ผู้เขียน หัวข้อ: ขับเคลื่อนการศึกษาไทยอย่างไร จึงถูกใจประชาชน  (อ่าน 3335 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3925
ขับเคลื่อนการศึกษาไทยอย่างไร จึงถูกใจประชาชน โดย ดร.ดำรงค์ ชลสุข



1.ผู้บริหารสถานศึกษา
2.ครู บุคลากรทางการศึกษา และพ่อแม่ (ผู้ปกครอง)
3.หลักสูตร
4.บรรยากาศโรงเรียน

ก่อนที่จะกล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาสู่การปฏิรูปประเทศในปัจจุบัน ผู้เขียนขอย้อนถึงการที่รัฐบาลได้จัดตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ขึ้น ก็เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พุทธศักราช 2557 มาตรา 31 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ และจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปด้านต่างๆ ได้แก่ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

การปกครองท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สื่อสารมวลชน การพลังงาน สังคม กีฬา ศิลปวัฒนธรรมการศาสนาคุณธรรมและจริยธรรม รวมแล้วเป็น 11 ด้านใหญ่ๆ

ผู้เขียนในฐานะที่เป็นประชาชนชาวไทยคนหนึ่ง ซึ่งสนใจด้านการศึกษา จึงขอนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาต่อผู้อ่านและผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

จากภาพจะเห็นว่ารถโรงเรียน (SCHOOL BUS) จะเดินทางไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ต้องมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ได้แก่ คนขับรถซึ่งหมายถึงรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูงอันประกอบด้วยปลัดกระทรวง และซี 11 ในกระทรวงศึกษาธิการ และล้อรถ 4 ล้อ ได้แก่ 1) ผู้บริหารสถานศึกษา 2) ครู-บุคลากรทางการศึกษา-พ่อแม่นักเรียน 3) หลักสูตร และ 4) บรรยากาศโรงเรียน นอกจากนั้นการขับเคลื่อนครั้งนี้ยังมีปัจจัยนอกมาเกี่ยวข้องอีก 4 ปัจจัย ได้แก่ ก) การเมือง ข) ประชากร ค) กฎหมาย และ ง) เทคโนโลยีและนวัตกรรม

สำหรับแต่ละปัจจัยที่เป็นแรงขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (ด้านการศึกษา) มีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

1.ผู้บริหารสถานศึกษา : ควรดำเนินการดังต่อไปนี้

1.1 จัดให้มีการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาทุกแห่งอย่างเป็นระบบ ครบวงจร และต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มเข้ารับตำแหน่งระหว่างปฏิบัติงาน โดยวิธีการที่ทันสมัย เช่น สัมมนา ฝึกอบรม ศึกษาดูงานทั้งภายในและนอกประเทศ การพัฒนาควรเน้นทักษะ 3 ด้านให้ครบ คือ ทักษะด้านการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจ สั่งการ และแก้ปัญหา (Conceptual Skill) ทักษะด้านคน (Human Skill) และทักษะด้านเทคนิคเชี่ยวชาญเฉพาะ (Technical Skill)

1.2 ปรับปรุงระบบ กระบวนการสรรหา และแต่งตั้งผู้บริหารสถานศึกษาให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม โดยยึดหลักระบบคุณธรรม (Merit System)

1.3 พิจารณาดำเนินการปรับระดับตำแหน่งของรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาให้เท่าเทียมกับศึกษานิเทศก์

1.4 กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารสถานศึกษาไม่เกิน 2 ปี แล้วมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียน (Rotation)

1.5 ให้ผู้บริหารสถานศึกษาแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อสำนักงาน ป.ป.ช.

