เมื่อ: กรกฎาคม 29, 2015, 11:41:43 PM
เจดีย์ยุทธหัตถี ตั้งอยู่ที่ไหนกันแน่? โดย..ผู้ช่วยศาสตราจารย์กาญจนี ละอองศรี
เจดีย์ยุทธหัตถี คือ เจดีย์ที่ก่อขึ้นเพื่อระลึกถึงวีรกรรมการชนช้างของสมเด็จพระนเรศวร พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยากับพระมหาอุปราช แม่ทัพพม่าที่ยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2135 โดยพระมหาอุปราชยกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรี สมเด็จพระนเรศวรยกทัพออกไปต้านทัพพม่าที่หนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี ทั้งสองพระองค์ขับช้างทรงชนกัน พระมหาอุปราชเสียทีถูกสมเด็จพระนเรศวรฟันด้วยของ้าวจนสิ้นพระชนม์ กองทัพพม่ายกทัพกลับไปพร้อมพระศพพระมหาอุปราช สมเด็จพระนเรศวรมีชัยชนะในสงครามยุทธหัตถีครั้งนั้น พระเกียรติยศเป็นที่เลื่องลือ ซึ่งในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ได้ระบุข้อ ความเกี่ยวกับวีรกรรมครั้งนั้นว่า สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้ก่อพระเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่งตรงที่พระองค์ได้ทรงชนช้าง กับพระมหาอุปราชไว้เพื่อเฉลิมพระเกียรติ
เจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี
จุดเริ่มเรื่อง ? สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ไทย ขณะดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงสอบข้อความในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ กับพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ จึงได้วินิจฉัยว่าสถานที่ชนช้างเรียกว่า หนองสาหร่าย สถานที่ตั้งค่ายของพระมหาอุปราชเรียกว่า ตระพังตรุ สถานที่ทั้งสองแห่งอยู่ในเมืองสุพรรณบุรี จากนั้นทรงมอบหมายให้พระยาสุพรรณ (อี๋ กรรณสูตร) เจ้าเมืองสุพรรณในขณะนั้น ออกสืบหาจนพบเจดีย์โบราณตรงที่ชาวบ้านเรียกว่า ดอนพระเจดีย์ ที่ตำบลหนองสาหร่าย และผู้ใหญ่บ้านก็เล่าว่า เป็นเจดีย์ที่พระนเรศวรทรงชนช้างกับพระมหาอุปราช ขณะที่พบเจดีย์หักพังหมดแล้วไม่เหลือรูปพรรณสัณฐาน คงมีแต่ฐานทักษิณสี่เหลี่ยมสามชั้นเท่านั้น เมื่อสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการที่เมืองสุพรรณ ทอดพระเนตรแล้วก็ทรงเชื่อว่าเป็นเจดีย์ยุทธหัตถี จึงทรงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินสักการะองค์พระเจดีย์ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2456
ระหว่างการเสด็จครั้งนั้น รัชกาลที่ 6 ทรงสำรวจเส้นทางเดินทัพ ตลอดจนที่ตั้งค่ายของพระมหาอุปราชตามข้อวินิจฉัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และทรงเห็นพ้องด้วยว่าเจดีย์ที่ดอนเจดีย์คือเจดีย์ยุทธหัตถี พร้อมกับทรงบันทึกการเดินทางสำรวจครั้งนี้และข้อวินิจฉัยของพระองค์ไว้ใน จดหมายเหตุรายวัน จากนั้นโปรดให้จัดพระราชพิธีบวงสรวงสมโภชพระเจดีย์ โดยพระองค์ทรงนิพนธ์คำประกาศดุษฎีสังเวยขึ้นเพื่อพระราชพิธีนี้โดยเฉพาะ ว่าด้วยการสรรเสริญพระราชกรณียกิจในการยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวร เพื่อทรงมุ่งให้พระเจดีย์องค์นี้และพิธีกรรมนี้เป็นเครื่องจูงใจให้คนไทยรัก ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เสร็จสิ้นพิธีกรรมนี้แล้วพระองค์ทรงมีพระราชดำริให้บูรณะพระเจดีย์องค์นี้ โดยสร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ครอบองค์เก่า เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธรซึ่งดูแลรับผิดชอบกรมศิลปากรในเวลานั้น กราบทูลเสนอแบบพระเจดีย์ใหม่ที่จะสร้างครอบ เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณท์ คำนวณงบประมาณในการสร้าง 1,902,500 บาท แต่ปรากฏว่ากระทรวงการคลังไม่มีงบประมาณเพียงพอ จึงต้องชะลอการก่อสร้างไว้ก่อน จนสิ้นรัชกาลโครงการนี้ก็เงียบไป
