ผู้เขียน หัวข้อ: 15 ข้อคิดที่ได้จากหนังสือ คนเก่งคิดแบบนี้ไง พูดอะไรก็รู้เรื่อง  (อ่าน 1952 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
1. พัฒนาจากภายใน
อยากจะพัฒนาการส่งออก ต้องเริ่มพัฒนาจากภายในก่อน!! การสื่อสารในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่คนเราจำเป็นจะต้องใช้อยู่เสมอ เพราะจะเป็นการช่วยให้เราสามารถเข้าใจถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม หรือ เข้าใจถึงสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการจะสื่อได้ แต่บางคนการสื่อสารที่ตรงกับความตั้งใจของตนเองนั้นดูเหมือนจะไม่ง่ายนัก เพราะมีหลายคนด้วยกันที่ไม่สามารถสื่อสารออกมาให้คนอื่นเข้าใจได้เท่าที่ควร โดยเฉพาะการโพสความคิดลงบนโซเชี่ยวมีเดีย ถ้ามีคนมากดไลค์น้อยเกินไป สาเหตุก็เพราะว่า สิ่งที่เราคิดนั้นไม่ได้รับการจัดระเบียบที่ดีพอนั่นเอง การส่งออกเพื่อสื่อให้คนอื่นเข้าใจจึงไม่เป็นอย่างที่ต้องการ ทำให้หลาย ๆ คนอยากที่จะพัฒนาทักษะด้านการพูดหรือเขียนเพื่อให้โดนใจผู้คนได้มากขึ้น แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง บางคนอาจจะรู้วิธีการมาบ้างแล้ว จากแหล่งต่าง ๆ แต่ก็ไม่สามารถทำตามได้ อยากที่จะได้วิธีทำที่สามารถทำตามได้ง่าย ๆ ซึ่งหนังสือเล่มนี้มีคำตอบสำหรับคนที่ต้องการพัฒนาฝีมือในการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการเขียน ถ้าคุณได้เรียนรู้ผ่านหนังสือเล่มนี้ คุณจะสามารถสื่อสารได้เก่งขึ้น ดูเป็นมืออาชีพขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน ซึ่งจะเก่งขึ้นมาน้อยแค่ไหน อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความขยันของคุณเองครับ ถ้าขยันฝึกซ้อมอย่างไรก็ต้องเก่งขึ้นอย่างแน่นอนครับ เพราะสิ่งที่คุณควรรู้มีอยู่ในหนังสือแล้ว

2. ผู้คนจะมีความรู้สึกร่วมเมื่อเราพูดออกมาจากใจ
ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ถ้าหากเราพูดออกมาจากใจจริง ผู้คนที่พบเห็นก็จะมีความรู้สึกร่วมไปกับเราได้ง่าย เพราะสิ่งที่เราทำหรือพูดนั้นเป็นการถ่ายทอดสิ่งที่เราคิดอยู่จริง ๆ ไม่ได้ผ่านการเสแสร้งใด ๆ ต่างจากการที่เราพยายามพูดเพื่อให้คนอื่นทำตาม หรือพูดเพื่อโน้มน้าวใจคนอื่น แบบนี้เขาจะรู้สึกเหมือนกับว่าเราได้บังคับความคิดของเขา เขาจะรู้สึกว่าโดนจำกัดอิสระ ทำให้เกิดความคิดที่ต่อต้านและไม่ยอมจะรับฟังเราเท่าที่ควร ดังนั้นไม่ว่าจะทำอะไร เราต้องพูดและทำตามที่เราคิด แสดงความต้องการจริง ๆ ของเราออกมาผ่านการกระทำและคำพูด แล้วคนอื่นก็จะเริ่มเห็นด้วยและเข้าใจเราได้เอง

