ผู้เขียน หัวข้อ: ?DQ? อัจฉริยภาพทางดิจิทัล กับ 8 ทักษะที่เด็กๆ ต้องใช้ได้อย่างชาญฉลาด  (อ่าน 4823 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
ในยุคของคนรุ่นพ่อแม่ ทักษะทางด้านไอทีและสื่อดิจิทัลถือเป็นทักษะเฉพาะด้านที่มีผู้มีความรู้อยู่ในวงจำกัด แต่เมื่อมาถึงสมัยนี้ ทักษะดังกล่าวกลายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป แถมยังจำเป็นต่อการทำงานในทุกๆ สาขาอาชีพไปแล้ว ปัญหาก็คือ ในขณะที่ทักษะดิจิทัลมีความสำคัญต่อโลกแห่งการทำงาน แต่โครงสร้างด้านการศึกษากลับยังไม่สามารถทำหน้าที่สร้างคนที่มีทักษะในด้านดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์ แถมยังนำไปสู่ปัญหาด้านความไม่เท่าเทียมกันอันเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่อำนวยอีกด้วย

จากสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้น ถือเป็นความท้าทายของนักการศึกษาในยุคนี้อย่างมาก ซึ่งในภาวะนี้ การทำให้นักการศึกษาเปลี่ยนมุมมองต่อไอทีว่าเป็นเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มทางการศึกษาแพลตฟอร์มหนึ่งมาสู่แนวคิดที่ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กๆ สามารถเอาตัวรอดและใช้ชีวิตอยู่ในโลกทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ได้อย่างเต็มภาคภูมินั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก

และหากเราเคยมีตัวชี้วัดอย่าง IQ (ความอัจฉริยะทางสติปัญญา) และ EQ (ความอัจฉริยะทางอารมณ์) ให้ได้ยินกันมาแล้ว ในยุคนี้เราอาจจำเป็นต้องมีตัวชี้วัดใหม่อย่าง DQ ? Digital Intelligence (ความอัจฉริยะทางเทคโนโลยีดิจิทัล) เพิ่มขึ้นมาอีกตัวหนึ่งแล้วก็เป็นได้ ซึ่งความอัจฉริยะทางเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น ยังสามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่

ระดับที่ 1 : พลเมืองดิจิทัล

ความสามารถในระดับนี้คือความสามารถในการใช้เทคโนโลยี และสื่อดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย มีความรับผิดชอบ และมีประสิทธิภาพ

ระดับที่ 2 : สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในเชิงสร้างสรรค์ได้

ระดับนี้เป็นความสามารถในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจดิจิทัลโดยการใช้เครื่องมือดิจิทัลเปลี่ยนไอเดียให้กลายเป็นสินค้าหรือบริการที่ใช้งานได้จริง

ระดับที่ 3 : ผู้ประกอบการดิจิทัล

เป็นระดับที่สามารถใช้สื่อดิจิทัลและเทคโนโลยีอันทันสมัยเข้าแก้ปัญหาในระดับโลก หรือสร้างโอกาสใหม่ๆ

จากอัจฉริยภาพทางดิจิทัลทั้ง 3 ระดับ จะเห็นได้ว่า ระดับที่ 2 เป็นระดับที่ภาคการศึกษาให้ความสนใจมากที่สุด โรงเรียนในปัจจุบันได้พยายามจัดหาสื่อการเรียนการสอนต่างๆ มากมายเพื่อฝึกให้เด็กๆ มีความสามารถตามข้อนี้ ทั้งการสอนเขียนโปรแกรม สอนพัฒนาหุ่นยนต์ ตลอดจนการผลิตสื่อดิจิทัล แน่นอนว่า เหตุที่สถาบันการศึกษาให้ความสำคัญอย่างมากเพราะมันมีผลโดยตรงต่อการประกอบอาชีพของเด็กๆ ในอนาคตด้วยนั่นเอง

ขณะที่ระดับที่ 3 การเป็นผู้ประกอบการดิจิทัลก็เป็นระดับที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางเช่นกัน โดยมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกต่างเปิดคอร์สสร้างผู้ประกอบการดิจิทัลกันถ้วนหน้า

แต่สิ่งที่เราลืมไปก็คือ การสอดแทรกความสามารถในการเป็นพลเมืองดิจิทัล ซึ่งเป็นความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยี และการมีชีวิตอยู่ใน Digital World ให้กับเด็กๆ ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่พวกเขาควรได้เรียนรู้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ถ้าเป็นไปได้ ควรฝึกตั้งแต่วัยที่เด็กสามารถเล่นเกม เล่นโซเชียลมีเดีย หรือเริ่มใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลจะดีที่สุด)

