ผู้เขียน หัวข้อ: คุณสมบัติที่ดีของครูไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0  (อ่าน 3838 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
ไทยแลนด์ 4.0 เป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมุ่งเปลี่ยนแปลงรูปแบบเศรษฐกิจจากยุคเศรษฐกิจที่เน้นภาคอุตสาหกรรมหนักมาสู่ยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี จากแนวคิดพื้นฐานด้านเศรษฐกิจนี้ ก็ได้มีการนำวิสัยทัศน์นี้มาต่อยอด และสร้างสรรค์เป็นนโยบายร่วมที่สอดคล้องในเรื่องต่าง ๆ มากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เรื่องของการศึกษา

การศึกษาในยุคไทยแลนด์ 4.0 เราจำเป็น ต้องสร้างสรรค์ให้นักเรียนรู้จักคิด สร้างสรรค์นวัตกรรม ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และสามารถนำไปสู่การพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งการที่จะส่งเสริมการศึกษาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาในจุดนั้น ตัวแปรที่สำคัญอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากรูปแบบการเรียนรู้ที่จะต้องปรับเปลี่ยนไปจากเดิม คือ ครูผู้สอน ที่จะต้องมีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนายุคไทยแลนด์ 4.0 นี้ด้วย

ลักษณะของครูดีในยุคไทยแลนด์ 4.0

จากการรวบรวมข้อมูลของมูลนิธิสยามกัมมาจลที่ได้ทำงานร่วมกับนักวิชาการการศึกษาหลากหลายกลุ่ม ได้สรุปถึงลักษณะที่ดีของครู ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ไว้ ดังนี้

1. ครูมี Growth mindset

Growth mindset หมายถึง การคิดแบบเติบโต คือ ไม่ยึดติดกับความตายตัว มีการปรับเปลี่ยน เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ครูในยุค ไทยแลนด์ 4.0 นั้น จำเป็นต้องมีความคิดในลักษณะมากกว่าที่จะยึดติดอยู่กับความรู้เดิม ๆ ที่เคยรับรู้มา ความคิดแบบนี้ทำให้ครูเชื่อว่าเด็กมีการเปลี่ยนแปลงได้ จากเด็กที่ไม่เก่ง หรือมีปัญหาด้านการเรียน ถ้าสามารถปรับพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสม เขาจะสามารถพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นได้ ผิดกับความคิดแบบเดิมที่มองว่าเด็กเก่งคือเด็กเก่ง เด็กไม่เก่งคือไม่เก่ง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ และนอกจากนี้ความคิดนี้ยังช่วยให้ครูไม่หยุดพัฒนาตัวเอง พยายามเพิ่มเติมความรู้ให้ทันสมัยอยู่เสมอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก

2. ครูเปลี่ยนห้องเรียน

ห้องเรียนแบบควบคุม โดยครูมีหน้าที่ควบคุม นักเรียนมีหน้าที่รับฟังเพียงอย่างเดียวเหมือนสมัยก่อนนั้น อาจไม่ใช่แนวทางที่ดีสำหรับการเรียนการสอนในยุคใหม่  เพราะไม่ช่วยสร้างให้นักเรียนมีองค์ความรู้ด้วยตัวเอง ห้องเรียนสมัยใหม่นั้น จำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนอยากเรียนรู้ แสวงหาและสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งครูมีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษาและชี้แนะเพื่อจูงใจให้นักเรียน  และสร้างสรรค์ให้ห้องเรียนมีความน่าสนใจสำหรับนักเรียน

3. ครูเปลี่ยนการสอน

ตลอดมา การสอนของครูจะเป็นแบบ Passsive Learning คือ สอนนักเรียนผ่านการอ่าน การฟังและการดู ซึ่งแตกต่างจากยุคสมัยนี้ที่ครูจะต้องเน้นแบบ Active Learning คือเน้นให้นักเรียนศึกษา ทดลองทำเพื่อสร้างประสบการณ์และเรียนรู้การแก้ปัญหาจากสภาพจริง เพื่อนำไปสู่การที่นักเรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งทำให้การสอนแบบ Active Learning นี้คือคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ครูยุคนี้ต้องมี