3. รู้ความคิดของตนเองก่อนจะพูดออกไป
คำพูดที่จะสามารถจูงใจคนได้หรือมัดใจคนได้ ต้องเป็นคำพูดที่มาจากใจจริงของเรา และถ้าเราต้องการที่จะพูดให้ได้อย่างใจคิด เราก็ต้องรู้ด้วยว่าสิ่งที่เราคิดอยู่นั้นคืออะไร การที่เราจะเข้าใจในสิ่งที่ตนเองคิดได้นั้นก็ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายสำหรับหลาย ๆ คนเช่นกัน วิธีที่จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจความคิดของตนเองได้นั้น เราก็ต้องเป็นคนที่หัดพูดไปตามความเป็นจริงที่เราทำบ่อย ๆ หัดแสดงความรู้สึกของเราออกมาทุกวัน โดยอาจจะเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปก่อนก็ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็ให้เราพูดและทำในสิ่งที่คิดไปเลย ระหว่างนั้นก็พยายามรู้สึกถึงความคิดของเราไปด้วย ให้รู้สึกถึงความคิดของเราให้ชัดเจนขึ้น เมื่อชัดเจนแล้วว่าเราต้องการอะไร ถ้าสิ่งนั้นเรามั่นใจว่าจะไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ก็ทำไปเลยครับ โดยเฉพาะเวลาที่เราได้ช่วยงานคนอื่น เราจะมีความมั่นใจมากขึ้น ทำให้เรากล้าที่จะพูดในสิ่งที่คิดมากขึ้น เมื่อทำไปจนชินแล้ว เราก็จะเริ่มเข้าใจความคิดของตนเองได้ดีขึ้น แรก ๆ อาจจะฝืนสักหน่อย แต่ถ้าทำไปไม่นานก็จะเริ่มง่ายไปเองครับ

4. เขียนในสิ่งที่คิดออกมา
ถ้าเวลาไหนที่ในหัวของเรานั้นเต็มไปด้วยความคิดจำนวนมาก อาจจะทำให้เรารู้สึกสับสนได้ เพราะด้วยข้อมูลที่มากเกินไปจะทำให้เราไม่มีสมาธิที่จะจัดการกับความคิดทั้งหมดได้ เมื่อเป็นแบบนี้ การที่เราจะเขียนความคิดที่มีอยู่ในตอนนั้นลงไปบนกระดาษเพื่อจัดลำดับความคิดก็เป็นเรื่องที่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะแบบนี้จะช่วยให้เราสามารถจัดการกับปัญหาที่เรากำลังกังวลอยู่ได้ง่ายขึ้น ทั้งยังช่วยให้เราสามารถมองเห็นภาพรวมของปัญหาได้ดีขึ้นอีกด้วย ทำให้รู้ว่ามีตรงไหนที่เราพลาดไป หรือ ตรงไหนที่เราควรจะเสริมขึ้นมา และทำให้รู้ว่าตนเองนั้นยังมีความคิดที่คับแคบมากน้อยแค่ไหน มีตรงไหนบ้างที่เราจะสามารถหาจุดที่ควรปรับปรุงของตนเองให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

5. หาเวลาว่างทำสมาธิ
ในเมื่อสิ่งที่เราจะต้องทำก็คือ การฝึกรับรู้ถึงความคิดของตนเองให้ชัดเจนขึ้น สิ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลยสำหรับการฝึกนั่นก็คือการทำสมาธิครับ เราควรที่จะหาเวลาว่างในการทำสมาธิอยู่บ่อย ๆ ถ้าทำทุกวันก็ยิ่งดี การทำสมาธินั้นก็ไม่ยากครับ เราอาจจะไปหาเวลานั่งสมาธิในสถานที่ที่สงบที่สวนสาธารณะหรือนั่งในบ้านตนเองก็ได้ แล้วก็ให้เรานั่งในท่าที่เราผ่อนคลายและสบาย ๆ แล้วก็มั่งหลับตาเหม่อลอยไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไร เพียงเวลาไม่นาน สมองของเราก็จะเริ่มทำงานด้วยการพาเราไปคิดเรื่องต่าง ๆ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งกว่าที่เราจะรู้ตัวเราก็อาจจะคิดไปไกลหลายเรื่องแล้วก็ได้ สิ่งที่เราต้องทำก็คือ แค่ให้รู้ก็พอว่าเรากำลังคิดอะไรอยู่เท่านั้น โดยที่ไม่ต้องไปฝืนบังคับอะไรมากนัก ปล่อยให้ความคิดของเราไหลไปเรื่อย ๆ เรามีหน้าที่ตามดูความคิดเท่านั้นก็พอ แบบนี้จะช่วยให้เราเห็นภาพความคิดของตนเองได้ดีและชัดเจนขึ้นได้ครับ

6. จัดโต๊ะทำงานให้สะอาดเรียบร้อย
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ความคิดของเราสับสนวุ่นวายได้โดยที่เราไม่รู้ตัวก็คือ ความสกปรกรกรุงรังของโต๊ะทำงานของเรานั้นแหละครับ เพราะส่วนใหญ่แล้วเรามักจะไม่สนใจว่าจะมีอะไรอยู่บนโต๊ะทำงานของเราบ้าง ก็จะทำให้มีแต่เอกสารหรือสิ่งของอะไรก็ไม่รู้เต็มโต๊ะไปหมด จนแทบจะไม่มีพื้นที่ว่างพอที่จะทำงานเลยด้วยซ้ำ สิ่งที่เราควรจะทำก็คือ ควรที่จะจัดโต๊ะทำงานของเราให้เป็นระเบียบเรียบร้อย วางสิ่งของไว้บนโต๊ะทำงานเท่าที่จำเป็น ส่วนของใช้จุกจิกก็ให้เก็บไว้ที่ลิ้นชัก สำหรับเอกสารก็ควรที่จะให้มีขนาดที่เท่ากันเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำให้เมื่อมองไปที่โต๊ะแล้วเห็นความสะอาดเป็นระเบียบ ความคิดของเราก็จะผลอยได้รับการจัดระเบียบไปด้วย

7. ให้ลองถามตัวเองอีกครั้ง?
เวลาที่เราอยากจะทำอะไรก็ตาม เราก็ควรที่จะปล่อยให้ความคิดของเราทำการคิดไปเรื่อย ๆ เพราะในช่วงนั้น สมองของเราจะพยายามคิดหาหนทางที่จะไปให้ถึงจุดหมาย หรือทางที่จะทำให้เราได้ในสิ่งที่ต้องการมา ซึ่งเรามักจะคิดอยู่ตลอดเวลา ว่าถ้าเราอยากจะได้สิ่งนี้ เราจะต้องทำยังไงบ้าง สมองก็จะเริ่มคิดหาหนทางที่สมเหตุสมผลที่สุดเพียงที่จะได้ในสิ่งนั้น เมื่อคิดไปจนได้หนทางที่ต้องการจนสุดแล้ว คิดอะไรไม่ออกอีกแล้ว ตอนนี้เราก็อาจจะถามกับตนเองถึงสิ่งที่เพิ่งจะคิดไปเมื่อสักครู่ ว่าทำไมเราถึงต้องการแบบนั้น , หรือถ้าเราได้สิ่งนั้นแล้ว เราจะทำอย่างไรต่อไป , หรือ ถ้าเราได้ทำในสิ่งที่ต้องการแล้ว เราจะมีความรู้สึกดีใจหรือเสียใจหรือไม่และอย่างไร ฯลฯ การถามตอบในสิ่งที่ตนเองคิดแบบนี้เป็นประจำ จะช่วยให้เรามีแนวความที่กว้างขวางขึ้นไปได้แบบไม่มีขีดจำกัด ยิ่งเราชอบตั้งคำถามกับตนเองมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งได้แง่คิดที่กว้างมากขึ้นเท่านั้น

8. หาเวลาผ่อนคลายให้กับสมอง
เวลาที่เรากำลังคิดเรื่องงานหรือเรื่องที่เรากำลังกลุ้มใจอยู่ ถ้าเราใช้เวลาไปกับเรื่องนั้นนานเกินไปจะทำให้วิสัยทัศน์และมุมมองของเราคับแคบลง ทำให้อาจจะทำให้การตัดสินใจของเรามีความผิดพลาดได้ง่าย เมื่อสมองของเราเริ่มอ่อนล้าแล้ว สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ให้หยุดคิดเรื่องนั้นไปสักพักแล้วไปหาอะไรอย่างอื่นทำ เช่น ไปเที่ยว , ช๊อปปิ้ง , เล่นกีฬา , เข้าห้องสมุด , พบปะสังสรรค์ หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้เราลืมเรื่องที่เรากำลังกังวลอยู่นั้นไปให้หมด แล้วหลังจากภายไปสัก 2 - 3 วัน เราค่อยกลัมาคิดเรื่องนั้นใหม่ ก็จะช่วยให้เรามีกำลังที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องนั้นได้มากขึ้นแล้ว เพราะได้พักผ่อนไปเต็มที่แล้งนั้นเอง การพักผ่อนจะช่วยให้เราจัดระเบียบความคิดได้ดีมากอีกวิธีหนึ่ง

