ผู้เขียน หัวข้อ: จิตวิทยาการเรียนรู้วัยผู้ใหญ่  (อ่าน 7488 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
เมื่อ: สิงหาคม 12, 2015, 04:47:00 PM
?การศึกษาคือกระบวนการที่ทำให้คนและสังคมเจริญงอกงาม ยิ่งเรียนยิ่งขยัน ยิ่งเรียนยิ่งอดทน ยิ่งเรียนยิ่งซื่อสัตย์ ยิ่งเรียนยิ่งมีความกตัญญู ยิ่งเรียนยิ่งรักปู่ย่าตายาย ดูแลปู่ย่าตายาย ไปไหนก็ดูแลซึ่งกันและกัน บ้านเมืองก็จะมีแต่ความสุข?

เนื้อหาในส่วนนี้ได้รวบรวมสาระ แนวคิด บทความของท่าน ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ที่เป็นผู้ให้นิยาม คำว่า คิดเป็น"กระบวนการคิดเพื่อตัดสินใจ" โดยใช้ข้อมูล 3 ด้าน คือ ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทาง สังคมหรือสิ่งแวดล้อม และข้อมูลทางวิชาการ ปรัชญา "คิดเป็น" มีรายละเอียดและสาระที่น่าศึกษา

จิตวิทยาการเรียนรู้วัยผู้ใหญ่

กลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับการบริการและผู้เข้าร่วมกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียนส่วนใหญ่ เป็นผู้ใหญ่ ตลอดจนกระทั่งผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่ ก็มีอยู่เป็นจำนวนมากด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับ'koการศึกษานอกโรงเรียน จะต้องมีความรู้และความ เข้าใจในพัฒนาการและการเรียนรู้ของผู้ใหญ่

วัยผู้ใหญ่นั้นเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุดสำหรับมนุษย์เราทุกคน ตลอดจนเป็นช่วงเวลาที่สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้มากที่สุด และเป็นเวลาที่เราจะต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันตลอดไปด้วย โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ทั้งด้านที่เกี่ยวกับพัฒนาการ สมมุติฐานที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ การเปลี่ยนแปลงในวัยผู้ใหญ่ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ ทฤษฎีการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ และเทคนิคในการสอนผู้ใหญ่

พัฒนาการและภารกิจในวัยผู้ใหญ่

เฮฟวิกเฮิร์ท (อ้างใน สุวัฒน์ วัฒนวงศ์,2528 : 201) เป็นนักจิตวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของมนุษย์ในแง่ของสังคมวิทยา ที่เกี่ยวข้องกับบทบาทภาระหน้าที่ของคนในวัยผู้ใหญ่ ได้แบ่งพัฒนาการของบุคคลออกเป็น 6 ระยะด้วยกัน โดย 3 ระยะแรกเกี่ยวกับวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น สำหรับ 3 ระยะหลังนั้นเกี่ยวข้องกับพัฒนาการในวัยผู้ใหญ่โดยเฉพาะ ซึ่งแยกระยะเวลาของแต่ละช่วงได้ดังนี้
          1.วัยผู้ใหญ่ตอนต้น (Early Adulthood) อายุ 18 ถึง 35 ปี
          2.วัยผู้ใหญ่ตอนกลาง (Middle Adulthood) อายุ 35 ถึง 60 ปี
          3.วัยชราหรือวัยผู้สูงอายุ (Later Maturity) อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

ภารกิจเชิงพัฒนาการของผู้ใหญ่

สิ่งที่จะช่วยบ่งชี้ถึงพัฒนาการมนุษย์ในวัยต่างๆ ได้อย่างดียิ่งคือ "ภารกิจเชิงพัฒนาการ" ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับภารกิจที่บุคคลทั่วๆ ไปควรจะปฏิบัติ หรือควรจะกระทำในแต่ละช่วงของระยะเวลาพัฒนาการ และถ้าหากบุคคลประสบความล้มเหลวหรือไม่สามารถประกอบภารกิจนั้นๆ ได้ อาจจะก่อให้เกิดปัญหาด้านพัฒนาการในแต่ละขั้นตอน