1.6 ลงโทษผู้บริหารสถานศึกษาที่ทุจริตประพฤติมิชอบต่อตำแหน่งหน้าที่อย่างเฉียบขาดและรุนแรง เช่น จำคุก ถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เป็นต้น

1.7 ให้ผู้บริหารสถานศึกษาทุกระดับประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามจรรยาบรรณวิชาชีพครู หากละเว้นไม่ปฏิบัติตามให้ถือเป็นโทษทางวินัยด้วย

1.8 ผู้บริหารสถานศึกษาต้องเป็นผู้สอนแนะนำงาน (Coaching) และเป็นพี่เลี้ยง (Mentors) แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้เป็นอย่างดีมีประสิทธิภาพ

2.ครู บุคลากรทางการศึกษา และพ่อแม่ (ผู้ปกครอง)

2.1 ครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของนักเรียน (Role Model) ด้านจริยธรรม มีความสามารถในการพัฒนาวิธีการเรียนการสอนให้ทันสมัย รู้และเข้าใจในจุดมุ่งหมายของการศึกษาแห่งชาติ นำหลักสูตรไปใช้ได้ จัดทำข้อสอบและแบบทดสอบได้ ประเมินผลการเรียนของนักเรียนได้ เลือก-สร้าง-จัดทำอุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอนได้ ครูต้องรักและเอาใจใส่ดูแลนักเรียนเสมือนลูกของตนเอง แก้ปัญหาการเรียนของนักเรียนได้ ประสานสัมพันธ์กับผู้ปกครองนักเรียนและชุมชนได้ ครูต้องผ่านการอบรมและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นระบบครบวงจร และที่สำคัญการเลื่อนวิทยฐานะของครู ให้พิจารณาจากผลการทำงานโดยยกเลิกการประเมินจากเอกสารทางวิชาการที่ครูทำขึ้นเอง

2.2 ให้สวัสดิการและขวัญกำลังใจแก่ครูอัตราจ้างและบุคลากรทางการศึกษา เช่น จัดให้มีการทำงานล่วงเวลาโดยสามารถเบิกจ่ายเงินได้ จัดบ้านพัก จัดอาหารกลางวันราคาถูก จัดรถสวัสดิการรับส่ง และส่งเสริมให้ครูอัตราจ้าง ลูกจ้าง สามารถสอบบรรจุเป็นพนักงานข้าราชการได้

2.3 สำหรับพ่อแม่ (ผู้ปกครอง) นั้น โรงเรียนหรือสถานศึกษาควรเชิญพ่อแม่ของนักเรียนเข้าร่วมประชุมโรงเรียน พ่อแม่ต้องเป็นติวเตอร์ (Tutor) แก่ลูกของตนเองได้ พ่อแม่ต้องควบคุมการทำงานบ้าน และการไป-กลับระหว่างบ้าน-โรงเรียนให้ตรงตามเวลา ตลอดจนควบคุมการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ และเล่นอินเตอร์เน็ตขณะอยู่ที่บ้าน อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ไม่ควรเลี้ยงลูกด้วยเงิน แต่เลี้ยงลูกด้วยใจรักเอาใจใส่ดูแลให้ความอบอุ่น

3.หลักสูตร : การพัฒนาหลักสูตรใหม่ตามแนวปฏิรูปต้องเป็นหลักสูตรพัฒนา ทักษะŽ ไม่เน้น องค์ความรู้Ž หลักสูตรควรแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1)เป็นหลักสูตรที่ส่วนกลางเป็นผู้จัดทำ 2)เป็นหลักสูตรแบบยืดหยุ่นได้ และ 3)เป็นหลักสูตรแบบผสมผสาน ทั้งนี้ หลักสูตรกลางของแต่ละหน่วยงานการศึกษาทั้งระดับท้องถิ่นและสถานศึกษาสามารถนำไปปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนได้ สำหรับการสร้างหลักสูตรควรยึด 3 หลัก คือ ก)ความสามารถทางวิชาการ เน้นการวิเคราะห์ ประเมินผลได้อย่างเป็นอิสระ มีการค้นหาคำตอบและมีการแก้ปัญหา ข)จริยธรรมและคุณธรรม (To be rich in humanity) และ ค)จิตใจที่แจ่มใสอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์ (Sound mind in a sound body) สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น สิงคโปร์ จะเน้นวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์

