เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
บทความดีดี
บทความดีดี คำคม ข้อคิดในการดำเนินชีวิต
ฟังด้วยใจ
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: ฟังด้วยใจ (อ่าน 3535 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3923
ฟังด้วยใจ
เมื่อ:
กรกฎาคม 20, 2015, 08:20:23 PM
?แก้ว? ป่วยด้วยโรคมะเร็ง อาการของเธอลุกลามจนเข้าสู่ระยะสุดท้าย โรงพยาบาลที่เธอรักษาตัวได้ส่งจิตอาสาผู้หนึ่งชื่อ ?แพรว? มาเยี่ยมเธอ มาเป็นเพื่อนรับฟัง มาวันแรกแพรวก็ตั้งหน้าตั้งตาคุยฝ่ายเดียว และเรื่องที่คุยส่วนใหญ่เป็นเรื่องส่วนตัวของแพรวทั้งนั้น แก้วซึ่งเป็นคนไข้ก็ดีมาก เวลาแพรวมาเยี่ยมและพูดมากๆ แก้วก็ตั้งใจฟัง บางครั้งแพรวพูดจาวกวน แก้วก็ช่วยจับประเด็นให้เธอ การเยี่ยมเป็นเช่นนี้อยู่นานนับเดือน
วันหนึ่ง แพรวมาหาแก้ว สีหน้าดูดีมากเธอเล่าว่าเธอเคยมีปัญหาทางจิต และเคยไปพบจิตแพทย์ก่อนที่จะมาเป็นจิตอาสา แต่อาการของเธอไม่ดีขึ้นเลย หมอเอาแต่ให้ยา เธอไม่ชอบ ตอนหลังเธอจึงไม่ได้ไปหาหมอ พอมีการเปิดรับจิตอาสา เธอก็เลยสมัครมาทำงานนี้ ล่าสุดเธอได้ไปหาจิตแพทย์อีก หมอทักว่าเธอดูดีขึ้นเยอะ แล้วถามว่าเธอไปรักษาที่ไหนมา เธอก็บอกว่าเธอไม่ได้ไปรักษาที่ไหนเลย นอกจากมาเป็นจิตอาสาให้แก้ว เธอเชื่อว่าที่เธอมีอาการดีขึ้นก็เพราะแก้วช่วยรับฟังเรื่องราวของเธออยู่เสมอ จึงอยากขอบคุณแก้วมาก
การรับฟังนั้นเยียวยาผู้อื่นได้ ไม่เพียงเยียวยาทางใจเท่านั้น แต่ยังเยียวยาทางกายด้วย ถ้าใจสบาย กายก็ดีขึ้น
มีหญิงคนหนึ่งเป็นมะเร็งเต้านม เธอรักษาตัวเองตามมาตรฐานคือฉายแสง คีโม แต่ก็รู้สึกปวดมาก เธอบ่นกับหมอว่าปวดมาก แต่หมอและพยาบาลสังเกตว่าเวลาเธอเดินเหินก็ดูปกติดี วันหนึ่งพยาบาลจึงลากเก้าอี้มานั่งคุยกับคนไข้นานเป็นชั่วโมง ส่วนใหญ่คนไข้เป็นฝ่ายคุย พยาบาลฟังด้วยความใส่ใจ เรื่องที่เล่าส่วนใหญ่เป็นการตัดพ้อสามีและลูก ที่ไม่สนใจเธอ ไม่มาเยี่ยมเลย เธอมีความโกรธ ไม่พอใจ น้อยใจ พยาบาลก็ฟังด้วยความใส่ใจ ไม่แทรก ไม่ขัด ไม่สอน การใส่ใจฟังของพยาบาลเป็นสิ่งที่คนไข้รู้สึกได้ เมื่อพูดจบเธอก็พูดขึ้นว่า ?อืม หายปวดไปเยอะเลยนะ? แสดงว่าอาการปวดของเธอนั้นส่วนใหญ่เกิดจากความโกรธและความน้อยใจ เมื่อมีคนใส่ใจฟังโดยไม่ได้ชี้แนะอะไรเลย ก็ทำให้อาการดีขึ้น
