ผู้เขียน หัวข้อ: กบฏผีบุญ หรือ กบฏผู้มีบุญ กบฏชาวนาไทยในประวัติศาสตร์  (อ่าน 5334 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
สำหรับดินแดนที่สร้างชาติโดยชนชาติไทยสืบเนื่องมากว่า 700 ปี นับจากการประกาศ ปลดแอก จากอำนาจการปกครองของ ขอม โดยพันธมิตรชนชาติไทยทั้งสามคือ พ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง (ต้นราชวงศ์พระร่วง); พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด (พะเยา) แห่งราชวงศ์ศรีนาวนำถุม และพ่อขุนเม็งราย หรือพญามังราย แห่งราชวงศ์ลัวะ จังคราช เจ้าเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน (เชียงราย)

การสอบค้นทางประวัติศาสตร์จนถึงช่วงต้นของยุคกรุงศรีอยุธยา อย่างที่การศึกษาประวัติศาสตร์ (เก่า) แบ่งยุคประวัติศาสตร์ตามแบบจารีตที่ใช้ ราชธานี แบบ นครรัฐ หรือ รัฐใหญ่น้อย ที่กระจายตัวกัน แล้วใช้ข้อสรุปแบบ อำนาจรัฐส่วนกลาง ว่าเป็น อาณาจักร ความพยายามในการยึดอำนาจที่ไม่สำเร็จและกลายเป็น ?กบฏ? เกิดขึ้นหลายครั้ง หากในจำนวนนั้น 2 ครั้งแรกไม่ถือเป็น กบฏชาวนา หรือ กบฏไพร่ ได้แก่

ครั้งที่ 1 กบฏญาณพิเชียร เกิดขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชา (พ.ศ. 2124) แต่ไม่ถือเป็นกบฏไพร่ เนื่องจากตัวผู้นำกบฏจากข้อมูลที่ปรากฏในพงศาวดารคือญาณพิเชียรน่าจะเคยเป็นบุคคลสำคัญในวงราชการคนหนึ่ง เดิมเคยเป็นภิกษุ เอกสารส่วนใหญ่เรียกญาณพิเชียรว่า ขุนโกหก และความในพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์เรียกว่า ?พระยาพิเชียร? คำว่า ขุน หรือ พระยา สะท้อนให้เห็นว่าญาณพิเชียรนั้นมี ศักดิ์ศรี เหนือชาวบ้านหรือสามัญชนธรรมดา (กบฏไพร่ สมัยอยุธยา, สุเนตร ชุตินธรานนท์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2526)

นอกจากนั้น ดร.สุเนตรยังให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ชื่อของพันไชยทูตและหมื่นศรียี่ล้นล้วนเป็นลักษณะพิเศษที่แสดงว่าผู้นำกบฏในครั้งนี้มีความ ?เหนือกว่าไพร่ทั้งมวล? และอาจเป็นข้าราชการในรัฐบาลซึ่งไม่พอใจนโยบายบางประการภายใต้การนำของพระมหาธรรมราชาก็เป็นได้ และวิธีกบฏของญาณพิเชียรก็มีความซับซ้อน มีระเบียบชัดเจน แสดงถึงการวางแผนมาอย่างดี นั่นย่อมต้องอยู่ภายใต้นโยบายของผู้ที่มีความรู้ความสามารถ อาจเป็นเจ้านาย พระบรมวงศานุวงศ์ หรือแม้กระทั่งขุนนางข้าราชการผู้ช่ำชองกลก็ได้ (http://www.hiclasssociety.com/hiclass/detailcontent1.php?sub_id=1596)

ส่วนในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ได้บันทึกเรื่องราวของกบฏครั้งหนึ่งไว้ใจความว่า ศักราช 943 (พ.ศ. 2124) ญาณประเชียรเรียนศาสตราคมและคิดเป็นขบถ คนทั้งปวงสมัครเข้าด้วยมาก และยกมาจากเมืองลพบุรี? การก่อการนั้นเริ่มโดยสมคบกับพวกลวงชาวบ้านว่าเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ จนชาวบ้านหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก ญาณพิเชียรและพวกซ่องสุมผู้คนอยู่ที่วัดใหญ่ บ้านยี่ล้น แขวงวิเศษไชยชาญ เมืองอ่างทอง

ครั้งที่ 2 กบฏธรรมเถียร เกิดขึ้นในสมัยพระเพทราชา พ.ศ. 2241 ผู้นำกบฏครั้งนี้เป็นข้าหลวงเดิมของเจ้าฟ้าอภัยทศ (บางฉบับเรียกพระขวัญ) พระอนุชาสมเด็จพระนารายณ์ กระทำการโกหกปลอมตัวเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศหลอกลวงชาวชนบทให้เข้าเป็นพวกกบฏครั้งนี้เกิดขึ้นในแขวงนครนายก แต่ก็กินบริเวณถึงสระบุรี ลพบุรีด้วย (กบฏไพร่ สมัยอยุธยา, สุเนตร ชุตินธรานนท์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2526)

