ผู้เขียน หัวข้อ: พระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย จังหวัดลำพูน  (อ่าน 5301 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923

จังหวัดลำพูน เป็นจังหวัดเล็กๆ ที่อยู่ทางภาคเหนือ มีพื้นที่เป็นที่ราบสูงระหว่างภูเขา รูปร่างสัณฐานดั่งหอยสังข์ โดยมี

ทิศเหนือและทิศตะวันตกติดกับจังหวัดเชียงใหม่
ทิศใต้ติดกับจังหวัดตาก
ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดลำปาง

ประวัติความเป็นมาที่ยาวนานมากกว่า ๑,๓๐๐ ปี แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ประวัติความเป็นมาดั้งเดิมของจังหวัดไม่ได้มีการจดบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐาน มีแต่จดจำและเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ต่อมาเมื่อมีการจดบันทึกเป็นหลักศิลาจารึกก็เป็นตอนหลังๆ หลักศิลาจารึกเหล่านั้นเป็นภาษามอญส่วนหนึ่ง และเป็นหลักศิลาจารึกที่จารึกเป็นภาษามอญ ที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยที่ได้มีการจดบันทึกเอาไว้ ซึ่งก็สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น แหล่งอารยธรรมของชาวมอญในภาคเหนือ ประวัติความเป็นมาของจังหวัดลำพูนแยกออกเป็น ๒-ตำนาน แต่ทั้ง ๒ ตำนานนี้ก็เกี่ยวเนื่องกัน ดังนี้

ที่มาของประวัตินี้
 ๑ . ชินกาลมาลีปกรณ์ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ
 ๒ . สังคีติยวงศ์
 ๓ . จามเทวีวงศ์
 (รวบรวมจากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดลำพูน-บ้านมอญหนองดู่-บ่อคาว และขอบคุณท่านทั้งหลายไว้ ณ ที่นี้ด้วย)

พระราชประวัติ ปฐมกษัตรีย์แห่งนครหริภุญชัย (๑)



ประวัติพระนามจามเทวี  กำเนิดหญิง ? วี ?

พระนางจามเทวี ตอนกำเนิดเป็นเด็กหญิง ? วี ? ที่ ท่านพระฤๅษีวาสุเทพได้บันทึกไว้ในสุพรรณบัฏ เราสุเทพฤๅษีแห่งอุจฉุตบรรพต (เขาไร่อ้อยหรือดอยสุเทพ) ณ ระมิงค์นคร ขอจารึกกำเนิดของกุมารีนามว่า ? วี ? มาให้มวลนิกรทั้งหลายได้รู้แจ้งดังนี้

กุมารน้อยนี้ พญาปักษีพามาจากบุรพนคร เราจึงช่วงชิงเอาไว้ ณ สุวรรณบรรพต (ดอยคำ) ใกล้อาศรมแห่งปู่ย่าผู้บรรพบุรุษ พญาปักษีได้ปล่อยกุมารีตกลงมาท่ามกลางต้นปทุมสระหลวง เราจึงได้สักการะอธิษฐาน กุมารีนี้จึงลอยขึ้นบน ? วี ? วันนี้ ก็เป็นวันพระจันทร์เต็มดวง ปีมะโรง พุทธศก ๑๑๗๖ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือน ๕ วันพฤหัสบดี ปีมะโรง ตรงกับเดือน ๗ เหนือ ออก ๑๕ ค่ำ ปีสีฯ

ดวงชะตาเจ้าแม่แปลกประหลาด

ตามเกณฑ์ดวงชะตาเจ้าแม่จามเทวีแปลกประหลาด จึงได้ให้นักพยากรณ์ลองผูกดวงดู ตามทัศนของพระฤๅษีกล่าวว่า เกณฑ์เลขชะตาเจ็ดตัว วันกำเนิดก็ ๕ เดือนก็ ๕ ปีก็ ๕ ยังขึ้น ๑๕ ค่ำอีก ด้วย กุมารนี้ประมาณชันษาได้ ๓ เดือนแล้ว ด้วยเหตุฉะนี้เราจึงกระทำพิธีมงคลนามตามกำเนิดเพื่อความเป็นสิริมงคล เราได้ทราบด้วยญาณว่า ? กุมารีนี้เป็นบุตรีของชาวบ้านหนองดู่ ในบุรพนคร (ต่อมาเปลี่ยนเป็นหริภุญชัย) เราจึงมอบให้ กากะวานรและบริวารเลี้ยงกุมารีน้อยนี้ ณ สุวรรณบรรพต และได้สอนศิลปวิทยาให้จวนจบชนมายุได้ ๑๓ ปี เป็นเวลาที่กุมารีนี้จักได้มาช่วยอุปถัมภ์กำราบ อริราชศัตรู ณ แคว้นเขมรัฐ อันกุมารีนี้ยังจักเป็นคู่เสน่หาของเจ้าชายเขมรัฐ ซึ่งเดินหลงทางพนาเวศไปยังเราเมื่อ ๔ ปีโน้น จึงได้ทำพิธีประกอบนาวายนต์ให้กุมารี พร้อมทั้งกากะวานร และบริวารรวม ๓๕ ตัว เดินทางโดยลำน้ำระมิงค์ถึงกรุงละโว้ฯ

