ผู้เขียน หัวข้อ: นิยามศัพท์เกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา  (อ่าน 10653 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
กระบวนการ (Process):
กิจกรรม (activity) หรือชุดของกิจกรรมที่สัมพันธ์กันที่ทำการเปลี่ยนปัจจัยนำเข้า (input) ให้เป็นผลผลิต (output) ที่มีมูลค่าเพิ่ม (value-added)

กลไก (Mechanism): ส่วนย่อย (parts) ของระบบที่มีองค์ประกอบจำนวนหนึ่งทำหน้าที่ร่วมกัน องค์ประกอบเหล่านี้ หมายรวมถึง ทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรทางกายภาพ วิธีปฏิบัติ (operation method) และ/หรือระเบียบปฏิบัติ (procedures)

กลยุทธ์  (Strategy): ความหมายเดียวกันกับ ยุทธศาสตร์
แนวทางหรือวิธีทำงานที่ดีที่สุด เพื่อให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ ภารกิจและวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ ตัวอย่าง เช่น ?จัดทำระบบฐานข้อมูลและระบบเครือข่ายที่สมบูรณ์และทันสมัย? หรือ?พัฒนาวิธีการลดต้นทุนการบริหารจัดการ?

การควบคุมคุณภาพ (Quality Control): การมีระบบและกลไกในแต่ละองค์ประกอบคุณภาพ เพื่อกำกับการดำเนินงานของสถานศึกษาให้ได้ผลตามรายการตรวจสอบและตัวบ่งชี้คุณภาพที่กำหนด

การตรวจสอบคุณภาพ (Quality Audit):
กระบวนการในการศึกษาวิเคราะห์ว่าสถาบันมีระบบและกลไกกำกับและควบคุมคุณภาพ และมีการปฏิบัติตามระบบและกลไกดังกล่าว

การบริหารเชิงกลยุทธ์ (Strategic  Management):
ศาสตร์และศิลป์ในการดำเนินการในสามกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกัน คือ การวางแผนกลยุทธ์ (strategic planning) การปฏิบัติตามแผนกลยุทธ์ (strategic implementation) และการควบคุมและประเมินผลกลยุทธ์ (strategic control and evaluation)

การประกันคุณภาพการศึกษา (Quality Assurance):    
การมีระบบและกลไกในการควบคุมตรวจสอบและประเมินการดำเนินงานในแต่ละองค์ประกอบคุณภาพตามรายการตรวจสอบ (audit checklist) และตัวบ่งชี้คุณภาพ (quality indicators) ที่กำหนด เพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและสาธารณชนได้มั่นใจว่าสถานศึกษาแห่งนั้นสามารถให้ผลผลิตทางการศึกษาที่มีคุณภาพ

การประกันคุณภาพภายใน (Internal Quality Assurance):
การติดตามตรวจสอบและการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาจากภายในโดยบุคลากรของสถานศึกษานั้นเอง หรือโดยหน่วยงานต้นสังกัดที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถานศึกษานั้น

การประกันคุณภาพภายนอก (External Quality Assurance):
การติดตามตรวจสอบและการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) หรือบุคคลหรือหน่วยงานภายนอกที่ สมศ. รับรองเพื่อเป็นการประกันคุณภาพและให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา

การประเมินคุณภาพ (Quality Assessment):
กระบวนการวิเคราะห์และเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของสถานศึกษาตามรายการตรวจสอบและตัวบ่งชี้คุณภาพที่กำหนดว่าอยู่ในระดับใด

การวางแผนเชิงกลยุทธ์ (Strategic Planning):
การวางแผนที่ครอบคลุมถึงการวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ และการกำหนดกลยุทธ์ การกำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ที่จะนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์

การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT Analysis):
การวิเคราะห์เพื่อค้นหาจุดแข็ง (strength) และจุดอ่อน (weakness) ซึ่งเป็นสภาพภายในขององค์กร และวิเคราะห์โอกาส (opportunities) และอุปสรรค (threat) ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมภายนอกองค์กร ซึ่งรวมถึงปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี

การวิเคราะห์ปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี (PEST Analysis):
การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกองค์กรที่จะมีผลกระทบต่อความอยู่รอดและการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร โดยมุ่งเน้นปัจจัยทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี

การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน:
การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลในชั้นเรียน เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพและสัมฤทธิผลการเรียนรู้ของนักศึกษา อาทิ วิธีการสอน วิธีการเรียนรู้ของนักศึกษา อุปกรณ์และสื่อการสอน แหล่งเรียนรู้ วิธีวัดและประเมินผล เป็นต้น ผลการวิจัยจะช่วยให้อาจารย์ผู้สอนสามารถพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างเป็นระบบยิ่งขึ้น

