ผู้เขียน หัวข้อ: คำนิยามศัพท์ทางการศึกษา ด้านการเรียนการสอน  (อ่าน 14310 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
ปรัชญาการศึกษา (Educational Philosophy) หมายถึง ความคิดหรือระบบของความคิด ที่เกี่ยวกับการศึกษา ที่ตั้งอยู่บนรากฐานของปรัชญาแม่บทปรัชญาใดปรัชญาหนึ่ง ปรัชญาการศึกษาเป็นปรัชญาที่แตกหน่อมาจากปรัชญาทั่วไปอันเป็นปรัชญาที่ว่าด้วยความรู้ความจริงของชีวิต ปรัชญาการศึกษาเป็นความเชื่อ ความศรัทธา การเห็นคุณค่าในความคิดทางการศึกษาใดๆ ซึ่งผลักดันให้บุคคลคิดและกระทำการต่างๆ ในด้านการจัดการศึกษาให้มีความสอดคล้องกับ ความเชื่อนั้นๆ

ทฤษฎีการเรียนรู้ (Learning theory) หมายถึง ข้อความรู้ที่พรรณา / อธิบาย / ทำนาย ปรากฏการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ ซึ่งได้รับการพิสูจน์ ทดสอบตามกระบวนการทาง วิทยาศาสตร์ และได้รับการยอมรับว่าเชื่อถือได้ และสามารถนำไปนิรนัยเป็นหลักหรือกฎการเรียนรู้ย่อยๆ หรือนำไปใช้เป็นหลักในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนได้ ทฤษฎีโดยทั่วไปมักประกอบด้วยหลักการย่อยๆ หลายหลักการ

หลักการเรียนรู้ (Learning Principle) หมายถึง ข้อความรู้ย่อยๆ ที่พรรณา / อธิบาย / ทำนาย ปรากฏการณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ ซึ่งได้รับการพิสูจน์ ทดสอบ ตามกระบวนการทาง วิทยาศาสตร์ และได้รับการยอมรับว่าเชื่อถือได้ สามารถนำไปใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนได้ หลักการเรียนรู้หลายๆ หลักการ อาจนำไปสู่การสร้างเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ได้

แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ (Teaching / Instruction Theory) คือ ความคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ ที่พรรณา / อธิบาย / ทำนายปรากฏการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ ที่นักคิด นักจิตวิทยา หรือนักการศึกษาได้นำเสนอและได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งว่าเป็นแนวคิดที่น่าเชื่อถือด้วย เหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง

ทฤษฎีการสอน (Teaching / Instruction Principle) คือ ข้อความรู้ที่ พรรณนา / อธิบาย / ทำนาย ปรากฏการณ์ต่างๆ ทางการสอน ที่ได้รับการพิสูจน์ ทดสอบ และการยอมรับว่าเชื่อถือได้ ซึ่งนักจิตวิทยา หรือนักการศึกษาอาจพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงมาจากทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อนำไปใช้เป็นหลักในการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ ทฤษฎีการสอนหนึ่งๆ มักประกอบไปด้วยหลักการสอนย่อยๆ หลายหลักการ

หลักการสอน (Teaching / Instruction) คือ ข้อความรู้ย่อยๆ ที่พรรณา / อธิบาย / ทำนาย ปรากฎการณ์ต่างๆ ทางการสอน ที่ได้รับการพิสูจน์ ทดสอบและการยอมรับว่าเชื่อถือได้ สามารถนำไปใช้ในการสอนผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด หลักการสอนหลายๆ หลักการ อาจนำไปสู่การสร้างเป็นทฤษฎีการสอนได้

แนวคิดทางการสอน (Teaching / Instruction / Concept / Approach) คือ ความคิดที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนที่พรรณา / อธิบาย / ทำนายปรากฏการณ์ต่างๆ ทางการสอนที่นักคิด นักจิตวิทยา หรือนักการศึกษา ได้นำเสนอ และได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งว่าเป็นแนวคิดที่น่าเชื่อถือด้วย เหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง

ระบบการสอน / ระบบการเรียนการสอน (Teaching / Instruction / Model) คือ แบบแผนการดำเนินการสอนที่ได้รับการจัดเป็นระบบ อย่างสัมพันธ์สอดคล้องกับทฤษฎี / หลักการเรียนรู้หรือการสอนที่รูปแบบนั้นยึดถือ และได้รับการพิสูจน์ ทดสอบว่ามีประสิทธิภาพสามารถช่วยให้ ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายเฉพาะของรูปแบบนั้นๆ โดยทั่วไปแบบแผนการดำเนิน การสอนดังกล่าว มักประกอบด้วย ทฤษฎี / หลักการที่รูปแบบนั้นยึดถือและกระบวนการที่มีลักษณะเฉพาะอันจะนำผู้เรียนไปสู่จุดมุ่งหมายเฉพาะที่รูปแบบนั้นกำหนดซึ่งผู้สอนสามารถนำไปใช้เป็นแบบแผนหรือแบบอย่างในการจัดและดำเนินการสอนอื่นๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะเช่นเดียวกันได้

