เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙
พระราชประวัติและเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระองค์
มโนห์ราบัลเลต์รัชกาลที่ 9 (บัลเลต์ไทยเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและของโลก)
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: มโนห์ราบัลเลต์รัชกาลที่ 9 (บัลเลต์ไทยเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและของโลก) (อ่าน 4045 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3923
มโนห์ราบัลเลต์รัชกาลที่ 9 (บัลเลต์ไทยเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและของโลก)
เมื่อ:
ตุลาคม 24, 2016, 09:26:03 AM
บัลเลต์ (Ballet) หรือ ระบำปลายเท้า เป็นนาฏยศิลป์ตะวันตกที่ถือกำเนิดขึ้นในยุโรป มีลักษณะเด่นด้วยการใช้ช่วงขาและการเขย่งขึ้นยืนบนปลายเท้าขณะทำการเต้นเป็นประการสำคัญ ซึ่งบัลเลต์ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลกรวมถึงประเทศไทยที่เข้าสู่ระบบการศึกษาไทยเป็นครั้งแรก ณ โรงเรียนนาฏดุริยางศาสตร์ หรือ วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ.2481 โดย มาดามสวัสดิ์ ธนบาล ชาวต่างชาติที่สมรสกับคนไทยเป็นผู้ดำเนินการสอน แต่ก็ยังไม่ปรากฏการแสดงบัลเลต์รูปแบบไทยที่เด่นชัดมากนักในขณะนั้น
ต่อมาเมื่อ คุณหญิงเจเนเวียฟ เลสปันยอล เดมอน ดาราบัลเลต์ผู้มีชื่อเสียงระดับโลกชาวฝรั่งเศส ได้เดินทางเข้ามาพำนักในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2497 และมีโอกาสได้ถวายการสอนบัลเลต์ให้แก่พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 ศิลปะการเต้นบัลเลต์ก็เข้าสู่ราชสำนักไทย รัชกาลที่ 9 ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ในเวลาถัดมาปรากฏการแสดงบัลเลต์ไทยเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ศิลปะการแสดงของชาติและของโลกเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงโปรดเกล้าฯให้คุณหญิงเจเนเวียฟ เลสปันยอล เดมอน ประดิษฐ์ท่าเต้นบัลเลต์ประกอบบทเพลงพระราชนิพนธ์ถวายในการแสดงบัลเลต์เรื่องมโนห์รา ซึ่งเป็นการแสดงบัลเลต์ 1 องก์ ใช้เวลาในการแสดงประมาณ 35 นาที โดยเริ่มดำเนินเรื่องจากเหล่านางกินนรี 7 ตัวลงเล่นน้ำ ณ สระอโนดาต ต่อมานาง
มโนห์ราโดนพรานบุญจับตัวไปถวายพระสุธน และฉากพระสุธนกลับมาจากการรบแล้วติดตามหานางมโนห์ราเพื่อกลับมาครองรักกันอย่างมีความสุข การแสดงบัลเลต์เรื่องมโนห์รา เปิดการแสดงครั้งแรกในประเทศไทยและในโลกเมื่อวันที่ 5-7 มกราคม 2505 ณ เวทีสวนอัมพร เนื่องในงานกาชาดประจำปี 2505 โดยพระราชทานเค้าโครงเรื่อง พระราชนิพนธ์บทเพลงประกอบการแสดง ออกแบบฉากและควบคุมการผลิตด้วยพระองค์เอง ซึ่งนักแสดงที่สำคัญประกอบด้วย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ทำการรำเบิกโรงไหว้ครู วนิดา ดุละลัมภะ (สุขุม) รับบทนางมโนห์รา สมศักดิ์ พลสิทธิ์ รับบทพระสุธน และ สุรเทิน บุนนาค รับบทพรานบุญ
บทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ใช้ประกอบในการแสดงบัลเลต์เรื่องมโนห์รา ครั้งแรกคือบทเพลงชุด Kinari suite ประกอบด้วยเพลง Blue day, A Love Story, Nature Waltz, The Hunter และ Kinari Waltz บรรเลงดนตรีประกอบการแสดงโดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ และวง อ.ส. อำนวยเพลงโดย เอื้อ สุนทรสนาน ออกแบบเครื่องแต่งกายตัวละครหลักของเรื่อง (ชุดนางมโนห์รา ชุดพระสุธน ชุดนกยูงและชุดพญานาค) โดย ปิแอร์ บาลแมง (Pierre Balmain) นักออกแบบเครื่องแต่งกายที่มีชื่อเสียงระดับโลก
