ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดประวัติศาสตร์ สัมพันธ์ ?ฝรั่งเศส?-?ไทย? เริ่มตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์  (อ่าน 4523 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น อาจกล่าวได้ว่า รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ คือช่วงเวลาที่ไทยมีความสัมพันธ์ ทางการทูตและการค้าขายกับต่างประเทศทั้งเอเชียและยุโรปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกับประเทศฝรั่งเศส ในรัชสมัยของพระองค์นั้น กรุงศรีอยุธยา ได้ส่งคณะทูตไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ยังประเทศฝรั่งเศส รวมทั้งสิ้น ๔ ชุดด้วยกัน คณะทูตชุดแรก ที่ไปเจริญสัมพันธไมตรี กับประเทศฝรั่งเศส ใน พ.ศ.๒๒๒๓ มีพระพิพัฒนาราชไมตรี เป็นราชทูต หลวงวิสารสุนทรเป็นอุปทูต และขุนนครศรีวิชัย เป็นตรีทูต โดยมีบาทหลวงเกม (Gayme) บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในอยุธยา และสามารถพูดภาษาไทยได้ดีทำหน้าที่เป็นล่าม

คณะทูตชุดนี้ออกเดินทางจากอยุธยาโดยเรือสินค้าของฝรั่งเศสที่ชื่อ "โวดูส์" ถึงเมืองบันตัมในหมู่เกาะชวา และได้พักอยู่ที่นั่นเป็นเวลา ๖ เดือน จากนั้นจึงโดยสารเรือฝรั่งเศส อีกลำหนึ่งชื่อ "โซเลย์ดอริอองต์" (Soleil d' Orient) ออกเดินทางจากเมืองบันตัม ใน พ.ศ.๒๒๒๕ หลังจากนั้นเรือลำนี้ได้หายสาบสูญไปในมหาสมุทรอินเดียโดยไม่ทราบสาเหตุ ในเวลาต่อมา สมเด็จพระนารายณ์ โปรดให้ตั้งคณะทูตขึ้นอีกชุดหนึ่งซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย มีขุนพิไชยวาณิช กับขุนพิชิตไมตรีเดินทางออกไปสืบข่าวยังประเทศฝรั่งเศส ในการไปครั้งนี้ โปรดฯ ให้นำนักเรียนไทยไปด้วย ๔ คน เพื่อศึกษาวิชาการต่างๆ และฝึกหัดขนบธรรมเนียมตามแบบอย่างของชาวฝรั่งเศส อีกทั้งทรงขอให้ทางฝรั่งเศส แต่งทูตผู้มีอำนาจเต็มเข้ามาทำสัญญาพระราชไมตรีอีกด้วย คณะทูตชุดนี้มิได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ อย่างเป็นทางการ เพราะมิได้อัญเชิญพระราชสาส์นของสมเด็จพระนารายณ์ไปด้วยเป็นแต่เพียงถือศุภอักษรของเสนาบดีไปสืบ

ข่าวคณะทูตไทย ชุดก่อนที่ได้หายสาบสูญไปมิทราบข่าวคราว และได้แจ้งพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนารายณ์ว่าทรงใคร่ขอให้ทางฝรั่งเศส ส่งคณะทูตมายังอยุธยาเพื่อทำสัญญาค้าขายด้วยคณะบาทหลวงฝรั่งเศส ที่เคยเข้ามาสอนศาสนาในอยุธยาได้กราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ว่าหากมีพระราชสาส์นเชื้อเชิญให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงเข้ารีต นับถือศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกแล้ว สมเด็จพระนารายณ์ ก็คงไม่ขัดพระราชอัธยาศัย อีกทั้งประชาชนอยุธยาทั้งหมดก็จะหันมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกตามด้วยอย่างแน่นอน

พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงมีความมุ่งมั่นในการเผยแผ่คริสต์ศาสนาอยู่แล้ว จึงทรงเห็นชอบตามคำกราบทูลของบาทหลวง และทรงแต่งตั้งให้เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ เป็นเอกอัครราชทูต และมีบาทหลวงเดอชัวซีย์เป็นผู้ช่วยทูต เชิญพระราชสาส์นของพระองค์มาถวายสมเด็จพระนารายณ์ คณะทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ได้เดินทางโดยเรือรบฝรั่งเศส ๒ ลำ ออกจากท่าเมืองเบรสต์เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๒๒๘ และเข้ามาถึงปากน้ำเจ้าพระยาในวันที่ ๒๓ กันยายน ปีเดียวกัน สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้ประกอบพิธีต้อนรับอย่างมโหฬาร ในการที่คณะทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าครั้งนี้ สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้สิทธิพิเศษไม่ต้องถอดรองเท้าและหมอบคลานเหมือนกับ ทูตของประเทศอื่น และหลังจากที่ เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แล้ว สมเด็จพระนารายณ์ ยังโปรดฯ ให้คณะทูตเข้าเฝ้าเป็นพิเศษอีก หลายครั้ง โดยมีฟอลคอนหรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์รอรับอยู่ด้วย