ในจุดนี้ น่าเสียดายที่นักการศึกษามักมองว่า ทักษะเหล่านี้ควรได้รับการปลูกฝังมาจากครอบครัวเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงก็คือ เด็กในเจเนอเรชัน Z ล้วนเติบโตมากับสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียทั้งสิ้น ไม่ว่าพ่อแม่หรือครูจะรู้วิธีสอนให้พวกเขามีทักษะและสามารถรับมือกับมันได้หรือไม่ก็ตาม

เด็กๆ ในยุคนี้จึงเสี่ยงต่อการใช้งานเทคโนโลยีในทางที่ผิด เช่น ใช้งานมากเกินจำเป็น (Technology Addiction), การกลั่นแกล้งกันในโลกไซเบอร์ ตลอดจนการขาดทักษะในการมีปฏิสัมพันธ์กันคนอื่นในสังคม และในขณะที่เด็กส่วนหนึ่งเจอกับความท้าทายดังกล่าว เด็กอีกส่วนหนึ่งที่อาจจะมีฐานะยากจน อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีก็มีความเสี่ยงไม่แพ้กัน

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยีเพื่อให้เด็กสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองดิจิทัลได้อย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตของเด็กๆ ซึ่งเราสามารถแบ่งออกได้เป็น 8 ด้าน ได้แก่



1. Digital citizen identity การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ นั่นคือการสอนเด็กให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการมีตัวตนบนโลกดิจิทัล และสามารถบริหารจัดการตัวตนทั้งบนโลกออนไลน์และโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. Screen time management การรู้จักควบคุมตัวเอง และสามารถแบ่งเวลาในการใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเล่นเกมออนไลน์และโซเชียลมีเดียอย่างรับผิดชอบ

3. Cyberbullying management การรับมือกับปัญหาการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ได้อย่างชาญฉลาด

4. Cybersecurity management มีความรู้ความเข้าใจและสามารถดูแลด้านความปลอดภัยของข้อมูลบนโลกไซเบอร์ได้ เช่น การสร้างพาสเวิร์ดที่เจาะได้ยาก หรือการรับมือกับภัยคุกคามบนโลกดิจิทัล

5. Privacy management มีความเข้าใจในเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) ทั้งของตนเองและของผู้อื่น ซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล เช่น การแชร์ข้อมูลต่างๆ ด้วยเครื่องมือดิจิทัล

6. Critical thinking การฝึกให้เด็กๆ มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลบนโลกดิจิทัล  ตั้งแต่ว่าเป็นข้อมูลจริงหรือปลอม มาจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือไหม เป็นประโยชน์หรือเป็นอันตราย

7. Digital footprints การสอนให้เด็กๆ เข้าใจถึงสิ่งที่ตนเองทิ้งเอาไว้บนโลกดิจิทัล ซึ่งบางครั้งอาจถูกผู้อื่นสะกดรอยตามจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นจนอาจมีผลกระทบต่อชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงได้ เพื่อให้เด็กๆ รู้จักบริหารจัดการชีวิตบนโลกดิจิทัลอย่างรับผิดชอบ

8. Digital empathy มีความสามารถในการแสดงน้ำใจบนโลกออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม

จากทั้ง 8 ข้อข้างต้น หากมองในแง่ของสถาบันการศึกษา รูปแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กตระหนักถึงการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพนั้น ควรให้โอกาสผู้เรียนได้ประเมินและมีฟีดแบ็ก ซึ่งการประเมินนั้นสามารถใช้เป็นเครื่องมือที่จะชี้ว่าเด็กๆ รู้จักจุดอ่อนและจุดแข็งในตัวเองมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่พวกเขาจะได้นำมันไปพัฒนาให้ตนเองประสบความสำเร็จได้ต่อไป

ส่วนในระดับผู้กำหนดนโยบายก็ต้องมีความตระหนักถึงความสำคัญของการสร้าง ?พลเมืองดิจิทัล? และอัจฉริยะทางดิจิทัล (Digital Intelligence) อย่างแท้จริง  หน่วยงานด้านการศึกษาควรให้ความสำคัญกับโปรแกรมการสร้างพลเมืองดิจิทัลขึ้นมาเป็นลำดับต้นๆ ด้วย และที่สำคัญที่สุดคือ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ ทั้งครอบครัว โรงเรียน และชุมชน อย่าผลักภาระให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงลำพัง  เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เด็กๆ จะมีทักษะเพียงพอ และสามารถเอาตัวรอดได้ในยุคแห่งโลกดิจิทัลที่ล้อมรอบตัวเขาอยู่นั่นเอง

ที่มา: World Economic Forum