ผู้เขียน หัวข้อ: ปรีดี พนมยงค์ ผู้อภิวัฒน์การปกครองของประเทศไทย หัวหน้าขบวนการเสรีไทย  (อ่าน 5417 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923

ประวัติ
        นายปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2443 บนแพทางด้านใต้ของคูเมืองอยุธยา ราชธานีเก่าแห่งสยาม ท่านเป็น บุตรชายคนโตของครอบครัวกสิกรฐานะดีสำเร็จการศึกษาระดับมัฐยมเมื่ออายุเพียง 14 ปี ซึ่งเยาว์เกินกว่าจะเรียนต่อในสถาบันการศึกษาขั้นสูงได้ นายปรีดีจึงช่วยครอบครัวทำนาที่อำเภอวังน้อยอีกสองปี ก่อนที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนกฎหมายใน ปี 2460 สองปีต่อมาจึงสำเร็จเป็นเนติบัณฑิต พร้อมกับได้รับทุนจากกระทรวงยุติธรรมให้ ไปศึกษาต่อด้านกฎหมาย ที่ประเทศฝรั่งเศสในปี 2463 ท่านได้รับปริญญารัฐเป็น " บาเชอลิเยอร์" กฎหมาย และ "ลิซองซิเย" กฎหมาย จาก มหาวิทยาลัยก็อง และในปี 2469 ได้รับ ปริญญารัฐเป็น "ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย"ฝ่ายนิติศาสตร์ และประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในทางเศรษฐกิจจากมหาวิทยาลัยปารีส นับเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษา ระดับนี้ หลังจากกลับสู่สยาม ได้หนึ่งปี ในเดือนพฤศจิกายน 2471 นายปรีดีได้สมรสกับ นางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์ มีบุตรธิดาด้วยกันหกคน

ชีวิตการเมือง
        ในเดือนกุมภาพันธ์ 2470 ระหว่างที่ยังศึกษาอยู่ในกรุงปารีส นายปรีดีและนักเรียนไทยพร้อมทั้งข้าราชการไทย อีกหกท่าน ซึ่งต่อมาได้เป็นแกนนำของคณะราษฎรได้จัดประชุมครั้งประวัติศาสตร์ขึ้น พวกเขาได้ตั้งปณิธาน ร่วมกันในอันที่จะเปลี่ยนระบอบการปกครองการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบกษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ คณะดังกล่าวได้เลือกนายปรีดีเป็นผู้นำชั่วคราว คณะราษฎรได้วางหลักหกประการเป็นเป้าหมายเพื่อนำความก้าวหน้าทั้ง ด้านวัตถุ และจิตใจสู่สยาม อันได้แก่

1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ ให้มั่นคง
2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำจะวางโครงการ เศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวข้างต้น
6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

        ในช่วงต่อมาของปี 2470 นายปรีดีได้กลับมายังสยาม และเข้ารับราชการในกระทรวงยุติธรรม ตำแหน่งผู้พิพากษา และต่อมา ได้เป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย ในขณะเดียวกันท่านได้ตั้งโรงพิมพ์เพื่อพิมพ์ตำราและเอกสารด้านกฎหมายทั้งท่านยังได้เป็น ผู้สอนที่โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมอีกด้วย กระนั้นความใฝ่ฝันของท่านที่จะเห็นการพัฒนาด้านการเมือง และสังคมและ เศรษฐกิจของประเทศมิเคยจืดจางลง การอภิวัฒน์ในปี 2475 ช่วยถางทางให้นายปรีดีดำเนินการตามวิสัยทัศน์ของตน เพื่อให้เกิดสังคมที่ดีงามและยุติธรรมกว่าเดิม

        ย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรอันประกอบด้วยข้าราชการนายทหาร และราษฎรสามัญ ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาล อย่างรวดเร็วและปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบราชาประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและประกาศใช้ รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 เป็น กฎหมายสูงสุดของประเทศ นายปรีดีผู้นำพลเรือนแห่งคณะราษฎได้เป็นผู้ร่างธรรมนูญการปกครองฉบับดังกล่าว และนำมาเป็นพื้นฐานการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับต่อมา

        รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับที่ 10 พุทธศักราช 2475 ได้วางรากฐานที่หนักแน่นสำหรับการเติบโตและพัฒนาการด้าน ประชาธิปไตยในสยามทั้งนี้โดยมีสาระสำคัญต่อสังคมและวัฒนธรรม การเมืองไทยสองประการดังนี้ ประการแรก อำนาจสูงสุดต้องตกอยู่กับปวงชนชาวสยาม ประการที่สอง กำหนดให้แยกอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจ ตุลาการออกจากกันอย่างชัดเจน หลักการทั้งสองได้ปฏิรูปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทั้งหมดของประเทศ และเพาะเมล็ดแห่งประชาธิปไตยขึ้นในสยาม

        ระหว่างปี 2475 ถึง 2490 นายปรีดีได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญหลายตำแหน่งได้แก่ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ และนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่อง นายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส และให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติ สืบไป ในช่วงที่รับราชการ และเป็นผู้นำรัฐบาลนายปรีดี ได้เพียรพยายามที่จะดำเนินการให้หลักหกประการของ คณะราษฏรเป็นจริงขึ้นมา คุณูปการของท่านหลายประการได้ส่งผลยั่งยืนสืบมา อาทิ การร่างแผนเค้าโครงการเศรษฐกิจ การสถาปนามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และการเมืองพระราชบัญญัติเทศบาลปี 2476 ที่มอบอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้ง องค์การ บริหารส่วนท้องถิ่นได้การยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค ที่รัฐบาลสยามได้ถูกชาติมหาอำนาจบีบ ให้ลงนาม การปฏิรูประบบการ จัดเก็บภาษีอากร ที่ไม่เป็นธรรม การจัดทำประมวลรัษฎากร ขึ้นเป็นครั้งแรกและการจัดตั้งองค์กร ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย ในระหว่างสงคราม โลกครั้งที่สอง กองทัพ ญี่ปุ่นได้กรีฑาทัพเข้ายึด ประเทศสยาม แม้ในขณะที่ยังเป็นผู้สำเร็จราชการแทนองค์ นายปรีดีได้เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านการยึด ครองของญี่ปุ่น อย่าง ลับ ๆ ยังผลให้ในเวลาต่อมารัฐบาล สหรัฐอเมริกายอมรับถึงปฏิบัติการร่วมมืออย่าง ห้าวหาญของ ขบวน การเสรีไทยในการต่อต้านญี่ปุ่น และได้ถือว่าสยามเป็นประเทศเอกราชที่ถูกหักหาญยึดครองโดยกองกำลังทหาร ของญี่ปุ่นไม่เข้าข่ายเป็นประเทศคู่สงครามกับ กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร และได้รับการยกเว้นจากมาตรการควบคุม ภายหลังสงคราม

        ในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ตามคำแนะนำของลอร์ดหลุยส์เมาน์ทแบตเทน ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพสัมพันธมิตรภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ นายปรีดีในฐานะที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และผู้นำขบวนการเสรีไทย ได้ประกาศให้คำประกาศของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามที่เข้าสู่สงครามกับฝ่ายพันธมิตรโมฆะ เพราะขัดกับเจตนารมณ์ของประชาชนชาวสยาม คุณูปการของเสรีไทยได้ช่วยให้ไทยได้มีสันติภาพและได้รับสถานภาพเดิมก่อนสงครามกลับคืนมา ห้าสิบปีต่อมา ในปี 2538 รัฐบาลได้ยกย่องคุณูปการนี้และประกาศให้วันที่ 16 สิงหาคมเป็นวันสันติภาพไทย ตลอดห้วงแห่งความวุ่นวายทางการเมือง นายปรีดีไม่เคยเสื่มอศรัทธาจากการปลูกฝังวิถีแห่งประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น ท่านได้เพียรพยายามทุกวีถีทางที่จะปกป้องดูแลระบอบประชาธิปไตยที่เปรียบเสมือนทารกให้เติบโตขึ้นต่อไป นายปรีดีไม่เคยประพฤติตนอย่างชนชั้นนำร่วมสมัยของท่านที่ขาดความเชื่อมั่นและความจริงใจกับราษฎร ท่านมีศรัทธาอย่า เต็มในมหาชน ในบทความเรื่อง "อนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด" พิมพ์เมื่อปี 2516 นายปรีดีได้กล่าวอย่างซาบซึ้งถึงแนวคิดของระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งชี้นำแนวทางการดำเนินงานของท่านมาจนตลอดชีวิตไว้ว่า "ระบบเพื่อประโยชน์ของชนจำนวนน้อยจะคงอยู่ชั่วกัลปวาสานไม่ได้ อนาคตจะต้องเป็นของราษฎรซึ่งเป็นพลเมืองส่วนข้างมาก ความอยุติธรรมทางสังคมจักต้องถูกกำจัดให้หมดสิ้นไป"

        นายปรีดีตระหนักดีว่าสังคมเราจะเป็นประชาธิปไตยได้ก็ต่อเมื่อคนจำนวนมากได้รับการคุ้มครองสิทธิและได้รับโอกาสพัฒนาตนเอง ท่านทราบดีว่าการให้แต่เสรีทางการเมือง โดยไม่ส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ชนเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องถูกต้องท่านพยายาม ที่จะทำลายระบบศักดินาและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจเพื่อให้เกิดสังคทที่ดีงามขึ้น ท่านปรารถนา ที่จะส่งเสริมให้ เกิดความ สามัคคีและความเข้าใจกันในระหว่างคนร่วมชาติ เพื่อให้พวกเขาได้พัฒนาตนเอง ให้เกิดความใส่ใจและเอื้ออาทรซึ่งกันและกันอันต่าง จากระบบที่ส่งเสริมการแข่งขันอย่างทำลายซึ่งเป็นการสูญพลังไปโดยเปล่าประโยชน์นายปรีดีมีวิสัยทัศน์มุ่งให้ประชาชนทั้งมวลมี ส่วนร่วมในการเสียสละเพื่อความไพบูลย์ของสังคมร่วมกัน

        นายปรีดีได้กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า "สังคมจะดำรงอยู่ได้ก็โดยมวลราษฎรดังนั้นระบบสังคมที่ทำให้มวลราษฎรมีพลังผลักดันให้สังคมก้าวหน้าก็คือระบบประชาธิปไตย "ท่านยังได้เสริมว่าเนื่องจากสังคมประกอบด้วยมิติต่าง ๆ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม

        นายปรีดีและคณะเห็นความจำเป็นที่ราษฎรจะต้องเข้าใจระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ ต้องตระหนักถึงสิทธิใหม่ของตนเอง รวมทั้งหน้าที่ความรับผิดชอบภายใต้ระบบที่สถาปนาขึ้นมาใหม่นี้ ดังนั้นในปี 2477 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย นายปรีดีได้สถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นท่านดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การคนแรกของมหาวิทยาลัย ที่เปิดหลักสูตรการเรียนอย่างหลากหลายเหมือนเป็นตลาดวิชา ซึ่งรวมทั้งวิชาด้านนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ดังที่ท่านได้สะท้อนอุดมคติของท่านในสุนทรพจน์ที่กล่าวในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยว่า " มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อบำบัดความกระหายของราษฎรผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษารัฐบาลและสภาผู้แทนความจำเป็นในข้อนี้จึงได้ตรา พระราช บัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น..

        ...ยิ่งสมัยที่ประเทศของเราดำเนินการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญเช่นนี้แล้วเป็นการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมหาวิทยาลัยสำหรับประศาสน์ความรู้ในวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแกพลเมืองให้มากที่สุดที่จะเป็นไปได้เปิดโอกาสให้แก่พลเมืองที่จะใช้เสรีภาพในการศึกษากว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติสืบไป" หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้กลายเป็นสถาบันนำในการช่วยส่งเสริม และปกป้องระบอบประชาธิปไตยในเวลาต่อมา

        พร้อมกันนั้น นายปรีดียังมุ่งมั่นให้เกิดภาพระดับนานาชาติ ในฐานะรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่านได้แสดงความไม่เห็นด้วยอยู่เนืองๆ กับนโยบายการเรียกร้องเอาดินแดนคืน อาทิ แผนการยึดคืนดินแดนในอินโดจีนที่อยู่ภายใต้ อารักขาฝรั่งเศส ในระหว่างที่ประเทศฝรั่งเศสถูกยึดครองโดยกองทัพเยอรมันในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ ความพยายามของ ท่านที่จะบอกกันานาประเทศให้ทราบว่า การใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกันเป็นสิ่งสูญเปล่า โดยตรงสร้างภาพยนตร์เป็น ภาษาอังกฤษ เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ขึ้นเป็นอุทาหรณ์

        นายปรีดีสนับสนุนการกำหนดใจตนเองและอิสรภาพของประเทศอาณานิคมทั้งหลายซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนในระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นโยบายต่างประเทศดังกล่าวเป็นองค์ประกอบด้านสากลส่วนหนึ่งเพื่อเสริมรับกับการปฏิรูปสังคมและระบอบประชาธิปไตยของสยามเอง ทั้งนี้เพราะประเทศเหล่านั้นมุ่งที่จะให้อำนาจกับประชาชนให้เกิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอันเป็นสิ่งจำเป็นในการกำหนดชะตากรรมของ ตนเองท่านได้ร่วมก่อตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดสันติสุขโดยจะร่วมมือประสานงานกันระหว่าง ประเทศในภูมิภาคนี้

        นายปรีดียังเป็นผู้กำหนดโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 ซึ่งถือได้ว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับนี้สะท้อนถึงการบรรลุซึ่งความพยายามอย่างไม่ย่อท้อของนายปรีดี ที่มุ่งให้เกิดความยุติธรรมในสังคม และเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอย่างเปี่ยมด้วยสาระและความหมายมิใช่เพียงรูปแบบ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้สิทธิในการออกเสียงอย่างเท่าทียมระหว่างหญิงและชายในการเลือกตั้งสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ทั้งยังมีบทบัญญัติที่มุ่งปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