เจ้าพระวิชาเยนทร์ก็สนับสนุนให้อยุธยาและฝรั่งเศส ทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกัน แต่เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ มิได้ให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าว คงมุ่งแต่จะเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระนารายณ์เปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาตามพระราชดำริ ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ สมเด็จพระนารายณ์ กลับมิได้ทรงตอบตกลงแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันทรงมีพระประสงค์ที่จะผูกสัมพันธ์กับฝรั่งเศส จึงทรงยอมให้บาทหลวงฝรั่งเศสสอนศาสนา สอนหนังสือ และตั้งโรงพยาบาล ตามแบบยุโรปได้โดยเสรี

เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ กับคณะทูตฝรั่งเศสได้พำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาประมาณ ๒ เดือนเศษ จึงได้เดินทางกลับประเทศฝรั่งเศส สมเด็จพระนารายณ์ทรงฝากฝังคณะราชทูตชุดที่สามของพระองค์ที่มีพระวิสุทธสุนทร หรือโกษาปาน หลวงกัลยาณราชไมตรี และขุนศรีวิสารวาจา ซึ่งทรงแต่งตั้งเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๒๒๘ ให้เป็นราชทูต อุปทูต และตรีทูต ตามลำดับ ไปกับเรือที่จะนำคณะทูตฝรั่งเศสกลับด้วย คณะทูตไทยชุดนี้ ได้เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยาโดยเรือลัวโซและมาลิน เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๒๒๘ พร้อมกับคณะทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ไปถึงท่าเมืองเบรสต์ เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๒๒๙ เนื่องด้วยขณะนั้น พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงพระประชวรอยู่ ทางฝรั่งเศสจึงยังมิได้กำหนดวันเข้าเฝ้า และเจ้าพนักงานได้นำคณะราชทูตไทย ชมเมืองต่างๆ แล้วจึงเดินทางมายังกรุงปารีส เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๒๒๙ ก่อนถึงกำหนดเข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์ แด่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เพียงไม่กี่วัน คณะทูตไทย ซึ่งมีพระวิสุทธสุนทร เป็นราชทูต ได้พำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลา ๘ เดือนกับ ๑๒ วัน จึงได้ทูลลาพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ กลับอยุธยา พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ได้โปรดฯ ให้เดินทางกลับไปพร้อมราชทูตของพระองค์อีกชุดหนึ่ง ประกอบด้วย โกลด เซเบเรต์ เดอ บุลเล (Claude Ceberert de Boullay) ผู้อำนวยการผู้หนึ่งของบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสเป็นราชทูตคนที่หนึ่ง และซิมอง เดอ ลา ลูแบร์ ซึ่งเป็นเนติบัณฑิตฝรั่งเศส นักคณิตศาสตร์ นักปรัชญา และนักแต่งเพลง เป็นราชทูตคนที่สอง คณะทูตชุดนี้ เดินทางมาถึงอยุธยาเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๒๓๐

เมื่อ เซเบเรต์ ซึ่งเป็นอัครราชทูตคนที่หนึ่งของคณะทูต ฝรั่งเศสทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับสิทธิพิเศษของบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสและลงนามกันเรียบร้อยแล้ว จึงได้เดินทางกลับฝรั่งเศส เมื่อช่วงปลาย พ.ศ.๒๒๓๐ ส่วนลาลูแบร์ นั้นยังคงพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ต่อไปอีกหนึ่งเดือน เพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับอยุธยา เมื่อได้หลักฐานตามต้องการแล้ว จึงได้เดินทางกลับประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๒๓๑ สมเด็จพระนารายณ์ โปรดฯ ให้บาทหลวงตาชาร์ด อัญเชิญพระราชสาส์น ของพระองค์ ไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ ๑๑ ที่กรุงโรม พร้อมทั้งมีข้าราชการชั้นผู้น้อยกำกับเครื่องราชบรรณการ ไปด้วย ๓ คน คือ ขุนวิเศษ ขุนชำนาญ และขุนภูเบนทร์ ร่วมด้วยนักเรียนไทยติดตามไปเพื่อศึกษาวิชาการต่างๆ อีกหลายคน เรือของคณะทูตชุดลาลูแบร์เดินทางออกจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาในวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๒๓๑ และถึงฝรั่งเศสในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอยุธยา และฝรั่งเศสถือว่ารุ่งเรืองอย่างยิ่งในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ แต่ต่อมาพระเพทราชาพระมหากษัตริย์รัชกาลถัดมาทรงระแวงว่าฝรั่งเศสมีแผนการที่จะยึดกรุงศรีอยุธยา จึงมีพระราชประสงค์ที่จะขับไล่ฝรั่งเศสออกไปจากพระราชอาณาจักรและหันไปแสวงหาความช่วยเหลือจากฮอลันดา การณ์ครั้งนี้ทำให้ความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศสต้องหยุดชะงักลงในที่สุด

บทความโดย ชลลดา บางหลวงสันติ
ข้อมูลจาก : โบราณคดีไทย