การประเมินหลักสูตร:
การประเมินคุณค่า ความทันสมัยและความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดงานของหลักสูตรแต่ละสาขาวิชา โดยอาศัยการรวบรวม วิเคราะห์และสรุปผลการสำรวจความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์ บัณฑิต และผู้ว่าจ้างบัณฑิตในสาขาวิชานั้น ๆ การประเมินหลักสูตรควรมีการดำเนินการเป็นประจำ อย่างน้อยหนึ่งครั้งในรอบ 5 ปี และอาจมีการเสนอปรับปรุงหลักสูตรในกรณีจำเป็น

การวิจัยเชิงนโยบาย (Policy Research):
การวิจัยเพื่อหาแนวทางและนโยบายการดำเนินการที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติ โดยอาจนำผลการวิจัยเสนอแนะต่อรัฐบาลหรือแหล่งทุนวิจัยอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างสรรค์โอกาสในการขอความสนับสนุนการวิจัยต่อเนื่องที่จะเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่หรือนวัตกรรมต่างๆ ต่อไป

การศึกษา (Education):
กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้  การฝึกอบรม  การสืบสานทางวัฒนธรรม  การสร้างสรรจรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ  การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจาก การจัดสภาพแวดล้อมสังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

กลุ่มวิจัย:
คณะบุคคลที่ประกอบด้วยผู้วิจัยและผู้ช่วยวิจัยที่ร่วมกันทำงานเพื่อผลิตผลงานวิจัยที่คุณภาพและสนองความต้องการของชุมชนและประเทศชาติ โดยดำเนินงานในลักษณะที่ผู้วิจัยอาวุโสที่มีชื่อเสียง มีความสามารถและประสบการณ์สูงคอยให้การสนับสนุนเกื้อกูลผู้วิจัยหรือผู้ช่วยวิจัยรุ่นเยาว์ให้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตนเองจนเป็นผู้วิจัยที่มีชื่อเสียงและความสามารถต่อไปในอนาคต กลุ่มวิจัยในระดับคณะอาจแบ่งเป็น หน่วยวิจัย (research unit) ห้องปฏิบัติการวิจัย (research lab) หรือ ศูนย์วิจัย (research centre)

คุณภาพ (Quality):
ผลรวมของคุณลักษณะและคุณสมบัติของผลผลิตได้แก่ บัณฑิต ผลงานวิจัย บริการวิชาการ ที่ทำให้เกิดความพึงพอใจแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

จุดประสงค์/ความประสงค์ (Purpose): ดู วัตถุประสงค์

จุดมุ่งหมาย (Aim): ดู วัตถุประสงค์

ตัวบ่งชี้คุณภาพ (Quality Indicators):
ตัวบ่งชี้ว่าการดำเนินงานในแต่ละองค์ประกอบคุณภาพเป็นไปตามเกณฑ์หรือมาตรฐานที่พึงประสงค์

นโยบาย (Policy):
แนวทางกว้าง ๆ ที่กำหนดขึ้นสำหรับการปฏิบัติและการควบคุม ที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร

ปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ (Key Success Factors):
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับวิธีการรู้จักใช้ความสามารถอันโดดเด่นหรือความสามารถหลัก (core competencies) ขององค์กรให้ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นภายใต้สภาวะการแข่งขันของ  องค์กร ต่าง ๆ โดยพิจารณาจากองค์ประกอบทางการบริหาร อาทิ การวางแผน องค์กรและโครงสร้าง ทรัพยากร บุคคล ระบบทำงาน ระบบบัญชีและการเงิน ระบบพัสดุ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ สถานภาพในการแข่งขัน และการพัฒนาองค์กร

ปรัชญา (Philosophy):
ระบบความเชื่อที่เป็นผลจากการแสวงหาความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติและการแสวงหาความหมายของชีวิตและสรรพสิ่งต่าง ๆ

ประมวลรายวิชา (Course Syllabus):
เอกสารแสดงรายละเอียดของแต่ละกระบวนวิชา ได้แก่ จำนวนหน่วยกิต เงื่อนไขที่ต้องผ่านก่อน คำอธิบายกระบวนวิชา วัตถุประสงค์ เนื้อหา อุปกรณ์การศึกษา สื่อการสอน ตำรา วารสาร และทรัพยากรการเรียนรู้อื่น ๆ ที่ใช้ประกอบ รวมทั้งวิธีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้

ประสิทธิผล (Effectiveness):
ผลลัพธ์ของการปฏิบัติตามแผนดำเนินการจนบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

ประสิทธิภาพ (Efficiency):
ผลลัพธ์ของการปฏิบัติตามแผนดำเนินการที่สิ้นเปลืองทรัพยากรน้อยที่สุด