ตามตำนานกล่าวว่า พระนางจามเทวี เกิดที่ บ้านหนองดู่ ไปเติบโตที่ละโว้ (ลพบุรี) ได้มาครองเมืองลำพูนตามคำเชิญของพระฤๅษี จึงได้เป็นกษัตริย์องค์แรกของเมืองลำพูน พระนางจามเทวี เป็นบุตรีของท่านเศรษฐี นามว่า อินตา มารดา..ไม่ปรากฏนาม เป็นชาวเม็ง (มอญ) ราษฎรบ้านหนองดู่ (อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน) พระนางจามเทวีเกิดเวลาจวนจะค่ำ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ ปีมะโรง ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ พุทธศักราช ๑๑๗๖ ในระหว่างอายุได้ประมาณ ๓ เดือน กำลังนอนเบาะ ได้มีนกใหญ่ตัวหนึ่งบินเข้ามาโฉบเอา พระนางจามเทวี ขณะที่พ่อแม่ไปธุระขึ้นบนท้องฟ้า พระนางจามเทวี ได้ร่วงหล่นลงมายังกลางสระบัวหลวง ร่างของพระนางก็ค้างอยู่บนกอบัวเป็นที่น่าอัศจรรย์

พระฤๅษีเกิดไปพบเข้าจึงนึกในใจว่า ทารกนี้มีเหตุการณ์อย่างประหลาด ชะรอยจักไม่ใช่ทารกธรรมดาสามัญ เห็นทีจะมีบุญญาธิการสูงส่ง จึงได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า ผิว่าทารกหญิงคนนี้ ประกอบด้วยบุญญาธิการ จะได้เป็นใหญ่ในเบื้องหน้าแล้วไซร้ ขอให้ ? วี ? ของเรานี้รองรับร่างของทารกไว้ได้โดยมิต้องร่วงหล่นเถิด และเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนักเมื่อเราเอา ? วี ? (วี แปลว่า พัด) ยื่นไปช้อนร่างทารกน้อยวัย ๓ เดือน ก็สามารถอยู่บน ? วี ? อย่างอัศจรรย์ จึงเลยให้นามทารกนี้ว่า ? หญิงวี ?

ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๓ ปี พระฤๅษีได้จัดส่งพระนางไปตามลำน้ำปิงพร้อมกับมีวานรจำนวน ๓๕ ตัว ติดตามไปด้วย เมื่อพระนางไปถึงท่าฉนวนหน้าวัด (เชิงท่าตลาดลพบุรี อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี) นาวายนต์ก็ลอยวนไม่เคลื่อนที่ไปทางใดจนกระทั่งรุ่งแจ้ง ประชาชนพลเมืองเมื่อได้เห็นต่างโจษขานกันอึงคะนึง บ้างก็เข้าไปพยายามดึงนาวาเข้าฝั่ง แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงได้รีบแจ้งแก่เสนาบดี และก็ได้รับทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระเจ้ากรุงละโว้ดังกล่าว กษัตริย์ทั้งสองแห่งกรุงละโว้ ก็ทรงตื้นตันด้วยความเวทนาในธิดายิ่งนัก เสด็จมารับเอาไปเป็นบุตรี อยู่ได้ ๓ วัน ก็จัดให้มีงานฉลอง และเจิมพระขวัญพระราชธิดา ทรงแต่งตั้งให้เป็นพระราชธิดาเอก แห่งนครละโว้ และให้ปุโรหิตจารึกพระนามลงในแผ่นสุพรรณบัฏว่า ? เจ้าหญิงจามเทวี ศรีสุริยะวงศ์ บรมราชขัติยะนารีรัตนกัญญาละวะบุรี ราเมศวร ? เป็นรัชทายาทแห่งนครละโว้

ในวารดิถีอาทิตยวาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเมีย พุทธศักราช ๑๑๙๐ เมื่อสิ้นพระกระแสพระราชดำรัสก็ได้ยินเสียงถวายพระพรพระธิดากันเซ็งแซ่ พระนางจามเทวี มีพระราชดำรัสตอบว่า ข้าฯ ขอกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันพิทักษ์รักษากรุงละโว้ว่า ข้าฯ จะเป็นมิตรที่ดีต่อท่านทั้งหลาย จะขอปกปักษ์พิทักษ์รักษาอาณาจักรละโว้ด้วยชีวิต จะปฏิบัติทุกอย่างที่จะหาความสุขให้ทั่วพระราชอาณาจักรแห่งนี้ เมื่อกระแสพระราชดำรัสจบลง เสียงปี่พากย์มโหรีก็บรรเลงขึ้น ชาวประชาก็ถวายพระพร ขอให้เจ้าหญิงจงทรงพระเจริญๆ ๆ แล้วข้าวตอกดอกไม้ของหอมก็ถูกโปรยทั่วบริเวณ พระพิรุณก็โปรยปรายความชุ่มเย็นจากฟากฟ้าเป็นละอองทั่วกรุงละโว้ เป็นที่อัศจรรย์อย่างยิ่ง