กระแสการรื้อฟื้นการบูรณะด้วยการสร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ครอบเจดีย์องค์เก่า ที่ดอนเจดีย์เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามสมัยที่ 2 เพื่อปลุกเร้าให้ผู้คนเกิดความสำนึกร่วมในชุมชนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจหลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นใน พ.ศ. 2495 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กรมศิลปากรรับผิดชอบในการบูรณะพระ เจดีย์ที่ดอนเจดีย์ นายตรี อมาตยกุล ได้รับมอบหมายให้คิดค้นแบบโดยได้เสนอแบบเป็นเจดีย์ทรงกลมองค์ระฆังแบบลังกา เนื่องจากร่องรอยฐานเจดีย์เก่าเป็นทรงสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุม การก่อสร้างเริ่มขึ้นใน พ.ศ.2498 แล้วเสร็จในวันที่ 25 มกราคม 2502 ใช้งบประมาณก่อสร้าง 7 ล้านบาท นอกจากบูรณะพระเจดีย์ที่ดอนเจดีย์แล้วยังมีการปรับพื้นที่รอบองค์พระเจดีย์ ซึ่งมีสภาพเป็นป่าโปร่งไม่มีหมู่บ้าน ให้กลายเป็นชุมชนแห่งใหม่ จึงมีการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรประทับช้างทรงยุทธหัตถี อยู่ตรงด้านหน้าพระเจดีย์องค์ใหม่ ภายในพระเจดีย์มีการเขียนภาพสีน้ำมันแสดงพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวร ประดับโดยรอบ นอกจากนั้นได้มีการสร้างวัดแห่งใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนและตั้งชื่อว่า วัดดอนเจดีย์ สร้างพระประธานภายในวัดเป็นพระพุทธรูปสมัยอู่ทองเพื่อเชื่อมโยงกับพระเจ้า อู่ทอง มีการสร้างโรงเรียน สร้างตลาด ขุดสระน้ำ และตัดถนนจากอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และจากอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรีมาสู่องค์พระเจดีย์แห่งนี้ ต่อมาชุมชนแห่งนี้ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอดอนเจดีย์ ใน พ.ศ. 2505
เมื่อการบูรณะพระเจดีย์และการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์เสร็จเรียบร้อย กระทรวงกลาโหมกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ เสด็จพระราชดำเนินเปิดงาน และรัฐบาลถือเอาวันที่ 25 มกราคมของทุกๆปีเป็นวันกองทัพบก (ปัจจุบันวันกองทัพบกเปลี่ยนไปเป็นวันที่ 18 มกราคมของทุกๆ ปีแล้ว เพราะนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ได้สืบค้นหลักฐานใหม่จากฝ่ายพม่า) นับเป็นวันสำคัญของชาติ และจะทำพิธีบวงสรวงในวันดังกล่าว เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมอันเป็นชัยชนะของพระมหากษัตริย์ผู้ปกป้องผืนแผ่นดิน สยามไว้ นับจาก พ.