การพิจารณาพัฒนาการในวัยผู้ใหญ่ทั้ง 3 ระยะตามที่ Havighurst ได้แยกไว้ โดยใช้เกณฑ์เกี่ยวกับภารกิจเชิงพัฒนาการเป็นแนวทางในการศึกษาถึงภาระหน้าที่ต่างๆ ของผู้ใหญ่แต่ละวัย

1.ภารกิจเชิงพัฒนาการในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น
ผู้ใหญ่ในวัยอายุประมาณ 18 - 35 ปี มีภาระหน้าที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้
- การเลือกหาคู่ครอง หรือเพื่อนสนิท
- การเรียนรู้ที่จะอยู่อาศัยกับคู่ครอง สามี - ภรรยาได้ตลอดไป
- เริ่มต้นการมีชีวิตครอบครัว
- มีภาระหน้าที่ในการอบรมเลี้ยงดูเด็กๆ และลูกๆ
- การแสวงหาที่พัก รวมทั้งการมีบ้านเป็นของคนเอง
- การเริ่มต้นที่จะมีอาชีพเป็นที่แน่นอนและมั่นคง
- มีความรับผิดชอบในฐานะการเป็นพลเมืองดี
- การเสาะแสวงหากลุ่มทางสังคม ที่เหมาะสมกับอุปนิสัยของตนเอง เช่น การเป็นสมาชิกสมาคมหรือสโมสรต่างๆ
2.ภารกิจเชิงพัฒนาการในวัยผู้ใหญ่ตอนกลาง
ช่วงอายุระหว่าง 35 - 60 ปี มีภาระหน้าที่สำคัญๆ ดังนี้คือ
- การได้รับความสำเร็จในฐานะการเป็นพลเมืองดี หรือการมีความรับผิดชอบด้านสังคม การได้รับชื่อเสียง
- เริ่มมีหลักฐานที่มั่นคง และพยายามรักษาสถานภาพด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีและเหมาะสมกับฐานะ
- ให้ความช่วยเหลือแก่ลูก
- หลาน ที่มักจะอยู่ในระยะวัยรุ่น และพยายามทำตัวเองให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข
- มีการใช้เวลาว่างและมีกิจกรรมสันทนาการที่เหมาะสมกับวัย และความสนใจ
- มีการยอมรับและการปรับตัวเอง ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายของ ผู้ใหญ่ในวัยนี้
- มีการปรับตัวให้เหมาะสมกับการเป็นผู้ใหญ่ที่มีบทบาทเป็นพ่อ - แม่ คือยอมรับสภาพความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ภายในครอบครัว
3.ภารกิจเชิงพัฒนาการในวัยชรา
คือผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป ควรจะมีบทบาทและภาระหน้าที่ดังต่อไปนี้
- เรียนรู้ และปรับตัวเกี่ยวกับความเสื่อมโทรมทางด้านร่างกาย ความเข้มแข็งและสุขภาพร่างกายทั่วๆ ไป
- มีการปรับตัวเองเกี่ยวกับการเกษียณอายุจากการทำงาน และเงินรายได้ที่ลดน้อยลงไปด้วย
- มีการปรับตัวในด้านการเสียชีวิตคู่ครองที่อาจจะต้องเกิดขึ้น และตัวเองต้องเป็นหม้าย
- มีบทบาท และมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งมีความสนใจใกล้เคียงกัน
- มีการพบปะ เพื่อการปรึกษาหารือกับคนในวัยเดียวกัน หรือทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกันบ้างเป็นครั้งคราว
- มีการกำหนดสถานที่อยู่อาศัย ในภาพที่ตนเองพอใจ โดยอาจจะอยู่อาศัยรวมกันลูกๆ หลานๆ เพื่อนฝูง หรือในหมู่บ้านคนชรา เป็นต้น

สมมุติฐานที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของผู้ใหญ่

ศาสตราจารย์ เดย์ (H.I Day, 1971) นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต แคนาดา ได้ทำการศึกษาค้นคว้าและได้นำเสนอแนวคิด ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์ในการตรวจสอบเกี่ยวกับการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ช่วยให้นักการศึกษาผู้ใหญ่มีความเข้าใจในเรื่องการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ดีขึ้น สมมุติฐานที่มีคุณค่าทั้ง 5 ประการนั้น ได้แก่

