ภาษาไทย ภาษาชาติ และการสอนของครู โดย ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง"...เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาลจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียงคือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบเป็นประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทยซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอจึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้..."
"...ภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือเป็นทางสำหรับแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่ง เช่นในทางวรรณคดี เป็นต้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี"
(พระราชดำรัสในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 29 กรกฎาคม 2505)
ประเทศไทยถือเอาวันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำรัสในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2505
พระราชดำรัสทั้งสองตอนที่ผู้เขียนน้อมนำมากล่าวข้างตน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นคำว่า "รักษา" ภาษาไทย ทั้งรักษาความบริสุทธิ์ในการออกเสียงภาษาไทย รักษาความบริสุทธิ์ในการใช้ความหมายต่างๆ ของคำภาษาไทย รักษาภาษาไทยในฐานะภาษาไทยเป็นเครื่องมือในการแสดงความเห็น และสุดท้ายรักษาความงามของภาษาไทยที่ใช้เป็นวัสดุในการแต่งศิลปวรรณคดี
ขอกล่าวถึงข้อเขียนของผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยร่วมสมัยจำนวนสองท่านที่กล่าวถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย เป็นข้อเขียนที่ผู้เขียนคิดว่าเหมาะแก่การนำเข้าไปสู่ห้องเรียนของนักเรียนไทย เพื่อให้นักเรียนได้เกิดความรู้ความเข้าใจ เกิดความตระหนักหวงแหน เพื่อเป็นการ "รักษา" ภาษาไทยของเรา
ภาษาไทยปรากฏงดงามนัก นักภาษาประจักษ์เป็นสักขี
หนึ่งมีความเป็นภาษาดนตรี อาจเลียนเสียงในโลกนี้ทุกลีลา
ทั้งเสียงคนเสียงสัตว์เสียงธรรมชาติ ทั้งสามารถเลียนเสียงทุกภาษา
สองอักษรไทยนี้มีนานมา ปิ่นราชารามคำแหงทรงแต่งไว้
ทั่วโลกานี้มีกว่าสามพันภาษา แต่มีเพียงอักษรานับร้อยได้
หนึ่งในนั้นคืออักษรของชาติไทย เราจึงควรภูมิใจภาษาตน
สามไทยมีตัวเลขเป็นเอกลักษณ์ ตัวเลขไทยส่งเสริมศักดิ์อนุสนธิ์
มีรูปร่างงดงามทุกยามยล ไทยทุกคนควรเขียนใช้เลขไทยงาม
สี่คำไทยเป็นภาษาคำโดด บอกตระกูลความช่วงโชติชาติสยาม
แต่เปิดรับต่างภาษามาเสริมความ ภาษาไทยจึงวาววามตามโลกทัน
ห้าไทยมีฉันทลักษณ์หลากชนิด สื่อนิมิตบทกวีหลากสีสัน
ทั้งโคลงฉันท์กาพย์กลอนสุนทรพรรณ บ่งบอกความเฉิดฉันวัฒนธรรม
หกไทยมีภาษาถิ่นที่หลากหลาย จึงสามารถอภิปรายหลากหลายส่ำ
แต่ก็มีภาษากลางงดงามล้ำ ที่บอกย้ำความกลมเกลียวหนึ่งเดียวกัน
เจ็ดภาษากวีไทยพิไลยิ่ง ทำนองได้เพราะพริ้งสุดเฉิดฉัน
ร้องลำนำนานาสารพัน เพียงสุคันธมาลินประทิ่นพราย
แปดภาษานี้มีคำพ้อง เขียนอย่างหนึ่งอ่านได้สองกรองความหมาย
เขียนต่างกันต้องอ่านเสียงพ้องต้องอธิบาย มากความหมายฉายเฉิดเพริศพรายนัก
นี่คือความงดงามสยามพากษ์ แตกต่างจากหลากภาษาน่าตระหนัก
เพราะภาษาไทยมีอัจฉริยลักษณ์ พึงประจักษ์ความงดงามภาษาไทย
บทกลอนนี้ชื่อ "ความงดงามของภาษาไทย" อาจารย์ประยอม ซองทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เป็นผู้ประพันธ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1408 ประจำวันที่ 10-16 สิงหาคม 2550 ผู้ร้อยกรองใช้ชื่อบทกลอนนี้ว่า
"ความงดงามของภาษาไทย" เพื่อสื่อความหมายให้ผู้อ่านเห็นลักษณะสำคัญของภาษาไทย