ในปัจจุบันทางรัฐบาลไทยได้เพิ่มเนื้อหาวิชาคุณธรรมจริยธรรม การรักชาติ ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ และประชาธิปไตยเข้าไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนแล้ว ทั้งนี้ มีการปรับวิธีการเรียนเปลี่ยนวิธีการสอน เพื่อให้เด็กใช้กระบวนการคิดและวิเคราะห์เป็น

4.บรรยากาศโรงเรียน : คือสภาพแวดล้อมที่มีองค์ประกอบ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านกายภาพ สังคม และวิชาการ บรรยากาศโรงเรียนจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียน มีการต้อนรับทุกคนด้วยความยินดี และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับบุคคลอื่นๆ ครูมิใช่เพียงแต่เป็นผู้สอนหนังสือ แต่ต้องสอนการเป็นพลเมืองดีแก่นักเรียนให้นักเรียนสามารถค้นหาศักยภาพสูงสุดของตนเองได้ (Actualization) บรรยากาศโรงเรียนประกอบด้วย 3 มิติ ได้แก่ 4.1)มิติทางกายภาพ 4.2)มิติทางสังคม และ 4.3)มิติทางวิชาการ

4.1 มิติทางกายภาพ ประกอบด้วย อาคารเรียนที่สะอาดสวยงามมีสีสัน มีห้องเรียนที่ไม่แออัด มีห้องสมุด มีแหล่งวิทยากร มีห้องทดลอง มีโรงฝึกงาน และห้องพิธีการทางศาสนา เช่น ห้องฝึกสมาธิและทำละหมาด ขนาดโรงเรียนและอัตราส่วนระหว่างครูต่อนักเรียนที่เป็นมาตรฐาน มีคำสั่งต่างๆ ที่ติดให้เห็นชัดเจน

ที่สำคัญสถานศึกษาต้องตระหนักถึงความสะดวกและความปลอดภัยของนักเรียน นอกจากนั้นอุณหภูมิของห้องเรียนต้องเหมาะสม ปราศจากกลิ่นเหม็นจากมลพิษ ขยะ และอื่นๆ ตลอดจนที่ตั้งของโรงเรียนควรห่างจากเสียงรบกวน

4.2 มิติทางสังคม ประกอบด้วย คุณภาพความติดต่อปะทะสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา คำนึงถึงความเป็นธรรม ปฏิบัติต่อนักเรียนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาควรมีส่วนร่วมกันในการแก้ปัญหา และวินิจฉัยสั่งการในการแก้ปัญหาของโรงเรียนร่วมกัน

4.3 มิติทางวิชาการ ประกอบด้วย คุณภาพทางวิชาการ ความคาดหวังของครูต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน การตรวจสอบความก้าวหน้าของนักเรียน มีการรายงานผลการเรียนให้นักเรียนและผู้ปกครองได้รับทราบ การปรับปรุงบรรยากาศของโรงเรียนมีหลายวิธี เช่น สร้างสรรค์ให้เกิดความห่วงใยชุมชน ส่งเสริมให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมด้านจริยธรรมทางบวก ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างบ้านและชุมชนเสมือนทั้งบ้านกับสังคมเป็นหุ้นส่วนซึ่งกันและกัน

สําหรับปัจจัยภายนอกอีก 4 ปัจจัย ได้แก่ ก)การเมือง ข)ประชากร ค)กฎหมาย และ ง)เทคโนโลยีและนวัตกรรม เห็นว่าปัจจัยทั้ง 4 มีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปทางการศึกษาของไทย ดังจะได้สรุปให้เห็นเป็นประเด็น ต่อไปนี้

ก)การเมือง : การเปลี่ยนนโยบายการศึกษาบ่อยครั้งด้วยสาเหตุทางการเมือง ทำให้การบริหารจัดการขาดความต่อเนื่อง การบริหารจัดการด้านคน วิธีการบริหาร วัสดุอุปกรณ์ และเงิน (4 SM) เปลี่ยนไปตามยุคของรัฐบาลนั้นๆ นอกจากนั้นการเมืองยังมีอิทธิพลในการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในกระทรวง

ข)ประชากร : การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ทำให้มีนักเรียนนักศึกษาจำนวนมาก

