ผู้เขียน หัวข้อ: บรรดาศักดิ์ขุนนางไทยในอดีต  (อ่าน 8914 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
เมื่อ: กรกฎาคม 30, 2015, 12:03:37 AM
         บรรดาศักดิ์ คือ ระดับชั้น หรือยศของขุนนางไทยในสมัยโบราณ  โดยในสมัยโบราณนั้นขุนนางจะมาจากสามัญชน โดยไม่จำเป็นต้องมีชาติตระกูลที่สูงเสมอไป แต่ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้กำหนดว่าผู้ที่จะเข้ามาเป็นขุนนางต้องสืบเชื้อสายจากขุนนางเท่านั้น

         โดยบรรดาศักดิ์ของขุนนางไทยแบ่งออกได้เป็น 9 ระดับคือ

         - สมเด็จเจ้าพระยา
         - เจ้าพระยา
         - พระยาหรือ ออกญา
         - พระ และ จมื่น
         - หลวง
         - ขุน
         - หมื่น
         - พัน
         - นาย


          แต่ละบรรดาศักดิ์ จะมี ศักดินา ประกอบกับบรรดาศักดิ์นั้นด้วย ระบบขุนนางไทย ถือว่า ศักดินา สำคัญกว่า บรรดาศักดิ์ เพราะศักดินา จะใช้เป็นตัววัดในการปรับไหม และ พินัย ในกรณีขึ้นศาล ดังนั้น แม้ว่าบางตำแหน่งบรรดาศักดิ์จะสูงกว่า แต่ ศักดินาต่ำ ก็ไม่ถือว่าเป็นขุนนางระดับสูง มีตำแหน่งหนึ่งที่เป็นขุนนางหัวหน้ามอญคือ "เจ้าพระยามหาโยธา" ศักดินาเพียง 3,000 ไร่ ก็ถือเป็นเพียงชั้นขุนนางศักดินา 3,000 ไร่เท่านั้น ต่ำกว่า ขุนนางระดับพระที่มีศักดินา 5,000 ไร่ เช่น พระพิชัยสงคราม ทหาร เจ้ากรมอาสาซ้าย ในกรมอาสาหกเหล่า ดังนั้น พระพิชัยสงครามก็อาจเลื่อนบรรดาศักดิ์ไปเป็น พระยาพิชัยสงคราม โดยมีราชทินนามเดิม ตำแหน่งเดิม ศักดินาเท่าเดิม มีเพียงบรรดาศักดิ์ที่เพิ่มขึ้น

          บรรดาศักดิ์ ใน พระไอยการนาพลเรือน นาทหาร หัวเมือง นี้ ค่อนข้างสับสนและไม่เป็นระบบ คล้ายๆ กลับว่า ผู้ออกกฎหมายนึกอยากจะให้บรรดาศักดิ์ใด ศักดินาเท่าไหร่ ก็ใส่ลงไป โดยไม่ได้จัดเป็นระบบแต่อย่างใด(เพิ่มเติมวันที่ 4 มีนาคม 2550 ตามความเห็นไม่คิดว่าจะจัดไม่เป็นระบบแต่อย่างใด แต่เป็นลักษณะอย่าง เช่น เมืองตากเป็นเมืองเล็กๆ พระยาตากอาจถือศักดินาสูงสุดอยู่ในเมืองตาก หมายความว่าใหญ่สุดในเมืองตากทั้งศักดินาและบรรดาศักดิ์ แต่อย่างที่บอกไป เมืองตากเป็นเมืองเล็ก เป็นไปได้ว่าอาจมีศักดินาต่ำกว่ายศขุนของอยุธยาซึ่งถือว่าเป็นเมืองใหญ่ก็เป็นได้ ทั้งนี้ควรหาข้อมูลเปรียบเทียบตรงจุดนี้ให้กระจ่าง) ดังนั้น จึงมีขุนนางใน กรมช่างอาสาสิบหมู่ หรือ บางกรม ที่มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา แต่ศักดินาต่ำกว่า 1,000 ไร่ ซึ่งถือเป็นขุนนางระดับต่ำ

          ในสมัยต่อมาได้มีการเพิ่มเติม บรรดาศักดิ์ต่างๆ จากทำเนียบพระไอยการนาพลเรือน นาทหาร หัวเมืองขึ้นอีกเป็นอันมาก

          ขุนนางของไทยสมัยโบราณ ไม่เหมือนกับขุนนางในประเทศตะวันตก คือ ไม่ได้เป็นขุนนางสืบตระกูล ผู้ที่ได้ครองบรรดาศักดิ์ก็อยู่ในบรรดาศักดิ์เฉพาะตนเท่านั้น จึงเทียบได้กับข้าราชการ หรือ ระบบชั้นยศของข้าราชการในสมัยปัจจุบัน ที่มีการแบ่งเป็นระดับต่างๆ แต่ขุนนางไทยในสมัยโบราณ จะมีราชทินนาม และ ศักดินา เพิ่มเติมแตกต่างจากข้าราชในปัจจุบันที่มีเพียงชั้นยศเท่านั้น

          บรรดาศักดิ์ จมื่น หรือ พระนาย นั้น เป็นบรรดาศักดิ์ หัวหน้ามหาดเล็ก ในกรมมหาดเล็ก ศักดินา 800-1000 ไร่ เทียบได้เท่ากับ บรรดาศักดิ์ พระ ที่มีศักดินาใกล้เคียงกัน แต่จมื่นนั้น ได้รับการยกย่องมากกว่า เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน และมักจะมีอายุยังน้อย อยู่ในระหว่าง 20-30 ปี มักเป็นลูกหลานของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่นำมาถวายตัวรับใช้ใกล้ชิด พระเจ้าแผ่นดิน และเป็นช่องทางเข้ารับราชการต่อไปในอนาคต

          ส่วนคำว่า ออก ที่เติมหน้า บรรดาศักดิ์สมัยโบราณนั้น เช่น ออกญา ออกขุน ออกหลวง นั้น มักเป็นคำแสดงความอาวุโสในบรรดาศักดิ์นั้น แต่ยังไม่ได้เลื่อนขึ้นไปยังบรรดาศักดิ์ที่สูงกว่า

ขอขอบคุณข้อมูลจาก กฎหมายตรา 3 ดวง ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง