ผู้เขียน หัวข้อ: 10 สิ่งที่ไม่เคยมีใครบอกเรา เมื่อจบการศึกษา  (อ่าน 3483 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
          จบการศึกษาเป็นเสมือนก้าวแรกของการเดินออกไปสู่โลกกว้าง ที่เหล่าเด็กจบใหม่จะต้องพบเจอกับสิ่งต่าง ๆ มากมายในชีวิต พวกเราต่างมุ่งมั่นที่จะไขว่คว้าชีวิตที่ดี มีการงานที่ มั่นคง ด้วยความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมในศักยภาพของตัวเองว่าจะต้องผ่านพ้นทุกอย่างไปด้วยดี และก้าวขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในชีวิต แต่ถึงอย่างนั้น แค่เพียงประสบการณ์ 4 ปีของเรา อาจจะยังไม่เพียงพอสำหรับการเผชิญหน้าต่อโลกของความเป็นจริงที่เราจะต้องพบเจอหลังจากนี้

1. โลกแห่งความเป็นจริง ไม่ได้เหมือนกับสิ่งเราคาดไว้

          ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่เราศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย เราถูกปลูกฝังให้เห็นภาพของโลกที่แสนสดใส มองว่าทุกสิ่งล้วนเป็นเรื่องง่าย เพราะว่าเราคือบัณฑิตผู้มีศักยภาพของสังคม แต่แท้ที่จริงแล้ว ภาพที่สวยหรูนั้นก็ไม่ต่างจากคำโกหก เพราะโลกไม่ได้ง่ายขนาดนั้น การใช้ชีวิตคือการดิ้นรนและฟันฝ่า พวกเราที่เป็นบัณฑิตใหม่ล้วนแต่ด้อยประสบการณ์ และขาดการเตรียมพร้อม ดังนั้นเพื่อการก้าวออกไปเผชิญต่อโลกได้อย่างมั่นคง การเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อสิ่งต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

2. ปริญญานั้นไม่ได้มีความหมายอะไรเลย

          จากสถิติล่าสุดของสำนักข่าวเอพีระบุว่า อัตราการว่างงานในหมู่ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่สูงถึง 53% นั่นหมายความว่า มีบัณฑิตจบใหม่เกินกว่าครึ่งที่ยังเตะฝุ่น ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการแข่งขันที่สูงมากในตลาดแรงงาน ผสมกับความต้องการแรงงานในตลาดที่น้อยลงหลังจากหลายอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย

          นอกจากนี้ ผลการเรียนของเหล่าบัณฑิตก็มักมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.00 ซึ่งนั่นทำให้เราแทบจะไม่มีความแตกต่างไปจากบัณฑิตคนอื่น ๆ เลย ดังนั้นการได้รับงานนักศึกษาจบใหม่อาจจะไม่ง่ายอย่างที่หลายคนคิด และปริญญาก็อาจจะไม่ได้ช่วยให้ได้งานเสมอไป

3. เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ทำให้เราหางานได้ยากขึ้น

          เทคโนโลยีเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญเบื้องหลังชีวิตที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ ดังเช่นการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ หรือกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะทำให้เราเกิดความสะดวกสบายในชีวิต มันก็เป็นสิ่งที่เข้ามาลดบทบาทความสำคัญ และลดความจำเป็นในการจ้างงานมนุษย์เช่นกัน

          อย่างไรก็ตามยังนับเป็นเรื่องดีที่อุตสาหกรรมหลายประเภทยังคงต้องการแรงงานมนุษย์ เข้าไปควบคุมการทำงาน และดำเนินงานในสิ่งที่ผู้ใช้บริการทำผ่านระบบออนไลน์ของบริษัทอยู่

4. ใช่ว่าทุกสิ่งจะเหมาะสมสำหรับเราเสมอไป

          ในโลกของการทำงาน บางครั้งเราอาจจะพบกับอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ นั่นก็คือการไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ หรือต้องพบกับช่วงเวลาที่ยากลำบากเมื่อไม่ได้รับในสิ่งที่คาดหวังไว้ จนทำให้เราอยู่ในสภาวะที่เศร้าซึม พร้อมกับเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในใจ นั่นเพราะที่ผ่านมา เราถูกปลูกฝังให้มีความคาดหวังถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เราพอใจ แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นอาจจะไม่มีอยู่บนโลกของความเป็นจริงก็ตาม

5. คนรักที่คบกันสมัยมหาวิทยาลัยมักจะกลายเป็นความทรงจำสีจาง ๆ

          อีกสิ่งหนึ่งที่คู่รักในรั้วมหาวิทยาลัยไม่เคยตระหนักและไม่คาดว่าจะเกิด ขึ้นก็คือ ความสัมพันธ์ของพวกเขามักจะจบลงเมื่อบัณฑิตทั้ง 2 ก้าวออกมาอยู่ในโลกของความเป็นจริง เพราะสิ่งต่าง ๆ และความกดดันที่เข้ามาในชีวิตจะทำให้พวกเขาเกิดความซับซ้อนในตัวเอง จนเติบโตขึ้นและเรียนรู้ถึงการจัดลำดับความสำคัญของงาน หรือสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกในการใช้ชีวิตเสียใหม่ ซึ่งจะทำให้พวกเขาต่างก้าวเดินไปตามเส้นทางของตัวเอง จนเป็นจุดสิ้นสุดของความสัมพันธ์นั้นในที่สุด