ช่วงลี้ภัย
        วันที่ 9 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตในห้องพระบรรทมอย่างลึกลับด้วยกระสุนปืนที่พระนลาฏ หลังจากที่ได้เข้าไปที่พระบรมมหาราชวังและสถานที่เกิดเหตุ ทั้งได้ปรึกษากับบรรดาเชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่แล้ว นายปรีดีได้ออกแถลงการณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีวาการสวรรคตเป็นอุบัติเหตุ ส่งผลให้ศัตรูทางการเมืองของนายปรีดีฉวยโอกาสนี้ปั้นแต่งว่าในหลวงถูกลอบปลงพระชนม์ และใส่ใคร้ว่านายปรีดีเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบปลงพระชนม์

        คืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะนายทหารและพลเรือนได้ทำรัฐประหาร โดยอ้างเหตุลอบปลงพระชนม์เพื่อทำลายนายปรีดี (คำตัดสินชั้นศาลหลายคดีหลังจากนั้นได้ยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของนายปรีดี) รถถังยิงกระสุนใส่ทำเนียบท่าช้างซึ่งนายปรีดีและครอบครัวพำนักอยู่ ทำให้ต้องลี้ภัยการเมืองไปสิงคโปร์ ต่อมาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ด้วยความร่วมมือจากทหารเรือและชาวสยามผู้ศรัทธารัฐบาลประชาธิปไตยจำนวนหนึ่ง นายปรีดีได้ทำการปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจกลับคืนมาแต่ไม่สำเร็จ และท่านได้ออกจากประเทศโดยมิได้กลับมาอีกเลย ระหว่างปี 2492 ถึง 2513 ท่านพำนักในสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากนั้นก็ได้ดำเนินชีวิตอย่างสามัญชนที่บ้านชานกรุงปารีส พร้อมด้วยภริยาและบุตรี ท่านถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526

        ในระหว่างลี้ภัย ท่านได้เขียนหนังสือไว้มากและได้กล่าวสุนทรพจน์หลายต่อหลายครั้ง เพื่อแบ่งปันความคิดด้านประชาธิปไตยสันติภาพ และความยุติธรรมในสังคมของท่านกับคนรุ่นหลัง เมล็ดพันธุ์แห่งประชาธิปไตยที่นายปรีดีได้เพาะไว้เมื่อหกทศวรรษก่อน เริ่มงอกเงย ขึ้นมา ต้นไม้แห่งเสรีภาพของท่านจักเติบโตขยายกิ่งก้านสาขายั่งยืนสืบไปเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับว่ามวลราษฎรสยามเรียนรู้และนำ ความคิดของ ท่านไปใช้อย่างไร

คำกล่าวถึง ปรีดี พนมยงค์
        " ผู้อภิวัฒน์การปกครองของประเทศไทย หัวหน้าขบวนการเสรีไทย เป็นผู้มีคุณูปการแก่ชาติอย่างมากมาย แต่กลับกลายเป็นบุคคล ที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีมากที่สุดคนหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ สุดท้ายกลายเป็น 'คนดีที่เมืองไทยไม่ต้องการ' " ด้วยความที่ว่าการอภิวัฒน์ครั้งนั้นทำให้คนกลุ่มชนชั้นนำหลายกลุ่มหรือกลุ่มอำนาจเก่าเสียผลประโยชน์ ทำให้ถูกโยนข้อหาสุดท้ายต้องลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศฝรั่งเศสแล้วไม่ได้กลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทยอีกเลย ทำให้ยังมีมลทินจากการป้ายสีของกลุ่มอำนาจเก่าอยู่

        งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ. 2526 ชาวธรรมศาสตร์ได้ขึ้นภาพแปรอักษรเพื่อระลึกถึงนายปรีดีความว่า "พ่อสร้างชาติด้วยสมองและสองแขน พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี พ่อของข้านามระบือชื่อปรีดี แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ"

คำวิจารณ์ตัวเองของ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์
        ปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์นิตยสาร เอเชียวีก ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2523 ก่อนถึงอสัญกรรมไม่ถึง 3 ปี ไว้ดังนี้          "....ในปี ค.ศ. 1925 (พ.ศ. 2468) เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้ว และได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี ข้าพเจ้าไม่มีความจัดเจน และโดยปราศจากความจัดเจน บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ข้าพเจ้าไม่ได้นำความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี... ในปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ข้าพเจ้าอายุ 32


ที่มา : วีกีพีเดีย