ผู้เขียน หัวข้อ: "ทวารบาล" ผู้พิทักษ์รักษาประตู  (อ่าน 5103 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
เมื่อ: สิงหาคม 15, 2015, 09:35:55 PM


กำเนิด "ทวารบาล" ผู้พิทักษ์รักษาประตู

หนังสือทวารบาลผู้รักษาศาสนสถาน ที่จัดทำเผยแพร่ขึ้นโดยพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เขียนไว้ว่า "ทวารบาล" มาจากคำว่า "ทวาร" ที่แปลว่า "ประตู" และ "บาล" ซึ่งแปลว่า "รักษา, ปกครอง"

"ทวารบาล" จึงมีความหมายว่า "ผู้รักษาประตู" ซึ่งจากคำแปลก่อให้เกิดการตีความต่อประติมากรรมประเภททวารบาลว่าคือ รูปของสัตว์ อสูร เทพ เทวดา และมนุษย์ หรือสิ่งมีชีวิตใดๆ ก็ตาม ที่ตั้งอยู่บริเวณบานประตู ช่องทางผ่านเข้าออก ช่องหน้าต่าง หรือราวบันได แต่หากประติมากรรมชนิดเดียวกันนี้ไปตั้งอยู่บริเวณอื่นที่มิใช่ประตู หรือช่องหน้าต่าง หรือทางเข้าออก ก็ไม่สามารถจะกล่าวว่าเป็นทวารบาล

สำหรับกำเนิดของการสร้างทวารบาลนั้น น่าจะเกิดมาจากความเชื่อที่ว่า "ผี" เป็นผู้กระทำให้เกิดสิ่งต่างๆ เหนือธรรมชาติ และได้รับการพัฒนามาเป็นความเชื่อในเรื่องของเทวดาโดยได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ทั้งศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ โดยทางศาสนาฮินดูนั้นได้ก่อเกิดเทพเจ้าต่างๆ ขึ้น

โดยกำหนดให้เขาไกรลาส หรือเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาล อันจะรายรอบไปด้วยป่าหิมพานต์ มีพระอิศวรเป็นใหญ่ และมีเทพชั้นรองทำหน้าที่พิทักษ์ผู้รักษาประตู หรือทางเข้าสู่เขาไกรลาสทั้งแปดทิศ ซึ่งเทพเจ้าในศาสนาฮินดูไม่จำกัดรูปร่าง จะเป็นมนุษย์ สัตว์ หรือครึ่งมนุษย์ครึ่งสัตว์ ตามแต่ความเชื่อ ซึ่งสัตว์ที่ไม่มีในโลกมนุษย์เรียกว่า "สัตว์หิมพานต์" ที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ เชิงเขาไกรลาสที่ถือเป็นดินแดนแห่งเทพเจ้า

จากคติความเชื่อเทพผู้พิทักษ์รักษาประตูนี้ ได้นำมาใช้กับงานประติมากรรม สถาปัตยกรรม และจิตรกรรม ด้วยเหตุที่ชาวฮินดูต้องการให้มีเทพปกปักรักษาสถานที่สำคัญทางศาสนา เนื่องจากมนุษย์ทั่วไปไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะป้องกันภัยจากสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา ทั้งนี้ เนื่องจากศาสนสถานเหล่านั้นสร้างขึ้นตามคติว่าเป็นสถานที่อันเทพเจ้าสูงสุดประทับอยู่ จึงได้จำลองเขาไกรลาสมาไว้ยังโลกมนุษย์แล้วเกิดคติการสร้างทวารบาลขึ้นมา

จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ประธานชมรมสยามทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ กล่าวถึงทวารบาลตำนานของอินเดีย ว่า

"ในยุคบรรพกาล พวกอสูรกับเทวดามักจะรบกันอยู่เสมอๆ แต่ว่าพวกอสูรจะเกรงกลัวพระอินทร์มาก เนื่องจากพระอินทร์ถือสายฟ้า (วชิราวุธ) และพระอินทร์ท่านก็เห็นว่าพวกเทวดาที่เป็นบริวารหวาดกลัวพวกอสูร จึงให้วาดรูปพระอินทร์ไว้ตามประตูสวรรค์"

ส่วนตามคติความเชื่อของไทยเองก็ถือว่าพระอินทร์เป็นผู้รักษาพระศาสนาด้วยเช่นกัน ด้วยความคิดตรงนี้จึงเกิดมีการผสมผสานขึ้นมา เพราะคนไทยเป็นชาติที่ไม่ลอกเขา แต่เราชอบเลียนเขา คือเราไม่ได้ลอกเขามาทั้งหมด แต่เราจะดูว่าแบบของเขาเป็นอย่างไร ส่วนของเราคิดอย่างไร แล้วค่อยมาผสมกัน ก็เลยเกิดเป็นทวารบาลหลายรูปแบบขึ้นมา มีทั้งเทวดาถือพระขรรค์ เทวดาไทยผสมจีน (เซี่ยวกาง) หรือถือพวกอาวุธต่างๆ ขี่กิเลนบ้าง ขี่สิงห์บ้าง แบบแผนตรงนี้ตามศาสนสถานหลายแห่งต่างก็มีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป

นอกจากจะรับอิทธิพลมาจากอินเดียแล้ว ไทยเรายังรับเอาอิทธิพลของทวารบาลมาจากจีนด้วยเช่นกัน สำหรับตำนานทวารบาลของจีนนั้น สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัย "พระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้" ซึ่งตามตำนานเล่าว่า ในยุคของพระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ "พญาเล่อ๋อง" เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ให้ฝนแก่ชาวโลก แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งเกิดเพลินให้ฝนมากเกินไป ส่งผลทำให้น้ำท่วม ราษฎรได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

เมื่อ "เง็กเซียนฮ่องเต้" รู้เข้าก็โกรธพร้อมกับสั่งให้ "งุยเต็ง" จัดการประหารพญาเล่อ๋องเสีย ทางฝ่ายพญาเล่อ๋องก็หาทางที่จะรักษาชีวิตของตนเองไว้ โดยได้สืบทราบมาว่า งุยเต็งนั้นมีชีวิตอยู่สองภาค คือ ภาคมนุษย์ รับราชการอยู่กับพระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ ส่วนภาคสวรรค์ ทำหน้าที่เป็นเพชฌฆาต จึงได้ไปเข้าฝันพระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ ให้ช่วยบอกกล่าวกับงุยเต็งขออย่าให้ประหารชีวิตตน ซึ่งพระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ก็รับปาก โดยในคืนประหารก่อนบรรทมจึงให้งุยเต็งเข้าเฝ้า แล้วออกอุบายชวนเล่นหมากรุกกันหลายกระดานเพื่อไม่ให้งุยเต็งหลับ แต่ว่างุยเต็งก็เผลองีบหลับไป โดยช่วงที่งีบนั้นงุยเต็งได้ละเมอคำว่า "ซัว" ที่หมายถึง ฆ่า ขึ้นมาก่อนสะดุ้งตื่นมาเล่นหมากรุกต่อ

พระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ เมื่อเห็นงุยเต็งตื่น ก็สอบถามว่าช่วงที่งีบไปละเมอเห็นอะไรบ้าง งุยเต็งก็เล่าความฝันเรื่องไปประหารพญาเล่อ๋องบนสวรรค์ให้ฟัง เมื่อพระเจ้าถังไท้จงฯ รู้เรื่องดังนั้น ก็ทรงเสียพระทัยที่ไม่สามารถทำตามที่รับปากกับพญาเล่อ๋องไว้ได้

ทางฝ่ายพญาเล่อ๋องเมื่อตายไป วิญญาณก็โกรธแค้นพระเจ้าถังไท้จงฯ อย่างมาก ในทุกๆ คืนจึงมาคอยรังควานพระเจ้าถังไท้จงฯ ในวังหลวง ทำให้พระองค์พักผ่อนได้ไม่เพียงพอ แล้วเกิดประชวร บรรดาแพทย์พยายามรักษาจนสุดความสามารถก็ไม่หาย ในเวลานั้นทหารเอก 2 คนคือ "อวยซีจง" และ "ซินซกโป้" ซึ่งมีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าถังไท้จงฯ เป็นอย่างมาก ได้รับอาสาเฝ้าพระทวารห้องบรรทมมิให้พญาเล่อ๋องมารบกวนได้ แต่นานวันเข้าทหารทั้ง 2 ก็เจ็บป่วยเสียเอง เนื่องจากตอนกลางคืนต้องยืนยาม ส่วนกลางวันก็ต้องทำงาน

พระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ จึงออกอุบายเรียกช่างฝีมือดี มาเขียนภาพทหารทั้งสองขึ้นที่บานประตูห้องพระบรรทมบานละคน โดยให้มีขนาดใหญ่เท่าตัวจริง มือถืออาวุธ หน้าตาถมึงทึง ทำให้เหมือนกับว่าทหารทั้งสองยืนยามเฝ้าประตูอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ เพราะหลังจากนั้นวิญญาณพญาเล่อ๋องก็ไม่มารบกวนพระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้อีกเลย

นับตั้งแต่นั้นมาคติความเชื่อการเขียนทวารบาลก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในเมืองจีน ก่อนจะแผ่อิทธิพลมาถึงเมืองไทยจนกลายเป็นงานศิลปะไทยที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสันนิฐานกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว โดยตอนแรกๆ ยังคงมีอิทธิพลของจีนอยู่ สำหรับทวารบาลแบบจีนที่ไทยนำมาและนิยมกันก็คือ "เซี่ยวกาง" มีลักษณะเป็นนักรบจีนหนวดยาวหน้าตาขึงขัง คำว่าเซี่ยวกาง สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า "เซ่ากัง" ที่แปลว่า ยืนยาม นั่นเอง

คติของการมีเทพผู้พิทักษ์ประตูหรือการตั้งสิ่งที่ดูน่าเกรงขามน่ากลัวในการป้องกันศาสนสถานมีมาตั้งแต่โบราณแล้ว ไม่ได้มีแต่เฉพาะที่จีนหรืออินเดียเท่านั้น ทางกรีซ โรมัน ก็มีความเชื่อในเรื่องผู้พิทักษ์เช่นกัน เพราะพวกเขาต่างก็เชื่อว่าสถานที่ต่างๆ บางครั้งจะมีสิ่งที่ชั่วร้ายหรือสิ่งอัปมงคลต่างๆ มารบกวน ด้วยเหตุนี้จึงนิยมสร้างผู้พิทักษ์เป็นรูปปั้นบ้าง ใช้เป็นรูปสลักบ้าง หรือเป็นรูปวาดบ้าง เพื่อใช้ในการป้องกันศาสนสถานนั้นๆ


ที่มา : Teenee.com