ผู้เขียน หัวข้อ: กระจก 6 ด้าน สะท้อนภาพ ?มหาวิทยาลัยราชภัฏ? กับ ?ธนาคารแห่งหนึ่ง?  (อ่าน 4193 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
ฉันทนาออฟฟิศ

เมื่อคนทำงานธนาคารเขียนบทความสะท้อนภาพ ?มหาวิทยาลัยราชภัฏ? กับ ?ธนาคารแห่งหนึ่ง? ชี้ไม่ว่าจะจบจากสถาบันไหนก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เช่นกัน หากคนทำงานออฟฟิศรู้จักหนักเอาเบาสู้และพัฒนาตนเอง

เมื่อไม่นานมานี้เราคงได้ยินข่าวดังในเรื่อง ธนาคารแห่งหนึ่งประกาศรับพนักงานตำแหน่งที่ปรึกษาทางการเงินฝึกหัด และกำหนดคุณสมบัติเฉพาะเจาะจง ด้วยเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.75 และต้องเรียนจบจากสถาบันที่มีชื่อเสียง 14 แห่งของประเทศตามที่กำหนดซึ่งทำให้ทางกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏออกมาตอบโต้โดยการงดทำธุรกรรมทุกประเภทกับทางธนาคารตามที่เป็นข่าว ซึ่งทางธนาคารได้ออกมาชี้แจงว่าเกิดการผิดพลาดจากการสื่อสารเนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่ง ที่มีการเปิดสอนเฉพาะบางมหาวิทยาลัยเท่านั้น ประเด็นในเรื่องนี้ทำให้เกิดเรื่องราวใหญ่โตในโลกสื่ออยู่หลายวัน นำมาซึ่งบทวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ มากมาย และสะท้อนให้สังคมได้ทบทวนอะไรได้อีกหลายแง่มุม

สะท้อนภาพที่ 1: ทำไมราชภัฏต้องดราม่าแรง แถมยังปลุกกระแสสังคมได้

เป็นที่น่าสนใจว่า อะไรที่ทำให้ข่าวแบบนี้ออกมาแล้วกลายเป็นเรื่องกระทบความรู้สึกของคนและ กลายเป็นประเด็นร้อนของกลุ่มคนจำนวนมากได้

ข้อมูลจาก www.info.mua.go.th เราพบกว่า

[1] นักศึกษาร้อยละ 40 จาก 1.8 ล้านคนทั่วประเทศ ศึกษาอยู่ในสถานบันราชภัฏและราชมงคล

[2] เด็กราชภัฏส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ไม่มีรายได้และครอบครัวที่รายได้ต่ำ

ดังนั้นประเด็นนี้ไปสะกิดใจของชนชั้นก้อนใหญ่ที่มีอยู่ในระบบการศึกษาของไทย มันกระทบความรู้สึกด้อยทางชนชั้น และการได้รับความเป็นธรรม รวมถึงการเสียโอกาสได้เลื่อนชนชั้นในสังคม มันเหมือนประกาศในสังคมรู้ว่า คุณไม่ได้รับโอกาสได้รับงานดี ๆ ทำเหมือนเด็กที่จบในมหาลัยปิด เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ของรัฐอีกหลายแห่ง อีกทั้งสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในระบบของสังคมไทย ที่ดูเหมือนว่าเสียงของพวกเขาไม่มีความหมาย

