ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อสอบเด็กไทย...ปัญหาใหญ่ที่ต้องมอง  (อ่าน 2611 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3910
ชีวิน สุนสะธรรม
รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์
มหาวิทยาลัยเนชั่น


ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาของการตรวจข้อสอบ เพราะมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง เริ่มทยอยปิดภาคเรียนกันแล้ว สำหรับผมก็เช่นกัน ต้องนั่งตรวจข้อสอบอยู่หลาย ร้อยชุดทีเดียว ข้อสอบของผมเป็นข้อสอบข้อเขียน ยังไม่ใช่แนววิเคราะห์อะไรมากมาย เพราะเป็นนักศึกษาปี 1 แต่ถึงแม้ว่า จะไม่ใช่แนววิเคราะห์หรือเขียนอะไรที่ยาวมากมายนัก แต่นักศึกษาปี 1 ส่วนใหญ่ก็ยังทำไม่ค่อยได้อยู่ดี ซึ่งผมนั่งวิเคราะห์ดู จึงทำให้ทราบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ "เขียนไม่เป็น" และจากประสบการณ์การสอนที่ผ่านๆ มา ยิ่งทำให้ยืนยันได้เลยว่า ปัญหาของเด็กไทยที่จบมัธยมศึกษามานั้น คือเด็กไทยเขียนและวิเคราะห์ ไม่เป็น สาเหตุมาจากอะไร ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น จากการถามนักศึกษาหลายๆ คน ว่า ทำไมถึงเขียนตอบได้ไม่ดี คำตอบที่ได้รับส่วนใหญ่ ก็คือ ในระดับมัธยมนั้น ข้อสอบมักจะเป็นปรนัย หรือให้เลือก ก ข ค ง และสิ่งนี้แหละครับ คือตัวปัญหาใหญ่ของการศึกษาไทย ผมก็ไม่แปลกใจเลยที่เด็กมัธยมจะเจอแต่ข้อสอบ ที่เป็นปรนัยเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะขนาด เด็กป.1 สมัยนี้ ข้อสอบยังเป็นตัวเลือกเลย แต่ผมแปลกใจมากที่ทำไมคุณครูต้องให้นักเรียนทำข้อสอบแบบปรนัย ตั้งแต่ระดับประถม เพราะเด็กประถมจะเขียนอะไรมากมายจนคุณครูไม่มีเวลาตรวจเชียวหรือ

คำถามของผมคือ เราจำเป็นที่จะต้องให้เด็กอายุไม่ถึง 10 ขวบ ตอบคำถามแบบปรนัยที่มีตัวลวงแช่นนี้ด้วยหรือ เช่น หากเราต้องการจะถามว่า ธงไตรรงค์ มีทั้งหมดกี่สี สีอะไรบ้าง เราก็ควรถามเด็กไปตรงๆ ใช่หรือไม่ เพราะจะทำให้เด็กได้ฝึกหัดเขียนไปในตัวด้วย แต่หากเราถามว่า ข้อใดไม่ใช่สีในธงไตรรงค์ เด็กก็จะได้แค่วงกลมข้อที่ผิด

การฝึกให้เด็กได้เขียนนั้น นอกจากจะทำให้เด็กได้หัดเขียนแล้ว ยังทำให้ เด็กไทยสะกดคำได้ถูกต้องอีกด้วย หากย้อนกลับไปดูตัวอย่างข้างต้น หากคำถามถามว่า "ธงชาติไทยเรียกว่าธงอะไร" เด็กจะต้องรู้วิธีการเขียนธงไตรรงค์ แต่หากถามว่า "ข้อใดคือชื่อเรียกธงชาติไทย" เด็กก็จะมองเผินๆ ไม่ได้ดูที่ตัวสะกดอย่างละเอียด ผู้ใหญ่หลายๆ คนคงไม่ทราบว่า คำง่ายๆ หลายๆ คำที่เด็กไทยเขียนในข้อสอบนั้น บางคำไม่น่าเชื่อว่า เด็กไทยจะเขียนไม่ได้ เช่น ปัจจัย เขียนเป็น ปัจใจ หรือคำว่า น่า กับ หน้า เด็กสมัยนี้กลับไม่รู้ว่า เมื่อไหร่จะใช้ "น่า" นี้ และเมื่อไหร่จะใช้ "หน้า" นี้

คุณผู้อ่านได้อ่านลายมือเด็กไทยสมัยนี้ครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ สมัยนี้เป็นยุคสมัยที่มีคอมพิวเตอร์ มีโทรศัพท์ มีไลน์ จะติดต่อกันส่วนใหญ่จะใช้การพิมพ์ แม้แต่สไลด์ที่อาจารย์ขึ้นบนกระดาน เด็กสมัยนี้ก็ใช้การถ่ายรูปแทนการจดบันทึก การที่มีเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามา ทำให้ในวันวันหนึ่ง