ปัญหาที่เกิดกับคนจำนวนไม่น้อยทุกวันนี้ก็คือ รู้สึกว่าไม่ค่อยมีคนฟังตน การฟังที่ว่าหมายถึงการฟังจริงๆ โดยไม่ต้องชี้แนะ ไม่ต้องสอน การฟังด้วยความใส่ใจนั้นสามารถเยียวยาผู้อื่นได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้คนฟังโดยไม่ค่อยใส่ใจเท่าไร ถึงแม้เราจะได้ยินเสียงที่เขาพูด แต่จริงๆ แล้วเราอาจไม่ได้เข้าใจอะไรเลย มีคำพูดที่ว่า ได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง ซึ่งเป็นปัญหามาก ความขัดแย้งเกิดขึ้นเป็นเพราะเราไม่ได้ฟังกันอย่างจริงจัง และเมื่อไม่ฟังก็ทำให้ปัญหาลุกลามมากขึ้น
นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ เคยเล่าว่า ระหว่างที่เป็นวิทยากรได้พบว่าหมอฟันกับผู้ช่วยคู่หนึ่งมีความขัดแย้งกัน จึงชวนมาพูดคุยปรับความเข้าใจกัน โดยมีกติกาว่าให้แต่ละคนผลัดกันพูดว่า ตนไม่พอใจอีกฝ่ายด้วยเรื่องอะไร แต่ละคนมีเวลาพูด ๕ นาที ขณะที่ฝ่ายหนึ่งพูด อีกฝ่ายหนึ่งฟังอย่างเดียว ห้ามซัก เมื่อผู้พูด พูดจนครบ 5 นาทีแล้ว ให้ฝ่ายที่เป็นผู้ฟังสรุปสิ่งที่ได้ยิน หากเจ้าของเรื่องฟังแล้วเห็นว่าการสรุปนั้นตรงกับสิ่งที่ตนพูดก็พยักหน้า แล้วสลับบทบาท ให้อีกฝ่ายพูด ตนเป็นฝ่ายฟัง
เบื้องต้น ผู้ช่วยทันตแพทย์เป็นผู้พูดก่อน เขาเล่าว่าเขาไม่พอใจทันตแพทย์อย่างไรบ้าง เมื่อฟังจบทันตแพทย์ก็สรุปว่าตนได้ยินผู้ช่วยฯ พูดว่าอะไร ไม่พอใจเธอเรื่องอะไร เธอสรุปได้ถูกต้อง ผู้ช่วยจึงพยักหน้า จากนั้นทันตแพทย์ก็เป็นฝ่ายพูดบ้าง ส่วนผู้ช่วยฯเป็นฝ่ายรับฟัง ทันตแพทย์เล่าว่าตนไม่พอใจผู้ช่วยอย่างไร เมื่อครบ 5 นาที ผู้ช่วยฯ ก็สรุปว่าตนได้ยินทันตแพทย์พูดว่าอะไร ปรากฏว่าสรุปไม่ตรง ทันตแพทย์ส่ายหน้า เธอจึงเล่าซ้ำ ครั้งที่สองผู้ช่วยฯ ก็ยังสรุปไม่ถูก ทันตแพทย์จึงต้องพูดอีกครั้ง คราวนี้ผู้ช่วยฯ ตั้งใจฟังมากขึ้น เมื่อทันตแพทย์พูดจบ เขาก็สรุปเป็นครั้งที่สาม คราวนี้เขาสรุปได้ถูกต้อง จากนั้นก็เป็นกระบวนการของการแบ่งปันความรู้สึก
ทันตแพทย์บอกว่า หลังจากที่เธอฟังผู้ช่วยฯ เล่า เธอเข้าใจเขามากขึ้น และยอมรับว่า หากตนเป็นผู้ช่วย ฯ ก็คงไม่พอใจทันตแพทย์เช่นเดียวกัน จากนั้นผู้ช่วยฯ ก็เป็นฝ่ายแบ่งปันความรู้สึกบ้าง หมอวิธานถามผู้ช่วยฯ ว่า ทำไมสองครั้งแรกจึงจับใจความไม่ได้ว่าทันตแพทย์พูดอะไร ผู้ช่วยฯ บอกว่าเมื่อได้ยินทันตแพทย์พูด ใจเขามีแต่ความคิดที่จะเถียงจะแย้ง จึงฟังไม่เต็มที่ สุดท้ายจึงสรุปใจความไม่ได้ว่าทันตแพทย์พูดอะไร นี่เรียกว่า ได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง เพราะใจไม่ว่าง ใจคอยแต่จะเถียง แต่พอครั้งที่สามไม่เถียงแล้ว ตั้งใจฟังอย่างเดียว ความเข้าใจจึงเริ่มเกิดขึ้น ดังนั้นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการฟังคือใจ ใจไม่ว่างพอที่จะรับฟังอย่างจริงจัง