เมื่อพระนางจามเทวี อายุได้ ๒๐ ปี ในวันพฤหัสบดี ข้างขึ้น เดือน ๖ พุทธศักราช ๑๑๙๖ ชาวกรุงละโว้ (ลพบุรี) ก็มีพระราชพิธีสำคัญคือ พระราชพิธีหมั้นระหว่างเจ้าชายรามราชกับเจ้าหญิงจามเทวี ในวันรับหมั้นก็มีมหรสพสมโภชเอิกเกริก บรรดาเจ้าเมืองทั้งหลายก็ส่งเครื่องบรรณาการกันอย่างมโหฬารอีกครั้งหนึ่ง

อันความงามของเจ้าหญิงเลื่องลือไปทุกแคว้น จนกระทั่งเจ้าชายผู้เป็นพระราชโอรสพระเจ้ากรุงโกสัมภี (พม่า) เกิดลุ่มหลงไม่เป็นอันกินอันนอน จนพระราชบิดาต้องแต่งเครื่องบรรณาการให้อำมาตย์เชิญพระราชสาส์นมาสู่ขอพระ ราชธิดาพระเจ้ากรุงละโว้ ในปี ๑๑๙๖ ขณะนั้นเจ้าหญิงทรงรับหมั้นแล้ว จึงได้ปฏิเสธการรับหมั้น ทางฝ่ายกรุงโกสัมภีเมื่อผิดหวังก็กล่าวหาว่าละโว้บ่ายเบี่ยงก็เคืองแค้นอยู่ ในใจ

พม่าเสียใจความรักไม่สมหวัง

ในราวเดือนอ้าย ปลายปีพุทธศักราช ๑๑๙๖ เมืองโกสัมภีก็ยกทัพใหญ่ เพียบพร้อมด้วยพระประยูรญาติ ทางกาลิงครัฐก็รวมกำลังเป็นกษัตริย์เข้าบุกละโว้

ทางนครรามบุรี (ทัพกษัตริย์) คือ แม่ทัพล้วนแต่เป็นราชโอรส ราชนัตตา หรือเจ้าผู้ครองทั้งนั้น ทุกกองจะมีกองหน้า กองหลวง กองหลัง เต็มอัตราศึก แสนยานุภาพของโกสัมภีและกาลิงครัฐก็พุ่งเข้าบดขยี้นครรามบุรีอย่างบ้าคลั่ง น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ นครรามบุรีรีบแจ้งข่าวศึกใหญ่มายังกรุงละโว้ กษัตริย์ละโว้ทรงทราบก็ตกพระทัยนั่งอึ้งมิอาจตรัสสิ่งใดได้ ทั่วท้องพระโรงเงียบกริบ

พระนางจามเทวีอาสาออกศึกสงครามกับพม่า

ในการออกสงครามกับพม่าครั้งนี้ ทางฝ่ายพระบิดาพระมารดาและพระนางต่างปรึกษาหารือกันอยู่เป็นเวลานาน กว่าจะตกลงกันได้ ในที่สุดก็ตกลงมอบหน้าที่ให้พระนางจามเทวีเป็นแม่ทัพออกศึกสงครามกับพม่า เพราะพระฤๅษีสั่งว่า พระราชธิดานี้จะมาช่วยบำราบอริราชศัตรู และจากเหตุการณ์ที่ล่วงมาก็แสดงว่า พระราชธิดานี้มีบุญญาธิการแก่กล้านักเห็นทีศัตรูจะทำอันตรายมิได้เป็นแน่ จึงตกลงอนุญาตและถามเจ้าหญิงว่าจะเดินทัพเมื่อไร เจ้าหญิงทูลว่าจะไปวันนี้ เจ้ากรุงละโว้ก็ให้อำมาตย์ไปอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเข้ามายังพระอาราม หลวงโดยพร้อมเพรียงกัน

