ผู้เขียน หัวข้อ: เล่นเพื่อน รักต้องห้ามของสาวชาววัง  (อ่าน 5146 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
ความรักต่อเพศเดียวกัน มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ หรือตั้งแต่กำเนิดมนุษย์บนโลกใบนี้ เป็นไปเพราะธรรมชาติ หรือเป็นไปเพราะกรอบของสังคม

การมีคู่ครองชองหญิงชายทั่วไปเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ในราชสำนักฝ่ายในซึ่งประกอบด้วยสตรีล้วนหลากหลายฐานะ หลายฐานันดรศักดิ์ มีขนบธรรมเนียมเฉพาะกลุ่ม การมีคู่ก็เป็นหนึ่งในขนบธรรมเนียมในประเพณีนั้น จึงทำให้การมีคู่ของชาววังแตกต่างไปจากชาวบ้าน ดังเช่น พระมเหสีเทวี เจ้าจอมมารดาและเจ้าจอม ท่านเหล่านี้ล้วนยินยอมพร้อมใจที่จะถวายความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว

ส่วนพระราชธิดาแม้จะไม่มีข้อกำหนดห้ามปรามมิให้ทรงมีคู่ แต่ด้วยพระอิสริยศักดิ์อันสูงส่ง และโดยความเป็นขัตติยนารีซึ่งทรงได้รับการปลูกฝังให้มีพระสำนึกเกี่ยวกับชาติตระกูล ความเหลื่อมล้ำของฐานันดรศักดิ์ จนซึมซาบอยู่ในสายพระโลหิต ประกอบกับความยุ่งยากของข้อบังคับในกฏมณเทียรบาล ทำให้มิใคร่มีพระราชธิดาพระองค์ใดมีประสงค์จะมีคู่ครอง

สตรีอีกกลุ่มหนึ่งคือพระบรมศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร และข้าหลวงตามตำหนักต่างๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก สตรีเหล่านี้แม้จะไม่มีข้อห้ามเกี่ยวกับการมีคู่ครอง แต่ก็มีขนบประเพณีอันเป็นเสมือนกรอบบังคับมิให้ชาววังประพฤติปฏิบัติตนออกนอกลู่นอกทาง ถึงกระนั้นก็ยังไม่อาจเอาชนะอิทธิพลของธรรมชาติ ที่แม้จะถูกเก็บกดไว้ลึกเพียงใดก็ยังมีวันเวลาสำแดงความต้องการออกมาในรูปของความรัก

ความรักตามธรรมชาติของสตรีบางคน เมื่อถูกสกัดกั้นด้วยขนบประเพณีทำให้ไม่ใคร่มีโอกาสพบปะเพศตรงข้าม มองเห็นคลุกคลีอยู่แต่เพศเดียวกัน ความรักของสตรีที่ว่านี้จึงมอบให้แก่เพศเดียวกันอย่างที่เรียกว่า "เล่นสวาท" หรือ "เล่นเพื่อน"

ถ้าจะพูดไปแล้ว ความรักระหว่างสตรีที่เกิดขึ้นในวังนั้นเกือบจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่มีมาทุกยุคทุกสมัย แต่ไม่เป็นที่เปิดเผย เพราะถือเป็นเรื่องผิดธรรมชาติที่น่าอับอาย แต่บางเรื่องก็ปิดไม่มิด แถมยังเป็นเรื่องโด่งดังจนมีผู้จดจำและเล่าขานกันต่อมา ดังเช่นเรื่องของ หม่อมสุด กับ หม่อมขำ ข้าหลวงในกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิลาส กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

หม่อมสุด และ หม่อมขำ เดิมเคยเป็นหม่อมห้ามในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทั้ง ๒ คน เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์นั้นทิวงคต จึงโอนมารับราชการในวังหลวงประจำพระตำหนัก กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

