ผู้เขียน หัวข้อ: เพลง"ลาวดวงเดือน" อนุสรณ์แห่งความรักอมตะระหว่างเจ้าหญิงล้านนากับเจ้าชายสยาม  (อ่าน 6945 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม

เพลงลาวดวงเดือน ทรงพระนิพนธ์โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม พระราชโอรสองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ กับเจ้าจอมมารดามรกฏ ทรงกรมเป็นกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม และเมื่อทรงสำเร็จการศึกษากลับมาจากประเทศอังกฤษ ก็ทรงรับราชการและได้เป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงเกษตราธิการ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ทรงเป็นต้นสกุล"เพ็ญพัฒน์"

เดิมเพลงนี้ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมทรงตั้งชื่อว่า"เพลงลาวดำเนินเกวียน" แต่เนื่องจากเนื้อร้องขึ้นต้นว่า "โอ้ละหนอ..ดวงเดือนเอย" ทำให้ผู้ฟังติดหู จึงเรียก(ผิด)เป็น "ลาวดวงเดือน"

ประวัติของเพลงนี้มีอยู่ว่า เมื่อกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมเสด็จไปนครเชียงใหม่ ก็เกิดชอบพอกับเจ้าหญิงชมชื่น พระธิดาองค์โตของเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยะวงศ์ เจ้านครเชียงใหม่ จากนั้น ก็ทรงโปรดให้ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ เป็นเฒ่าแก่เจรจาสู่ขอ แต่ได้รับการทัดทาน ไม่มีโอกาสที่จะได้สมรสกัน

การผิดหวังจาก"ความรัก" ทำให้พระองค์โศกเศร้ามาก จึงทรงพระนิพนธ์เพลงนี้ขึ้น ว่ากันว่า ยามใดที่พระองค์ทรงระลึกถึงเจ้าหญิงชมชื่น ก็จะทรงดนตรีเพลงลาวดำเนินเกวียน หรือให้มหาดเล็กเล่นให้ฟัง มาตลอดพระชนมชีพ

อาจารย์สันติเทพ ศิลปบรรเลง เรียบเรียงที่มาของเพลง"ลาวดวงเดือน" โดยมีการกล่าวถึง"ตำนานรัก" ที่เป็นที่มาของเพลงนี้ว่าเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2446 ในปีนั้น กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ยังทรงเป็นพระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์ เพิ่งสำเร็จการศึกษากลับมาจากประเทศอังกฤษ จึงทูลขอพระราชทานฯเสด็จไปเที่ยวนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นนครแห่งศูนย์กลางวัฒนธรรมล้านนาในยุคนั้น

เมื่อรับทราบว่าพระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์จะเสด็จไปเที่ยว พระยานริศราชกิจ ข้าหลวงใหญ่ประจำมลฑลพายัพ จึงจัดพิธีต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ โดยเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยะวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ร่วมจัดพิธีรับเสด็จตามประเพณีชาวเหนือ โดยให้ประทับในคุ้มหลวงและเสวยพระกระยาหารแบบขันโตก

งานในวันนั้น มีการแสดงละครและดนตรีในคุ้มนี้ด้วย เพื่อต้อนรับให้สมพระเกียรติ จึงมีเจ้าเมืองเหนือหลายองค์มาร่วมงาน หนึ่งในนั้น คือเจ้าอินทวโรรส แลเเจ้าแม่ทิพยเนตร ที่ได้ชวนเชิญเจ้าพี่เจ้าน้อง และพระญาติวงศ์ มาร่วมรับเสด็จโดยพร้อมเพียงกัน

หนึ่งในพระญาติวงศ์เจ้านายเชียงใหม่ ที่มาร่วมงานเลี้ยง มีเจ้าราชสัมพันธวงศ์และเจ้าหญิงคำย่น เสด็จมาพร้อมธิดาองค์โต คือเจ้าหญิงชมชื่น ที่มีชันษาเพียง 16 มีเรื่องเล่ากันว่า เจ้าหญิงชมชื่นมีผิวพรรณผุดผ่องเป็นนวลใย ใบหน้าอิ่มเอิบเปล่งปลั่งดุจพระจันทร์วันเพ็ญ มีเลือดฝาดขึ้นบนใบหน้า จนแก้มเป็นสีชมพู เพราะผิวขาวประดุจงาช้างอยู่แล้ว และเป็นกุลสตรีที่เรียบร้อยอ่อนหวานน่ารัก เจรจาด้วยกระแสเสียงไพเราะ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เจ้าชายหนุ่มวัย 21 ชันษา จะตกหลุมรักเจ้าหญิงวัย 16

จากนั้นเจ้าชายแห่งสยาม มีโอกาสพบเจ้าหญิงล้านนาบ่อยขึ้น จนสนิทสนมกัน พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์ ทรงพอพระทัยเจ้าหญิงจนถอนพระองค์ไม่ขึ้น จึงจึงโปรดให้ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ เป็นเฒ่าแก่เจรจาสู่ขอเจ้าหญิงชมชื่นมาให้เป็นหม่อมของพระองค์

