ผู้เขียน หัวข้อ: การศึกษาหันหลัง  (อ่าน 3776 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
เมื่อ: กุมภาพันธ์ 04, 2017, 11:46:33 PM
คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

จริง ๆ แล้วความสำเร็จในโลกการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ จนทำให้บุคลากรทางด้านการศึกษาจากทั่วโลกต่างเดินทางมาศึกษาดูงาน ทั้งยังนำโมเดลต้นแบบต่าง ๆ ไปประยุกต์ใช้กับการศึกษาในประเทศของตน

เพื่อหวังว่าจะนำไปพัฒนาปรับปรุงระบบการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

แต่กระนั้นใครจะรู้บ้างว่ากว่า"ฟินแลนด์"จะประสบความสำเร็จในวันนี้ประเทศของเขาต่างผ่านความเจ็บปวดมาก่อน ยิ่งเฉพาะในช่วงปี 1939-1945 เนื่องเพราะประเทศของเขาต้องเผชิญกับสงคราม โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

คราวนั้นมีผู้เสียชีวิตราว 90,000 คน

60,000 คนต้องกลายเป็นผู้ทุพพลภาพ และอีกกว่า 25,000 คนเป็นม่าย ขณะที่เด็กกว่า 50,000 คน กลายเป็นเด็กกำพร้า

มากไปกว่านั้นฟินแลนด์ยังต้องยกดินแดน 12% ให้กับสหภาพโซเวียตในอดีต พร้อม ๆ กับต้องอพยพประชากรกว่า 450,000 คนออกจากประเทศ พร้อมกับต้องยอมให้กองทัพสหภาพโซเวียตเช่าคาบสมุทรใกล้กรุงเฮลซิงกิเพื่อตั้งฐานทัพ

จนทำให้ฐานรากของประเทศทางด้านการเมืองวัฒนธรรมและเศรษฐกิจถูกทำลายอย่างย่อยยับ

แต่ประชาชนชาว"ฟินน์" กลับไม่ยอมแพ้

เพราะประชาชนชาวฟินน์เป็นคนยอมรับความเป็นจริง อีกอย่างอาจเป็นเพราะประเทศของเขาถูกขนาบข้างไปด้วยประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหภาพโซเวียตและสวีเดน

เขาเคยชินกับการเป็นประเทศเล็กๆ

และเคยชินกับการเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ใช้ชีวิตเรียบง่ายแต่กระนั้น สวรรค์ก็ประทานความเป็นนักการทูตให้กับพวกเขา โดยเฉพาะในเรื่องของการเจรจาต่อรอง การรู้จักมองปัญหา และการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ

เพราะหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านพ้นไป "ยุโฮ กุสติ ปาสิกิวิ" อดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์ก็ฟื้นฟูประเทศใน 2 เรื่องหลัก ๆ ด้วยกันคือ เศรษฐกิจและการศึกษา

โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา เขามองเห็นว่าการจะฟื้นฟูประเทศให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง คงไม่ใช่การกลับไปหาฐานรากทางด้านเกษตรอีกต่อไปแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ประชากรที่เหลืออยู่ โดยเฉพาะประชากรวัยเด็ก ซึ่งเป็นอนาคตของชาติจะสร้างประเทศให้รุ่งเรืองอย่างไร ขึ้นอยู่กับพวกเขาแล้ว

เขาไม่ได้คาดหวังเพียง 5-10 ปี

แต่เขาวาดหวังไปในระยะยาว

โดยแบ่งแนวทางการวางรากฐานการศึกษา 3 ช่วงจังหวะด้วยกันคือ

หนึ่ง ระยะของการส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกัน โดยอาศัยการเปลี่ยนผ่านจากชาติเกษตรกรรมในภูมิภาคยุโรปเหนือ มาเป็นสังคมอุตสาหกรรม ในช่วงระหว่างปี 1945-1970

สอง ยุคของการสร้างระบบโรงเรียนรัฐแบบผสม โดยอาศัยการเป็นสังคมรัฐสวัสดิการอันเป็นลักษณะโดดเด่นของประเทศกลุ่มนอร์ดิก พร้อมกับขยายตัวของภาคบริการ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ในช่วงระหว่างปี 1965-1990

สาม ยุคของการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ใหม่ของประเทศฟินแลนด์ ในฐานะประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ และมีเทคโนโลยีขั้นสูง ในช่วงระหว่างปี 1985 จนถึงปัจจุบัน

ฉะนั้น จะเห็นว่าไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดีก็ตาม ทุกคนล้วนต้องสานต่อความฝันในการสร้างโลกการศึกษาของประเทศให้เกิดความยั่งยืนทั้งสิ้น แต่กระนั้น ก็ต้องชมเชยคณะกรรมาธิการภาครัฐทั้ง 3 ส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น คณะกรรมาธิการการศึกษาของฝ่ายการเมือง, คณะกรรมาธิการระบบการศึกษา และคณะกรรมาธิการหลักสูตรสถานศึกษา

เพราะพวกเขาเป็นผู้กำหนดทิศทางทางด้านการศึกษาภาคบังคับของอนาคตที่เด็กทุกคนจะต้องเรียนเหมือนกันหมดตั้งแต่เกรด1-เกรด4 ขณะที่เกรด 5-เกรด 6 คือชั้นมัธยมต้น พวกเขามีสิทธิ์เลือกเรียนว่าจะเรียนวิชาที่เน้นภาคปฏิบัติ หรือจะเรียนภาษาต่างประเทศ

ส่วนการเรียนในเกรด 7-เกรด 9 จะแบ่งออกเป็น 3 สายคือ สายอาชีพ และรายวิชาที่เน้นภาคปฏิบัติ, สายกลาง ที่กำหนดให้นักเรียนเรียนภาษาต่างประเทศ 1 ภาษา และสายวิชาการขั้นสูงที่กำหนดให้เรียนภาษาต่างประเทศ 2 ภาษา

แต่ทั้งนั้นไม่ว่าเขาจะเลือกเรียนอย่างไร พวกเขาต้องผ่านโรงเรียนแกรมมาร์สกูลมาก่อนทั้งสิ้น และโรงเรียนแกรมมาร์สกู
นี่เองที่จะช่วยเป็นหน่วยคัดกรองอีกครั้งว่านักเรียนแต่ละคนจะไปสายไหน

เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่มหา?ลัยชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

โดยมีภาครัฐเป็นผู้วางหลักสูตรแห่งชาติให้เรียบร้อย

เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกอะไรเลยที่การศึกษาของฟินแลนด์จึงมีความแข็งแกร่งดั่งที่ทุกคนทราบและก็ไม่แปลกอะไรเลยที่การศึกษาของฟินแลนด์จึงกลายเป็นเบอร์หนึ่งของโลก

เพราะนอกจากประชาชนของเขามองเป้าหมายเดียวกันว่าการศึกษาสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ภาครัฐเองก็เห็นตามด้วยว่าการศึกษาเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศชาติหลุดพ้นจากความยากจน

แต่การศึกษาในประเทศไทยล่ะ?

ผมไม่อยากตอบ

แต่วานทุกคนช่วยตอบทีเถอะครับ?



ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์