ผู้เขียน หัวข้อ: Area-Based Education สร้างการศึกษาตอบโจทย์จังหวัด  (อ่าน 2829 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3925
การจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐานใน 14 จังหวัด เพื่อส่งเสริมจังหวัดให้สามารถปฏิรูปการศึกษาหรือการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนในระยะยาว

เพราะสภาพปัญหาการศึกษาของแต่ละจังหวัด หรือแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน การบริหารการศึกษาให้มีประสิทธิภาพจึงควรตอบโจทย์ตามบริบทของพื้นที่นั้น ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพผู้เรียนให้สอดคล้องกับความต้องการโดยรวม

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ดำเนินโครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้หรือการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน (Area-Based Education) ใน 14 จังหวัด เพื่อส่งเสริมจังหวัดให้สามารถปฏิรูปการศึกษาหรือจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนได้เองในระยะยาว

1ใน14จังหวัดของโครงการคือ จังหวัดเชียงใหม่ โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เป็นหน่วยงานประสานเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงาน 99 องค์กร 26 บุคคล มาร่วมผนึกกำลังขึ้นเป็นภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา อันนำไปสู่การตกผลึกแนวคิดออกมาเป็นยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ระยะ 4 ปี (2559-256) มีวิสัยทัศน์มุ่งจัดการศึกษาของจังหวัดเชียงใหม่ให้มีคุณภาพตามศักยภาพที่หลากหลาย โดยมีการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อน 9 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

หนึ่ง การสร้างปัจจัยและสภาวะแวดล้อมอย่างหลากหลายที่เป็นเอกลักษณ์เชียงใหม่

สอง ส่งเสริมวิถีการเรียนรู้และสืบทอดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างหลากหลาย

สาม พัฒนาศักยภาพผู้เรียนทุกระดับทั้งร่างกาย และจิตใจ ให้เพิ่มสมรรถนะการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีทักษะและคุณลักษณะในศตวรรษที่ 21

สี่ เสริมสร้างทัศนคติและสนับสนุนการจัดการศึกษาเพื่อสัมมาชีพ

ห้า เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของครูและอาจารย์ทุกระดับ

หก เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ

เจ็ด เสริมสร้างค่านิยมและทัศนคติด้านการศึกษาเพื่อชีวิตแก่ผู้ปกครอง

แปด ขยายเครือข่ายความร่วมมือจัดการศึกษาทุกภาคส่วน

เก้า ยกระดับการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่เชียงใหม่

โดยเร็ว ๆ นี้ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้ทำบันทึกข้อตกลงกับสถานศึกษา 600 แห่งของ จ.เชียงใหม่ ซึ่งสถานศึกษาเหล่านี้จะร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยการนำยุทธศาสตร์ข้างต้นไปปรับใช้กับการจัดการเรียนการสอนและการบริหารงานด้านการศึกษาของโรงเรียนโดยหนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการอย่างร.ร.แม่อายวิทยาคมจ.เชียงใหม่ นับเป็นสถานศึกษาที่มีจุดแข็งในยุทธศาสตร์ที่ 4 เพราะเป็นโรงเรียนนำร่องจัดการศึกษาตามโครงการ Career Academy

ภายใต้ความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) คณะวิทยาศาสตร์ และศูนย์นวัตกรรมและการจัดการเรียนรู้ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี ม.เชียงใหม่

"เรืองฤทธิ์ อภิวงศ์" ผู้อำนวยการ ร.ร.แม่อายวิทยาคม บอกว่า แต่ละปีมีเด็กที่ไม่ได้เรียนต่อหรือหลุดออกจากระบบ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้บางส่วนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เพระไม่มีทักษะการทำงาน การเข้าร่วมโครงการ Career Academy รวมถึงการทำงานกับบริษัท เพียรกุศลไหมและฝ้าย จำกัด จึงนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนห้องเรียนหม่อนไหมและใยฝ้าย โดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นหลัก ฝึกทักษะในการสังเกต ทดลอง วิเคราะห์ และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้อย่างมีเหตุผล

"เราใช้หลักสูตรนี้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยให้พวกเขาเรียนรู้ด้านวิชาการไปพร้อมกับการฝึกทักษะอาชีพ เช่น การปลูกใบหม่อน การทำเส้นใยธรรมชาติ การทอผ้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการตลาดครบวงจร ซึ่งพวกเขาสามารถไปประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมสิ่งทอ หรือเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาต่อในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในอนาคต"

