ผู้เขียน หัวข้อ: บุญคุณ (นิทานชาดก)  (อ่าน 4205 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
เมื่อ: กรกฎาคม 09, 2016, 11:58:40 PM



คนไม่รู้คุณคน

            ในกาลสมัยที่พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ออกบวชเป็นฤๅษีปลูกอาศรมอยู่ริมแม่น้ำในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง

            ณ ราตรี ขณะที่ท่านกำลังเจริญภาวนาอยู่นั้นก็ได้ยินเสียงเหมือนคนร้องให้ช่วยซึ่งดังมาจากแม่น้ำนั้น ท่านฤๅษีจึงคว้าคบไฟแล้วเดินไปริมฝั่งน้ำสิ่งที่ท่านเห็นคือมีขอนไม้ลอยน้ำมาท่อนหนึ่งและขอนไม้นั้นมีชีวิต ๔ ชีวิตลอยมาด้วย ๔ ชีวิตนั้นคือ ชายหนุ่ม นกแขกเต่า หนูและงู ท่านฤๅษีรีบว่ายน้ำไปยังขอนไม้ท่อนนั้นและผลักเข้าฝั่ง

            เมื่อนำ ๔ ชีวิตผู้มากับกระแสธาราในยามราตรีขึ้นมาบนฝั่งใกล้กับอาศรมแล้ว ท่านจึงก่อกองไฟขึ้นสองกอง เพื่อให้ทั้งหมดได้อังไล่ความหนาวเหน็บจากการแช่น้ำมานาน กองหนึ่งให้สัตว์ทั้งสาม อีกกองหนึ่งนั้นให้สำหรับชายหนุ่ม จากนั้นจึงถามไถ่ความเป็นมาเป็นไปว่า

            " เหตุไฉนเจ้าทั้งสี่จึงพากันเกาะขอนไม้ลอยมาถึงนี่ "

            นกแขกเต้าตอบในนามของตัวแทนสัตว์ทั้งสามว่า

            " ได้มีพายุฝนตกกระหน่ำ พัดพาเอาพวกเราตกลงไปในแม่น้ำ แต่ด้วยยังพอมีโชคคว้า เกาะขอนไม้กันไว้ได้ ขอนไม้นั้นลอยตามกระแสน้ำมาเรื่อยจนถึงนี่แหละเจ้าค่ะ "


            ข้าพเจ้าเป็นราชกุมารแห่งพาราณสี ได้ลงเล่นน้ำกับมหาดเล็ก แต่ถูกกระแสน้ำพัดพรากออกมา แต่ก็ได้ขอนไม้นีเกาะพยุงชีวิตมาเช่นกัน " ชายหนุ่มเล่าให้ท่านฤๅษีฟัง

            ด้วยเห็นว่าที่สี่ชีวิตลอยคอมานานท่านฤๅษีจึงจัดหาผลไม้ให้กินแต่ด้วยความที่ท่านเห็นสัตว์ทั้งสามคือ นกแขกเต้า หนูและงู มีอาการ หิวโหยอย่างเห็นได้ชัด และเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ ท่านจึงนำผลไม้มาให้กินก่อนแล้วจึงค่อยนำมาให้ราชกุมาร

            ฝ่ายราชกุมารแทนที่จะยินดีที่ท่านฤๅษีหาผลไม้มาให้เสวย กลับน้อยพระทัยและมีจิตใจเคืองแค้นท่านฤๅษีทีนำผลไม้ไปให้สัตว์เดรัจฉานก่อนตน

            จึงแสดงอาการออกมาอย่างเห็นเด่นชัด แม้ท่านฤๅษีจะเห็นแต่ก็มิได้เอ่ยปากออกมา เมื่ออคันตุกะกินผลไม้จนอิ่มหนำแล้ว ท่าฤๅษีได้จัดหาที่สำหรับพักให้