แต่เรื่องนี้ถูกทัดทานจากเจ้าราชสัมพันธวงศ์ โดยทูลว่า ต้องให้เจ้าหญิงชมชื่นอายุครบ 18 ชันษาก่อน มิเช่นนั้น เจ้าหญิงก็จะมีฐานะเป็นภรรยาน้อยหรือนางบำเรอเท่านั้น นอกจากนั้น ตามธรรมเนียมประเพณีของราชสกุลนั้น ระบุว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใดจะอภิเษกสมรส จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์เสียก่อน เพื่อรับเป็นสะใภ้หลวงก่อนให้ยศและตำแหน่งตามฐานะ

เหตุผลของเจ้าสัมพันธวงศ์ ทำให้พระองค์ชายทรงได้รับความผิดหวังครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต และเมื่อเรื่องนี้ทราบถึงในวังที่พระนคร พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิด รวมทั้งเจ้านายชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ ต่างทัดทานเรื่องนี้ทุกคน ความรักของเจ้าชายหนุ่มแห่งสยามกับเจ้าหญิงล้านนา จึงปิดฉากแบบง่ายดาย

ความปิดหวังครั้งนี้ พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์ ทรงระบายความรักความอาลัยเป็นพระนิพนธ์บทร้อง"ลาวดวงเดือน" มีการค้นคว้าพบว่า เนื้อร้องเดิมของแท้มีอยู่ว่า

โอ้ละหนอ ดวงเดือนเอย
ข้อยพี่มาเว้า รักเจ้าสาวคำดวง
โอ้ดึกแล้วหนอ ข้อยขอลาล่วง
โอ๊ะพี่เป็นห่วง รักเจ้าดวงเดือนเอย

ขอลาแล้ว เจ้าแก้วโกสุม
ข้อยนี้รักเจ้าหนอ ขวัญตาเรียม
จะหาไหนมาเทียม เจ้าดวงเดือนเอย
หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้
หอมกลิ่นคล้าย คล้ายเจ้าสูเรียมเอย
หอมกลิ่นกรุ่นครัน หอมนั้นยังบ่เลย
เนื้อหอมทรามเชย เราละเหนอ
โอ้ละหนอ นวลตาเอย
ข้อยนี้รัก แสนรักดังดวงใจ
โอ้เป็นกรรม ต้องจำจากไป
โอ๊ะพี่อาลัย เจ้าดวงเดือนเอย
เห็นเดือนแรม เริศร้างเวหา
ข้อยเบิ่งดูฟ้า(ละหนอ) เห็นมืดมน
พี่จะทนทุกข์ทน เจ้าดวงเดือนเอย
เสียงไก่ขันขาน มันหวานเจื้อยแจ้ว
ช่างหวานสุดแล้ว หวานแจ้วเจื้อยเอย
ถึงจะหวานเสนาะ หวานเพราะกระไรเลย
บ่เหมือนทรามเชย เราจะเหนอ

พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์ ทรงมีอารมณ์อ่อนไหวละเอียดอ่อน ประกอบกับพระวรกายไม่ค่อยมบูรณ์แข็งแรงเท่าไรนัก ดังนั้น เมื่อผิดหวังจากความรักและทรงหมกมุ่นกับหน้าที่การงานอย่างหนักเพื่อให้ลืมความหลังอันแสนเศร้าของพระองค์ที่ฝังใจอยู่ตลอดเวลา ทำให้พระองค์มีพระชนมชีพสั้นมาก พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์ สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2453 ด้วยพระชันษา 28 ปีเท่านั้น

ส่วนเจ้าหญิงชมชื่น ต่อมาเข้าพิธีสมรสกับเจ้าน้อยสิงห์คำหรือเมืองคำ ณ ลำพูน บุตรเจ้าบุรีรัตน์พรหมเทศ มีทายาท คือ เจ้าวุฒิ ณ ลำพูน ซึ่งต่อมาได้สมรสกับเจ้าหญิงฟองแก้ว ณ เชียงใหม่ (ทายาทเจ้ามหาวงศ์ ณ เชียงใหม่ เศรษฐีบ้านสันทราย)

ไม่มีบันทึกหรือหลักฐาน ว่าพระองค์ทรงนิพนธ์เพลงไหนอีกหรือไม่ แต่"ลาวดวงเดือน" ก็เป็นเพลงที่พระองค์ทรงประพันธ์ด้วยชีวิต จิตใจ วิญญาณ โดยทรงนำ"ความรัก-ความหลัง"ของพระองค์ทั้งหมดมาไว้ในเพลงนี้ "ลาวดวงเดือน" จึงเป็นเพลงอนุสรณ์แห่งความรักอมตะระหว่าง พระองค์เจ้าชายเพ็ญกับเจ้าหญิงชมชื่นผู้เลอโฉม รักที่อมตะนี้ ทำให้เพลงนี้ก็เป็นเพลงอมตะของไทยอีกเพลง

ขอบคุณบทความจาก ลูกเสือหมายเลข9 oknation.net