วิธีสอน คือ ขั้นตอนที่ผู้สอนดำเนินการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ด้วยวิธีการต่างๆ ที่แตกต่างกันไปตามองค์ประกอบและขั้นตอนสำคัญอันเป็นลักษณะเด่นหรือลักษณะเฉพาะที่ขาดไม่ได้ของวิธีนั้นๆ เช่น วิธีสอนโดยใช้การบรรยาย องค์ประกอบสำคัญของการบรรยาย คือ เนื้อหาสาระที่จะบรรยาย และการบรรยาย และขั้นตอนสำคัญคือ การเรียมเนื้อสาระ การบรรยาย (พูด บอก เล่า อธิบาย) และการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดจากการบรรยาย ดังนั้นวิธีสอนโดยใช้การบรรยาย ก็คือกระบวนการหรือขั้นตอนที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการเตรียมเนื้อหาสาระที่จะบรรยาย แล้วบรรยายก็คือพูด บอก เล่า อธิบาย เนื้อหาสาระหรือสิ่งที่ต้องการสอนแก่ผู้เรียนและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนวิธีใดวิธีหนึ่ง

เทคนิคการสอน คือ กลวิธีต่างๆที่ใช้เสริมกระบวนการ ขั้นตอน วิธีการ หรือการกระทำใดๆ เพื่อช่วยให้กระบวนการ ขั้นตอน วิธีการหรือการกระทำนั้นๆ มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นเทคนิคการสอนหรือดำเนินการสอนใดๆ เพื่อช่วยให้การสอนมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ในการบรยาย ผู้สอนอาจใช้เทคนิคต่างๆ ที่สามารถช่วยให้การบรรยายมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การยกตัวอย่าง การใช้สื่อ การใช้คำถาม เป็นต้น

ทักษะการสอน คือ ความสามารถในการปฎิบัติการสอนด้านต่างๆ อย่างชำนาญซึ่ง ครอบคลุมการวางแผนการเรียนการสอน การออกแบบการเรียนการสอน การจัดการเรียนการสอน การใช้วิธิสอน เทคนิคการสอน รูปแบบการเรียนการสอน ระบบการสอน สื่อการสอน การประเมินผลการเรียนการสอน รวมทั้งการใช้ทฤษฎีและหลักการเรียนรู้และการสอนต่างๆ

นวัตกรรมการสอน คือ  สิ่งใหม่ที่ทำขึ้น ซึ่งอาจอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำ หรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ดังนั้น นวัตกรรมการสอนึงหมายถึงแนวคิด วิธีการ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่สามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งอาจเป็นสิ่งใหม่ทั้งหมดหรือใหม่เพียงบางส่วน หรืออาจเป้นสิ่งใหม่ในบริบทหนึ่งหรือช่วงเวลาหนึ่ง หรืออาจเป็นสิ่งใหม่ที่กำลังอยู่ในกระบวนการพิสูจน์ทดสอบ หรือได้รับการยอมรับนำไปใช้แล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายหรือเป็นส่วนหนึ่งของระบบงานปกติ

การวิจัยด้านการเรียนการสอน คือ การศึกษาหาคำตอบให้แก่ปัญหา หรือคำถามต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอน ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้คำตอบที่น่าเชื่อถือ ตัวแปร ที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบสำคัญของการเรียนการสอน และผลผลิตของการเรียนการสอน

นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา (Educational Innovation and Technology) หมายถึง การระดมสรรพความรู้ที่มีเหตุผล มาประยุกต์ให้เป็นระบบใหม่ และสามารถนำมาใช้ปฏิบัติในสถานการณ์ที่เป็นจริง ในการแก้ปัญหาให้บรรลุจุดมุ่งหมายของการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

การรู้ หมายถึง สภาวะของการรับรู้จากการสัมผัสและสัมพันธ์ต่างๆ รวมถึงรู้วิธีการ แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง

การเรียนรู้ หมายถึง การปรับเปลี่ยนทัศนคติแนวคิดและพฤติกรรมอันเนื่องมาจากการได้รับประสบการณ์ ซึ่งควรเป็นการปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

การศึกษา หมายถึง กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและ สังคมโดยการถ่ายทอด ความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทาง ฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้ การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

การเรียนรู้ในระบบ หมายถึง กระบวนการเรียนรู้ที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จ การศึกษาที่แน่นอน

การเรียนรู้นอกระบบ หมายถึงกระบวนการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่นใน การกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดผลประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพปัญญาและความต้องการของกลุ่มแต่ละกลุ่ม
       
การเรียนรู้ตามอัธยาศัย หมายถึงกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ ด้วยตนเองตามความสนใจ ความถนัด โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม ธรรมชาติ สื่อหรือแหล่งความรู้อื่นๆ

การศึกษาตลอดชีวิต หมายถึง การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดผลประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพปัญญาและความต้องการของกลุ่มแต่ละกลุ่ม

การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อมและโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อหรือแหล่งความรู้อื่นๆ


นำมาจากหนังสือศาสตร์การสอนของสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่งโดย ดร.ทิศนา แขมมณี
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 07, 2015, 04:01:40 PM โดย เลิศชาย ปานมุข »