เมื่อพิธีเจิมเฉลิมชัยเจ้าหญิงเสร็จแล้ว เจ้าหญิงทรงรับสั่งให้ขุนศึกทั้งหลายเตรียมทัพ และให้พี่เลี้ยงทั้งสองจัดทัพหน้าหญิง ๕๐๐ คน ชาย ๑,๐๐๐ คน กับกากะวานรและวานรที่ติดตามมาตั้งแต่ระมิงค์นครทั้ง ๓๕ ตัว เมื่อทำพิธีทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย พระนางตรัสว่าเพื่อปิตุภูมิเราจะขอทำหน้าที่และยอมสละชีวิตก่อนท่านทั้งหลาย และศึกครั้งนี้หนักนัก เป็นศึกกษัตริย์อันมิควรจะพบกันบ่อยครั้ง บรรดาแม่ทัพของเขาล้วนแต่เป็นพระโอรสและราชนัดดาของนครต่างๆ ทั้งโกสัมภี และกาลิงครัฐ พระนางประกาศว่าถ้าผู้ใดมิเต็มใจไปราชการด้วยครั้งนี้ เราจะมิเอาโทษทัณฑ์ประการใด จะปลดปล่อยทันที เมื่อรับสั่งจบบรรดาเหล่าทหารก็โห่ร้องถวายพระพรกันเซ็งแซ่ ทุกคนขอปฏิญาณว่าจะขอตายเพื่อประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ทั้งนั้น

ทันทีนั้นท้องฟ้าก็แจ่มใสเป็นศุภนิมิตอันดี กษัตริย์กรุงละโว้ก็ทรงมอบพระแสงอาญาสิทธิ์แก่เจ้าหญิง ทันใดนั้นธงชัยประจำตัวแม่ทัพก็สะบัดชายให้เห็นพื้นธงสีฟ้าริมขาว ส่วนกลางของธงซึ่งมีรูปมงกุฎราชกุมารีลอยอยู่เหนือดวงอาทิตย์โบกสะบัดอยู่ไป มาติดตามแม่ทัพอย่างกระชั้นชิด เมื่อเดินทัพมาใกล้นครเขื่อนขัณฑ์ (กำแพงเพชร) เจ้าหญิงจึงทรงอักษรไปยังเจ้ารามฯ ว่า เจ้าหญิงจามเทวีแห่งกรุงละโว้มาช่วยแล้วขอให้เจ้าพี่ทิ้งเมืองเสียเถิด ให้อพยพชาวเมืองลงมาก่อน แล้วเจ้าพี่รับทำหน้าที่นำทัพมาพ้นเทือกเขาขุนกาฬบรรพต ในระหว่างที่มีการสู้รบกันอยู่นั้นพลเมืองต่างก็พากันหนีออกจากเมือง เมื่อทัพโกสัมภียึดนครได้ก็กลายเป็นนครร้างเสียแล้ว เพราะราษฎรอพยพกันหมดสิ้น ต่อมาแม่ทัพทั้งสองก็ได้สู้รบกันอีก จนต่างฝ่ายมีอาหารการกินร่อยหรอลงไป

เจ้าหญิงก็ทรงพระอักษรขึ้น ๑ ฉบับ ส่งให้โอรสแห่งโกสัมภีว่าอันสงครามครั้งนี้เหตุก็เกิดจากเรื่องส่วนตัว ระหว่างเจ้าพี่กับหม่อมฉัน มิควรที่จะให้ชีวิตของทวยราษฎร์ทั้งหลายจักต้องมาล้มตายกัน จะเป็นที่ครหานินทาแก่หมู่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายเปล่าๆ ขอเชิญเจ้าพี่แต่งกายทหารมาทำการสู้รบกันตัวต่อตัวให้เป็นขวัญตาแก่ไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดินเถิด จอมทัพแห่งโกสัมภีเมื่อรับพระราชสาส์นจากเจ้าหญิง จึงได้ทรงทราบว่าสตรีที่ตนรักเป็นจอมโยธาจะต้องมาประหัตประหารกัน ก็ทรงวิตกไปหลายประการและก็แว่วว่าเจ้าหญิงทรงเป็นศิษย์พระฤๅษี คาถาอาคมก็คงจะเชี่ยวชาญ มิฉะนั้นไหนเลยจะกล้าหาญมาเป็นแม่ทัพ

ต่อจากนั้นอีกสองวันทั้งสองฝ่ายก็จัดแม่ทัพออกสู้กันตัวต่อตัว ล่วงไปได้ ๖ วันในการต่อสู้ขุนศึกโกสัมภีตาย ๒ คน ละโว้ตาย ๑ คน วันที่ ๗ จอมทัพโกสัมภีจะต้องต่อสู้กันตัวต่อตัว เจ้าหญิงก็นึกถึงบิดา พระฤๅษีวาสุเทพ เสี่ยงสัจจะอธิษฐานในบุญกรรม และแล้ววันรุ่งขึ้นก็ย่างมาถึง วันนี้เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ กลองศึกถูกรัวเร้าจังหวะ กองทัพทั้งสองก็มาประจันหน้ากัน ณ สนามรบ ขณะที่ทางโกสัมภีตกตลึงเมื่อได้เห็นความงามของพระนางจามเทวี พระนางจึงตรัสว่า เจ้าพี่มัวยืนเหม่ออยู่ด้วยเหตุอันใด หม่อมฉันขอเชิญเจ้าพี่มาประลองฝีมือกัน อย่าให้ทหารทั้งหลายต้องพลอยยากลำบากด้วยเราเลย เจ้าชายได้สติจึงเอ่ยขึ้นว่า การศึกครั้งนี้ใยพระนางต้องทำพระวรกายมาให้เปรอะเปื้อนโลหิตอันมิบังควร สำหรับสตรีเพศ หรือว่าละโว้นั้นสิ้นแล้วหรือซึ่งผู้ชายชาตรี

