ผู้เขียน หัวข้อ: โรงเรียนแห่งการเรียนรู้ชู 'SLC' พัฒนาครูในศตวรรษที่ 21  (อ่าน 3591 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3925
          เนื่องด้วยในปี 2559 ทางคณะผู้จัดงาน EDUCA 2016 : มหกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ได้จัดตั้งขึ้น เป็นครั้งที่ 9 แล้ว โดยปีนี้มีแนวคิดหลักใน การจัดงานคือ  School as Learning Community (SLC) : โรงเรียนคือชุมชนแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 12-14 ตุลาคม 2559

          โดยแนวคิดดังกล่าวมาจากรากฐานการศึกษาและค้นพบมากว่า 30 ปีของ "ศ.มานาบุ ซาโต" ครูใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น ที่มีความเชื่อว่าโรงเรียนที่เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้สำหรับเด็ก ๆ คือโรงเรียนที่ช่วยอบรมบ่มนิสัยและให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ร่วมกัน สำหรับบรรดาครูคือโรงเรียนที่ครูจะได้เรียนรู้ร่วมกันเพื่อพัฒนาวิชาชีพตน และสำหรับผู้ปกครองคือโรงเรียนที่ทุกคนมีส่วนร่วม และให้ความร่วมมือในการปฏิรูปโรงเรียน

          แนวคิดนี้ตกผลึกสะท้อนผลลัพธ์เชิงบวก เกิดเป็นแนวทางที่โรงเรียนชั้นนำประเทศญี่ปุ่นยึดเป็นวิธีการปฏิรูปการศึกษาในโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพและขยายผลมาสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในเอเชียที่กำลังได้รับความสนใจทั้งในสิงคโปร์และเกาหลี

          ตลอดจนประเทศไทยที่คณะผู้จัดงาน EDUCA 2016 หยิบยกให้เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาให้กับคณะครูไทย ซึ่งจากการศึกษาในครั้งนี้ "รศ.ดร.พิมพันธ์ เตชะคุปต์" ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรและการสอน เปิดเผยว่า โรงเรียนในศตวรรษที่ 21 ควรเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่สังคมต้องตระหนักถึงสิทธิในการเรียนรู้ของเด็กทุกคน ตลอดจนการพัฒนาวิชาชีพครูทุกคนในโรงเรียน และพัฒนาสังคมที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

          SLC จึงเป็นการบูรณาการ 3 องค์ประกอบ สำคัญ ประกอบด้วย

          หนึ่ง ปรัชญาของความเป็นสาธารณะ (Public Philosophy) โดยครูทุกคนจะต้องรับผิดชอบในภารกิจของสาธารณะ กล่าวคือ สังคมคาดหวังว่าครูจะต้องเติมเต็มเด็กทุกคนให้เรียนรู้เต็มตามศักยภาพ ดังนั้นโรงเรียนควรเป็นสถานที่สาธารณะ เป็นพื้นที่เปิด โดยเฉพาะการเปิดชึ้นเรียนแก่สาธารณะ เพื่อสร้างชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพของครู

          สอง ปรัชญาของความเป็นประชาธิปไตย (Democratic Philosophy) โดยให้ความสนใจในวิถีของการมีชีวิตเชื่อมโยงกัน เพื่อให้สมาชิกทุกคนเป็นคนสำคัญของโรงเรียน รู้จักการรับฟังและเคารพความคิดของผู้อื่น อันเป็นพื้นฐานสังคมแห่งประชาธิปไตย

          สาม ปรัชญาของความเป็นเลิศ (Philosophy of Excellence) เพื่อให้ครู ทุกคนมุ่งมั่นในหน้าที่ให้ดีที่สุด ทั้งในเรื่องการสอนและการเรียนรู้ ทั้งนั้นเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามศักยภาพสูงสุด โดยไม่ว่าจะเจอกับเงื่อนไขแบบใด พวกเขาก็สามารถรับมือได้อย่างดีที่สุด

          นอกจาก 3 ปรัชญาสู่การสร้างองค์ประกอบในแนวคิด SLC แล้ว "รศ.ดร.พิมพันธ์" บอกว่า ระบบกิจกรรม (Activity System) จะเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีที่จะช่วย ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างนักเรียน ครู และผู้ปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          "โดยอยู่ภายใต้ 3 หลักการสร้างระบบกิจกรรม คือ 1.การเรียนรู้อย่างร่วมมือรวมพลังในห้องเรียน 2.ความเป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพของครู อันเกิดจากกิจกรรมศึกษาผ่านบทเรียนที่ทุกคนทำร่วมกัน 3.ความมีส่วนร่วมในการเรียนรู้จากผู้ปกครอง เพื่อหวังประสานการทำงานร่วมกัน พร้อมทั้งเปิดกว้างทางความคิด และเรียนรู้ในสิ่งเดียวกัน"

