ผู้เขียน หัวข้อ: พระร่วงในตำนานและปรัมปราคติ  (อ่าน 9630 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
เมื่อ: ตุลาคม 15, 2015, 12:46:04 AM

เรื่องของพระร่วง เป็นที่รู้จักกล่าวขานอยู่ในเรื่องที่เป็นตำนานและปรัมปราคติ ทั้งที่ได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และเล่าต่อหากต่อคำกันมา โดยคนไทยในภาคเหนือตั้งแต่เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และคนไทยในภาคกลาง ไปจนถึงนครศรีธรรมราช

พระร่วง

พระร่วงเป็นเรื่องราวของคนไทย ซึ่งได้สะท้อนภาพคุณลักษณะการเป็นวีรบุรุษ ซึ่งเล่นลือแพร่กระจายจนเป็นที่รับรู้ของคนไทย อย่างกว้างขวางที่สุดมากกว่าเรื่องวีรบุรุษใดในปรัมปราคติของไทยสมัยโบราณ เชื่อกันว่า พระร่วงนั้นมีวาจาสิทธิ์ รอบรู้ศิลปวิทยา สามารถคิดวิธีขนถ่ายน้ำไปยังที่ไกลๆ ได้สะดวก เป็นผู้มีบุญญาธิการ รูปงาม กล้าหาญ สามารถนำเรือสำเภาไปค้าขายถึงเมืองจีนได้ธิดา พระเจ้ากรุงจีนเป็นมเหสี และนำช่างจีนมาทำเครื่องปั้นดินเผาเคลือบที่สุโขทัย

ตามตำนานเล่าว่า พระร่วง เป็นพี่ พระลือเป็นน้อง พระร่วงนั้นได้ครองเมืองศรีสัชนาลัย มีช้างเผือกงาดำกับเขี้ยวงูเป็นของคู่บารมี ถึงคราวสิ้นบุญก่อนจะเสด็จลงอาบน้ำในแก่งหลวงแล้วหายไป ได้ตรัสสั่งให้น้องครองราชสมบัติแทน ส่วนอีกเรื่องหนึ่งเล่าว่าพระร่วง เมืองสุโขทัย เมื่อปราบขอมดำดินที่สุโขทัยสำเร็จแล้วได้ครองกรุงสุโขทัยและเดินทางไปเมืองเชลียง เอาช้างเผือกงาดำมาแกะเป็นรูปพระร่วง

สำหรับพระพุทธรูปที่เรียกว่า พระร่วง พระลือ นั้นเดิมประดิษฐานอยู่ที่กุฏิพระร่วง พระลือ สร้างอยู่ตรงหน้าอุโบสถวัด พระศรีรัตนมหาธาตุ แกะสลักด้วยงาช้าง ฉลองพระองค์พ่อขุนรามคำแห่งมหาราช และพระมหาธรรมราชาลิไท ต่อมา พ.ศ. 2127 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงนำไปไว้ ณ กรุงศรีอยุธยาและสูญหาย ต่อมาชาวบ้านได้หล่อจำลอง ไว้ด้วยทองสัมฤทธิ์ยืนตรงยกพระหัตถ์เสมอพระอุระทั้งสองข้าง เหมือนกันทั้งสององค์ ทรงพระมาลาแบบที่เรียกกันว่า หมวกขีโบ และต่อมาจังหวัดสุโขทัยได้นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ภูมิภาคที่ 3 สุโขทัย จนถึงปัจจุบัน

พระร่วง เป็นชื่อบุคคลผู้เป็นวีรบุรุษ เป็นผู้นำของสังคม สังคมไทยโบราณนิยมสืบต่อเรื่องราวเก่าทำนองตำนาน นิทานปรัมปรา นิทานพื้นบ้าน เป็นแบบมุขปาฐะ เล่ากันปากต่อปาก (oral history) ต่อมาจึงมีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ในบรรดาเรื่องราวเกี่ยวกับผู้นำทางวัฒนธรรม เรื่อง "พระร่วง" เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาเล่าขานทั้งในฐานะผู้นำทางวัฒนธรรมตามตำนาน ฐานะวีรบุรุษผู้มีตัวตนจริงของประวัติศาสตร์ และในฐานะสัญลักษณ์ของผู้รู้ และความเป็นปราชญ์