เจ้าหญิงตรัสว่า อันละโว้จะสิ้นซึ่งชายชาตรีนั้นหามิได้ แต่ว่าหม่อมฉันเป็นราชธิดาแห่งเสด็จพ่อเสด็จแม่ เป็นเอกธิดาภายใต้เศวตฉัตร อันสตรีก็มีใจ บุรุษก็มีใจ ผิว์ว่าหม่อมฉันพลาดพลั้งเจ้าพี่ก็เอาชีวิตหม่อมฉันไปเถิด ถ้าเจ้าพี่พลาดพลั้งก็ขอได้โปรดอภัยให้แก่หม่อมฉันด้วย เมื่อต่างฝ่ายต่างโต้คารมกันไปมานานพอสมควรก็ใกล้เที่ยงวัน เจ้าชายโกสัมภีก็ตรัสขอเชิญเจ้าหญิงพักเหนื่อยกันก่อนเถิด บ่ายอ่อนเราจึงมาต่อสู้กันใหม่ เจ้าหญิงก็ทรงเห็นด้วย

ครั้นแล้วเวลานั้นก็มาถึง ทั้งสองเจ้าก็เริ่มประดาบกันใหม่ภายใต้ร่มโพธิ์อันร่มรื่น เจ้าหญิงทรงยืนเป็นสง่า ทั้งคู่ต้องมาประหัตประหารกันด้วยหน้าที่ เมื่อปี่ชะวาครางขึ้น ทั้งคู่ก็เริ่มเข้าประหารกันอีก เมื่อดาบทั้งสี่เริ่มกระทบกันจากช้าเป็นเร็ว ต่างฝ่ายผลัดกันรับและรุกเป็นเวลานาน คนดูต่างใจหายใจคว่ำ ครั้นแล้วเจ้าชายก็เสียเชิงถูกพระแสงดาบเจ้าหญิงเฉี่ยวเข้าที่พระกรก็ตกใจ ชักม้าเบนห่าง กากะวานรเห็นดังนั้นก็พุ่งเข้าคว้าธงไชย จอมทัพโกสัมภีเข้าหักยับด้วยกำลัง ทหารทั้งปวงก็อลหม่านทั้งไพร่และนายแตกตื่นกันชุลมุน กองทัพโกสัมภีก็แตกร่นไม่เป็นขบวน ต่างชิงหนีเอาตัวรอด ทหารละโว้ตามตีไม่ลดละจึงต้องหนีทั้งกลางวันและกลางคืน

เจ้าชายแห่งโกสัมภีแค้นพระทัยที่เสียรู้ เสียพระทัย เสียทัพยับเยิน จะอยู่ไปใยให้ขายหน้าและสุดที่ผู้ใดจะช่วยทัน ด้วยทิฐิมานะแห่งขัติยะก็ทรงเอาพระแสงดาบเชือดเฉือนพระศอของตนเองจนสิ้น ชีพิตักษัย ทันใดก็มีเสียงร้องต่อๆ กันว่า เจ้าชายโกสัมภีสิ้นพระชนม์ฯ ขอให้ทหารทุกคนยอมอ่อนน้อมต่อละโว้เถิด มีเสียงบอกต่อๆ กันจนฟังให้อึงคะนึงไปหมด เจ้าหญิงจึงประกาศให้ทัพฝ่ายกรุงละโว้ปลดอาวุธทางโกสัมภี แล้วเจ้าหญิงก็ยุติการสู้รบและให้ทั้งสองฝ่ายตรวจตราความเสียหาย เจ้าหญิงทรงพระบัญชาให้ทหารรีบไปเอาปรอทยังนครสุวรรณบรรพต และให้ต่อพระศอเจ้าชายโกสัมภีแล้วกรอกปรอทบรรจุพระศพเจ้าชายโกสัมภีเป็นที่ เรียบร้อยแล้วให้ทหารนำศพกลับเมืองโกสัมภี เป็นอันว่าสงครามรักสะเทือนใจทั้งสองนครก็ยุติฯ

