ผู้เขียน หัวข้อ: รมช.ศธ.ปาฐกถาพิเศษ "บัณฑิตศึกษากับการพัฒนาประเทศสู่อนาคต"  (อ่าน 3499 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3925
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ?บัณฑิตศึกษากับการพัฒนาประเทศสู่อนาคต? ในงานเสวนาวิชาการ 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : หลักสูตรบัณฑิตศึกษาสู่อนาคต เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2559 ที่ห้องประชุมสำนักงานวิทยทรัพยากร อาคารมหาธีรราชานุสรณ์

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยใช้งบประมาณในการลงทุนเพื่อการศึกษาจำนวนมาก แต่ผลที่ออกมาถือว่ายังไม่คุ้มค่าและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ตลอดจนยังไม่ได้นำหลักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักวิชาที่ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าและหลากหลายทางเลือก มาปรับใช้กับการจัดสรรทรัพยากรทางด้านการศึกษา

ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่างแนวคิดตามหลักเศรษฐศาสตร์ของผู้ว่าธนาคารแห่งญี่ปุ่น ซึ่งมีหลักการพื้นฐาน 3 ข้อ ที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเจริญได้อย่างยั่งยืน และสามารถประยุกต์ใช้ในการพัฒนาทรัพยากรด้านต่างๆ ดังนี้

1) การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์และการลงทุนที่เจาะจงทักษะ เพื่อเป็นการตั้งมาตรฐานในการลงทุนเรื่องของคน เช่น การคิดวิเคราะห์ ซึ่งในปัจจุบันมีการนำรูปแบบของ STEM ย่อมาจาก Science, Technology, Engineering, Mathematics) เป็นการประยุกต์วิชาวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน แบ่งเป็น 6 ขั้นตอน คือ จำได้ (Recall), เข้าใจ (Comprehend), ประยุกต์ใช้ (Apply), วิเคราะห์ (Analyze), สังเคราะห์ (Synthesize) และประเมินผล (Evaluate)

ดังนั้น หากพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ต้องใช้กระบวนเรียนยังไม่ดีพอ ผลการเรียนรู้ก็จะออกมาไม่ได้ จึงส่งผลให้คะแนนเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์ของเด็กไทย ม.6 ทั่วประเทศ มีคะแนนเพียง 24% เนื่องจากยังมีพื้นฐานไม่ดีพอ นอกจากนี้ จากการวิจัยผู้ที่จบการศึกษาแล้ว มีงานทำและมีเงินเดือนต่างกัน พบว่ามีการใช้ทักษะของ STEM มากกว่าทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และในขณะเดียวกันทักษะทางสติปัญญา (IQ) และทักษะทางอารมณ์ (EQ) จะช่วยให้สามารถทำงานได้นานกว่า เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมคนให้ถูกก่อน อย่าลงทุนแบบไม่ได้ผลสัมฤทธิ์

2) ประเทศที่เจริญจะต้องการมีการแข่งขันอย่างเสรี ไม่เข้าไปควบคุม (Market Friendly Environment) โดยเฉพาะหลักสูตรบัณฑิตศึกษา ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงว่าการควบคุมกับการออกนโยบายมีความแตกต่างกันหรือไม่ เช่น สถาบันอุดมศึกษาต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ลดการใช้อำนาจควบคุม สิ่งใดควรจบที่สภาสถาบันอุดมศึกษาก็ควรเป็นเช่นนั้น, มหาวิทยาลัยควรมีอิสระในการออกหลักสูตร และ สกอ.ควรรับทราบหลักสูตรมิใช่รับรอง เป็นต้น หากไม่มีการควบคุมจะมีทั้งของดีและของไม่ดีเกิดขึ้น

3) มีระบบการเงินการคลังที่มั่นคง ที่จะต้องมีความเสถียรภาพมั่นคงอย่างต่อเนื่อง รมช.ศึกษาธิการ ได้กล่าวเพิ่มเติมในเรื่องของ "บัณฑิตศึกษา (Graduate Education)" โดยเฉพาะในระดับปริญญาเอก PH.D. ด้วยว่า ควรเป็น Research Degree คือการทำวิจัยขนานใหญ่และคิดในเรื่องที่ไม่มีคนคิด ไม่ได้หมายความเชี่ยวชาญในด้านนั้น การเปิดหลักสูตรครู ไม่ควรนำนักการศึกษามาสอนครู เพราะครูไม่ใช่นักการศึกษา บางคนจบปริญญาเอกด้านประเมินผล แต่ทั้งชีวิตไม่เคยเป็นครูเลย ทำให้มีหลักสูตรในสาขาวิชาที่ไม่จำเป็นจำนวนมาก และเห็นว่าปริญญาเอกไม่ควรมีการเรียนนอกเวลา