4. ครูแสวงหาความรู้ใหม่และใช้ IT เป็น

ปัจจุบันนี้ทักษะในการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ คือทักษะสำคัญที่ทุกคนจะต้องมีติดตัว การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส์ต่าง ๆ จำพวก คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสารและพกพารูปแบบต่าง ๆ ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นและแทบจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ครูจำเป็นที่จะต้องมีความรู้และทักษะในเรื่องนี้เพื่อที่จะได้เปิดโลกกว้างผ่านการสื่อสารออนไลน์ ช่วยให้ครูสามารถค้นหาความรู้ต่าง ๆ ได้รวดเร็วและทันสมัยมากขึ้น แล้วสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนได้

5. ครูผู้เข้าใจสถานการณ์สังคม (จับชีพจรของสังคม) และชุมชนได้

หมดยุคแล้วที่นักเรียนจะต้องเป็นแบบที่ควรเป็นเหมือนสมัยยี่สิบหรือสามสิบปีก่อน หรือนักเรียนต่างชุมชนกัน เราต้องสร้างให้เขาเหมือนกัน สิ่งเหล่านี้คือการยึดติดกับอดีต ครูในยุคไทยแลนด์ 4.0 นั้นต้องรู้จักเรียนรู้สถานการณ์สังคม แล้วนำสิ่งนั้นมาตกผลึกเพื่อให้เด็ก Character building (สร้างตัวตน) และมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและชุมชนที่เขาอยู่อาศัย

6. ครูมีจิตวิญญาณความเป็นครู

ในความว่าครู แม้โลกจะเปลี่ยนไปกี่ยุคกี่สมัย จิตวิญญาณของความเป็นครูนั้นก็ยังคงสถิตอยู่ในใจของครูทุกคนและทุกรุ่น คนที่จะมาเป็นครูได้นั้น ไม่ใช่แต่เพียงมีความรู้มากแล้วจะสามารถเป็นครูที่ดีได้ ยังจะต้องมีทักษะในการถ่ายทอดและจิตวิญญาณของความเป็นครู ที่จะต้องรัก ห่วงใย และมีความเมตตากรุณาต่อบรรดาศิษย์ทั้งหลายด้วย จิตวิญญาณความเป็นครูจึงเป็นอีกข้อหนึ่งที่ครูในยุคไทยแลนด์ 4.0 ต้องมี และยังคงต้องมีต่อไปในอนาคต

จากคุณสมบัติของครูที่เหมาะสมในยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่กล่าวมาขั้นต้นนี้ จะเห็นได้ว่า นอกจากเรื่องของจิตวิญญาณความเป็นครูที่ต้องระลึกไว้เสมอแล้ว เรื่องของทักษะการใช้เทคโนโลยีและทักษะการสอนใหม่ ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่สำคัญและเปลี่ยนแปลงไปจากยุคสมัยเก่า ค่อนข้างมาก ถึงเวลาแล้วที่คุณครูจะต้องปรับตัวให้ก้าวทันโลก ไม่ใช่ย่ำอยู่กับที่ เพราะยิ่งโลกก้าวไปได้รวดเร็วเท่าไหร่ ผู้ที่ปรับตัวช้าก็จะยิ่งล้าหลังเท่านั้น คงไม่มีครูคนใดอย่างจะเห็นนักเรียนของตัวเองล้าหลังคนอื่นหรอก จริงไหมครับ ?

ข้อมูลอ้างอิง

http://taamkru.com/th/%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%AE%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%AA/

https://www.scbfoundation.com/media_knowledge/knowledge/292/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B8%B0-%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%94%E0%B8%B5-4-0-16115

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=46603&Key=news_research

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=46211&Key=news_Teerakiat