เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙
เรื่องเล่าและภาพความประทับใจกับพระราชกรณียกิจ
รอยพระยุคลบาท..."กส.9" วิทยุสื่อสารดูแลทุกข์ราษฎร
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: รอยพระยุคลบาท..."กส.9" วิทยุสื่อสารดูแลทุกข์ราษฎร (อ่าน 89435 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3923
รอยพระยุคลบาท..."กส.9" วิทยุสื่อสารดูแลทุกข์ราษฎร
เมื่อ:
พฤศจิกายน 03, 2016, 09:40:12 AM
"พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร" ผู้ถวายงานใกล้ชิดอีกบุคคลหนึ่ง ได้ยืนยันเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ "รอยพระยุคลบาท" ว่า พระเจ้าอยู่หัวสนพระราชหฤทัยในเครื่องรับส่งวิทยุ ซึ่งสมัยนั้นอย่างเล็กสุดก็ยาวเกือบศอก ใช้ถ่านไฟฉายขนาดใหญ่ 11 ก้อน
"...พระเจ้าอยู่หัวโปรดการทดลองรับส่งวิทยุกับสถานีต่าง ๆ (ส่วนมากเป็นสถานีของราชการ) และเมื่อรู้ว่าโปรดก็จะมีผู้นำเครื่องรับส่งวิทยุมือถือขนาดเล็ก (ซึ่งเป็นของใหม่และหายากในสมัยนั้น) ไปทูลเกล้าฯ ถวายหลายเครื่อง มีอยู่เครื่องหนึ่งซึ่งผู้ถวายอ้างว่าส่วนประกอบภายในของเครื่องรับส่งวิทยุเครื่องนั้น แยกบรรจุเอาไว้ในโมดูลเล็ก ๆ ซึ่งแข็งแรงและแน่นหนามาก แม้จะตกน้ำแล้วก็ยังใช้ได้
พอกราบบังคมทูลเช่นนั้น ก็มีพระราชกระแสรับสั่งให้นำภาชนะใส่น้ำมา แล้วทรงแช่เครื่องรับส่งวิทยุเครื่องนั้นลงในน้ำทันที ปรากฏว่าเครื่องรับส่งวิทยุเครื่องนั้นยังใช้การได้ดีจริง ๆ ทรงเรียกเครื่องรับวิทยุเครื่องนั้นว่า "เครื่องแช่น้ำ" และภายหลังได้พระราชทานให้ผมมาใช้ในราชการถวายความปลอดภัยอยู่จนพ้นหน้าที่..."
กรมตำรวจได้ถวายสัญญาณเรียกขานประจำพระองค์ว่า"กส.9"เจ้าหน้าที่วิทยุสื่อสารของทางราชการทุกสถานีจึงถือเป็นสัญญาณศักดิ์สิทธิ์พอได้ยินพระสุรเสียงก็ถวายความเคารพและใช้ความระมัดระวังในการพูดวิทยุในขณะนั้นเป็นพิเศษ
"...พระเจ้าอยู่หัวทรงเล่าว่า สถานีวิทยุของตำรวจภูธรสถานีหนึ่ง เจ้าหน้าที่วิทยุประจำสถานีเป็นนายตำรวจชั้นประทวน คงจะรู้สึกว้าเหว่ที่ต้องอยู่ประจำการทำหน้าที่อันน่าเบื่อหน่าย จึงมักรำพันความอาภัพอับโชคของตนออกมาทางอากาศอยู่เสมอ ๆ ทรงเห็นใจเขา
...จนกระทั่งวันหนึ่งจึงได้ทรงเรียก "ว.16" กับเขา (หมายถึงขอทดสอบสัญญาณวิทยุ) ทางวิทยุ โดยทรงใช้สัญญาณเรียกขานประจำองค์ "กส.9" เมื่อแรกได้ยินพระสุรเสียง เจ้าหน้าที่วิทยุผู้นั้นไม่เชื่อว่าผู้ที่เรียกไปนั้นคือพระเจ้าอยู่หัว และนึกว่าเพื่อนเจ้าหน้าที่สถานีอื่นเล่นตลกจึงได้ตอบโดยขอร้องให้งดการเอา "ของสูง" มาเล่น
จนเมื่อได้ยินพระสุรเสียงหลายครั้งจึงรู้แน่ว่าเป็นของสูงจริง ๆ เจ้าหน้าที่วิทยุผู้นั้นจึงกลายเป็นผู้โชคดีที่สุดผู้หนึ่งในไม่กี่คนที่มีโอกาสได้กราบบังคมทูลทางวิทยุ..."