ในทางเดียวกัน จ.ภูเก็ต เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความกระตือรือร้น และให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาในพื้นที่ โดยมีการก่อตั้งสภาการศึกษา จ.ภูเก็ต ให้เป็นเหมือนองค์กรเชื่อมประสานเครือข่ายส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ผ่านภาคท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ด้วยวิธีการสร้างคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพ และลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้าง จ.ภูเก็ตให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

การดำเนินงานของสภาการศึกษา จ.ภูเก็ตเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2556 โดยมีการวางระบบข้อมูลพื้นฐานการศึกษาของจังหวัด การบูรณาการเป้าหมายและทรัพยากรในการพัฒนาการศึกษา และยกระดับการเรียนรู้ การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งในการพัฒนาการเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชน ประชาชน และผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนการจัดทำโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ จ.ภูเก็ต จนทำให้ทราบว่าภูเก็ตประสบปัญหาว่างงาน สวนทางกับข้อมูลด้านแรงงานในจังหวัดที่งานหลายตำแหน่งขาดคนทำงาน

สภาการศึกษา จ.ภูเก็ต จึงร่วมกับเทศบาลนครภูเก็ต สถานประกอบการ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานราชการ จัดนิทรรศการเปิดโลกสัมมาชีพ Learn for Live 2016 เพื่อเชื่อมโยงภาคีต่าง ๆ ในท้องถิ่นในการเสริมสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปกครอง ครู และนักเรียนได้เห็นถึงภาพอนาคตของจังหวัด โดยใช้โจทย์ความต้องการของพื้นที่เป็นฐาน ขณะเดียวกัน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็กชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในการตัดสินใจและเลือกเส้นทางอาชีพของตนเอง

อย่างไรก็ดีหากมองถึงภาพรวมของจ.ภูเก็ตซึ่งเป็นไข่มุกแห่งอันดามัน และบูมด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งทางจังหวัดมีนโยบายในการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวทางทะเล เพื่อเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก กอปรกับท่าเรือของจังหวัดที่มีอยู่ 6 แห่ง แบ่งเป็นเอกชน 4 แห่ง และภาครัฐ 2 แห่ง นำไปสู่การวิจัยแรงงานของจังหวัดที่ปรากฏผลว่ามีความต้องการแรงงานด้านเรือและต้องเร่งผลิตคนขึ้นมารองรับ จึงเกิดเป็นหลักสูตรงานซ่อมบำรุงเรือที่วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต

"รุ่งทิวา สมรักษ์" อาจารย์หัวหน้างานสาขางานซ่อมบำรุงเรือ วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต บอกว่าเราเปิดทำการสอนหลักสูตรนี้มาตั้งแต่ปี 2549 มีการร่วมมือกับสถานประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 30 แห่ง ในการจัดทำหลักสูตรร่วมกันเพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของตลาดแรงงาน โดยรับนักศึกษาปีการศึกษาละ 20 คน

"เราจัดการศึกษาระบบทวิภาคี คือมีการเรียนรู้ด้านวิชาการในวิทยาลัยควบคู่ไปกับการฝึกงานจริงอย่างเข้มข้นในสถานประกอบการ โดยระดับ ปวช.2 ภาคเรียนที่ 3-4 และระดับ ปวช.3 ภาคเรียนที่ 5 นักเรียนของเราจะเข้าไปฝึกงานกับสถานประกอบการที่มีความร่วมมือกับวิทยาลัย สำหรับการทำงานของนักเรียนจะมี 3 สถานี คือ สถานีงานตัวเรือ คานเรือ มาริน่า สถานีงานเครื่องยนต์เรือ และสถานีงานไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเรือ"

เมื่อนักเรียนเรียนจบระดับ ปวช.สามารถเข้าทำงานกับบริษัทซ่อมบำรุงเรือได้ทันที เพราะถือว่ามีทักษะและความรู้ความสามารถครบถ้วน รวมถึงมีประกาศนียบัตรจากสถานประกอบการการันตีมาตรฐานการทำงานของผู้เรียนด้วย โดยเงินเดือนแรกเข้าเริ่มต้นที่เดือนละ 12,000 บาท อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเด็กระดับ ปวช.ที่เข้าสู่การเป็นช่างซ่อมบำรุงเรือมีเพียงปีละ 3-4 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเรียนต่อระดับ ปวส. ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอต่อตลาดแรงงานที่มีความต้องการช่างซ่อมบำรุงเรืออย่างน้อยปีละ 100 คน

จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ภาคส่วนต่าง ๆ ของจังหวัดจะต้องขบคิดว่าทำอย่างไรเพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้เรียน ทั้งนั้น เพื่อให้การจัดการศึกษาที่เกิดขึ้นสอดรับกับบริบทของพื้นที่ให้ได้มากที่สุด

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 29 มกราคม 2559