เรื่องของพระร่วงมีตำนานเล่ากันมาหลายเรื่อง ซึ่งมิได้ระบุว่าเป็นกษัตริย์สมัยสุโขทัยพระองค์ใด พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในกรุงสุโขทัยก็เรียกว่า "ราชวงศ์พระร่วง" ทำให้คนทั้งหลายเข้าใจว่า พระร่วงคงจะเริ่มตั้งแต่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นต้นมา พ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่เรียกนามในภาษาบาลีว่า "โรจนราช" กล่าวกันว่าเป็นพระสหายกับพระเจ้าเม็งรายมหาราชที่นครเชียงใหม่ และพ่อขุนงำเมืองแห่งนครพะเยา พระนามของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนี้ในหนังสือเก่าเรียกตามภาษามคธว่า "รามราช" แต่ยังมีคำที่คนทั้งหลายเรียกพระนามกษัตริย์สุโขทัยอีกคำหนึ่งว่า พระร่วง ในพงศาวดารบางฉบับกล่าวว่า พระร่วงนี้มีบุญญาภินิหาร และฤทธิเดชเลิศล้ำ แม้ในพงศาวดารของประเทศใกล้เคียง เช่น ในพงศาวดารมอญ พงศาวดารลานนาไทย ก็ยังได้กล่าวถึงพระร่วงเมืองสุโขทัย ทุกวันนี้ยังมีสิ่งที่ออกพระนามพระร่วงด้วยหลายสิ่ง เช่น ข้าวตอกพระร่วง ปลาพระร่วง ทำนบพระร่วง หนังสือไตรภูมิพระร่วง สุภาษิตพระร่วง ปากพระร่วง (ผู้มีวาจาสิทธิ์ว่าอะไรเป็นอย่างนั้น) และที่สุดเรือรบของไทยลำหนึ่งก็ชื่อ เรือพระร่วง ล้วนเป็นคำที่ประกอบกับคำที่เล่าเรื่องพระร่วงสืบกันมา

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอุตสาหะสอบสวนค้นคว้าทางโบราณคดีและรวบรวมเรื่องราวเป็นข้อวินิจฉัย ให้ชื่อว่า นิทานโบราณคดีเรื่องพระร่วง จึงขอนำมาสรุปดังนี้

ในหนังสือพงศาวดารเหนือ กล่าวถึงชาติวงศ์ของพระร่วง ในเรื่องอรุณกุมาร (อรุณ คือ ศัพท์ภาษามคธแปลว่า ร่วง) ว่า พระยาอภัยคามะนีเจ้าเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) ไปจำศีลบนภูเขาแห่งหนึ่ง ไปพบนางนาคซึ่งจำแลงเป็นมนุษย์มาเที่ยวเล่น เกิดสมัครรักใคร่ได้อภิรมย์สมรสอยู่ด้วยกัน 7 วัน นางมีครรภ์กลับไปเมืองนาค เมื่อจะคลอดลูกก็ขึ้นมาคลอดที่ภูเขาเพราะเกรงว่าถ้าคลอดในเมืองนาคอาจไม่มีชีวิตรอดเพราะมีเชื้อมนุษย์ เมื่อคลอดทารกชายแล้วก็ทิ้งไว้ในป่าพร้อมกับแหวน ผ้าห่ม และของที่พระยาอภัยคามะนีประทานนางไว้ มีพรานป่าไปพบทารกนั้นจึงพามาเลี้ยงไว้ เกิดอัศจรรย์ต่าง ๆ ปรากฏที่ตัวเด็กอย่างผู้มีบุญ ความทราบถึงพระยาอภัยคามะนี ตรัสเรียกไปทอดพระเนตร เมื่อทรงทราบเรื่องที่พรานป่าไปพบและทอดพระเนตรเห็นของที่อยู่กับตัวเด็ก ก็ทราบชัดว่าเป็นราชบุตรที่เกิดกับนางนาค จึงประทานนามว่า "อรุณกุมาร" แล้วเลี้ยงไว้ในที่ลูกหลวง ต่อมามีราชบุตรเกิดด้วยอัครมเหสีอีกองค์หนึ่ง ประทานามว่า "ฤทธิกุมาร" อยู่ด้วยกันมาจนเติบใหญ่ พระยาอภัยคามะนีปรารถนาจะหาเมืองให้อรุณกุมารครอบครอง ทราบว่าเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยมีแต่ราชธิดา จึงสู่ขอนางนั้นให้อภิเษกสมรสกับอรุณกุมาร อรุณกุมารจึงไปอยู่เมืองศรีสัชนาลัยต่อมาก็ได้ครองเมืองนั้น ทรงพระนามว่า "พระร่วง" ส่วนฤทธิกุมารนั้นเมื่อเติบใหญ่ก็ได้อภิเษกสมรสกับราชธิดาพระยาเชียงใหม่ และได้ครองเมืองเชียงใหม่ ทรงพระนามว่า "พระลือ" เมื่อทั้งสองอาณาเขตมีเจ้าเมืองเป็นพี่น้องกันเช่นนี้ บ้านเมืองก็เป็นสัมพันธมิตรสืบกันมา เรื่องอรุณกุมารนี้พระร่วงเป็นเชื้อมนุษย์กับนาคระคนกัน และเป็นวงศ์กษัตริย์วงศ์หริภุญชัยในลานนา