การฟังที่ดีนั้นหมายความว่าเราต้องวางเรื่องที่จะโต้แย้งไว้ก่อน การฟังไม่สมบูรณ์ก็เพราะจิตไม่ว่าง และนี่คือคำตอบว่า ทำไมความขัดแย้งบ่อยครั้งจึงกลายเป็น ?พูดไม่รู้เรื่อง? เพราะต่างฝ่ายต่างจับไม่ได้ว่าปัญหาของอีกฝ่ายคืออะไร เขาไม่พอใจเรื่องอะไร เพราะเหตุใด โดยเฉพาะหากความขัดแย้งนั้นยืดเยื้อยาวนาน ผู้คนก็จะยิ่งไม่ฟังกัน ความจริงแล้ว กติกาง่ายๆ ก็คือ ฝ่ายหนึ่งพูดแล้วให้อีกฝ่ายหนึ่งฟัง ยังไม่ต้องยกมือขอพูด นี่เป็นกระบวนการพื้นฐานของการไกล่เกลี่ยและระงับความขัดแย้ง คือ ฟังว่าอีกฝ่ายกำลังทุกข์เรื่องอะไร ต้องการอะไร
การฟังมีหลายระดับ นอกจากฟังว่าเขาพูดอะไรแล้ว บางครั้งเราอาจต้องฟังให้ลึกกว่านั้น มีคนเล่าประสบการณ์ในวงประชุมสรุปงานของมูลนิธิฯ หนึ่ง ในวงประชุมนั้นมีกรรมการและจิตอาสาซึ่งเป็นผู้ใหญ่มากๆ จิตอาสาคนนี้เป็นผู้ที่หวังดีกับมูลนิธิฯ มาก อยากให้ทำนั่นทำนี่ ในวงประชุมจึงมีการต่อว่าต่อขาน ทำไมกรรมการไม่ทำอย่างนั้น ทำไมไม่ทำอย่างนี้ คนที่เล่าเรื่องก็ยกมือขึ้นเพื่อชี้แจงว่าทำไมมูลนิธิฯ จึงทำสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ แต่จิตอาสาคนนั้นก็ยิ่งไม่พอใจ ยังคงวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน ตัวคนเล่านี้ก็ยกมือจะชี้แจงอีก พระภิกษุที่นั่งอยู่ในวงประชุมจึงแตะมือเธอเป็นสัญญาณว่าให้หยุด ขอให้ฟังเฉยๆเท่านั้น เมื่อจิตอาสาคนนั้นพูดจบ พระภิกษุนี้ก็พูดว่า ท่านรู้สึกขอบคุณผู้ใหญ่คนนี้ที่มีจิตใจดี มีน้ำใจอยากจะช่วยเหลือมูลนิธิฯ พร้อมกันนี้ก็รับทราบความเสียใจที่ความหวังดีนั้นถูกเพิกเฉย ไม่ได้รับการตอบสนอง ท่านอยากให้ผู้ใหญ่คนนี้รับรู้ว่ามูลนิธิฯ รับทราบความรู้สึกนี้แล้ว และขออภัยที่ความหวังดี ความปรารถนาดีนั้นยังตอบสนองไม่ได้ มูลนิธิฯ ยังทำสิ่งนั้นไม่ได้ พอพูดจบผู้ใหญ่คนนี้ก็สงบลง
เรื่องนี้ให้แง่คิดเป็นบทเรียนว่า สิ่งที่ผู้ใหญ่คนนั้นต้องการ ไม่ใช่คำชี้แจง ไม่ใช่เหตุผล แต่เป็นความต้องการที่จะให้มูลนิธิฯ ได้รับรู้ความรู้สึกของตน รับรู้ความหวังดีของตนและความผิดหวังที่ตน ไม่ได้รับการตอบสนอง จึงเป็นตัวอย่างที่ดีว่า เวลาเรารับฟังเราไม่ควรฟังแต่เพียงถ้อยคำเท่านั้น แต่ควรรับฟังความรู้สึกของเขาซึ่งไม่ได้ปรากฏออกมาเป็นถ้อยคำด้วย ไม่ควรฟังเพียงแค่เขาพูดอะไรเท่านั้น แต่ควรฟังว่าเขารู้สึกอย่างไรด้วย คนที่เก่งเรื่องการคิด ใช้สมอง จะพบว่าทักษะแบบนี้เป็นเรื่องยากมาก จับได้แต่ความคิด แต่สัมผัสความรู้สึกไม่ได้ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการศึกษาของเราทำให้เราฉลาดแต่ในการวิเคราะห์ความคิด แต่ไม่รู้ทันความรู้สึกของผู้คน นี่เป็นการใช้สมองคนละส่วนทีเดียว