เสร็จสงครามเจ้าจามเทวีก็อภิเษกสมรส

เมื่อเหตุการณ์ทั้งหลายสงบเรียบร้อย พระเจ้ากรุงละโว้และพระมเหสีก็ทรงดำริว่า สมควรจัดให้ราชธิดากับเจ้าชายรามราชทรงอภิเษกสมรส ทางเจ้ากรุงละโว้ทรงให้เขียนประกาศแจ้งไปยังหัวเมืองต่างๆ อย่าให้เมืองใดขาดได้ เมื่อได้ฤกษ์งามยามดีตรงกับวันข้างขึ้นเดือน ๖ ปีขาล พุทธศักราช ๑๑๙๘ พระนางจามเทวีกับเจ้าชายรามฯ ก็ได้อภิเษกสมรสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาก็มีพระราชพิธีมอบราชสมบัติ อัญเชิญเจ้ารามฯ ขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครองนครกรุงละโว้เพื่อเป็นมิ่งขวัญชาวละโว้ต่อไป

พระราชประวัติ ปฐมกษัตรีย์แห่งนครหริภุญชัย (๒)

ดินแดนล้านนา มีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยกันเป็นเวลานานมาแล้ว หลักฐานทางโบราณคดีพบร่องรอยการมีผู้คนอาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เพราะได้ขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากหินในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย นาย ชิน อยู่ดี ผู้เชี่ยวชาญวิชาก่อนประวัติศาสตร์ระบุว่าเป็นสมัยหินใหม่ แต่เรื่องราวในยุคหินใหม่ยังไม่มีการศึกษากัน

ส่วนจังหวัดลำพูนเดิมมีชื่อว่า หริภุญชัย หรือ หริภุญไชย "หริ" แปลว่า สมอ "ภุญชัย" แปลว่า ฉัน เป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดในล้านนา จากการค้นคว้าทางด้านโบราณคดีในภาคเหนือ ตามโครงการโบราณคดีประเทศไทยของกรมศิลปากรนั้น มีการขุดพบหลักฐานหลายอย่าง เช่น โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบผสมลายเขียนสีแดงที่ส่วนคอและขอบปาก กำไลสำริด กำไลหิน กำไลแก้ว ลูกปัดแก้ว ขวานหินขัด เครื่องมือเหล็กและเตาเผา ที่บ้านวังไฮ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน บ้านสันป่าคา และบ้านยางทองใต้ จังหวัดเชียงใหม

ทูลเชิญพระนางจามเทวีมาครองเมืองหริภุญชัย

เมืองหริภุญชัย สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๑๒๐๔ โดยวาสุเทพ ฤาษี (สุเทวฤาษี) เป็นผู้สร้างเพราะเห็นว่ามีชัยภูมิดี เป็นที่ที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับ และได้รวบรวมชาวบ้านผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในละแวกนั้น ให้อยู่รวมกันและปรึกษากับสุกกทันตฤาษีผู้เป็นสหาย ให้หาผู้ที่เหมาะสมมาครองเมือง ในที่สุด จึงตกลงขอพระนางจามเทวี พระธิดาของพระยาจักกวัติแห่งกรุงละโว้ (ลพบุรี) และเป็นพระมเหสีของเจ้าเมืองรามบูรณ์ (หรือรามราช อยู่ใกล้เมืองละโว้) มาครองเมืองหริภุญชัย ซึ่งขณะนั้น พระนางจามเทวีทรงมีพระครรภ์ได้ ๓ เดือน ระหว่างการเดินทาง พระนางจามเทวีทรงสร้างพระอาราม ณ บริเวณบ้านระมักและสร้างวัดกู่ระมักขึ้นเป็นแห่งแรก

พระนางจามเทวี พร้อมด้วยบริวารได้เดินทางมาหริภุญชัย ใช้เวลานาน ๗ เดือน พระนางทรงนำเอาพระแก้วขาว (เสตังคมณี) ซึ่งสร้างขึ้นที่เมืองละโว้ประมาณ พ.ศ. ๗๐๐ มาด้วย (ปัจจุบันพระแก้วขาวองค์นี้ประดิษฐานอยู่ที่วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่) วาสุเทพฤาษี และสุกกทันตฤาษี พร้อมด้วยชาวเมืองได้อัญเชิญพระนางจามเทวีนั่งบนกองทองคำ (กองหญ้าแพรก) แล้วทำพิธีราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ. ๑๒๐๖