9. ใช้คำศัพท์ที่คนทั่วไปเคยชินและเข้าใจได้ง่าย
หนึ่งในสิ่งที่ทำให้เราสามารถเข้าใจอีกฝ่ายได้อย่างรวดเร็ว ก็คือ เราได้ยินในสิ่งที่เราคุ้นเคย ถ้าอีกฝ่ายพูดคำที่เราได้ยินเป็นประจำโดยที่ไม่ใช้คำศัพท์อะไรที่มันยากนัก เราจะเข้าใจในสิ่งที่คนนั้นต้องการสื่อสารได้ทันที เพราะเราคุ้นเคยกับภาษานั้น ๆ อยู่แล้ว แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่อีกฝ่ายมาพูดกับเราด้วยภาษาที่เราไม่รู้จักหรือไม่คุ้นเคย ต่อให้เขาพูดด้วยคำที่สวยงามหรือสละสลวยขนาดไหนก็ตาม เราก็ไม่เข้าใจถึงสิ่งที่เขาต้องการสื่ออยู่ดี ดังนั้น ถ้าเราต้องการที่จะพูดให้โดนใจคนอื่น เราก็ควรที่จะใช้ภาษาและคำศัพท์ที่อีกฝ่ายคุ้นเคยด้วย เวลาที่เราพูดออกไป เขาจะได้เข้าใจว่าเราต้องการจะสื่ออะไร และถ้าเรามีการแสดงความจริงใจผ่านออกไปทางคำพูดก็จะช่วยให้คนฟังรู้สึกประทับได้ไม่ยาก

10. ให้สมมุติว่าตัวเองเป็นอีกฝ่าย
ถ้าเรากำลังมีปัญหาอยู่ ไม่ว่าจะกับ หัวหน้า , เพื่อนร่วมงาน , ลูกค้า , คนรู้จัก ฯลฯ แล้วเราคิดไม่ออกว่าจะทำยังไง ก็ให้ลองคิดดูว่า ถ้าเราเป็นคนเหล่านั้น แล้วเขากำลังเผชิญหน้ากับเราอยู่ เราจะมีความรู้สึกและมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง การทำแบบนี้จะช่วยได้ดีมากเวลาที่เรากำลังรู้สึกว่ามืดแปดด้าน เพราะจะช่วยให้เราได้มุมมองที่กว้างขึ้นและต่างออกไปจากเดิมมาก แทนที่เราจะรู้สึกว่าเรามีปัญหากับคนอื่น แต่เมื่อเราลองสวมบทเป็นพวกเขาดูแล้วมาเผชิญหน้ากับตัวเอง เราจะเริ่มมองออกแล้วว่าคนอื่นรู้สึกและมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเราอย่างไรบ้าง ซึ่งนั้นจะนำมาถึงหนทางที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น และมีโอกาสที่จะเห็นทางแก้ไขปัญหาให้กับเราได้ไม่ยาก แถมยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดระเบียบความคิดของเราให้เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