เด็กหลายๆ คนห่างเหินจากการเขียนไปพอสมควร จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ลายมือ ของเด็กไทยสมัยนี้เป็นลายมือที่อ่านยากมาก เพราะเด็กไม่ถนัดในการเขียนหนังสืออีกต่อไป สำหรับเด็กหลายๆ คนการพิมพ์ทำได้เร็วกว่าการเขียนหลายเท่า เด็กหลายคนจึงใจร้อน พอเขียนได้ไม่ทันใจคิดเหมือนกับพิมพ์ ทำให้เด็กยิ่งเขียนลายมือจึงยิ่งหวัด ยิ่งหวัดจนอ่านไม่ออกในที่สุด

อีกสิ่งหนึ่งที่เด็กไทยยังทำไม่ได้ เพราะไม่ได้ฝึกเขียน คือความสามารถในการเรียบเรียงบทความ ให้เป็นเรื่องเป็นราว ดำเนินไปเป็นขั้นเป็นตอนและเป็นเหตุเป็นผลกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้อ่านอ่านรู้เรื่อง เด็กไทยส่วนใหญ่ เขียนเหมือนกับภาษาพูด คิดอย่างไร เขียนอย่างนั้น ไม่มีการปะติดปะต่อเรื่องราวให้ต่อเนื่อง หรือเป็นภาษาที่สละสลวย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องจาก เด็กไทยขาดการฝึกฝนและทักษะในด้านการเขียนนั่นเอง ประโยชน์อีกข้อ หากเราเปิดโอกาสให้เด็กได้หัดเขียนตอบในข้อสอบแทนที่จะเป็นการเลือกคำตอบคำที่ถูกคือ เด็กจะได้รู้จักการวิเคราะห์ และการวิเคราะห์นั้นจะทำให้ อาจารย์ทราบได้ว่า ทำไมเด็กถึงตอบออกมาเป็นเช่นนั้น รายวิชาบางรายวิชา ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิดเสมอไป แต่คำตอบนั้นจะถูกหรือผิด ต้องดูจากที่มาของคำตอบหรือการวิเคราะห์ก่อนที่จะได้คำตอบนั้นมา เมื่อเด็กไม่ได้ฝึกในส่วนนี้ ทำให้เด็กไทยมองหาแต่ คำตอบที่ถูกต้อง อาจารย์หลายๆ คนจะได้พบคำถามจากเด็กที่ถามว่า สรุปมันถูกหรือผิดครับ มันดำหรือขาวครับ แต่เด็กจะไม่ค่อยเข้าใจกับเรื่องราวหรือสถานการณ์ที่เป็นได้ทั้งถูกและผิดที่ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม

คำถามต่อไปก็คือ แล้วทำไมคุณครูถึงไม่ออกข้อสอบเป็นปรนัย หากคำตอบคือ คุณครูไม่มีเวลาตรวจ ก็คงต้องถามต่ออีกว่า แล้วคุณครูเอาเวลาไปทำอะไร เอาเวลา ไปทำงานอะไร หรือเอาเวลาไปทำงานส่งใคร ถึงไม่มีแม้แต่เวลาที่จะมาตรวจงานเด็ก ซึ่งเป็นงานหลักของอาชีพครู

ผู้ใหญ่ในวงการศึกษาคงตอบได้นะครับ จริงๆ แล้วผมไม่ได้จะโทษ หรือกล่าวว่า ครูประถม มัธยม เพียงอย่างเดียวหรอก แต่ที่ผมเน้นไปที่ครูมัธยมกับประถมเพราะวัย ของเด็กนั้นยังสามารถพัฒนาและแก้ไขได้ แต่พอก้าวเข้ามาสู่วัยมหาวิทยาลัยแล้ว มันแก้ยาก แค่นั้นเองครับ เพราะเอาเข้าจริงๆ อาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยหลายคน ก็ต้องออกข้อสอบเป็นปรนัยเช่นกัน เพราะเขาก็ไม่มีเวลาตรวจเช่น หรือไม่ก็การออกข้อสอบปรนัยหรืออัตนัยกับการตรวจงาน ไม่ได้ส่งผลในทางดีให้กับอาชีพเขาอย่างไร

สู้เอาเวลาไปทำงานอื่นๆ ที่คนอื่นสั่งให้เขาทำเพื่อส่งผลในอาชีพให้ก้าวหน้าไม่ดีกว่าเหรอ...ใช่ไหมครับ


ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