            " พักกันที่นี่ก่อนเถิด เมื่อน้ำลดคราวใดจึงค่อยคิดอ่านว่าจะทำการสิ่งใดกันต่อไป ที่นี่อุดมไปด้วยผลไม้นานาชนิด อีกทั้งสงบเงียบไม่มีสัตว์ใหญ่มาพลุกพล่าน "

            เมื่อย่างเข้าวันที่ ๔ ทั้งสี่ชีวิตก็เข้ามาลาท่านฤๅษีเพื่อกลับถิ่นฐานที่พัก ราชกุมารแห่งพาราณสีที่ยังผูกใจเจ็บเคืองใจที่ท่านฤๅษีให้ตนเสวยผลไม้หลังสัตว์เดรัจฉาน หวังว่าในวันหนึ่งจะต้องแก้แค้นท่านฤๅษีให้ได้ จึงกล่าวกับท่านว่า

            " หากไม่ได้ท่านช่วยชีวิตข้าพเจ้า ป่านนี้ไม่รู้ว่าชะตาชีวิตจะเป็นเช่นไรในภายภาคหน้าหากข้าพเจ้าได้เสวยราชสมบัติอภิเษกเป็นราชา ข้าพเจ้าจะอุปถัมภ์ท่านและตอบแทนท่านด้วยปัจจัยจำเป็นอย่างแน่นอน "

            จากนั้นราชกุมารก็ลาท่านฤๅษีเดินทางกลับกรุงพาราณสี

            ฝ่ายนกแขกเต้า หนู และงูแม้เป็นสัตว์เดรัจฉานแต่ก็ยังรู้คุณผู้ช่วยชีวิตนกแขกเต้าได้กล่าวกับท่านฤๅษีว่า

            " เพื่อเป็นการตอบแทนท่าน หากเมื่อใดที่ท่านต้องการข้าวสาลีรสเลิศพันธุ์ดีโปรดไปหาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้พรรคพวกช่วยกันคาบมามอบให้แด่ท่าน "

            นกแขกเต้าได้บอกสถานที่อยู่ของตนแล้วก็จากไป

            ส่วนหนูและงูนั้น เล่าให้ฤๅษีฟังว่าชาติก่อนนั้นเคยเป็นเศรษฐี มีทรัพยมหาศาล และได้ฝังทรัพย์สมบัติไว้ ครั้นเมื่อใกล้สิ้นอายุขัยด้วยความที่ยังห่วงทรัพย์สิน จึงเกิดเป็นหนูและงูเฝ้าสมบัติตนต่อไป

            " ท่านพระคุณเจ้าเป็นผู้มอบชีวิตใหม่ให้กับข้าพเจ้าทั้งสองวันใด ท่านมีความประสงค์จะใช้สินทรัพย์ ขอให้พระคุณเจ้าไปหาข้าพเจ้าตาม สถานที่ที่แจ้งแด่ท่านไว้ ข้าพเจ้ายินดีมอบทรัพย์สมบัติที่ฝังไว้ที่นั่น แด่ท่านอย่างไม่จำกัดจำนวน "

            จากนั้นหนูและงูก็ลาท่านฤๅษีไป

            ต่อมาไม่นานท่านฤๅษีพระโพธสัตว์ใคร่อยากจะลองใจ ๔ ชีวิตที่ท่านได้เคยช่วยเหลือไว้ จึงเดินทางไปหาหนู เมื่อหนูได้พบกับท่านฤๅษี ก็ได้ดำเนินการต้อนรับเป็นอย่างดีพร้อมกับนำทรัพย์สมบัติมามอบให้ท่านฤๅษีด้วยความยินดี แต่ท่านฤๅษีก็มิได้รับแต่อย่างใด และบอกกับหนูว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องใช้

            และเมื่อเดินทางไปพบงูและนกแขกเต้า ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีและทั้งคู่ก็จัดหาทรัพย์สมบัติและข้าวสาลีมาให้ตามคำสัญญา แต่ท่านฤๅษีก็ปฏิเสธเช่นเดียวกับปฏิเสธหนู

