติ ? พระยาราม มีตำแหน่งยศได้พระราชทานพานทอง ให้ตั้งบ้านเรือนที่ริมวัดขมิ้น และวัดขุนแสน ใกล้วังจันทร์ฯ ของสมเด็จพระนเรศวร

ในครั้งแผ่นดินพระนเรศวรก่อนที่จะทรงสถาปนาสม เด็จพระพนรัตนั้น ก็มีตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ก่อนแล้ว แต่ด้วยทรงปรารถนาจะถวายความเคารพอย่างสูงสุดในองค์สมเด็จพระพนรัต (พระอาจารย์) จึงได้ทรงสถาปนาพระองค์ท่านขึ้นเป็นพระสังฆราชอีกพระองค์หนึ่ง ให้ทางเป็นผู้ปกครองสงฆ์ทางฝ่ายเหนือทั้งหมด ส่วนพระสังฆราชเดิมนั้นทรงให้ปกครองสงฆ์ทางฝ่ายใต้ ซึ่งตำแหน่งนี้สถาปนาให้อยู่ที่วัดพระศรีมหาธาตุตามพระราชประเพณี แต่สมเด็จพระพนรัตประสงค์ที่จะประทับ ณ วัดเจ้าพระยาไท ต่อมาเรียกชื่อว่าวัดวัดป่าแก้ว เนื่องจากพระองค์เป็นพระอรัญวาสี (วัดป่า) มีความชอบในการอยู่อย่างสงบนอกเมือง

เมื่อเสร็จศึกสงครามยุทธหัตถี พุทธศักราช ๒๑๓๕

ครั้งถึงวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนยี่ สมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้ว กับพระราชาคณะ รวม ๒๕ รูปเข้าไปเฝ้า ถามข่าวถึงการเสด็จพระราชสงครามตามประเพณี สมเด็จพระนเรศวร จึงตรัสเล่าเหตุการณ์ทั้งปวงให้ฟังทุกประการ สมเด็จพระพนรัตได้ฟังแล้วจึงถวายพระนามว่า พระองค์มีชัยแก่ข้าศึก แต่เหตุไฉนข้าราชการทั้งปวงจึงต้องรับราชทัณฑ์ สมเด็จพระนเรศวรตรัสตอบว่า นายทัพนายกองเหล่านี้กลัวข้าศึกมากกว่ากลัวพระองค์ และให้แต่พระองค์สองคนพี่น้อง ฝ่าเข้าไปท่ามกลางศึก จนได้ทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ต่อเมื่อมีชัยกลับมาจึงได้เห็นหน้าพวกเหล่านี้ นี่หากว่าพระองค์ยังไม่ถึงที่ตาย หาไม่แผ่นดินก็จะเป็นของชาวหงสาวดีไปเสียแล้ว

เหตุนี้พระองค์จึงได้ ลงโทษตามอาญาศึก สมเด็จพระพนรัตจึงถวายพระพรว่า เมื่อพิเคราะห์ดูข้าราชบริพารเหล่านี้ ที่จะไม่กลัวพระองค์ท่านนั้นหามิได้ เหตุทั้งนี้เห็นจะเผอิญเป็นเพื่อจะให้พระเกียรติแก่พระองค์เป็นอัศจรรย์ เหมือนสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้า

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จเหนืออปราชิต บัลลังก์ใต้ควงไม้มหาโพธิ์ครั้งนั้น เทพเจ้าก็มาเฝ้าพร้อมกันหมื่นจักรวาล พระยาวัสวดีมารยกพลเสนามาผจญ ถ้าพระพุทธเจ้าได้เทพเจ้าเป็นบริวาร มีชัยแก่พระยามารก็หาสู้เป็นอัศจรรย์ไม่ เผอิญให้หมู่เทพเจ้าทั้งปวงปราศนาการหนีไปสิ้น เหลือแต่พระองค์เดียวสามารถผจญให้เหล่ามารปราชัยไปได้ จึงได้พระนามว่า ?พระพิชิตมาร โมฬีศรีสรรเพชญตาญาณ? เป็นมหาอัศจรรย์บันดาลไปทั่วอนันตโลกธาตุ ก็เหมือนทั้งสองพระองค์ครั้งนี้ ถ้าเสด็จพร้อมด้วยโยธาหาญมาก และมีชัยชนะแก่พระมหาอุปราชา ก็จะหาสู้เป็นอัศจรรย์แผ่พระเกียรติยศให้ปรากฎแก่นานาประเทศไม่ อันเหตุที่เป็นทังนี้ เพื่อเทพเจ้าทั้งปวงอันรักษาพระองค์จักสำแดงพระเกียรติยศเป็นแน่แท้

