ผู้เขียน หัวข้อ: ทบทวนระบบการประกันคุณภาพ การศึกษาของไทยเดี๋ยวนี้... ฤๅว่าจะสายเกินไป  (อ่าน 3441 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3925
ทบทวนระบบการประกันคุณภาพ การศึกษาของไทยเดี๋ยวนี้... ฤๅว่าจะสายเกินไป

          ผศ.ดร.วิวรรธน์ ปาณะสิทธิพันธุ์
          มหาวิทยาลัยรังสิต


          พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 กฎหมายฉบับนี้มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ได้คุณภาพทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ โดยได้กำหนดให้ระบบการศึกษาทั้งระบบของประเทศมีการประกันคุณภาพการศึกษา (มาตรา 47) เพื่อประโยชน์ของผู้ปกครอง นักศึกษา ผู้ใช้บัณฑิต สังคมโดยรวม รวมไปถึงจะทำให้ระบบการศึกษาของไทยมีขีดความสามารถในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสามารถแข่งขันหรือมีความทัดเทียมกับระบบการศึกษาของประเทศอื่นๆ อีกทั้งยังได้กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นผู้ดำเนินการด้านการประกันคุณภาพภายในสถาบัน และให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เป็นผู้ที่ดำเนินการการประกันคุณภาพภายนอก (มาตรา 48 และมาตรา 49)

          ปัจจุบันนับเป็นเวลาประมาณ 16 ปีแล้ว ที่สถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนทุกสถาบันต่างเข้าสู่ระบบการประกันคุณภาพที่ถูกตราไว้เป็นกฎหมายฉบับนี้มาโดยตลอด สังคมต่างคาดหวังว่าคุณภาพการศึกษาจะพัฒนาดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

          มีการสำรวจความคิดเห็นที่มีต่อบทบาทหน้าที่และการทำงานของ สกอ.และ สมศ. ดำเนินการโดยสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่ง ในระยะเวลาปลายปี 2557 โดยรวบรวมข้อมูลจากสถาบันอุดมศึกษา 170 สถาบัน ทั้งที่เป็นสถาบันของรัฐและเอกชน ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 52 เป็นอาจารย์ ร้อยละ 15.2 และ 15.6 ดำรงตำแหน่งคณบดีและรองคณบดีตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีรองอธิการบดี ร้อยละ 7.4 ผู้ช่วยอธิการบดี ร้อยละ 4.8 และอธิการบดี ร้อยละ 0.8 ตามลำดับ ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดมีส่วนร่วมในการประเมินคุณภาพการศึกษาแทบทั้งสิ้น ผลการสำรวจพบว่า จากการดำเนินการตามระบบประกันคุณภาพที่ดำเนินงานโดยองค์กรทั้งสองคือ สกอ.และ สมศ. ที่ผ่านมานั้นเพิ่มภาระงาน สิ้นเปลืองเวลา และค่าใช้จ่ายทำให้เกิดปัญหาในการบริหารงานของหน่วยงาน ทั้งนี้เพราะระบบการประกันคุณภาพทั้งของ สกอ.และของ สมศ. สถาบันการศึกษาต้องดำเนินการทำทุกปีการศึกษาทั้ง 2 ระบบ

          เราจะปฏิเสธในข้อเท็จจริงข้อหนึ่งไม่ได้ว่าระบบการประกันคุณภาพการศึกษาที่ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือประเทศอังกฤษนั้นต้องมีการรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร ผู้ประเมินมีความรอบรู้ด้านการศึกษา ดังนั้นเขาจะเรียกร้องหาเอกสารหลักฐานน้อยมาก แตกต่างจากระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของไทยเป็นอย่างมาก ในการประเมินคุณภาพแต่ละครั้งผู้ประเมินจะเรียกหาหลักฐานที่เป็นเอกสาร ทั้งนี้เพื่อที่จะตอบคำถามหรือให้รองรับกับเกณฑ์การประเมินคุณภาพการศึกษาที่ถูกออกแบบมาบังคับให้สถาบันการศึกษาต้องทำตาม (มาตราที่ 50 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ) เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือ ผู้ประเมินคุณภาพการศึกษาของไทยจำนวนมากมีความไม่เชื่อถือและขาดความเข้าใจต่อบริบทของสถาบันที่ตนเองเข้าประเมิน ผู้ประเมินขาดมุมมองและทัศนคติเชิงบวกต่อระบบการศึกษาจนในบางครั้งได้ให้ข้อเสนอแนะที่สถาบันการศึกษาไม่สามารถจะปฏิบัติได้
          แล้วทำไมสถาบันการศึกษาจึงไม่เลือกแนวทางการประกันคุณภาพที่เหมาะสมกับตนเอง

          ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าระบบการประกันคุณภาพการศึกษาไทยเป็นระบบบังคับทำโดยกฎหมาย เป็นระบบที่ออกแบบให้ทุกสถาบันไม่ว่าจะเป็นสถาบันเล็ก สถาบันใหญ่ สถาบันที่ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ สถาบันที่ตั้งอยู่ต่างจังหวัด ทุกสถาบันต้องทำตามแนวทางที่ผู้รับผิดชอบเห็นว่า นี่คือระบบการประกันคุณภาพ ที่จะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น และสถาบันการศึกษาไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นเมื่อมองในภาพรวม สถาบันการศึกษามีบริบทที่แตกต่างกัน แต่ใช้ตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินคุณภาพชุดเดียวกันจึงได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน สถาบันขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบมาก สถาบันขนาดเล็กย่อมได้รับผลกระทบมากกว่า เสมือนนักมวยที่ชกข้ามรุ่นต้องแบกน้ำหนักมากและมักจะบอบช้ำมากเมื่อชกครบยก เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือผลของการบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

          ในภาพรวมแล้วระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของไทยจึงกลายเป็นยาขมหม้อใหญ่ที่ทุกสถาบันการศึกษาต้องดื่มด้วยความขมขื่น ไม่ว่าจะเป็นภาระงานด้านเอกสารที่มีมากมาย รวมถึงกำลังคนที่มาทำงานด้านเอกสารเพื่อการประกันคุณภาพ เวลาที่ใช้ในการดำเนินงานกิจกรรมที่แม้ผู้ปฏิบัติจะเห็นว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ซ้ำซาก แต่ก็จำเป็นต้องทำ วิธีการดังกล่าวล้วนเป็นความสูญเสียอย่างมหาศาลในด้านทรัพยากร คน เวลา และงบประมาณ

          จะเห็นได้ว่า ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาที่ทั้งสองหน่วยงานรับผิดชอบ เป็นกลไกที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายคุณภาพการศึกษาด้วย ตัวมันเอง ทั้งนี้เพราะครูบาอาจารย์แทนที่จะทุ่มเทเวลามากมายกับการเรียนการสอน และการวิจัยที่เป็นหัวใจของคุณภาพการศึกษา กลับต้องมาใช้เวลาส่วนใหญ่สาละวนอยู่กับการเตรียมเอกสารเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษา องค์กรทั้งสองแห่งที่ รับผิดชอบด้านการประกันคุณภาพ คือ สมศ.และ สกอ.ต่างขาดความเชื่อถือในอาชีพครู ขาดทัศนคติเชิงบวกต่อระบบการเรียนการสอน ไม่เชื่อถือคุณภาพของบัณฑิตที่สถาบันได้ผลิตขึ้นมา ดังนั้นระบบการประกันคุณภาพของไทยจึงไม่ก้าวไปถึงไหน และจมอยู่กับความคิดเดิมเดิม

          ยกตัวอย่างเช่น ในการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา สกอ.ได้กำหนดตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินคุณภาพการศึกษาขึ้นมาใหม่ โดยให้เริ่มใช้ในการประเมินคุณภาพการศึกษา ภายในของปีการศึกษา 2557 เมื่อพิจารณาเพียงผิวเผินจะเห็นว่าตัวบ่งชี้ดังกล่าวจะสอดคล้องกับภารกิจของสถาบันอุดมศึกษาก็ตาม แต่ในทางปฏิบัตินั้นตรงกันข้าม ในเมื่อระบบการประกันคุณภาพใหม่ของ สกอ.ให้ใช้ข้อมูลตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เท่านั้น ดังนั้นระบบการประกันคุณภาพใหม่นี้จึงเป็นระบบที่ปฏิเสธความเป็นจริงด้านการจัดการศึกษาที่ว่าการจัดการศึกษาเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องเฉกเช่นเดียวกันกับการเรียนรู้ของมนุษย์ที่เป็นกระบวนการต่อเนื่องเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้การประเมินคุณภาพจึงไม่ตรงกับความเป็นจริง

          และในตัวอย่างที่คล้ายคลึงกัน เมื่อถึงเวลาที่จะมีการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกรอบที่ 4 สมศ.ได้นำเสนอตัวบ่งชี้และเกณฑ์ประเมินคุณภาพการศึกษา แต่ถูกสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 4 กลุ่ม คือ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคล กลุ่มมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้า และกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชนแสดงความไม่เห็นด้วยกับการนำตัวบ่งชี้ที่ไม่สะท้อนคุณภาพการศึกษามาใช้ประเมิน อีกทั้งการดำเนินงานตามตัวบ่งชี้เหล่านั้นก่อให้เกิดภาระงานที่ไม่จำเป็นมากมาย จนเป็นเหตุให้ที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) ปฏิเสธแนวทางการประเมินตามตัวบ่งชี้และเกณฑ์ที่ สมศ. กำหนดอย่าง สิ้นเชิง

          ที่ผ่านมา สถาบันการศึกษาจะประสบปัญหาที่ ผู้บริหาร คณาจารย์ ต่างพยายามผลักดันตนเองให้ไกลจากภาระงานด้านการประกันคุณภาพ ครูบาอาจารย์แทบทุกคนจะรู้ว่างานประกันคุณภาพเป็นภาระงานที่ไม่ได้ส่งผลเชิงบวกต่อคุณภาพการศึกษา จึงไม่ค่อยมีใครอยากจะทำด้วยความเต็มใจ หากแต่เป็นภาระงานที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย

          นี่คือสภาพปัจจุบันของระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของไทย

          เมื่อใดที่องค์กรนานาชาติมีการจัดลำดับคุณภาพการศึกษาขึ้นมา สถาบันการศึกษาทั้งระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษาไทยไม่ติดอันดับที่ดีเลย ยิ่งไปกว่านั้นการจัดอันดับบางครั้งประเทศไทยมีคุณภาพการศึกษาต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเสียอีก และที่น่าอดสูไปกว่านั้นก็คือ องค์กรที่รับผิดชอบในการประกันคุณภาพไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบใดใดเลย หรือว่าไม่มีความละอายใจกันหรืออย่างไร

          ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องมีการทบทวนระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของไทยเสียใหม่ ตั้งแต่ด้านกฎหมาย บทบาทและการดำเนินงานของ สกอ.และ สมศ. และต้องทำอย่างจริงจัง...ทันที หยุดปู้ยี่ปู้ยำระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของชาติได้แล้ว...ก่อนที่จะสายเกินแก้

          --มติชน ฉบับวันที่ 13 เม.ย. 2559 (กรอบบ่าย)--