ในบันทึกของนายแพทย์ชาวเยอรมันชื่อแกมป์เฟอร์ (Keampfer) ซึ่งเดินทางมากรุงศรีอยุธยาพร้อมกับทูตฮอลันดาใน พ.ศ. 2233 เพื่อถวายสาสน์ต่อสมเด็จพระเพทราชา ได้เขียนบันทึกและแผนที่ไว้อย่างละเอียด และเขียนแผนที่ของกรุงศรีอยุธยา ที่สำคัญยังบันทึกถึงเส้นทางเดินเรือระหว่างเมืองปัตตาเวียกับกรุงศรีอยุธยาไว้ด้วย กล่าวถึงกบฏธรรมเถียรไว้ว่า กรุงศรีอยุธยาในต้นรัชกาลนั้นมุ่งแต่การปลดอำนาจของฝรั่งเศสที่มีอยู่ในกรุงศรีอยุธยาครั้งสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อสามารถแก้ปัญหาได้แล้วก็เกิดปัญหาภายในอาณาจักรสยามขึ้นอีก กล่าวคือ พระยายมราช เจ้าเมืองนครราชสีมา กับพระยารามเดโช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเมืองใหญ่นั้น เห็นว่าการที่สมเด็จพระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ทำการชิงอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์นั้นถือว่าเป็นกบฏ จึงพากันโกรธแค้นและต่างแข็งเมืองไม่ยอมอ่อนน้อมต่อสมเด็จพระเพทราชา ทำให้มีการยกกองทัพขึ้นไปปราบปรามหัวเมืองทั้งสองนี้อยู่หลายปีจึงสงบได้

ต่อมาได้เกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้นอีก โดยมีมอญคนหนึ่งชื่อธรรมเถียร (ธรรมเสถียร) ได้ปลอมตัวอ้างเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ พระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ ชักชวนผู้คนให้หลงเชื่อเพื่อจะนำกำลังเข้ามาชิงราชสมบัติกลับคืน มีผู้คนเชื่อถือจำนวนมากจนจัดเป็นกองทัพเข้ามาถึงชานพระนคร ในที่สุดก็พ่ายแพ้กองทัพกรุงศรีอยุธยา

จากเหตุการณ์กบฏธรรมเถียรนั้นทำให้สมเด็จพระเพทราชาทรงระแวงสงสัยความซื่อสัตย์ของขุนนางข้าราชการที่เคยช่วยเหลือการชิงราชสมบัติในครั้งก่อน จนถึงกับมีการจับนายจบคชประสิทธิ์ กรมพระราชวังหลัง กับเจ้าพระยาสุรสงคราม 2 คน ประหารชีวิต ทำให้มีเหตุการณ์วุ่นวายภายในอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาก็สงบเรียบร้อย?

กบฏไพร่ หรือ กบฏชาวนา อุบัติขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเพทราชาเช่นเดียวกัน

พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศกล่าวถึงการเกิดของ ?กบฏบุญกว้าง? หลังจากสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ การปกครองของพระเพทราชาก็หาได้ราบรื่น เกิดการแข็งเมืองที่มีลักษณะกบฏถึง 2 ครั้งจากขุนนางท้องถิ่นที่เป็นฐานอำนาจเดิมของพระนารายณ์คือ พระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมา และพระยาเดโช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช พระเพทราชาต้องใช้เวลาปราบกบฏทั้ง 2 ครั้งนี้ราว 10 ปี จึงปราบสำเร็จ แต่ในระหว่างนั้นการปราบกบฏนครราชสีมาประสบความสำเร็จก่อน หากความไม่สงบยังคงดำรงอยู่ ความอ่อนแอของเจ้าเมืองใหม่และการสลายตัวของกลุ่มอำนาจเดิมย่อมผลักดันให้เกิดภาวะความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในชุมชนของชาวลาวซึ่งกระจายตัวอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเปิดโอกาสให้บุญกว้างและสมัครพรรคพวกอ้างตัวเป็นผู้มีบุญและก่อการกบฏขึ้น

ที่ถือว่าเป็นกบฏไพร่เนื่องจากผู้นำในการก่อกบฏหรือลุกขึ้นสู้มีลักษณะเป็นปฏิกิริยาที่คนในท้องถิ่นที่เป็นคนเชื้อชาติลาว ?ผู้นำกบฏชื่อบุญกว้าง มีถิ่นฐานอยู่แขวงหัวเมืองลาวตะวันออก บุญกว้างเป็นคนที่มีความรู้ วิชาการดี มีสมัครพรรคพวกรวม 28 คน บุญกว้างได้นำสมัครพรรคพวกเข้ายึดครองนครราชสีมาโดยอาศัยวิทยาคุณทางไสยศาสตร์กำราบเจ้าเมืองและขุนนางคนอื่นๆ ต่อมาเจ้าเมืองนครราชสีมากระทำกลอุบายแหย่ให้บุญกว้างนำกองทัพยกลงไปตีกรุงศรีอยุธยา จนเป็นเหตุให้บุญกว้างเสียทีและถูกจับกุมตัวประหารชีวิต (กบฏไพร่ สมัยอยุธยา, สุเนตร ชุตินธรานนท์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2526)

แต่ถึงกระนั้น กบฏบุญกว้าง ก็สามารถยึดครองเมืองนครราชสีมาเอาไว้ได้ถึง 3 ปี โดยที่ผู้นำเป็นชาวนาธรรมดา ไม่ได้อ้างอิงอำนาจการปกครองเดิมหรือฟื้นอำนาจเจ้านายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในราชสำนัก หรือร่วมมือรับใช้ขุนนางอำมาตย์ในการก่อการยึดอำนาจสถาปนาราชวงศ์ใหม่แต่อย่างใด เงื่อนไขเพียงประการเดียวในการสามารถรวบรวมไพร่พลลุกขึ้นก่อกบฏได้คือการอ้างตัวเป็น ผู้วิเศษ เท่านั้น


www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=15898
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 15, 2015, 10:09:21 AM โดย เลิศชาย ปานมุข »