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงฟังแล้วก็ทรงพระปิติโสมนัส ตรัสว่า อันพระคุณเจ้ากล่าวมานี้เห็นควรหนักหนา สมเด็จพระพนรัตจึงได้ถวายพระพรว่า ข้าราชบริพารซึ่งต้องโทษเหล่านี้ก็ผิดหนักหนาอยู่แล้ว แต่ทว่าได้ทำคุณงามความดีมา แต่ครั้งสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชเจ้า และสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ตลอดมาจนถึงพระองค์ดุจพุทธบริษัทสมเด็จพระบรมครู จึงขอพระราชทานอภัยโทษต่อข้าราชบริพารเหล่านี้ไว้สักครั้งหนึ่ง จะได้ทำคุณงามความดีฉลองพระเดชพระคุณท่านสืบไป สมเด็จพระนเรศวรฯ จึงมีรับสั่งว่าเมื่อสมเด็จพระพนรัตขอแล้ว พระองค์ก็จะถวายให้ แต่ทว่าจะต้องไปตัเมืองตะนาวศรี เมืองทวายแก้ตัวก่อน สมเด็จพระพนรัตถวายพระพรว่า การจะใช้ไปตีบ้านตีเมืองนั้น สุดแต่พระองค์จะสงเคราะห์ มิใช่กิจของสมณะ แล้วก็ถวายพระพรลากลับไป

จากประวัติศาสตร์ที่เผยแพร่ชัดเจนมายาวนานนี้ น่าจะเป็นข้อจดจำในสำนึกของเราชาวไทยทั้งหลาย ในพระคุณของสมเด็จพระพนรัตผู้เป็นที่เคารพเทิดทูน แห่งองค์สมเด็จพระนเรศวรฯ ผู้ทรงพระคุณอันใหญ่หลวงของชาวไทย สมควรที่เราชาวไทยทุกหมู่เหล่าจะได้ระลึกเทิดทูนบูชากราบไหว้ในพระคุณของ พระองค์ท่าน ที่ได้ทรงกระทำให้เราเป็นไทยมาตราบเท่าทุกวันนี้

? หากสมเด็จพระพนรัตไม่ทราบยับยั้งแผนการของพระนาเกียรติ ? พระยาราม เราชาวไทยคงไม่มีองค์พระนเรศวร ผู้ทรงปรีชาสามารถมากอบกู้ชาติบ้านเมือง ให้เป็นปึกแผ่นตราบเท่าทุกวันนี้

? หากสมเด็จพระพนรัตไม่ทรงบิณฑบาตร ขอชีวิตเหล่าทหารในการทำศึกสงครามยุทธหัตถี ก็จะทำให้ไพร่พลขาดกำลังใจ และขาดคนดีที่จะมาช่วยชาติบ้านเมืองได้อีกมากมาย ซึ่งในกาลนี้ขอให้ทุกคนหันกลับมามองดูว่า แม้อาญาเมืองยิ่งใหญ่เพียงใด แต่ด้วยเดชแห่งบุญสังฆบารมี อันสมเด็จพระพนรัตได้แสดงถวายแด่สมเด็จพระนเรศวรฯ ยังทรงพิจารณา โดยไม่ทรงถือเอาภัยอันพระองค์ได้รับนั้น มาเป็นใหญ่เหนือพระศาสนา และคำเตือนของพระมหาเถระผู้ประเสริฐ จึงยังทำให้แผ่นดินสงบร่มเย็นสืบมา แสดงให้เห็นถึงพระคุณธรรมอันมิในใจเป็นชาตินักรบอย่างแท้จริงขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้า



คัดจากหนังสือ ตามรอยสมเด็จพระพนรัต พระสังฆราชอรัญวาสี (มหาเถรคันฉ่อง) พระอาจารย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
บันทึกโดย พระพีระ จิตตวีโร สำนักสงฆ์วัดป่าแก้ว บ้านป่าโหล ? ผาใต้  ต.ท่าตอน อ. แม่อาย  จ.เชียงใหม่ ๕๐๑๘๐



ที่มา  :  www.bp.or.th