11. เวลาที่จิตใจเรามั่นคงและปลอดโปร่งที่สุด
ในการทำงานของเรา มักจะมีเรื่องให้เราต้องคิดมากมาย บางทีเราก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ดี บางเรื่องก็อาจจะทำให้เราเครียดไปหลายตลบก่อนที่เราจะแก้ปัญหาได้ และปัญหาก็จะวนเวียนมาให้เราได้แก้อยู่ตลอดเวลาตราบใดที่เรายังทำงานอยู่ ดังนั้นการที่เราจะรู้วิธีที่จะช่วยให้เราแก้ไขปัญหาได้ดีก็จะช่วยเบาแรงลงไปได้มาก หนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้เราคิดเรื่องที่ยุ่งยากได้ดีก็คือ ให้คิดในช่วงเวลาที่เรามีจิตใจที่มั่นคงที่สุดและปลอดโปร่งที่สุด ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหนก็ตาม ถ้าช่วงนั้นเรารู้สึกว่ามีความมั่นใจมากที่สุด ให้เรานำปัญหาที่ยุ่งยากที่สุดมาคิด แล้วเราจะพบหนทางแก้ไขปัญหาได้ดีและรวดเร็วกว่าปกติมาก ซึ่งช่วงเวลาแบบนี้เราก็ไม่รู้ด้วยว่าทำยังไงมันถึงจะเกิดขึ้น แต่เราพอที่จะสามารถพบช่วงเวลานั้นได้ไม่ยากโดยการเพิ่มโอกาสให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น เช่น การนอนพักผ่อนหลับนอนให้เพียงพอแล้วตื่นตั้งแต่เช้า จะทำให้ในช่วงเช้านั้นสมองของเราจะปลอดโปร่งเป็นอย่างมาก ทำให้เราสามารถคิดอะไรที่ยุ่งยากได้ง่าย อีกวิธีหนึ่งก็คือ การฝึกสมาธิ ถ้าเราฝึกสมาธิได้ถูกต้องและฝึกเป็นประจำ จะช่วยให้เรามีความมั่นใจและมีจิตใจที่หนักแน่นขึ้นได้ไม่ยาก ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์เป็นอย่างมากในการทำงาน

12. การปฏิเสธสามารถดึงความสนใจได้ทุกครั้ง
ไม่ว่าจะเป็นการสนทนากันตามปกติหรือการขึ้นไปกล่าวบรรยายบนเวที สิ่งที่ทำให้ผู้ฟังเพ่งสมาธิไปที่ผู้พูดได้ดีอย่างหนึ่งก็คือ การโดนปฏิเสธ เมื่อผู้ฟังได้รับการปฏิเสธ จะทำให้พวกเขาเพ่งความสนใจไปที่ผู้พูดในทันทีโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะพวกเขาต้องการที่จะรู้เหตุผลว่าทำไมคุณถึงปฏิเสธในเรื่องนี้ เมื่อผู้ฟังเริ่มสนใจเรามากขึ้นแล้ว สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ การพูดคำพูดต่อไปให้โดนใจผู้ฟังให้ได้เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเราก็ควรที่จะพูดในสิ่งที่เรามั่นใจว่าผู้ฟังจะต้องชอบแน่นอนออกไป และต้องเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลกับการที่คุณกล่าวปฏิเสธด้วย ถ้าคุณทำได้ คุณจะได้รับความเชื่อถือจากผู้ฟังมากขึ้น แต่การทำแบบนี้คุณก็จะต้องมั่นใจด้วยว่าคุณจะสามารถสร้างความประทับให้แก่ผู้ฟังได้ เพราะถ้าไม่ ความน่าเชื่อถือของคุณก็จะลดลงทันที

13. คำพูดที่เต็มไปด้วยความมั่นใจจะมีพลังมากเป็นพิเศษ
การพูดเพื่อให้กำลังใจคนอื่นหรือพูดเพื่อปลุกใจคนหมู่มาก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นการพูดที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ ว่าจะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จให้ได้ ซึ่งจะต้องเป็นการที่คิดมาอย่างดีแล้วว่าสิ่งนั้นสามารถทำได้ เมื่อคนพูดมีความมั่นใจในสิ่งที่พูดแล้ว คำพูดนั้นจะมีพลังเป็นอย่างมาก ซึ่งจะมีอำนาจในการชักจูงผู้คนให้คล้อยตามได้ไม่ยาก ทำให้พวกเขามีความตื่นเต้นว่าสิ่งที่พูดไปนั้น ถ้าทำสำเร็จขึ้นมาจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร อนาคตของผู้คนจะดีแค่ไหนถ้าสิ่งที่พูดนั้นเป็นจริง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหน ถ้าเราสามารถพูดในสิ่งที่มั่นใจว่าตนเองสามารถทำได้ออกไป จะเพื่อเป็นการให้กำลังผู้อื่น หรือ เพื่อเป็นการพิสูจน์ตนเองก็ตาม ถ้าเรามั่นใจในสิ่งที่พูดจริง ๆ จะทำให้ผู้ฟังนั้นรู้สึกได้ และเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการสื่อได้ในทันที