1. ช่วงชีวิตของผู้ใหญ่

จากการศึกษาถึงปัญหาต่างๆ ในช่วงชีวิตของคน ทำให้ทราบถึงสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและมีอิทธิพลต่อสติปัญญาของผู้ใหญ่ อันมีผลทำให้การเรียนรู้ของผู้ใหญ่ด้อยกว่าคนหนุ่มสาว ปัญหาอันสำคัญก็คือการเสื่อมถอย ซึ่งเป็นลักษณะธรรมชาติของชีวิตนั่นเอง และการเสื่อมถอยนั้นพบว่ามีองค์ประกอบที่สำคัญๆ 3 ประการ สำหรับผู้ใหญ่ ได้แก่

1.การไม่ได้ใช้ ความล้มเหลวเกี่ยวกับความสามารถต่างๆ นั้นมีสาเหตุสำคัญมากจากการไม่ใช่สิ่งนั้นเป็นเวลานาน
2.โรคภัยไข้เจ็บ ความเจ็บป่วยนับว่าเป็นอุปสรรคที่ทำให้มีการเสื่อมถอยได้มากยิ่งขึ้น ในวัยผู้ใหญ่
3.การขาดความสนใจ เนื่องจากไม่มีแรงจูงใจที่สูงมากพอจึงมักจะทำให้ไม่ค่อยเกิดความสนใจในกิจกรรมต่างๆ

2. การเปลี่ยนแปลงบทบาท

การเปลี่ยนแปลงบทบาทที่สำคัญๆ ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่ผู้ใหญ่ มักจะได้แก่การบรรลุถึงจุดสุดยอดในอาชีพการงาน ช่วยให้บุตรได้รับอิสรภาพและเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบต่อไป การยอมรับสภาพชีวิตครอบครัวที่ลูกๆ แยกตัวออกไปในบางครั้งผู้ใหญ่ก็เกิดความสับสนในบทบาทฐานะทางสังคม หรือระดับฐานะทางเศรษฐกิจและระดับขั้นทางสังคมได้เสมอๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ โนลส์ (Malclom S. Knowles) ได้แยกประเภทของบทบาทต่างๆ ควบคู่กับสมรรถภาพของบทบาท มีสาระสำคัญของข้อเสนอแนะมีดังต่อไปนี้

บทบาท สมรรถภาพ

1.ผู้เรียน การอ่าน การเขียน การคิด - คำนวณ การรับรู้ การมีความคิดรวบยอด การประเมินผล จินตนาการ
2.การรู้จักตนเอง การวิเคราะห์ตนเอง การมีความรู้สึก การสร้างเป้าหมายในชีวิต การทำให้คุณค่าของชีวิต เด่นชัด การแสดงออก
3.ความเป็นเพื่อน ความรัก ความเห็นอกเห็นใจ การรับฟัง การให้ความร่วมมือ การแบ่งปัน การให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน
4.การเป็นพลเมืองดี การมีส่วนร่วมคือ การเป็นผู้นำ การตัดสินใจการอภิปรายแสดงความคิดเห็น การมองเห็นคุณค่าอื่นๆ
5.สมาชิกครอบครัว การบำรุงรักษาสุขภาพ การวางแผนการจัดการ การให้ความช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัว การใช้จ่าย การประหยัด ความรักที่มีต่อบุคคลอื่นๆ การมีความรับผิดชอบ
6.ผู้ทำงาน การวางแผนด้านอาชีพ มีทักษะในการทำงาน การให้คำแนะนำ การทำงานร่วมกับผู้อื่น การเป็นตัวแทน ความสามารถในการดำเนินกิจการ
7.การเป็นผู้ใช้เวลาว่าง รู้จักหาแหล่งวิทยาการต่างๆ ความซาบซึ้ง การรู้จักเล่นและออกกำลังกาย การพักผ่อนหย่อนใจ การเสี่ยงโชค

การเปลี่ยนแปลงบทบาทเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับบุคลิกภาพ และการพัฒนาตนเอง แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงบทบาทต่างๆ อาจทำให้เกิดความตึงเครียดทางอารมณ์ได้ ผู้ใหญ่จึงควรจะได้เรียนรู้วิธีการพักผ่อนหย่อนใจเสียบ้าง ในการเปลี่ยนแปลงบทบาทของบุคคลเช่นที่กล่าวมานี้ ทำให้บุคคลต้องประสบกับความเคร่งเครียดอันเป็นผลของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ นักจิตวิทยา และจิตแพทย์ มีความเห็นว่ามีสิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่สามารถเรียนรู้ได้ คือ ต้องรู้จักวิธีการผ่อนคลายความตึงเครียดของอารมณ์เหล่านี้ให้ได้

3. วุฒิภาวะ

คำว่า "วุฒิภาวะ" หมายความว่ามนุษย์สามารถมีพัฒนาการไปในทิศทางที่อาจคาดการณ์ได้แน่นอน โดยเฉพาะก็คือจะมีความเป็นอิสระมากยิ่งขึ้น เป็นบุคคลที่มีความรับผิดชอบตนเองได้ มีระเบียบกฎเกณฑ์ของตัวเอง มีความสามารถในการควบคุมตนเองได้ โดยสรุปก็คือบุคคลไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับการควบคุมจากสิ่งภายนอก ในการที่จะมาบีบบังคับให้กระทำพฤติกรรมต่างๆ นอกจากนั้นแล้วพัฒนาการของมนุษย์ในส่วนที่เกี่ยวกับวุฒิภาวะ ยังได้รับอิทธิพลมาจากการชี้แนวทางในการอบรมเลี้ยงดูเด็กด้วย

4. ประสบการณ์ของผู้ใหญ่

องค์ประกอบที่สำคัญมากในด้านการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ก็คือ การมีประสบการณ์ที่มี คุณค่าอย่างยิ่งของผู้ใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใหญ่นำเอาคุณค่าเหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ ประสบการณ์ของผู้ใหญ่อาจจำแนกออกได้เป็น 3 ด้าน ก็คือ
1.ผู้ใหญ่ทั้งหลายจะมีประสบการณ์อยู่อย่างมากมาย
2.ผู้ใหญ่จะมีประสบการณ์ที่แยกออกเป็นประเภทๆ ได้แตกต่างกันไป
3.ประสบการณ์ของผู้ใหญ่มีการจัดเรียงลำดับ แตกต่างกัน

5. การเป็นผู้เรียนรู้ด้วยตนเอง

จุดมุ่งหมายสำคัญของการศึกษาผู้ใหญ่ หรือการศึกษาประเภทใดๆ ก็ตาม มีความมุ่งหมายที่จะทำให้ผู้เรียน ดำเนินการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยเกิดการเรียนรู้จากภายในตัวผู้เรียนเอง ซึ่งการที่ผู้เรียนจะมีลักษณะเช่นนี้ได้ เขาควรจะเป็นนักคิด เป็นนักสร้างสรรค์และขยายสมรรถภาพการเรียนรู้ไปตลอดชีวิตด้ว

สิ่งที่มีความสัมพันธ์กับการเป็นผู้เรียนรู้ด้วยตนเองอย่างมาก คือ "บทบาททางสังคม" จากการศึกษาค้นคว้าส่วนมากได้ชี้ให้เห็นว่าบทบาททางสังคมบางอย่าง เช่น การเป็นพ่อ - แม่ การเป็นคู่ครอง (สามี - ภรรยา) ช่วยทำให้บุคคลซึ่งต้องแสดงบทบาทนั้นสามารถเรียนรู้และวางตัวได้ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งบุคคลส่วนมากก็ตระเตรียมตัวเองในการเรียนรู้ บทบาทเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถแสดงบทบาททางสังคมเหล่านี้ได้อย่างดีด้วย

ที่มา : http://northnfe.blogspot.com/2012/07/blog-post_6.html
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 26, 2016, 08:42:56 AM โดย เลิศชาย ปานมุข »