สะท้อนภาพที่ 2: เกรดเฉลี่ยดูไปก็เท่านั้น เกรดสถาบันสำคัญกว่านะ

ประเด็นการแบ่งเกรดของสถาบันการศึกษานั้นมีมาตั้งแต่นานแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกลายเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ หากเกิดจากชื่อเสียงด้านคุณภาพาที่สะสมกันมา ทั้งผลงานของผู้บริหาร คณาจารย์บุคคลากร หรือแม้แต่ จากศิษย์เก่าที่ได้แสดงฝีไม้ลายมือในตามองค์กรต่าง ๆ จนเป็นที่ยอมรับ ว่ามีความรู้ความสามารถเด่นกว่าสถานบันอื่น  ซึ่งกรณีที่เป็นข่าวได้หยิบยกเรื่องนี้พร้อมมีเอกสารการแบ่งเกรดผู้สมัครจากสถาบันที่จบมาแสดงในข่าวด้วย ซึ่งทางไทยพาณิชย์ได้ชี้แจงแล้วว่า ไม่ได้เป็นเอกสารของทางธนาคาร หากแต่เราก็ไม่อาจมองข้ามประเด็นนี้ได้

คำถามต่อมาคือ "ทำไม HR จึงต้องนำเอาการแบ่งเกรดสถาบันมาใช้ในการรับสมัครงานล่ะ?"

ก็เพราะมันเป็นเครื่องมือที่ช่วยกลั่นกรองคุณสมบัติของผู้มาสมัครงาน เนื่องจากปริมาณผู้สมัครมากขึ้น บัณฑิตจบใหม่ก็เพิ่มขึ้นทุกปี ทางองค์กรไม่สามารถเรียกสัมภาษณ์ได้ทุกคน ทุกอย่างมันมีต้นทุนในตัวมันเอง ผู้จ้างและผู้สมัครจะได้ไม่เสียเวลา ในเรื่องสอบ+สัมภาษณ์ อีกทั้งมันยังช่วยป้องกันการเล่นเส้นสายและระบบการฝากเบื้องต้นได้ระดับหนึ่ง

ทุก ๆ ปีจึงมีการแบ่งเกรดของสถาบันออกมาให้ได้เห็นเสมอ ๆ และไม่ได้มีเพียงระดับประเทศเท่านั้น แต่มีระดับโลกเลยทีเดียวประโยชน์ของมันจะช่วยให้สถาบันการศึกษาได้เร่งผลิตทั้งครูอาจารย์และบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบัน อีกทั้งหาโอกาสขยับขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างโอกาสในการศึกษาเพื่อขยายฐานวิชาการด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม และสิ่งเหล่านั้นก็จะนำพาสถาบันไปสู่เป้าหมายและมีชื่อเสียงยิ่งขึ้นไป

อีกประเด็นที่ถูกตั้งคำถามในโลก Social media ว่า "ถ้าจบมหาลัยชื่อดัง แต่เกรดเฉลี่ยสูงไม่เท่า เด็กม.ราชภัฏ ใครจะเก่งกว่ากัน"

เสียงส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไปทางเด็กมหาลัยชื่อดัง จากประสบการณ์การที่ได้สัมผัสจากการทำงานร่วมกัน เด็กมหาวิทยาลัยดังจะมีกระบวนการทำงาน ความคิด มีประสิทธิภาพมากกว่า หรือแม้แต่ทักษะการใช้ภาษาที่แตกต่างจนเห็นได้ชัด จนมีข้อความจาก Social media ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ดังนี้ "เด็กราชภัฏที่เรียนจบทางด้านภาษามาได้ A หรือ B+ สอบโทอิค 500 ยังทำไม่ได้ ขณะที่เด็กจุฬาได้เกรด C+ ถึง B ได้คะแนนโทอิคสูงถึง 700-800 นี่ยังไม่รวมการสื่อสารจริงที่เด็กราชภัฏฟังพูดอ่านเขียนแทบไม่ได้ แต่เด็กจุฬาสามารถทำได้สบายๆ"           

แม้ว่าความเป็นจริง เราจะชี้วัดความสามารถของพนักงานจากทักษะและผลงาน แต่สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ตอนสัมภาษณ์ดูอะไรไม่ได้มากนักดังนั้นต้องยอมรับว่าการมองชื่อมหาวิทยาลัยมันช่วยการันตีได้เพียงระดับหนึ่ง แม้พิสูจน์แล้วว่า เด็กที่จบจากมหาวิทยาลัยดังๆ หลายคนก็ไม่ได้มีศักยภาพตามที่องค์กรคาดหวังไว้

สะท้อนภาพที่ 3: ถูกกดด้วยเกรด

?เราเป็นคนหนึ่งที่น้อยใจมาก ถึงเราจะไม่ได้เรียนจบราชภัฏนะ เราจบเครือราชมงคล ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ได้ไปสมัครงานที่นึง ยังไม่ทันได้พิสูจน์ความสามารถในการทำงานจริงเลยค่ะ โดนกดเงินเดือนแบบสุดๆ  คือ ทราบเงินเดือนตั้งแต่วันสัมภาษณ์เป็นการสัมภาษณ์ที่รู้ผลเลยค่ะ เลยทำให้ทราบข้อมูลจากเพื่อน ๆ ที่ไปสัมภาษณ์ด้วยกัน ... T^T?

?คนที่จบ ม.รัฐดังๆ ไม่มีเกียรตินิยม แต่เงินเดือน 15k คนจบราชมงคลกับราชภัฏ มีเกียรตินิยม เงินเดือน 13k?

นี่คือตัวอย่างเสียงสะท้อนจากกระทู้ในเว็บชื่อดังที่แสดงให้เห็นได้ถึงการไม่ได้รับผลตอบแทนที่เท่าเทียมกันเนื่องจากเกรดของสถาบัน

เนื่องจากโอกาสทางการศึกษาของเด็ก ๆ แต่ละคนมีไม่เท่ากัน การที่พวกเค้าเลือกเรียนในสถาบันที่ไม่ได้เป็นอันดับต้นของประเทศไม่ได้หมายความว่า พวกเค้ามีความสามารถไม่พอ แต่เกิดจากหลายสาเหตุเช่น การได้ทุนตั้งแต่เริ่มเข้าเรียน การเดินทาง หรือแม้แต่ติดปัญหาทางบ้าน ทำให้ไม่อาจเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยดัง ๆ ได้

สะท้อนภาพที่ 4: คุณมีสิทธิเลือก องค์กรมีสิทธิเรียก

หากเราจะเข้าสมัครงานสักตำแหน่ง เราก็ต้องพิจารณาองค์กรที่อยากร่วมงานด้วย อีกทั้งต้องเลือกตำแหน่งที่เหมาะสมกับคุณสมบัติของเรา เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เสียโอกาส ในการรอเรียกสัมภาษณ์หรือไปสมัครงานที่อื่น

ในมุมกลับกัน องค์กรก็มีสิทธิที่จะเรียกหรือไม่เรียกคุณเข้าสัมภาษณ์ก็ได้ ยิ่งองค์กรมีชื่อเสียง มีความมั่นคง สวัสดิการดีเลิศ สถานที่ทำงานก็ดูหรูหรา แถมยังมีโอกาสก้าวหน้าสูง เค้ายิ่งมีเกณฑ์วัดผู้สมัครที่ซับซ้อนและละเอียดขึ้น ถ้าเป็นเด็กจบใหม่แน่นอนว่า คงไม่พ้นดูสถาบันเกรดเฉลี่ย ความสามารถทางภาษา รวมถึงทัศนคติตอนสัมภาษณ์ ถ้ากรณีมีประสบการณ์ก็ต้องนำมาแจกแจงดึงผลงานที่เคยทำเรื่องเด่น ๆ ออกมาสู่กับคู่แข่งคนอื่นเพื่อได้งานที่ตนเองหวังไว้