ผลของความสนพระราชหฤทัยและการได้ทรงทดลองใช้เครื่องรับส่งวิทยุติดต่อกับสถานีของทางราชการต่างๆอยู่เสมอทำให้หน่วยราชการเกิดความตื่นตัวกิจการวิทยุสื่อสารจึงเจริญก้าวหน้าไปทั้งในวงการทหาร ตำรวจและข้าราชการพลเรือนด้วย
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงถึงการใช้วิทยุสื่อสาร เพื่อประโยชน์ในการรับรู้ทุกข์สุขของราษฎร คือ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน 2520 เวลา 14.45 น. พระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทูลกระหม่อมหญิงทั้งสองพระองค์ ถึงสวนสาธารณะสนามโรงพิธีช้างเผือก ต.สะเตง จ.ยะลา เพื่อพระราชทานรางวัลแก่โรงเรียนที่จัดการศึกษาดีเด่น แก่ครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ภาคใต้ พระราชทานเข็มพระปรมาภิไธยย่อแก่กรรมการอิสลามประจำ 13 จังหวัดภาคใต้ พระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน และทรงเยี่ยมประชาชน
"...มีเสียงระเบิดดังกึกก้องขึ้นสองครั้งติด ๆ กัน ที่หลังปะรำที่ทางราชการจัดไว้ให้ประชาชนนั่งเฝ้าฯ ห่างด้านซ้ายของพลับพลาพิธีที่ประทับประมาณ 50 เมตร พอสิ้นเสียงระเบิดก็มีเสียงร้องด้วยความตระหนกและเจ็บปวด ราษฎรที่นั่งเฝ้าฯ อยู่พากันลุกฮือขึ้นเพื่อหลบภัยอันตราย...
ตามหลักการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นสิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่พึงกระทำ คือ เอาตัวบุคคลสำคัญ ออกจากที่เกิดเหตุทันที แต่ไม่มีใครกล้ากราบบังคับทูลให้เสด็จออก เพราะทั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงแสดงพระกิริยามั่นคง ทรงยืนนิ่งอยู่ สีพระพักตร์เป็นปกติ
...และอีกอย่างที่ผมมิได้คาดว่าจะได้เห็นได้ยินก็คือ เมื่อประชาชนกลับอยู่ในความสงบเช่นเดิมแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงก้าวพระบาทเข้าไปหาไมโครโฟน และทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราโชวาท ด้วยสุรเสียงที่เป็นปกติ ไม่มีสั่นหรือเปลี่ยนแปลงแม้แต่น้อย ความตอนหนึ่งของพระบรมราโชวาทมีว่า
...เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น หากปรองดองกัน ให้กำลังใจและขวัญซึ่งกันและกัน รู้จักสงบจิตใจ ก็จะสามารถขจัดภยันตรายและรักษาสถานการณ์ไว้ได้ด้วยดี..."
หลังจากนั้น พระราชกรณียกิจยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิม แทนที่จะรีบเสด็จกลับเพื่อความปลอดภัย ทั้งสองพระองค์กลับเสด็จลงจากพลับพลาพร้อมด้วยทูลกระหม่อมหญิง พระราชดำเนินไปยังลูกเสือชาวบ้านและประชาชนที่เฝ้าฯ
และในระหว่างทางเสด็จกลับ มีพระราชดำรัสถามมาทางวิทยุสื่อสาร ถึงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลยะลา ซึ่งเมื่อสอบถามไปยังโรงพยาบาล ได้รับคำตอบว่า มีแต่ผู้บาดเจ็บเล็กน้อย แพทย์ได้ใส่ยาและอนุญาตให้กลับบ้านแล้ว
"...รับสั่งให้นำขบวนเสด็จไปยังโรงพยาบาล และเมื่อเสด็จถึงจึงปรากฏว่า บรรดาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 40 คนนั้น มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 3 คน และยังรับการรักษาพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาล..."
พระองค์ทรงพระราชปฏิสันถารกับผู้ได้รับบาดเจ็บ ญาติ แพทย์ และพยาบาลอย่างใกล้ชิด และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ตามเสด็จให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล ทั้งยังรับผู้บาดเจ็บไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ แสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยของพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จ และพระมหากรุณาที่ทรงมีต่อประชาชนคนไทย
ที่มา :
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1477903781
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙
เรื่องเล่าและภาพความประทับใจกับพระราชกรณียกิจ
รอยพระยุคลบาท..."กส.9" วิทยุสื่อสารดูแลทุกข์ราษฎร
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?