ศ. 2525 อันเป็นปีสมโภชกรุงเทพฯครบ 200 ปีเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันในการจัดพิธีบวงสรวงจะมีการแสดงละครประวัติศาสตร์ อย่างยิ่งใหญ่ และอลังการประกอบพิธีด้วย โดยแสดงให้เห็นถึงภาพการเดินทัพ และการจำลองเหตุการณ์ยุทธหัตถี การแสดงนี้ทั้งเพื่อความสนุกสนาน เพื่อความรู้ประวัติศาสตร์ และยังเพื่อการปลุกเร้าอารมณ์และสร้างกระแสจิตสำนึกความรักชาติ รักสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อถึงสมัยที่นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี และได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้พัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรีมากมาย ได้พัฒนาชุมชนดอนเจดีย์ด้วยการปรับและขยายถนนจากตัวเมืองไปดอนเจดีย์เป็นถนน คอนกรีต 4 ช่องทางจราจร สร้างทัศนียภาพแวดล้อมอนุสาวรีย์แห่งนี้ให้ดูเด่น สง่างาม จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสุพรรณบุรี และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดที่คนรุ่นปัจจุบันเรียกขาน แบบง่ายๆ ว่า อนุสรณ์ดอนเจดีย์
สรุปแล้ว การชี้ว่าวีรกรรมการยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรในปีพ.ศ. 2135 อยู่ที่อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรีนั้นเป็นพระวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ หัว รัชกาลที่ 6 ที่เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2456 โดยทรงยอมรับตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นับแต่นั้นมาผู้คนส่วนใหญ่ยอมรับว่านี้คือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ การสานต่อด้วยการบูรณะเจดีย์ และมีการสร้างชุมชนด้วยการสร้างวัด การตัดถนน ที่เริ่มขึ้นสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตลอดจนการทำพิธีการบวงสรวง การจัดแสดงละครทางประวัติศาสตร์ นับวันจะทำให้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสถานที่ยุทธหัตถีของ สมเด็จพระนเรศวรดูจะเป็นความจริงแท้แน่นอน
ข้อเสนอใหม่ : เจดีย์ยุทธหัตถีตั้งอยู่ที่ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
ในปีพ.ศ. 2515 ได้มีกระแสโต้จากกลุ่มผู้นำท้องถิ่นในจังหวัดกาญจนบุรี โดยได้ร่วมมือกับนักวิชาการ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ร่วมกันเขียนบทความ จัดอภิปรายและใช้สื่อมวลชน หนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ นำเสนอที่ตั้งเจดีย์ยุทธหัตถีแห่งใหม่ที่ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี การโต้แย้งกันในเรื่องนี้ใช้เวลานานถึง 5 ปีเต็ม
จุดเริ่มเรื่อง มีเรื่องเล่าขานสืบทอดกันมาไม่ต่ำกว่า 100 ปีในหมู่ชาวบ้านในตำบลดอนเจดีย์ และตำบลใกล้เคียงในอำเภอพนมทวน ว่าเจดีย์ที่อยู่ในตำบลดอนเจดีย์นี้เป็นเจดีย์ชนช้างของบุคคลสำคัญ โดยผู้เริ่มกระจายความเชื่อนี้ออกจากท้องถิ่นคือ กำนันชุบ บุญชนะวงศ์ กำนันตำบลบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ผู้มีบ้านเดิมอยู่ที่ทุ่งสมอติดกับตำบลดอนเจดีย์ กำนันชุบนำข้อมูลนี้ไปบอกเล่าถวายพระสาสนโสภณ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวรวิหาร เมื่อปีพ.ศ. 2505 (ปัจจุบันคือ สมเด็จพระญาณสังวรสกลมหาสังฆปรินายก สมเด็จพระสังฆราช) ในฐานะที่พระองค์เป็นชาวเมืองกาญจนบุรี โดยกำนันชุบอ้างถึงขุนกัลยาวุฒิ (พร้อม สาระศลิน) กรรมการจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของกำนัน และเป็นผู้เล่าเรื่องนี้เป็นคนแรกให้กำนันชุบฟังว่า เมื่อครั้งขุนกัลยาวุฒิรับราชการเป็นรองผู้กำกับลูกเสือในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 พระยากาญจนบุรี (นุช) เมื่อครั้งได้รับคำสั่งสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพให้ค้นหาเจดีย์ ยุทธหัตถีที่ตระพังตรุ พระยากาญจนบุรีได้รายงานกลับไปว่าไม่พบ เพราะไม่ต้องการจัดการรับเสด็จเพราะกลัวเหนื่อย กำนันชุบยังอ้างว่า ขุนกัลยาวุฒิเองเป็นคนแรกที่วิจารณ์ความน่าเชื่อถือของพระราชพงศาวดารกรุง เก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ว่าเป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อให้มีเรื่องชนช้าง ที่หนองสาหร่าย ทำให้การค้นพบเจดีย์ยุทธหัตถีที่สุพรรณบุรีจึงเป็นการเอาใจเจ้านายส่วนกลาง ของพระยาสุพรรณ (อี๋ กรรณสูตร ) เสียมากกว่า
ช่วงเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2507-2515 กว่า 8 ปี กำนันชุบอ้างว่าได้รวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อพิสูจน์ว่า ที่ตั้งเจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่ จังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งได้เชิญคณะบุคคลสำคัญระดับสำนักพระราชวัง พระภิกษุ นักวิชาการ ไปร่วมสังเกตลักษณะองค์เจดีย์และจัดพิธีบวงสรวง ต่อมาในวันที่ 20 สิงหาคม 2515 บุคคลเหล่านี้ได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธร และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ (พระยศขณะนั้น) เสด็จทอดพระเนตรองค์เจดีย์ ขณะเดียวกันคณะนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักวิชาการท้องถิ่นยังได้เชิญหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ เช่น สยามรัฐ เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย และเชิญนายแพทย์สิน ภังคานนท์ ชาวเมืองกาญจนบุรีให้ช่วยกันเขียนบทความสนับสนุนว่าเจดีย์ยุทธหัตถีตั้งอยู่ ที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อข่าวแพร่ออกไปจึงมีประชาชนทั่วไปเดินทางมาร่วมศึกษาและวิจารณ์ จนเกิดมีข้อเขียนข้อวิจารณ์กันยกใหญ่ ถึงขนาดเสนอให้ย้ายอนุสรณ์ดอนเจดีย์จากจังหวัดสุพรรณบุรีมาอยู่ที่จังหวัด กาญจนบุรี
เหตุผลเชิงวิชาการที่กลุ่มนี้นำมาใช้เป็นเหตุผลคือ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ฉบับพันจันทนุมาศ และฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ต่างระบุตรงกันว่า สถานที่ที่สมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างพระเจดีย์อยู่ที่ตระพังตรุ ซึ่งเป็นตำบลที่เคยอยู่ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี แต่ต่อมาถูกย้ายมาขึ้นกับจังหวัดกาญจนบุรี ในพื้นที่ตระพังตรุมีเจดีย์เก่าอยู่หลายองค์ แต่ที่ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน เป็นแห่งเดียวที่มีประวัติศาสตร์อันเกิดจากชาวบ้านเล่าสืบทอดกันมาว่า "เป็นเจดีย์ชนช้าง" ขณะที่ข้อมูลของฝ่ายที่เชื่อว่าเจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี นั้นยึดถือแต่พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ฉบับเดียว ที่ระบุว่า สถานที่ชนช้างอยู่ที่หนองสาหร่าย ทำให้สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพมุ่งให้พระยาสุพรรณสำรวจเจดีย์ที่แห่งนี้ และเชื่อตามคำบอกเล่าของผู้ใหญ่บ้านว่าเป็นเจดีย์ยุทธหัตถี