เรื่องพระร่วงในพงศาวดารเหนืออีกเรื่องหนึ่ง เรียกว่า พระร่วงส่วยน้ำ กล่าวว่า มีชายชาวเมืองละโว้คนหนึ่งชื่อ "คงเครา" เป็นนายกองคุมคนตักน้ำในทะเลชุบศรส่งไปถวายพระเจ้าปทุม สุริยวงศ์ ณ เมืองขอม นายคงเครามีบุตรคนหนึ่งชื่อ นายร่วง เป็นผู้มีบุญด้วยวาจาสิทธิ์ คือถ้าว่าอะไรให้เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แต่ไม่รู้ตัวว่ามีฤทธิ์อย่างนั้น จนอายุได้ 11 ปี วันหนึ่งพายเรือไปในทะเลชุบศร เรือทวนน้ำทำให้เหนื่อยมากจึงออกปากว่า ทำไมน้ำไม่ไหลกลับไปทางนั้นบ้าง พอว่าขาดคำ น้ำก็ไหลกลับไปอย่างว่าเด็กร่วงก็รู้ตัวว่ามีวาจาสิทธิ์ แต่ปิดความไว้ไม่ให้ผู้อื่นรู้ ครั้นนายคงเคราถึงแก่กรรมพวกไพร่ก็พร้อมใจกันยกนายร่วงขึ้นเป็นนายกองส่วยน้ำแทนพ่อ ครั้นต่อมานักคุ้มข้าหลวงเมืองขอมคุมเกวียนมารับส่วยน้ำตามเดิม นายร่วงเห็นว่ากล่องน้ำที่ทำมานั้นหนัก จึงให้ไพร่สานชะลอมขึ้นเป็นอันมาก แล้วให้เอาชะลอมจุ่มลงไปในน้ำ ลั่นวาจาสิทธิ์สั่งน้ำให้ขังอยู่ในชะลอมก็เป็นเช่นว่า นักคุ้มข้าหลวงเห็นเช่นนั้นก็ฤทธิ์นายร่วง รีบรับชะลอมน้ำกลับไปยังเมืองขอม ทูลพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ว่า มีผู้วิเศษเกิดขึ้นที่เมืองละโว้ พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ทรงวิตกเกรงว่าจะเป็นกบฏ จึงแต่งกองทหารให้มาจับตัวนายร่วง แต่นายร่วงได้ยินข่าวรู้ตัวก่อน จึงหนีออกจากเมืองละโว้ขึ้นไปทางเมืองเหนือ ไปบวชเป็นภิกษุอยู่ ณ วัดแห่งหนึ่งในเมืองสุโขทัย คนจึงเรียกกันว่า "พระร่วง" เพราะเหตุที่บวชเป็นพระ ฝ่ายทหารขอมมาถึงเมืองละโว้ รู้ว่านายร่วงรู้ตัวหนีขึ้นไปเมืองเหนือ ทหารขอมผู้หนึ่งก็ติดตามไปเที่ยวสืบเสาะได้ความว่า นายร่วงหนีไปอยู่เมืองสุโขทัย มิรู้ว่าไปบวชเป็นพระ จึงดำดินลอดปราการเข้าไปในเมือง เผอิญไปโผล่ขึ้นที่ลานวัดที่พระร่วงกำลังกวาดอยู่ พระร่วงเห็นเข้าก็รู้ว่าเป็นขอมแต่ขอมไม่รู้จักพระร่วง จึงถามพระร่วงว่า "รู้หรือไม่ว่านายร่วงที่มาจากเมืองละโว้อยู่ที่ไหน" พระร่วงก็ลั่นวาจาสิทธิ์ว่า "สูอยู่ที่นั่นเถิดรูปจะไปบอกนายร่วง" พอว่าขาดคำขอมก็กลายเป็นหินติดคาแผ่นดินอยู่ตรงนั้น ด้วยอำนาจวาจาสิทธิ์ของพระร่วง ชาวเมืองสุโขทัยรู้ว่าพระร่วงเป็นผู้มีบุญ เมื่อพระเจ้ากรุงสุโขทัยสิ้นพระชนม์ เสนาอำมาตย์จึงพร้อมใจกันเชิญพระร่วงขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า "พระเจ้าศรีจันทราบดี"