14. พูดเพื่อให้คนเข้าใจแค่คนเดียวก็พอ
เวลาที่เราต้องการจะอธิบายอะไรสักอย่างให้คนทั่วไปได้รับรู้นั้น จะทำให้เราต้องอธิบายแบบครอบคลุม ไม่ได้เฉพาะเจาะจงไปที่ใคร ซึ่งอาจจะทำให้คนที่ฟังรู้สึกเบื่อและไม่น่าสนใจ โดยเฉพาะลูกค้าถ้าเราใช้คำพูดแบบหว่านแห เราจะไม่สามารถสร้างคำที่โดนใจลูกค้าได้เลย ดังนั้น ถ้าเราจะพูดหรืออธิบายให้ลูกค้าของเราเข้าใจถึงสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ ก็ให้เราคิดไปว่า ลูกค้าที่เราต้องการจะขายของให้นั้นเขามีหน้าตาเป็นอย่างไร มีลักษณะนิสัยเป็นแบบไหน แล้วเราจะสามารถเลือกได้ว่าเราควรที่จะใช้คำพูดแบบไหนถึงจะโดนใจคน ๆ นั้นได้ แล้วการอธิบายของเราก็จะเป็นกันเองและเข้าใจได้ง่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการนั่นเอง ทำให้คำโฆษณาของเราสามารถที่จะได้รับความสนใจจากลูกค้าและผู้ฟังคนอื่น ๆ ได้ไม่ยาก

15. แค่จัดระเบียบความคิด ก็พูดเก่งไม่ได้ยาก
คุณเคยไหม ที่เวลาต้องการสื่อสารกันในที่ทำงานเพื่อเสนอไอเดียดี ๆ ออกไปแต่กับทำได้ไม่ดี คนฟังไม่เข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะบอก หรือ พยายามจะพูดเรื่องยาก ๆ ให้คนอื่นเข้าใจ แต่กลับทำได้ไม่ดี เพราะดันมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร รู้ว่าควรทำอย่างไรแต่พูดอธิบายไม่เก่ง หนังสือเล่มนี้ช่วยแก้ปัญหาให้คุณได้ครับ อุเมดะ ซาโตชิ ผู้เขียนที่เคยเป็นพนักงานธรรมดาที่สื่อสารไม่เก่ง แต่เมื่อเขาลองพลิกมุมมองของตนเองใหม่ โดยหันมาจัดระเบียบความคิดก่อนที่จะพูดออกไป ก็ทำให้เขากลายเป็นคนที่พูดเก่งและเข้าใจง่ายภายในเวลาไม่นาน จนสามารถทำให้ตนเองกลายเป็นหนึ่งในสุดยอดนักครีเอทีพของญี่ปุ่น และได้รับรางวัลจากเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศษมาได้ เขาจะพาคุณไปพบกับวิธีการอุดช่องโหว่ของคำพูด การเลือกใช้คำที่เหมาะสม การจัดระเบียบความคิดก่อนจะแปลงเป็นคำพูด เทคนิคการคิดตรงกันข้าม เทคนิคการปฏิเสธ และเทคนิคอีกมากมาย ฯลฯ พร้อมทั้งการทำแบบฝึกหัด เพื่อที่จะช่วยให้คุณสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นคนพูดเก่ง ที่สามารถพูดโดนใจผู้คนได้ แค่เปลี่ยนแปลงมุมมองของคุณ จะพูดหรือเขียนอะไรก็น่าติดตามไปหมด กับหนังสือ "คนเก่งคิดแบบนี้ไง พูดอะไรก็รู้เรื่อง"
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือเท่านั้น

ที่มา เพจ Readism