ประสูติพระโอรส


หลังจากพระนางจามเทวีครองเมืองได้ ๗ วัน ก็ประสูติพระโอรสฝาแฝด ๒ พระองค์ ในวันเพ็ญเดือน ๓ พระโอรสองค์พี่มีพระนามว่า "มหันตยศ" องค์น้องพระนามว่า "อนันตยศ" หรือ "อินทวระ" พระนางจามเทวีได้นำขนบธรรมเนียมประเพณีอารยธรรมต่างๆ ของละโว้เข้ามาเผยแพร่ และได้ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง ให้ชาวเมืองดำรงตนยึดมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ด้วยอำนาจบุญบารมีของพระนาง จึงได้ช้างเผือกดั่งสีเงินยวง (ใสบริสุทธิ์) งาทั้งสองข้างมีสีเขียวเรียกว่า "ผู้ก่ำงาเขียว" (ช้างพลายผู้มีผิวกายเปล่งปลั่งและมีงาสีเขียว ซึ่งภาษาเหนือเรียกว่า ปู๊ก่ำงาเขียว ) จากเชิงเขาอ่างสลุง (อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่) มาเป็นช้างพระที่นั่งคู่บารมี

ต่อมาขุนวิลังคราช เจ้าเมืองลัวะ ยกทัพมาตีเมืองหริภุญชัย เพื่อชิงพระนางจามเทวีไปเป็นมเหสี เจ้ามหันตยศ และเจ้าอนันตยศ ได้ทรงช้างบารมีของพระนางนำไพร่พลออกสู้รบ ขุนวิลังคราชเห็นรัศมีสีแดงลุกโพลงอยู่ปลายงาช้างเผือก ก็ตกใจกลัวตายหนีไป เมื่อช้างเผือกคู่บารมีได้ล้มลง (ตายลง) พระนางจึงนำซากช้างฝังไว้พร้อมซากม้าพระที่นั่งของพระโอรส ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า "กู่ช้าง กู่ม้า"

พระนางจามเทวีเสด็จสวรรคต

เมื่อพระราชโอรสทั้ง ๒ พระองค์ เจริญวัยขึ้น พระนางจามเทวี จึงสละราชสมบัติให้เจ้ามหันตยศครองเมืองหริภุญชัย และสร้างเมืองเขลางค์นคร (ลำปาง) ให้เจ้าอนันตยศไปครอง ส่วนพระนางก็บำเพ็ญศีลเจริญภาวนาปวารณาอยู่ในร่มพระพุทธศาสนาตลอดมา จนมีพระชนมายุได้ ๙๒ พรรษา จึงเสด็จสวรรคต พระเจ้ามหันตยศ ทรงจัดการพระบรมศพพระมารดาด้วยการสร้างพระเมรุในป่าไม้ยางแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้กับอารามวัดมาลุวาราม (วัดสันป่ายางหลวงที่พระนางจามเทวีทรงสร้างไว้) แล้วถวายพระเพลิง และสร้างสุวรรณจังโกฏิเจดีย์ บรรจุพระอัฐิหุ้มด้วยแผ่นทองคำ พร้อมทั้งเครื่องประดับของพระราชมารดา ตลอดจนสร้างวัดขึ้นและขนานนามว่า "วัดจามเทวี" ต่อมายอดพระเจดีย์หักพังลงมา ชาวบ้านจึงเรียกว่า "วัดกู่กุด"

วัดกู่กุด ซึ่งเป็นวัดคู่บารมีของพระนางจามเทวี ได้สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ ๑๓ เมืองหริภุญชัยมีพระนางจามเทวีเป็นกษัตริย์องค์แรกปกครองสืบๆ กันมาจนถึง ๔๙ พระองค์ มีพระยายีบาเป็นองค์สุดท้าย รวมอายุเมือง ๖๑๘ ปี พระยายีบาก็ได้เสียเมืองให้แก่พระยาเม็งรายเมื่อจุลศักราช ๖๔๓ (พุทธศักราช ๑๘๒๔) ปีมะโรง เดือน ๖ ขึ้น ๔ ค่ำ

รายนามกษัตริย์ ครองเมืองหริภุญชัย


๑ . พระนางจามเทวี เป็นปฐมกษัตริย์
๒ . พระมหันตยศ พระโอรสองค์ที่ ๑ ครองเมืองลำพูน
      พระอนันตยศ พระโอรสองค์ที่ ๒ ครองเมืองลำปาง
๓ . พระยากูมัญญาราช
๔ . พระยาสุทันตะ
๕ . พระยาสุวรรณมัญชุ
๖ . พระยาสังสาระ
๗ . พระยาปทุมราช
๘ . พระยากุลเทวะ
๙ . พระยาธรรมมิกราช
๑๐ . พระยามิลักขะมหาราช
๑๑ . พระยาโนการาช
๑๒ . พระยาพาลราช
๑๓ . พระยากุตตะราช
๑๔ . พระยาเสละราช
๑๕ . พระยาอุตตราช
๑๖ . พระยาโยจะราช
๑๗ . พระพรหมทัตราช
๑๘ . พระยามุกขะราช
๑๙ . พระยาตระ
๒๐ . พระยาโยวราช
๒๑ . พระยากมะละราช
๒๒ . พระยาจุเลระ
๒๓ . พระยาพินไตย
๒๔ . พระยาสุเทวราช
๒๕ . พระยาเตโว
๒๖ . พระยาไชยะละราช
๒๗ . พระยาเสละ
๒๘ . พระยาตาญะราช
๒๙ . พระยาสักกีราช
๓๐ . พระยานันทะสะ
๓๑ . พระยาอินทวระ
๓๒ . พระยารักนะคะราช
๓๓ . พระยาอิทตยราช
๓๔ . พระยาสัพพสิทธิ์
๓๕ . พระยาเชษฐะราช
๓๖ . พระยาจักกะยะราช
๓๗ . พระยาถวิลยะราช