ซึ่งกล่าวไว้ 8 ประการ ได้แก่
1.ภาษาไทยเป็นภาษาดนตรี
2.ภาษาไทยมีอักษรไทยเป็นของตนเอง
3.ภาษาไทยมีตัวเลขไทยเป็นเอกลักษณ์
4.ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด
5.ภาษาไทยไทยมีฉันทลักษณ์
6.ภาษาไทยมีภาษาถิ่นหลากหลายทุกภูมิภาค
7.ภาษาไทยเป็นภาษาที่อ่านออกเสียงเป็นทำนองเสนาะได้ไพเราะ
8.ภาษาไทยภาษานี้มีคำพ้อง
ข้อเขียนที่สองเป็นข้อเขียนของนักวิชาการด้านภาษาไทยชั้นยอดของประเทศไทยผู้ล่วงลับแล้ว นั่นคือศาสตราจารย์ฐะปะนีย์ นาครทรรพ ได้เขียนเป็นบทความชื่อ "ภาษาไทย ภาษาถิ่น ไม่สิ้นสูญ" ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารวิชาการชื่อ "ภาษาไทยของเรา"ซึ่งเป็นวารสารของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 1-2 (เม.ย.2537-มี.ค.2538) กล่าวถึงภาษาไทยในฐานะภาษาประจำชาติไว้ 2 ประเด็น คือ คุณค่าและคุณลักษณะของภาษาไทยที่เอื้ออำนวยต่อการอยู่คงทน
อาจารย์ฐะปะนีย์กล่าวโดยผูกเป็นคำคล้องเพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้จำง่าย ดังนี้
1.คุณค่าของภาษาไทยภาษาไทยมีคุณค่าต่อคนไทยและชาติไทย 8 ประการคือ 1) ใช้เป็นสื่อกลาง 2) เสริมสร้างวัฒนธรรม 3) สำแดงเอกลักษณ์ 4) พิทักษ์เอกราช 5) ประสาทวิทยา 6) พัฒนาความคิด 7) กอบกิจการงาน 8.) ประสานสามัคคี
2.คุณลักษณะของภาษาไทยที่เอื้ออำนวยต่อการอยู่คงทนอาจารย์ฐะปะนีย์ได้กล่าวไว้เป็นคำคล้องจองว่า 1) ใช้อักษรแทนเสียง 2) สำเนียงดุจดนตรี 3) มีระดับของภาษา 4) พัฒนาตามกาลสมัย 5) ใช้วิธีเรียงคำ 6) สำนวนไทยหลากหลาย
7) เขียนจากซ้ายไปขวา 8.) รสภาษาสุนทร
ในบทความนี้จบด้วยคำประพันธ์ที่เชิญชวนคนไทยทั้งผองรัก หวงแหน และสืบทอดการใช้ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติของเราว่า
ภาษาไทยได้มาแต่บรรพบุรุษ ภาษาไทยพิสุทธิ์และสูงส่ง
ภาษาไทยชาวไทยใฝ่จำนง ใช้ถูกต้องมั่นคงคู่ชาติไทย
ภาษาถิ่นสุนทรเสียงอ่อนหวาน ภาษาไทยสื่อสารงานน้อยใหญ่
ภาษาถิ่นสร้างสรรค์จรรโลงใจ ภาษาไทยสอนธรรมนำปัญญา
ภาษาไทยภาษาถิ่นไม่สิ้นสูญ ภาษาไทยเจิดจำรูญศรีสง่า
ภาษาไทยรวมน้ำใจไทยประชา มาเถิดมาพิทักษ์ไว้ให้ถาวร
(ฐะปะนีย์ นาครทรรพ 2538 หน้า 32-47)ทั้งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บทกวีของอาจารย์ประยอม ซองทอง และอาจารย์ฐะปะนีย์ นาครทรรพ มุ่งให้เรารู้ประโยชน์ ความสำคัญ รวมทั้งเกิดความรัก หวงแหน และสืบทอดภาษาไทยในฐานะภาษาชาติของเรา
การสอนภาษาไทยให้นักเรียนรักภาษาไทยนั้น จำเป็นต้องสอนให้นักเรียนเรียนรู้ไปถึงขั้น เข้าใจ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่า และนำความรู้ความเข้าใจไปใช้ประโยชน์ทางการสื่อสารและประโยชน์ทางการพัฒนาสติปัญญาได้
ครูภาษาไทยต้องไม่ลืมว่าวิชาภาษาไทยนั้น ประกอบหลักภาษา การใช้ภาษา และวรรณคดี ผู้เขียนมั่นใจว่าการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาเพื่อให้นักเรียนเกิดความรักต่อภาษาไทยจนถึงขั้นการเกิด "แรงบันดาลใจ" ในการอ่านหนังสือต่างๆ ด้วยความใฝ่รู้ ซึ่งสุดท้ายก็จะเป็นที่มาของการอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ การเขียนภาษาไทยถูกการสะกดคำ ใช้คำได้ถูกความหมาย ถูกหน้าที่ รูปแบบการเรียงคำในประโยคถูกต้องตามโครงสร้างภาษาไทยจนไปถึงขั้นการใช้ภาษาในทางสร้างสรรค์เป็นศิลปะการใช้ถ้อยคำได้
ที่สำคัญคือการอ่านที่จะทำให้ใจเป็นสุข ต้องเริ่มที่การสอนให้นักเรียนนักศึกษาเกิดความซาบซึ้ง เพลิดเพลินบันเทิงใจในวรรณคดีไทย ซึ่งทั้งหมดผู้เขียนกล้าฟันธงว่าต้องอาศัย "ความรู้และความสามารถในการสอนของครูภาษาไทย"