          จากแนวคิด SLC จึงขยายผลสู่โรงเรียนไทยกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ โดยได้นำมาปรับใช้วิธีการสอนในโรงเรียน เพื่อหวังเป็นโรงเรียนที่ได้รับการปฏิรูปสู่ชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งอยู่ภายใต้การขับเคลื่อนของกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ หรือ Thailand Principals Forum: TPF
          "รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ" ในฐานะประธานกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ (TPF) และผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตพัฒนากล่าวว่า คณะทำงานของเรามีหน้าที่สนับสนุนและมุ่งเน้น การสร้างวิสัยทัศน์ให้ผู้นำโรงเรียนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญสู่การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ในโรงเรียน

          "จริง ๆ แล้ว SLC ไม่ใช่วิธีใหม่ เพียงแต่เป็นวิธีการสร้างระบบกิจกรรมขึ้นภายใต้ การสร้างการมีส่วนร่วมของครู นักเรียน และผู้ปกครอง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กโดยตรง ซึ่งกิจกรรมที่สร้างจะต้องเกิดความต่อเนื่องและเป็นระบบที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะกลับไปสู่จุดเดิมของแผนการสอนครูที่นอกจากจะไม่เกิดความสม่ำเสมอแล้วยังไม่เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพด้วย"

          "สำคัญที่สุดคือผู้นำในโรงเรียนหรือ ครูใหญ่ต้องมีวิสัยทัศน์และควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโรงเรียน โดยดึงรูปแบบการสอนให้เป็น Active Leaning สู่หัวใจในการปฏิรูปการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21"

          โดยริเริ่มใช้แนวทาง SLC เพื่อพัฒนาศักยภาพครูในโรงเรียนสาธิตพัฒนามาตั้งแต่ปี 2558 ด้วยการมุ่งเน้นไปที่การสร้างแรงบันดาลใจให้ครูกล้าที่จะเปิดใจสู่วิธีการสอนในแบบ SLC ก่อนจะผลักดันให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจัง

          "รศ.ลัดดา" ยอมรับว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะปรับทัศนคติให้กับครูไทยเข้าใจว่าแผนการสอนของ SLC ดีอย่างไร เราจึงต้องพยายามเปิดใจครูเสมือนเป็นการเปิดบ้าน เพื่อต้อนรับความคิดใหม่ ๆ ความรู้ใหม่ ๆ รวมถึงการสร้างศักยภาพครูในยุคใหม่

          "เมื่อสร้างความเข้าใจแล้ว เราจะให้ครู จับคู่กันเปิดห้องเรียน เพื่อช่วยกันแลกเปลี่ยนและวางแผนร่วมกัน ซึ่งการจับคู่นี้จะจับโดยสาระวิชาเดียวกันก็ได้ หรือคนละระดับชั้นแต่คนละสาระวิชาก็ได้ โดยวิชาการสอนของครูที่จับคู่ด้วยจะต้องสลับกันประเมินว่าเด็กในห้องเรียนนั้น ๆ มีความเข้าใจในบทเรียนหรือไม่ เพื่อนำมาปรับใช้สู่แผนการสอนในคาบถัดไป อันนำไปสู่การเสริมสร้างศักยภาพทั้งครูผู้สอนและนักเรียนในเวลาเดียวกัน"
          "วิธีการนี้ SLC อธิบายว่า คือการบูรณาการที่นำบริบทของการสร้างปฏิสัมพันธ์ ก่อเกิดเป็นการทำงานร่วมกันที่แท้จริง โดยไม่แบ่งแยก ว่านี่คือครูอาวุโสหรือนิสิตฝึกสอน ทุกคนมีสิทธิร่วมแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกับกลุ่มนักเรียน ซึ่งที่นี่จะใช้วิธีการจับกลุ่มคละกันไป ทั้งเด็กอ่อน เด็กปานกลาง และเด็กเก่ง เพื่อสร้างการทำงานเป็นทีมและการมีปฏิสัมพันธ์ เพราะเราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพในตนเอง เพราะเราไม่ได้มุ่งเน้นการสร้างเด็กเก่ง แต่เน้นการสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา"

          "วันนี้โรงเรียนสาธิตพัฒนาสามารถสร้างผลิตภาพครูได้ในระดับหนึ่ง โดยเรามุ่งหวังจะทำอย่างต่อเนื่องและขยายไปสู่การเปิดบ้านให้ผู้ปกครองสามารถมีบทบาทต่อแผนการสอนของครูมากขึ้น เพราะทุกคนมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการสร้างศักยภาพของเด็ก ๆ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรในโรงเรียนที่ต้องการมุ่งสู่การเป็นโรงเรียนในศตวรรษที่ 21 เพื่อสะท้อนผลิตภาพของเด็กไทยในอนาคต"

          ทั้งนั้นเพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างศักยภาพครูรุ่นใหม่ และสร้างชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพของครูอย่างแท้จริง



          ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 - 18 ก.ย. 2559