            ครั้นท่านฤๅษีได้เดินทางไปยังกรุงพาราณสี เพื่อลองใจราชบุตรที่ท่านเคยให้ความช่วยเหลือไว้ ซึ่งขณะนี้ราชบุตรได้เสวยราชสมบัติ เป็นพระราชาแล้วเมื่อท่านฤๅษีเดินทางมาถึงเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ราชบุตรออกเยี่ยมราษฎร ราชบุตรเห็นท่านฤๅษีแต่ไกลก็จำได้ ความคิดแค้นได้สำแดงฤทธิ์ออกมาทันที ราชบุตรได้เรียกร้ององครักษ์มารับสั่งว่า

            " เจ้าฤๅษีชีไพรรูปนั้นมีท่าทางเจ้าเล่ห์ เรากลัวจะมาหลอกล่อทรัพย์สมบัติของเรา พวกเจ้าจงกันไปให้ห่างๆ เรา แล้วช่วยกันจับสำเร็จโทษเฆี่ยนให้ตายคาไม้ จากนั้นตัดหัวเสียบประจานไว้ที่นอกเมือง "

            ฝ่ายองครักษ์ผู้ซึ่งไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง เมื่อได้รับพระราชโองการแล้วก็รีบปฏิบัติตามรับสั่ง

            ในขณะที่กำลังลงมือเฆี่ยนท่านฤๅษีพระโพธิสัตว์อยู่นั้น ได้มีชาวเมืองมายืนดูและวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา

            ในขณะที่ถูกหวายสัมผัสผิวกายอยู่นั้นแม้จะเจ็บปวดเช่นไรท่านก็มิได้ร้องโอดโอยพร่ำพรรณนาความเจ็บปวด แต่กลับกล่าวเป็นพระคาถาทุกครั้งไปว่า...

            " สจฺจัง กิเรวมาหํสุ นรา เอกจจิยา อีธ กฏฐํ นิปฺผวิตํ เสยฺโย น เต วฺเวจฺ จิโย นโร "

            ถอดความได้ว่า

            " นักปราชญ์ว่าไว้ว่า เก็บขอนไม้ที่ลอยน้ำขึ้นสู่บก ดีกว่าช่วยคนตกน้ำให้พ้นความดับสูญนี่คือสัจธรรม "

            เหล่าองครักษ์รู้สึกสงสัยจึงหยุดการเฆี่ยน แล้วออกปากถามท่านฤๅษีว่าเหตุไฉนจึงกล่าวประโยคเช่นนี้ ท่านฤๅษีได้เล่าเรื่องครั้งที่ท่านได้ช่วยชีวิตราชบุตรในคืนที่เกาะขอนไม้ลอยมาให้องครักษ์และชาวเมืองที่มาดูเหตุการณ์ทั้งหลายฟัง

            ทุกคนวิพากษ์วิจารณ์ความประพฤติของราชกุมาร และเห็นพ้องกันหากมีราชาที่นิสัยอิจฉาริษยาเคืองแค้นพยาบาทเช่นนี้บ้านเมืองคงไร้ความสงบสุขเป็นแน่ จึงช่วยกันจับราชกุมารสำเร็จโทษ แล้วขอให้ท่านฤๅษีลาสึกออกมาปกครองเมืองพาราณสีแทน

            เมื่อท่านฤๅษีพระโพธิสัตว์ได้เสวยราชสมบัติท่านก็ยังไม่ลืมสัตว์ทั้งสามพระองค์ได้ไปรับมาเลี้ยงไว้ในอุทยานเป็นอย่างดี

            นี่แหละหนา ท่านผู้รู้กล่าวไว้ว่า


" คนใดมีกตัญญูรู้คุณ ย่อมไม่อับจน  หากคนใดอกตัญญูแล้วไซร้ ย่อมพบกับความพินาศ "


ที่มา  :  http://pumalone.blogspot.com/2012/12/blog-post.html
ภาพ : www.lantainfo.com