สะท้อนภาพที่ 5: ทบทวนตัวเอง &รัฐบาลช่วย

?ผมไม่ได้บอกว่ามหาวิทยาลัยไหนดีหรือไม่ดีแต่เมื่อธนาคารออกประกาศมาเช่นนั้นเราต้องมองย้อนกลับมาดูสถาบันของเราเองด้วยซึ่งมหาวิทยาลัยทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลมหาวิยาลัยราชภัฏก็ตามจะต้องปรับปรุงพัฒนาคุณภาพมหาวิทยาลัยอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เป็นที่ยอมรับและสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ประกอบการให้ได้มากที่สุดซึ่งถ้ามหาวิทยาลัยพัฒนาตนเองเป็นที่โดดเด่นหน่วยงานหรือองค์กรแต่ละแห่งก็จะให้ความสำคัญและยอมรับบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนั้นเข้าทำงานเอง? เป็นคำกล่าวของ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ (อ่านเพิ่มเติม: ย้อนเจ็บกรณีไทยพาณิชย์! รมว.ศึกษาฯให้ม.ราชภัฏกลับไปทบทวนตัวเอง)

เสียงทักท้วงที่ต้องเร่งพัฒนาด้านเป็นพิเศษ

[1] ด้านวิชาเฉพาะ การใช้ภาษาต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องต่อการทำงาน เห็นได้ชัดว่า เด็กจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดังนั้นเด็กจะมีความสามารถมากกว่า ทั้งในเรื่องพูดฟังอ่านและเขียนดังนั้น สถาบันอื่น ๆ ควรให้ความใส่ใจและกระตุ้นให้เด็กเกิดการพัฒนาทางด้านนี้ด้วย เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นในการต่อยอดของอาชีพการงานที่มั่นคง รวมถึงการยอมรับขององค์กรและสามารถสอบวัดผลได้คะแนนสูงไม่แพ้สถาบันอื่น

[2]ด้านสถาบันและวิชาการ ควรจัดวิชาการสอนให้ได้มาตรฐานเท่าเทียมกับสถาบันที่มีชื่อเสียงของประเทศ และวัดผลการเรียนรู้ให้ชัดเจนโปร่งใส เพื่อจะได้เคลียร์เรื่องมาตรฐานการศึกษาว่าแต่ละที่เรียนไม่เหมือนกัน และการวัดผลอ่อน-เข้ม ไม่เท่ากัน หรือไม่มีคุณภาพ

[3] ด้านคณาจารย์และบุคคลากร ไม่จำเป็นต้องเป็นอาจารย์ที่สอนในมหาวิทยาที่ติดอันดับ ถึงสอนนักศึกษาให้เก่งและเป็นที่ต้องการของตลาดได้หากแต่คณาจารย์ทุกคนที่มีจิตวิญญาณที่พร้อมถ่ายทอดความรู้ จะต้องสั่งสอนและพัฒนาลูกศิษย์ให้มีสามารถประกอบวิชาชีพ เพื่อนำตัวเองและสังคมให้อยู่รอดได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพและสิ่งเหล่านี้จะนำชื่อเสียงกลับมาสู่ตัวอาจารย์และสถาบันที่พวกเค้าเรียนจบมานั่นเอง

คุณรู้หรือไม่? แต่ละปีรัฐบาลมีงบให้กับสถาบันการศึกษาด้วยนะ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า จากงบประมาณแผ่นดินในปี 2558 กระทรวงศึกษาได้รับงบประมาณไปถึง 502,245.5  ล้านบาท โดยมหาวิทยาลัยที่ได้งบประมาณมากที่สุดได้แก่  มหิดล >เชียงใหม่>จุฬาฯ >สงขลา แต่สถาบันราชภัฏซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อนักศึกษาผู้มีฐานะยากจน กลับไม่ติด 1-30 อันดับแรกด้วยซ้ำ  อันนี้ทำให้ภาครัฐต้องกลับมาทบทวนเรื่องการกระจายงบประมาณเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาสทางทุนทรัพย์ให้มากกว่านี้