ฝ่ายที่เชื่อว่าเจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ยังตั้งข้อสังเกตว่าที่ตั้งของดอนเจดีย์ที่สุพรรณบุรีอยู่ขึ้นไปทางทิศเหนือ ไม่สอดคล้องกับเส้นทางเดินทัพของฝ่ายพม่าที่เข้ามาทางกาญจนบุรีและเส้นทาง เดินทัพไปตั้งรับของฝ่ายกรุงศรีอยุธยา นอกจากนั้นยังอ้างว่าชาวบ้านขุดพบเครื่องศาตราวุธ กระดูกสัตว์ กระดูกคนที่บริเวณตระพังตรุ และชาวบ้านยังเห็นดวงวิญญาณที่ตายไปแล้วอยู่บ่อยๆ จึงเชื่อว่าพื้นที่ตรงนี้น่าจะเป็นสนามรบมาก่อน ฝ่ายที่เชื่อว่าเจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่สุพรรณบุรีก็อ้างว่าขุดพบอาวุธโบราณ ในบริเวณใกล้เคียงเจดีย์ที่ดอนเจดีย์ และฝ่ายนี้ยังนำฉากบางฉากที่ปรากฏอยู่ในลิลิตตะเลงพ่าย พระนิพนธ์สมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ครั้งรัชกาลที่ 2 เช่น ต้นข่อย จอมปลวก อันเป็นจุดที่พระมหาอุปราชพักช้างทรงอยู่ก่อนการรบ มาพิสูจน์ว่าพบต้นข่อย และจอมปลวกในพื้นที่ตำบลหนองสาหร่าย
การโต้แย้งกันของทั้งสองฝ่ายทวีความรุนแรง โดยมีการจัดอภิปรายกันหลายครั้ง ทั้งกรมประชาสัมพันธ์ สมาคมท้องถิ่น นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ และกลุ่มทหารก็เข้ามาร่วมโดยปกป้องว่าพระวินิจฉัยของรัชกาลที่ 6 และสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพถูกต้องแล้ว
ผู้ยุติเรื่องที่ตั้งเจดีย์ยุทธหัตถี
ในที่สุดกลุ่มมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นำโดยจมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ได้ออกมาแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบกลุ่มกาญจนบุรีว่า เรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นพระราชวินิจฉัยของรัชกาล ที่ 6 โดยอ้างถึงเหตุการณ์ตอนเสด็จพระราชดำเนินในพิธีบวงสรวงพระเจดีย์ที่ดอน เจดีย์ พวกตนในฐานะผู้จงรักภักดีต้องตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันพระมหา กษัตริย์จึงขอยืนยันความถูกต้องเรื่องนี้ เหตุผลที่คนกลุ่มนี้ยกมาเพื่อยุติการโต้แย้งที่เกิดขึ้นนานถึง 5 ปี ก็คือ "ทางชาติบ้านเมืองเรา ก่อสร้างพระอนุสาวรีย์ของพระนเรศวรไว้เคารพสักการะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเสด็จเปิดพระเจดีย์มาแล้ว การแปรเปลี่ยนเอาเจดีย์ไปไว้ที่อื่นให้ผิดไปจึงไม่เห็นด้วย และชาติบ้านเมืองเวลานี้ต้องการความสามัคคีเป็นใหญ่ จึงควรยุติเรื่องลงได้แล้วว่า พระเจดีย์ควรอยู่ที่ตำบลหนองสาหร่าย ตามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวินิจฉัยไว้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันก็ทรงรับรอง จึงเสด็จไปกระทำพิธีอย่างหนึ่ง รัฐบาลของเราก็รับรองไปสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรอย่างหนึ่ง ไม่ควรมีคนคิดจะยกเอาไปไว้ที่อื่น ถ้าหากว่ามีคนหาญกล้าจะทะนงทำอย่างนั้น ผมเห็นว่ามันจะเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" คำอภิปรายของจมื่นอมรดรุณารักษ์เมื่อ 3 มีนาคม 2516 กรมประชาสัมพันธ์ได้พิมพ์คำบรรยายนี้ใน จมื่นดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช)พระราชกรณียกิจสำคัญในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องอนุสรณ์ดอนเจดีย์พระนเรศวร(กรุงเทพ:คุรุสภา 2520)
การยุติเรื่องที่ตั้งเจดีย์ยุทธหัตถีของกลุ่มมหาดเล็กในรัชกาลที่ 6 โดยยกเรื่องความสามัคคีในชาติ ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำให้การสืบค้นเรื่องในเชิงวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดีเป็นอันต้องยุติลงอย่างน่าเสียดาย
ที่มา : http://brainbank.nesdb.go.th เว็บไซต์ธนาคารสมองของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 30, 2016, 01:54:25 PM โดย เลิศชาย ปานมุข »