สมัยของพระนางจามเทวี ได้ทะนุบำรุงบ้านเมืองทั้งด้านการปกครองและการศาสนาดังนี้

ด้านการปกครอง

พระนางจามเทวีวางระเบียบการปกครองเป็นแบบ เวียง วัง คลัง นา ดังนี้

๑ . แต่งตั้งพระพี่เลี้ยง พระนาง เกษวดี เป็นผู้รักษาพระนคร และเป็นแม่กองบูรณะพระนคร

๒ . แต่งตั้งพระพี่เลี้ยง พระนางปทุมวดี เป็นผู้รักษากิจการต่างๆ ภายในพระราชวัง

๓ . แต่งตั้งพระยาโชติกราชเศรษฐี เป็นขุนคลัง

๔ . แต่งตั้งนักองค์อินทร์ เป็นพระยาโพสพ รักษาที่ดิน ไร่นาเกษตร

ด้านการศาสนา


พระนางจามเทวี ทรงสร้างพระอาราม ๔ ทิศ ขึ้น ประจำจตุรทิศของพระนคร เพื่อเป็นพุทธปราการปกป้องคุ้มครองพระนครให้เจริญรุ่งเรืองปราศจากภัยพิบัติ ต่างๆ ดังนี้

๑ . วัดอาพัทธราม (วัดพระคงฤาษี) เป็นพุทธปราการประจำทิศเหนือ
๒ . วัดอรัญญิกรัมนการาม (วัดดอนแก้ว) เป็นพุทธปราการประจำทิศตะวันออก
๓ . วัดมหาสัตตาราม (วัดประตูลี้) เป็นพุทธปราการประจำทิศใต้
๔ . วัดมหาวนาราม (วัดมหาวัน) เป็นพุทธปราการประจำทิศตะวันตก
ส่วนกำแพงเมืองหริภุญชัยที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นกำแพงเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยพระเมืองแก้ว พระองค์ทรงเห็นว่า ตัวเมืองลำพูนนั้นกว้างขวางมาก เวลามีข้าศึกศัตรูมาติดเมือง ยากจะป้องกันไว้ได้ จึงให้รื้อกำแพงเมืองเก่าออก แล้วก่อกำแพงขุดคูเมืองใหม่ให้แคบกว่าเดิม หลังจากนั้น มีกษัตริย์ปกครองเมืองหริภุญชัยอีกหลายพระองค์รวมทั้งสิ้น ๔๗ พระองค์

ในปี พ.ศ. ๒๓๕๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาล ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้ารัตนหัวเมืองแก้ว (พระยาราชวงศ์คำฝั้น) เป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนยุคใหม่ ซึ่งมีจำนวน ๑๐ พระองค์ คือ

๑ . เจ้าคำฝั้น พ.ศ. ๒๓๕๗ - ๒๓๕๘
๒ . เจ้าศรีบุญมา พ.ศ. ๒๓๕๘ - ๒๓๗๐
๓ . เจ้าน้อยอินทร (อิ่น) พ.ศ. ๒๓๗๐ - ๒๓๘๑
๔ . เจ้าน้อยคำตัน พ.ศ. ๒๓๘๑ - ๒๓๘๔
๕ . เจ้าน้อยธรรมลังกา พ.ศ. ๒๓๘๔ - ๒๓๘๖
๖ . เจ้าน้อยไชยลังการ์ พ.ศ. ๒๓๘๖ - ๒๔๑๔
๗ . เจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ (เจ้าดาวเรือง) พ.ศ. ๒๔๑๔ - ๒๔๓๑
๘ . เจ้าเหมพันธุ์ไพจิตร (เจ้าคำหยาด) พ.ศ. ๒๔๓๑ - ๒๔๓๘
๙ . เจ้าอินทยงยศ (เจ้าน้อยอินทยงยศ) พ.ศ. ๒๔๓๘ - ๒๔๕๔
๑๐ . เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ พ.ศ. ๒๔๕๔ - ๒๔๘๖

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง จากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบ ประชาธิปไตย จึง ให้ยุบเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครทั้งหมด ไม่แต่งตั้งขึ้นใหม่อีก ระบบเจ้าผู้ครองนครจึงสิ้นสุดลง และเริ่มปกครองโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลางมาจนถึงปัจจุบัน
     
ที่มา  :  http://www.monlamphun.ob.tc