การแสดงมโนห์ราบัลเลต์ถูกนำมาแสดงเพื่อต้อนรับพระราชอาคันตุกะอยู่หลายครั้งและสนองงานใต้เบื้องพระยุคลบาทขณะที่พระองค์ท่านเสด็จแปรพระราชฐานไปทรงงานยังภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย แต่การแสดงบัลเลต์ประกอบบทเพลงพระราชนิพนธ์เรื่องมโนห์ราครั้งสำคัญที่สุดปรากฏขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2535 เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงโปรดเกล้าฯให้คุณหญิงเจเนเวียฟ เลสปันยอล เดมอน ประดิษฐ์ท่าเต้นบัลเลต์ประกอบบทเพลงพระราชนิพนธ์เรื่องดังกล่าวนี้ถวายอีกครั้งเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ โดยทรงรับไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์และพระราชทานให้จัดการแสดงบัลเลต์เรื่องนี้ขึ้นในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเชิดชูคีตมหาราชนิพนธ์ชุดนี้ให้ปรากฏอีกครั้งหนึ่งในวาระแห่งมหามงคลวโรกาสทั้งสอง
การแสดงบัลเลต์ประกอบบทเพลงพระราชนิพนธ์เรื่องมโนห์รา ฉบับปี พ.ศ.2535 จึงมีการปรับปรุงโดยได้ขยายเนื้อหาการดำเนินเรื่องและเพิ่มเติมบทเพลงพระราชนิพนธ์ประกอบการแสดงมากขึ้นกว่าในอดีต ด้วยการแบ่งการแสดงออกเป็น 2 องก์ ใช้ระยะเวลาในการแสดงประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที และเริ่มต้นการดำเนินเรื่องจากบรรยากาศของฉาก ณ ดินแดนป่าหิมพานต์โดยมีตัวละครสำคัญคือ พระอินทร์กับบรรดาสิงสาราสัตว์น้อยใหญ่ต่างๆ ติดตามด้วยฉากกินรีเล่นน้ำ ฉากพรานบุญจับนางมโนห์รา ฉากพบรักพระสุธนมโนห์รา ฉากพระสุธนออกรบ ฉากมโนห์ราถูกจับบูชายัญ ฉากพระสุธนออกติดตามหานางมโนห์รา ฉากพระสุธนเลือกคู่ และฉากครองเมือง
บทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ใช้ประกอบการแสดงในครั้งนี้มีทั้งสิ้น 16 บทเพลง ซึ่งบรรเลงโดยวงดุริยางค์กองทัพเรือ อำนวยการบรรเลงดนตรีโดยพลเรือตรีหม่อมหลวงอัศนี ปราโมช ออกแบบเครื่องแต่งกายถวายโดย Erik Mortensen ปรับปรุงเครื่องแต่งกายการแสดง (ยกเว้นชุดนกยูงและชุดพระสุธน) โดยธีระพันธ์ วรรณรัตน์ และจัดการแสดงถวายต่อหน้าที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ในระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2535 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร
นักแสดงหลักในครั้งนั้นประกอบด้วย รวิวรรณ ราชสุนทร และกิดาการ วรรณศิลป์ รับบทมโนห์รา สุริยา พันธุชา รับบทพระสุธน เอกชัย ไก่แก้ว รับบทพรานบุญและท้าวปทุมราช ศิริมงคล นาฏยกุล รับบทพระอินทร์ และ ชรัช ชำนาญเวช รับบทปุโรหิต ประดิษฐ์ท่าเต้นและกำกับการแสดงโดย คุณหญิงเจเนเวียฟ เลสปันยอล เดมอน
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลและพระอัจฉริยภาพขององค์อัครศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของพสกนิกรชาวไทย ?มโนห์ราบัลเลต์? จึงกลายเป็นบัลเลต์ไทยเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ของชาติไทยและเป็นบัลเลต์สกุลใหม่ของโลกที่มีบทเพลงอันไพเราะจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 บรรเลงผสานกับนาฏยลักษณ์แบบนาฏยศิลป์ไทยที่สร้างสรรค์อย่างกลมกลืนกับลีลาการเต้นบนปลายเท้าแบบตะวันตก ยกระดับศิลปะการแสดงของชาติไทยให้ก้าวไกลสู่สากลทัดเทียมนานาอารยประเทศ
มโนห์ราบัลเลต์รัชกาลที่ 9 จึงกลายเป็นพระอัจฉริยภาพอีกแขนงหนึ่งของพระองค์ท่าน คนไทยทุกคนควรทราบและควรได้รับการจารึกไว้บนแผ่นดินไทยของเราชั่วลูกชั่วหลานสืบไป
ที่มา :
http://www.matichon.co.th/news/332397
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙
พระราชประวัติและเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระองค์
มโนห์ราบัลเลต์รัชกาลที่ 9 (บัลเลต์ไทยเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและของโลก)
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?