ปณิธาน (Will):
ความตั้งใจหรือความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายที่ตนเองให้คุณค่าและมีความเชื่อ ซึ่งก่อให้เกิดพลังจิตที่จะกำหนดความคิดและกระทำของตนเอง

เป้าประสงค์ (Goal): ดู วัตถุประสงค์

เป้าหมาย (Target): ดูเปรียบเทียบกับ วัตถุประสงค์
ผลสำเร็จที่ต้องการภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยมักระบุเป็นจำนวนเลข เพื่อความชัดเจนและสะดวกในการติดตามและประเมินผลแผนงานหรือโครงการ

แผน (Plan):
ความคิดหรือวิธีการที่ได้ผ่านการคิดอย่างละเอียดมาแล้วล่วงหน้าสำหรับชี้นำการดำเนินการใด ๆ การวางแผนมักมีการกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และกรอบเวลาของแผนอย่างชัดเจน

แผนการสอน (Teaching Plan):
เอกสารแสดงรายละเอียดของแต่ละบทเรียนในกระบวนวิชาต่าง ๆ ซึ่งกล่าวถึง เนื้อหาและวัตถุประสงค์ของบทเรียน วิธีการเรียนการสอน อุปกรณ์ สื่อการสอน และทรัพยากรการเรียนรู้ที่ใช้ และอาจรวมถึงวิธีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ในแต่ละบทเรียน

แผนดำเนินการ : ความหมายเดียวกันกับ แผนปฏิบัติการ (Action plan)
ความคิดหรือวิธีการที่ได้ผ่านการคิดและวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ หรือ SWOT Analysis อย่างละเอียดมาแล้ว สำหรับชี้นำการดำเนินการตามกลยุทธ์ที่จะนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กร การจัดทำแผนปฏิบัติการจะมีการระบุวัตถุประสงค์ เป้าหมาย การจัดสรรทรัพยากร และกรอบเวลาของแผนอย่างชัดเจน

แผนปฏิบัติการ (Operation Plan): ดู แผนดำเนินการ (action plan)

แผนพัฒนาการศึกษา 4 ปี:
แผนพัฒนาสถานศึกษาระยะ 4 ปี ที่สถานศึกษาจัดทำขึ้นเพื่อกำหนดทิศทางของสถานศึกษาในการดำเนินงานระยะกลาง  ควรเป็นไปตามกระบวนการ วางแผนเชิงกลยุทธ์

แผนดำเนินการประจำปี:
แผนดำเนินการที่กำหนดขึ้นสำหรับชี้นำการดำเนินการในแต่ละปี โดยมีการระบุวัตถุประสงค์ เป้าหมายการจัดสรรทรัพยากร และกรอบเวลาอย่างชัดเจน

ผลผลิตทางการศึกษา:
ผลการดำเนินตามภารกิจหลักประกอบด้วยการผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการทางวิชาการแก่ชุมชน การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและภารกิจอื่น ๆ ของสถาบันอุดมศึกษา

พันธกิจ (Mission): ดู ภารกิจ

ภารกิจ (Mission): ความหมายเดียวกันกับ พันธกิจ
ขอบเขตของงาน หรือ บทบาทหน้าที่ซึ่งองค์กรต้องทำในลักษณะอาณัติ (mandate) เพื่อให้องค์กรบรรลุ  วิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ ตัวอย่าง ?มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พึงจัดการการเรียนการสอนที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล?

มาตรฐานการจัดการทางการเงิน Seven Hurdles:
มาตรฐานเกี่ยวกับการจัดการทางการเงินที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจะต้องมีขีดความสามารถตามเงื่อนไขของ Seven Hurdles คือ การวางแผนงบประมาณ (budget planning) การคำนวณต้นทุนผลผลิต (output costing) การจัดระบบการจัดซื้อจัดจ้าง (procurement management)การบริหารทางการเงินและควบคุมงบประมาณ (financial management/and fund control) การบริหารสินทรัพย์ (asset management) การรายงานทางการเงินและผลการดำเนินงาน (financial and performance reporting) และการตรวจสอบภายใน (internal audit)

มาตรฐานการศึกษา (Education Standards):
ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะและคุณภาพที่พึงประสงค์ และมาตรฐานที่ต้องการให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาทุกแห่ง เพื่อใช้เป็นหลักในการเทียบเคียงสำหรับการส่งเสริมและกำกับดูแล การตรวจสอบ การประเมินผล และการประกันคุณภาพการศึกษา

ยุทธศาสตร์  (Strategy): ดู กลยุทธ์
รายงานการศึกษาตนเอง (Self-Study Report):
รายงานที่แสดงผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานในรอบปีที่ผ่านมาว่ามีการดำเนินการตามระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาหรือไม่ และมีการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของหน่วยงาน ตลอดจนแนวทางแก้ไข