การบริหารจัดการยุ่งยากซับซ้อน การย้ายถิ่นของประชากร เนื่องจากการหางานทำของพ่อแม่นักเรียน ทำให้นักเรียนขาดโอกาสทางการศึกษา เรียนไม่จบลาออกกลางคัน ในประเทศไทยมีประชากรหลายชนเผ่า (ชาติพันธุ์) ทำให้การเรียนรู้ภาษาไทยเป็นปัญหาของนักเรียนชาติพันธุ์

ค)กฎหมาย : กฎหมายทางการศึกษาล้าสมัยไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพชีวิตการเป็นจริงของสังคม เช่น มีกฎระเบียบการลงโทษเด็กด้วยการเฆี่ยนตี เป็นอุปสรรคในการปกครองของครูที่ต้องลงโทษเด็กเพื่อการหลาบจำ และยังมี พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับที่ให้เด็กต้องเรียนในโรงเรียนครบ 12 ปี โดยทางปฏิบัติการลงโทษผู้ปกครองที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ไม่สมบูรณ์ ทำให้ขาดมาตรการลงโทษที่รุนแรงและเด็ดขาด นอกจากนั้น การให้ผู้ปกครองหรือพ่อแม่สามารถจัดการเรียนการสอนบุตรหลานของตนได้ที่บ้าน โดยไม่ต้องส่งไปโรงเรียน ทำให้การศึกษาขาดคุณภาพและประสิทธิภาพ

ง)เทคโนโลยีและนวัตกรรม : ในปัจจุบันประเทศไทยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นรอบตัวนักเรียน (เด็ก) เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีทั้งผลดีและผลเสียแก่เด็กและเยาวชน กล่าวคือ ส่วนดี เด็กได้เรียนรู้เรื่องที่อยากรู้ได้รวดเร็วทันสมัย ทันเหตุการณ์ ลดเวลาการสอนของครู และเด็กสามารถแสวงหาความรู้ต่างๆ ด้วยตนเองได้ตลอดเวลา ส่วนเสีย เด็กไม่สามารถคัดกรองข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต สื่อลามกต่างๆ ว่าดีเลวอย่างไรทำให้พวกเขาเลียบแบบรับเอาแบบอย่างหรือวัฒนธรรมไม่ดีงามจากสื่อต่างๆ มาใช้อย่างรวดเร็ว

ทำให้เกิดปัญหาทางอาชญากรรม เด็กมีครรภ์ก่อนวัยสมควร และปัญหาที่คุ้นเคยกันก็คือเด็กติดอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

การขับเคลื่อนการปฏิรูปจะสำเร็จได้นั้น ต้องปฏิรูปที่ตัวผู้บริหารสถานศึกษาก่อน ทั้งนี้ เพราะบุคคลดังกล่าวเป็น Key Man ที่มีความสำคัญและอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงขององค์กร (Chang agent) เมื่อปฏิรูปผู้บริหารสถานศึกษาแล้ว ต่อไปจะต้องปฏิรูปที่ตัวครู และบุคลากรทางการศึกษา โดยให้ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นแกนนำในการปฏิรูปอีกทอดหนึ่ง ครูต้องมีส่วนร่วมในการสร้าง-พัฒนาหลักสูตร หลักสูตรต้องสนองตอบความต้องการของนักเรียนและตลาดแรงงาน จัดโรงเรียน-สถานศึกษาให้น่าอยู่น่าเรียนสะอาดมีสีสัน ครู-บุคลากรทางการศึกษารักเมตตา เอาใจใส่เด็กเสมือนลูกของตน

และสุดท้ายนำหลักของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโตฺ) ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาคนขององค์กรให้เป็นคนเต็มคน เน้นพัฒนากาย พัฒนาศีล พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา โดยยึดจุดมุ่งหมายให้นักเรียนเป็นคนดี คนเก่ง และคนมีความสุข

ที่มา :  http://www.matichon.co.th/news/108759
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 24, 2016, 11:41:39 AM โดย เลิศชาย ปานมุข »