พูดอีกอย่างคือ เราใช้สมองในการรับรู้เหตุผล แต่เราใช้หัวใจในการรับรู้อารมณ์ของผู้อื่น การฟังที่ดีเราต้องใช้ทั้งสมองและหัวใจ เมื่อใช้สมองเราจะได้ยินความคิด แล้วเราก็ใช้เหตุผลเพื่อตัดสินว่าผิดหรือถูก หรือเพื่อโต้แย้งกัน แต่ถ้าเราใช้หัวใจ เราจะรับรู้ความรู้สึก รู้ว่าเขากำลังมีความทุกข์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาในใจเราก็คือ ความเห็นใจ ความเมตตา กรุณา ถ้าใช้เพียงความคิดก็จะมีแต่เหตุผล นำไปสู่การตอบโต้ การฟังที่ดีต้องอาศัยทั้งสมองและหัวใจ จึงจะทำให้เกิดความเข้าใจได้อย่างครบถ้วน
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ พูดไว้อย่างน่าสนใจว่า ?เวลาสามีภรรยาทะเลาะกัน อย่าใช้เหตุผลเป็นอันขาด ให้ใช้อารมณ์ วางเหตุผลลงให้ได้ ปล่อยให้อารมณ์ลอยขึ้นมา อารมณ์รักที่เคยมีต่อกันในอดีตจะเข้ามาแก้ปัญหาให้เอง? ทำไมจึงไม่ควรใช้เหตุผล คำตอบก็คือเมื่อเราใช้เหตุผลเราจะเอาแต่ยืนยันความถูกต้องของตน ว่า ฉันถูกแต่เธอผิด เราใช้เหตุผลเพื่อปกป้องตนเองและกล่าวหาผู้อื่น เอาถูกเอาผิดกัน แต่เมื่อเราใช้อารมณ์บ้าง เราจะรับรู้ถึงความทุกข์ของเขา และจะเกิดความรักความเมตตา การใช้อารมณ์ที่หมอประเสริฐพูดถึง คือการใช้ความเมตตา ความปรารถนาดีที่มีต่อกัน อารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวจะเป็นตัวเชื่อมประสานให้หันมาคืนดีสนิทสนมกัน แต่การใช้เหตุผลมักจะนำไปสู่การเอาถูกเอาผิด และก่อให้เกิดการแบ่งเขา-แบ่งเรา
การใช้หัวใจในการฟังนั้นจะเชื่อมประสานผู้คนให้เข้ากัน และหากเรารู้จักใช้หัวใจในการฟังความรู้สึกของตนเอง ก็สามารถทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น รับรู้ถึงความทุกข์ แม้กระทั่งความว่างเปล่าเคว้งคว้างที่กำลังเกิดขึ้นในใจตน ปราศจากการฟังด้วยหัวใจแล้ว ยากที่เราจะเป็นมิตรกับตนเอง อย่าว่าเป็นมิตรกับผู้อื่นเลย
พระไพศาล วิสาโล
www.thaissf.org
, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
พิมพ์ใน มติชนรายวัน วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๘
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
บทความดีดี
บทความดีดี คำคม ข้อคิดในการดำเนินชีวิต
ฟังด้วยใจ
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?