สมเด็จฯพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ขยายความเพิ่มเติมอีกว่า เรื่องพระร่วงทั้งสองเรื่องนี้ จะเชื่อว่าพระร่วงเป็นลูกนางนาคจริง หรือจะเชื่อว่าพระร่วงมีวาจาสิทธิ์จริง ดูก็ผิดธรรมดาทั้งสองสถาน ถ้าพิจารณาดูศักราชตามที่อ้างในพงศาวดารเหนือทั้งสองเรื่องนั้นว่าเป็นรัชสมัยของพระร่วงนั้นก็แตกต่างกันไกล ในเรื่องอรุณกุมารว่าพระร่วงได้ครองบ้านเมืองราว พ.ศ. 950 แต่ในเรื่องพระร่วงส่วยน้ำ พระร่วงได้ครองบ้านเมืองเมื่อราว พ.ศ. 1500 ผิดกันตั้ง 500 ปี ยิ่งมาถึงสมัยได้ศิลาจารึกครั้งกรุงสุโขทัย ตรวจหาความรู้เรื่องพงศาวดารเหนือหลักฐานที่มีอยู่เดิมในเรื่องพระร่วงดูก็ยิ่งคลาดเคลื่อนมากขึ้น ตามศิลาจารึกไทยเพิ่งชิงอำนาจจากขอมมาตั้งตนเป็นอิสระเมื่อพ.ศ. 1800 ภายหลังสมัยพระร่วงที่อ้างในพงศาวดารเหนือหลายร้อยปี ผู้ที่ชิงอาณาเขตสุโขทัยจากขอมได้ทรงพระนามว่า "พ่อขุนบางกลางท่าว" เจ้าเมืองบางยาง เมื่อได้เมืองสุโขทัยแล้วทำพิธีราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า "พ่อขุนศรีอินทราทิตย์" ต่อมา "พ่อขุนบาลเมือง" ราชโอรสองค์ใหญ่ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน กษัตริย์ที่สืบทอดต่อ ๆ มาก็คือ "พ่อขุนรามคำแหงมหาราช" "พระเจ้าเลอไทย" "พระเจ้าลือไทย"( พระเจ้าธรรมราชา) ทั้งห้าองค์ครองราชสมบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 1800-1921 นานถึง 121 ปี กรุงสุโขทัยจึงตกเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลของสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพงั่ว)

ข้อสำคัญอย่างหนึ่งในศิลาจารึกไม่มีพระนาม "พระร่วง" ปรากฏสักแห่งเดียว จะเข้าใจว่าพระร่วงเป็นแต่นิทานไม่มีตัวจริงก็ไม่ได้ ด้วยประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงกับกรุงสุโขทัยในสมัยนั้น ต่างเรียกพระเจ้ากรุงสุโขทัยว่า "พระร่วง" ทั้งสิ้น เช่นในเรื่องราชาธิราชก็อ้างว่า พระร่วงได้ชุบเลี้ยงมะกะโทและทรงส่งเสริมให้เป้นพระเจ้าฟ้ารั่วครองเมืองมอญ ในพงศาวดารโยนกก็กล่าวว่า เมื่อพระยาเม็งรายสร้างเมืองเชียงใหม่ได้เชิญ"พระร่วงเมืองสุโขทัย"กับ"พระยางำเมืองเมืองพะเยา" ผู้เป็นสหายไปปรึกษา หนังสือตำนานพระพุทธสิหิงค์ซึ่งพระโพธิรังษีแต่งเป็นภาษามคธที่เมืองเชียงใหม่ ก็แปลงคำ "พระร่วง" เป็น "รังคราช" ว่าได้พระพุทธสิหิงค์จากเมืองนครศรีธรรมราชข้นไปไว้ ณ เมืองสุโขทัย และที่สุดชาวกรุงศรอยุธยาก็เรียกกันทั่วไปว่า "พระร่วง" จึงเห็นว่า "พระร่วง " นั้นคงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ครองกรุงสุโขทัยพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในห้าพระองค์นั้น ซึ่งทรงอานุภาพเลิศล้ำเป็นที่ยำเกรงแก่นานาประเทศใกล้เคียง และคงเลื่องลือระบือพระเกียรติแต่ยังทรงพระนามว่าพระร่วง ไม่เปลี่ยนไปเรียกตามพระนามใหม่ที่ถวายเมื่อราชาภิเษก ตัวอย่างเช่น พระเจ้าอู่ทองเมื่อตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นอิสระทรงพระนามเมื่อราชาภิเษกว่า สมเด็จพระรามาธิบดี แต่ไพร่บ้านพลเมืองก็ยังเรียกว่า พระเจ้าอู่ทอง อยู่นั่นเอง การที่จะวินิจฉัยเอาเรื่องพระร่วงเข้าในพงศาวดาร จึงอยู่ที่ต้องพิจารณาหาหลักฐานว่าพระองค์ใดในพระเจ้าแผ่นดินกรุงสุโขทัย 5 พระองค์นั้นเป็นพระร่วง แล้วพิจารณาต่อไปว่า เหตุใดจึงเรียกว่า "พระร่วง"


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เครือข่ายกาญจนาภิเษก

ที่มา  :  archaeologythai.com