รายงานการประเมินตนเอง (Self-Assessment Report):
รายงานที่แสดงผลการปฏิบัติงานของหน่วยงาน ในรอบปีที่ผ่านมา และมีการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน วางแผนการแก้ไขจุดอ่อน เสริมจุดแข็งของวิธีปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

รายงานการประเมินคุณภาพของสถานศึกษา:
รายงานประจำปีที่สถานศึกษาจัดทำขึ้นเพื่อประเมินการดำเนินงานของสถานศึกษาโดยภาพรวม เสนอสำนักงานรับรอง  มาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา เพื่อขอรับการประเมินสถานศึกษา

ระบบ (System):
(1)สภาวะหรือสิ่งที่เกิดจากการรวมตัวกันขององค์ประกอบ (components) ที่มีความเชื่อมโยงกัน (interconnectedness) โดยมีรูปแบบ (pattern) หรือโครงสร้าง (structure) ที่ชัดเจน องค์ประกอบเหล่านี้ต่างมีหน้าที่ (function) ของตนเอง พร้อมกับมีปฏิสัมพันธ์ (interaction) และการประสาน  (co-ordination) การทำงานกับองค์ประกอบอื่น ๆ
(2)กระบวนการ (processes) หรือระเบียบปฏิบัติ (procedures) ที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระเบียบ มีรูปแบบ (pattern) หรือโครงสร้าง (structure) ที่ชัดเจน

ระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน (Performance-Based Budgeting System):
ระบบงบประมาณที่ให้ความสำคัญกับการกำหนดภารกิจ (mission) ขององค์กร วัตถุประสงค์ กลยุทธ์  แผนงาน งาน/โครงการ อย่างเป็นระบบ มีการติดตาม และประเมินผลสม่ำเสมอ เพื่อวัดผลสำเร็จของงาน เป็นระบบที่  เชื่อมโยงการบริหารจัดการทรัพยากร การเงิน และพัสดุ ที่สะท้อนให้เห็นถึงผลสำเร็จของงานหรือ      ภารกิจต่าง ๆ ขององค์กร หรือ ของรัฐภายใต้หลักธรรมภิบาล (good governance) เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและทำให้ประเทศชาติมั่งคั่ง มั่นคง และพึ่งตนเองได้

ระบบฐานข้อมูล (Database System):
ระบบการจัดเก็บข้อมูลที่สามารถทำการรวบรวม วิเคราะห์ ประมวลผล และนำเสนอได้สะดวก รวดเร็ว และทันการณ์ โดยควรจัดทำเป็นระบบฐานข้อมูลออนไลน์

ระบบบริหารคุณภาพ (Quality Management System):
ระบบบริหารจัดการเพื่อมุ่งให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และมุ่งให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงานตามภารกิจและวัตถุประสงค์ขององค์กร ระบบบริหารคุณภาพมีหลายระบบ ได้แก่ ระบบ Input-Process-Output-Outcome (IPOO) ระบบ Total Quality Management (TQM) ระบบ ISO และระบบ Malcolm Baldridge Quality Award (MBQA)

วัตถุประสงค์ (Objective): ความหมายเดียวกันกับ จุดมุ่งหมาย (aim) จุดประสงค์/ความประสงค์ (purpose) เป้าประสงค์ (goal)
(1) สิ่งที่ต้องการจะบรรลุด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และเพียรพยายาม
(2) ผลสำเร็จที่ต้องการจะบรรลุภายในระยะเวลาที่กำหนด

วิสัยทัศน์ (Vision):
ความคาดหวังในอนาคตขององค์กรที่ต้องการจะเป็น (โดยมิได้กำหนดวิธีการไว้) เป็นข้อความซึ่งกำหนดทิศทางของ

สถานศึกษา:
สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน ศูนย์การเรียน วิทยาลัย สถาบัน มหาวิทยาลัย หน่วยงานการศึกษาหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือเอกชนที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา

แหล่งสารนิเทศ:
แหล่งความรู้ ข้อมูลและสารสนเทศในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ ตำรา วารสาร สิ่งพิมพ์ ฐานข้อมูลออนไลน์ สื่ออิเล็กโทรนิกส์ และสื่อผสมต่าง ๆ

องค์ประกอบคุณภาพ (Quality Factors):
ปัจจัยหลักในการดำเนินงานของสถาบันที่มีผลต่อคุณภาพการศึกษา ได้แก่ ปรัชญา ปณิธาน ภารกิจและวัตถุประสงค์ การเรียนการสอน การพัฒนาและสนับสนุนนักศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการแก่ชุมชน การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  การบริหารและจัดการ  การเงินและงบประมาณ  และการประกันคุณภาพ

ที่มา : http://www.banprak-nfe.com/webboard/index.php/topic,144.0.html