อีกประเด็นที่ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวในครั้งนี้ คือ "ประเภทของครู" โดยได้ยกคำกล่าวของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่ได้กล่าวถึงครูอาจารย์ 3 ประเภท ดังนี้ 1) อาจารย์อาชีพ คือ ครูที่มีความเป็นครูไม่ว่าจะเวลาใดก็สอนนักเรียนเสมอ หรือครูที่ไม่ได้มีความคิดว่าจะไม่สอนหนังสือหากไม่มีเงินเดือน 2) อาจารย์มืออาชีพ คือ ครูที่เก่งและมีเทคนิคการสอนที่ดี รวมทั้งมีความเป็นมืออาชีพ 3) อาชีพอาจารย์ คือ ครูที่ไม่มาทำงานหรือบางครั้งก็ไม่มาสอนหนังสือ และรอรับเงินเดือนตอนสิ้นเดือน

นอกจากนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้กล่าวในประเด็นที่สถาบันอุดมศึกษาควรจะต้องตั้งความคาดหวังในการพัฒนาการศึกษาตามบริบทของตนเอง ซึ่งทุกสถาบันไม่จำเป็นต้องจัดการศึกษาเหมือนกันหมด มหาวิทยาลัยอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบจุฬาฯ ส่วนจุฬาฯ ก็ไม่ต้องเป็นแบบ MIT ทุกสถาบันควรกำหนดความคาดหวังและมุ่งไปสู่เป้าหมายนั้น โดยให้ทุกส่วนได้มีหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาให้มีผลสัมฤทธิ์ที่ดี พร้อมจัดระบบตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามุ่งไปสู่เป้าหมายอย่างมีคุณภาพจริงๆ

ในส่วนของระบบตรวจสอบ ในความเป็นจริงยังสวนทางกับการพัฒนา กล่าวคือทั้งๆ ที่สถาบันเป็นผู้กำหนดคุณภาพของสถาบันการศึกษาเอง แต่ให้หน่วยงานภายนอกที่มาประเมิน ไม่ว่าจะเป็น สมศ./สกอ. เป็นผู้กำหนดคุณภาพของสถาบันการศึกษาและตรวจตามนั้น ซึ่งความจริงแล้วสถาบันควรเป็นผู้กำหนดคุณภาพของสถาบันการศึกษา โดยให้หน่วยงานต่างๆ เป็นเพียงหน่วยสนับสนุนการประเมินผลภายหลังการดำเนินงาน มิใช่เป็นผู้มากำหนดและตรวจสอบการดำเนินการอย่างนั้นอย่างนี้

ในด้านการสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ควรมีทั้งเรื่องของจิตใจ จิตวิญญาณ คุณธรรม หมายถึงการเป็นคนดี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องการให้สถาบันการศึกษาสร้างคนดีให้บ้านเมืองมากๆ ซึ่งคำว่า ?ความดี? หรือ Goodness แปลว่าคุณธรรมพร้อมกับคุณประโยชน์ การที่คนจะมีประโยชน์ได้ต้องมีวิทยาการมีความรู้ ดั่งเช่นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า ?เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม?

ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศอินเดีย ซึ่งพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนมาเป็นเวลากว่า 35 ปี โดยมีสัดส่วนเวลาเรียน ได้แก่ วิชาการ 60% วัฒนธรรม 10% อารมณ์ 10% การบริการ 10% และพลศึกษา 10% บูรณาการความเป็นเลิศทางวิชาการและคุณธรรมระดับสูง เน้นการวิจัยและมีความร่วมมือในด้านการพัฒนาสังคม รวมทั้งเชื่อมโยงงานวิจัยกับนักศึกษาด้วย ให้เรียนฟรีและมีอัตราการแข่งขันเพื่อให้ได้เข้าเรียนสูง ไม่มีระบบอุปถัมภ์เพื่อให้ได้เข้าเรียน เพื่อให้เป็นสถาบันการศึกษาที่แท้จริง ที่มีอำนาจในการกำหนดรูปแบบการจัดการเรียนการสอน เน้นให้มีสติปัญญาและมีคุณธรรมระดับสูง พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีความตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคม โดยนักศึกษาต้องร่วมกิจกรรมรับใช้ชุมชน/หมู่บ้านต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพ สนับสนุนอาหาร การซ่อมแซมบ้านเรือน ดังเช่นอาชีวะอาสาของไทย จึงมีแรงบันดาลใจที่จะตั้งมหาวิทยาลัยรูปแบบเดียวกับอินเดียในประเทศไทย โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์สนับสนุนงบประมาณการจัดสร้าง เพื่อผลิตผู้นำที่ดีให้กับประเทศ และเพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดี ตลอดจนมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมสามารถนำแนวคิดของมหาวิทยาลัยในอินเดียไปปรับใช้ตามบริบทที่เหมาะสมได้

การจัดงานโครงการงานเสวนาทางวิชาการ เรื่อง 100 ปี จุฬาฯ : หลักสูตรบัณฑิตศึกษาสู่อนาคต จัดขึ้นในโอกาสครบ 100 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 26 มีนาคม 2560 และเพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาหลักสูตรบัณฑิตศึกษาในอนาคต ประกอบด้วยการกล่าวปาฐกถาพิเศษและเสวนาทางวิชาการในเรื่องหลักสูตรบัณฑิตศึกษาสู่อนาคต โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนา อาทิ รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ประธานคณะกรรมการนโยบายวิชาการ สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นต้น


ที่มา : http://www.thaigov.go.th/