สะท้อนภาพที่ 6: การบริหารวิกฤตขององค์กรขนาดใหญ่

ขึ้นชื่อว่าเป็นองค์กรขนาดใหญ่แล้ว การกระทำล้วนมีผลกับ action ของคนกลุ่มที่คอยติดตามความเคลื่อนไหวในการแก้ปัญหาอยู่เสมอแน่นอนว่าอาจมีลูกค้าคุณอยู่ในคนกลุ่มนั้นด้วยเป็นแน่ แถมยังมีผลอย่างมากกับการได้หรือเสียภาพลักษณ์และความเชื่อถือที่สะสมมาเป็นเวลานาน โชคดีที่ธนาคารแห่งนั้นฝ่ายผู้บริหารแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่พร้อมแก้ไขปัญหาและการบริหารงานในช่วงภาวะที่เกิดวิกฤตได้อย่างดี จากความพยายามต่าง ๆ เบื้องต้นดังนี้

[1] ฝ่ายบริหารของธนาคารรีบออกมาขอโทษทางมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ

[2] ให้ความร่วมมือในการประชุมพร้อมแก้ไขปัญหา เพื่อประโยชน์ร่วมกันในการรับสมัครงาน

[3] ออกมาชี้แจงเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เอกสารการจัดเกรดมหาวิทยาลัย, ข้อมูลการศึกษาของพนักงานในธนาคารเองว่ามีผู้ที่เรียนจบมาจากสถานบันใดบ้างและมีเท่าไหร่ รวมทั้งยืนยันการรับนักศึกษาทุกสถาบันโดยไม่มีการปิดกั้น

ซึ่งการกระทำเหล่านี้ ทำให้ทุกฝ่ายตกลงกันได้ และคลายปัญหาในข้างต้นได้โดยราบรื่น นอกจากจะบอกถึงจิตสำนึกที่องค์กรมีต่อเสียงโวยของลูกค้า การแก้ปัญหาและออกมาแสดงความรับผิดชอบของธนาคารไทยพาณิชย์ อาจสร้างชื่อเสียงให้กับทางธนาคารโดยปริยาย ทั้ง ๆ ที่รู้กันว่าธนาคารมีสิทธิกำหนดคุณสมบัติของลูกจ้างตามที่ต้องการและเป็นสิทธิโดยชอบธรรม

กรณีธนาคารชื่อดังแห่งนั้นกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทำให้สังคมได้หันมามองระบบการศึกษาไทยมากขึ้น ... แต่มันจริงหรือ? อาจเป็นเพียงแค่ไฟลามทุ่ง จากนั้นก็เข้าสู่ภาวะการทำมาหากินของสถาบันการศึกษาตามปกติ เพราะปัจจุบันเมื่อ 'งานบริหาร' มีน้ำหนักมากกว่า 'งานการศึกษา' อีกทั้งสื่อต่าง ๆ ที่คอยดึงดูดเด็ก เทคโนโลยีที่ช่วยให้ไม่ต้องเข้าเรียนจึงทำให้ไม่ต้องพบครูอาจารย์ และโลกโซเชียลที่ทำให้เด็กมีสมาธิสั้นลงทุกทีทำให้งานสอนทั้งวิชาการและพัฒนาความสามารถยิ่งยากขึ้นไปอีก ต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องท้าทายความสามารถของทางสถาบันทั้งสิ้น

ในส่วนของบัญฑิตเอง เราต้องรู้จักรักและภูมิใจในตัวเองก่อน รู้จักแข่งขันกับตัวเอง พัฒนาจุดเด่นเสริมจุดด้อย โดยเฉพาะเรื่องภาษางานหนักเอาเบาสู้ สะสมประสบการณ์  จงเข้าใจว่าความสำเร็จล้วนต้องอาศัยเวลาและความพยายาม การออกมาโทษชะตากรรมนั้น ไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้นดังนั้นไม่ว่าเราจะจบจากสถาบันไหน ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

ที่มา : http://www.prachatai.com/journal/2015/07/60605