ศาสตราจารย์ ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ นักวิชาการด้านภาษาไทยและการสอนภาษาไทยของไทยผู้ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก (สมควรคารวะวิสัยทัศน์ของผู้เสนอชื่ออาจารย์บุญเหลือต่อยูเนสโกอย่างยิ่ง)
เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม หนังสือเล่มหนึ่งของท่านชื่อว่า "ภาษาไทยวิชาที่ถูกลืม" (ดูเสมือนว่าหนังสือเล่มนี้ก็ถูกลืมไปแล้วจากครูภาษาไทยและแวดวงการศึกษาของเรา) อาจารย์บุญเหลือเขียนไว้ในตอนหนึ่งของผลงานเล่มนี้ว่า
"...โรงเรียนไทยทำผิดไป ในการที่บังคับนักเรียนในวัยที่บังคับไม่ได้คือวัยรุ่น เมื่อถึงวัยนี้เด็กนักเรียนจะขอเหตุผลสำหรับทุกอย่าง และชอบโต้เถียง พอนักเรียนมีความสงสัยในวิชาใด ครูก็ใช้วิธีบังคับให้ท่องจำเหมือนเป็นนักเรียนเล็ก เป็นการปลูกฝังความเบื่อหน่ายรำคาญใจเกือบทุกวิชา นักเรียนที่ชอบวิชาภาษาเบื่อหน่ายวิชาวิทยาศาสตร์ขนาดไม่อยากได้ยินได้ฟัง นักเรียนที่ชอบไปในทางวิทยาศาสตร์ก็เบื่อหน่ายวิชาภาษาไทย ประวัติศาสตร์ และศีลธรรม เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น ครูโดยมากก็ไม่เข้าใจว่าวรรณคดีคืออะไร ใช้วรรณคดีสอนจรรยาแก่เยาวชน โดยใช้วรรณคดีผิดเรื่อง เช่น ให้นักเรียนวัยรุ่นเรียนจรรยาจากลิลิตพระลอ หรือนิทราชาคริต เรื่องแรกเป็นเรื่องของคนวันรุ่นที่ไม่ควรจะเอาเยี่ยงอย่างเลย ชีวิตได้ลงโทษให้พระลอและพระเพื่อนพระแพงถึงแก่ความตาย ครูก็ชี้ในข้อนี้ไม่ถูกต้อง..." (2523 หน้า 32)
การสอนวรรณคดีครูจำเป็นต้องขยายความ ยกตัวอย่างประกอบ และประเมินสิ่งที่กำลังสอนได้ การที่ครูจะขยายความ ยกตัวอย่างประกอบและประเมินค่าเนื้อหาของวรรณกรรมได้นั้น ครูต้องตีความ (Interpretation) ความหมายของสิ่งที่กำลังสอนได้ และการตีความใหม่ (Reinterpretation) เนื้อเรื่องที่เป็นตัวบทของวรรณกรรมนั้น เป็นการ "เข้าถึง" ภารกิจทางวรรณคดีอย่าง "สุดซอย" ไม่ว่าจะเป็นภารกิจทางด้านวรรณศิลป์ที่ให้ความบันเทิงเริงใจ และภารกิจด้านให้คุณค่าทางสังคมที่จะบ่มเพาะพลังปัญญาแก่ผู้อ่าน
ตัวอย่างเช่น การที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปลาย เรียนวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ตอนกำเนิดสุดสาครนั้น นอกจากเพื่อความรู้เรื่องวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ความรู้เรื่องสุนทรภู่ซึ่งเป็นผู้แต่งแล้ว สำคัญที่สุดคือ เป็นเรื่องของความสนุกสนานเพลิดเพลิด เรื่องของความซาบซึ้งใน "รสภาษาสุนทร" (ตามคำของอาจารย์ฐะปะนีย์) ทั้งยังเป็นการให้เด็กนักเรียนได้รับรู้ความรู้สึกความทุกข์ทรมานของแม่ที่คลอดลูก เพื่อให้เด็กนักเรียนได้รู้สำนึกในบุญคุณของแม่ที่อุ้มท้องมายาวนานและทะนุถนอมเลี้ยงดูจนลูกเป็นตัวเป็นตน
ผู้เขียนกล้าพูดว่าความรู้รัก รู้คุณค่า รู้รักษาภาษาไทยของคนไทยนั้น เกิดจากการสอนภาษาไทยที่ "ตีโจทย์แตก" ของครูเป็นหลัก
ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ เอกราชเอกลักษณ์เอกศักดิ์ศรี
เป็นคันฉ่องส่องความงามและความดี เป็นโคมฉายช่วยชี้วิถีชน
(เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) ภาษาไทยน่าจะเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายอันหนึ่งของชาติไทยที่เราจะยังภาคภูมิใจในความเป็นชาติร่วมกันได้ คำถามของวันนี้คือ ภาษาไทย ภาษาชาติของเรา อยู่ในสภาพเช่นไร
ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง
คณะศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 31 กรกฎาคม 2558