6. การเกิดความคิดว่า ชีวิตตอนเรียนมหาวิทยาลัยคือช่วงชีวิตที่ดีที่สุด

          หากเรากำลังคิดว่าช่วงเวลา 4 ปีในมหาวิทยาลัยเป็นช่วงชีวิตที่ดีที่สุดของเราแล้วล่ะก็ คิดผิดแล้วล่ะ เพราะไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะบอกได้ว่าทำไมช่วงเวลาเหล่านั้นจะต้องเป็นเวลาในชีวิตที่ดีที่สุด ขณะที่โลกภายนอกยังมีกิจกรรมต่าง ๆ รออยู่อีกมากมาย มหาวิทยาลัยเป็นเพียงบันไดให้เราก้าวไปสู่ชีวิตที่ดีที่สุดของเราเท่านั้น แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเกิดความคิดแบบนี้ขึ้นมาแล้วล่ะก็ นั่นก็คงเป็นสัญญาณว่าชีวิตของเรากำลังอยู่ในช่วงขาลง ทำให้เราเกิดความโหยหาช่วงเวลานั้นมากเหลือเกินเท่านั้นเอง

7. นักเรียนที่สอบได้เกรด C เป็นผู้ขับเคลื่อนโลก

          เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับนักศึกษาทั้งหลายที่จะพยายามเรียนรู้ และมุ่งมั่นทำข้อสอบเพื่อคว้าเกรด A มาครอง ในขณะที่ใครอีกหลายคนที่ทำข้อสอบได้เพียงเกรด C กลับใช้ช่วงเวลาในการเรียนรู้นั้น เพื่อหาทางก่อตั้งกิจการของตัวเอง ซึ่งจริง ๆ แล้ว สัญชาตญาณในการเป็นเจ้าของธุรกิจนี้ต่างหากที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่เราได้ มากกว่าความรู้ที่มีอยู่เพียงในตำรา ซึ่งไม่สามารถนำมาเป็นคู่มือในการใช้ชีวิตได้ จนบางครั้งอาจเป็นเรื่องตลกเมื่อมหาวิทยาลัยได้กลายมาเป็นสถานที่ ซึ่งนักเรียนที่สอบได้เกรด A สอนนักเรียนที่สอบได้เกรด B ว่าจะทำงานให้นักเรียนที่สอบได้เกรด C ได้อย่างไรบ้าง

8. ผูกมิตรสร้างสัมพันธ์

          อาจารย์บางคนอาจจะเคยแนะนำแล้วว่าเครือข่ายของเราเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าเราไม่ได้รอบรู้ในทุก ๆ สิ่งบนโลก แต่เพื่อน ๆ และคนรู้จักของเราอาจจะมีความรู้ในสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเลือกคบหากลุ่มคนที่หลากหลาย จากกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และจับตาดูว่าพวกเขามีการทำงานร่วมกันอย่างไรบ้าง เราควรจะคบหาทั้งเพื่อนที่เป็นเด็กเรียนและเด็กกิจกรรม เพราะใครจะรู้ว่าสักวันเราอาจจะต้องโทรศัพท์ไปขอความช่วยเหลือจากคนรู้จักของเราก็ได้

9. ทุกการกระทำจะส่งผลตามมาเสมอ

          ในมหาวิทยาลัยเราสามารถทำในสิ่งที่เราชอบโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมา แต่ในโลกของความเป็นจริงนั้นเราต้องตระหนักอยู่เสมอว่าทุกการกระทำและทุกการ ตัดสินใจของเราจะส่งผลคืนสนองกลับมาเสมอ

10. การทำงานหนักและทุ่มเท

          เราจะสามารถประสบความสำเร็จได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการทำงานหนักและการทุ่มเทของเราเอง พรสวรรค์อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นใด ๆ และในมหาวิทยาลัยก็ไม่มีหลักสูตรที่จะสอนว่าเราจะก้าวผ่านความล้มเหลวของเรา ไปได้อย่างไรด้วย เพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะช่วยเราให้ปีนขึ้นจากหลุมแห่งความล้มเหลวได้ ก็คือประสบการณ์ของเราเอง

          สุดท้ายนี้ อยากฝากถึงบัณฑิตทุก ๆ คนนะคะว่า อย่าได้กลัวที่จะล้มเหลว อย่าได้เกรงกับอุปสรรคที่กีดกันเราได้ อย่าได้เป็นเพียงบัณฑิตมหาวิทยาลัยที่ใช้ชีวิตไปวัน ๆ  แต่ให้เรากลายเป็นบัณฑิตนักแก้ปัญหาและทำงานได้ทุกสถานการณ์

ที่มา : http://education.kapook.com/view62298.html