หม่อมสุดเป็นผู้มีความรู้หนังสือ จึงมีหน้าที่อ่านหนังสือถวายเมื่อเวลาบรรทม ครั้งหนึ่งหม่อมสุดและหม่อมขำอยู่เวรห้องบรรทมคู่กัน ทั้งคู่เข้าใจว่ากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพบรรทมหลับแล้ว จึงดับเทียนและเอาผ้าคลุมโปงกอดจูบกันอยู่ที่ปลายพระบาท กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพยังไม่หลับจึงเห็นพฤติกรรมทั้งหมด และโปรดให้สมญาหม่อมสุดว่า "คุณโม่ง" เพราะมีพฤติกรรม "เอาแพรเพลาะหอมกรอมหุ้มกันคลุมโปง จึงตรัสเรียกว่า คุณโม่ง แต่นั้นมา" ส่วนหม่อมขำทรงให้สมญาว่า "หม่อมเป็ด" เพราะกิริยาอาการเดินมีลักษณะ "เดินเหินโยกย้ายส่ายกิริยา จึงชื่อว่า หม่อมเป็ดเสด็จประทาน"

เรื่องคุณโม่ง กับ หม่อมเป็ด ยิ่งเป็นที่เล่าลือสนุกสนานเพิ่มขึ้น เมื่อคุณสุวรรณ กวีคนสำคัญในราชสำนักนำเรื่องหม่อมทั้งสอง มาแต่งเป็นกลอนเพลงยาว ชื่อ "หม่อมเป็ดสวรรค์" กล่าวถึงพฤติกรรมเป็นทำนองตลกขบขัน จนชาววังสมัยนั้นสามารถจดจำและท่องกลอนเรื่องนี้ได้อย่างขึ้นใจ และยิ่งเป็นที่ฮือฮาแพร่หลายขึ้นอีก เมื่อครูแจ้งวัดระฆัง นักขับเสภามีชื่อนำเรื่องนี้มาขับเป็นเสภา

คุณสุวรรณเขียนเพลงยาวบรรยายฉากนี้ไว้ว่า

ครั้นพระองค์ทรงพลิกพระกายกลับ

หมายว่าพระบรรทมหลับสนิทนิ่ง

ก็สมจิตคิดไว้ใจประวิง

ก็คลานชิงกันขยับดับเทียนชัย

เข้าชุลมุนวุ่นวายอยู่ปลายพระบาท

อุตลุตอุดจาดทำอาจโถง

เอาเพลาะหอมกรอมหุ้มกันคลุมโปง

จึงตรัสเรียกคุณโม่งแต่นั้นมา


โดยปกติแล้วพฤติกรรมเล่นเพื่อนจะกระทำกันอย่างซ่อนเร้นปิดบัง แต่เป็นที่รู้กันทั่วไปว่ามีพฤติกรรมเช่นนี้ในหมู่สาวๆ ชาววัง แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบ ดังปรากฏหลักฐานในพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่โปรดพระราชทานพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ มีข้อความเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า...

"...พ่อขอเสียเป็นอันขาดทีเดียว คิดถึงคำพ่อให้มากนักหนา อย่าเล่นเพื่อนกับใครเลย มีผัวมีเถิด แต่อย่าให้ปอกลอกเอาทรัพย์ของเจ้าไปได้..."

จากพระบรมราโชวาทข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การมีความรักต่อกันของผู้หญิงกับผู้หญิงในสมัยนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและน่ารังเกียจมากกว่าการมีสามีเป็นตัวเป็นตน  แต่นั่นก็เป็นเรื่องราวความรักของสาวเพศเดียวกันในวังที่เกิดขึ้นมาได้ 200 ปีแล้ว ปัจจุบันสังคมเปิดกว้างทางความคิดและเสรีมากขึ้น จึงไม่แปลกที่จะพบเห็นชายรักชาย และหญิงรักหญิงกันอย่างเปิดเผย...mata

เรียบเรียงโดย  พรชัย  สังเวียนวงศ์


ขอบคุณแหล่งข้อมูล
http://www.sapaan.org/article/34.html
บทความจากหนังสือศิลปวัฒนธรรม
http://www.lesla.com/board/gen.php?id=16091&mode_id=4