เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
บทความการศึกษา
รื้อระบบ - แก้ยกแผงดันมหาวิทยาลัยไทยสู่ระดับโลก
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: รื้อระบบ - แก้ยกแผงดันมหาวิทยาลัยไทยสู่ระดับโลก (อ่าน 3870 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3910
รื้อระบบ - แก้ยกแผงดันมหาวิทยาลัยไทยสู่ระดับโลก
เมื่อ:
กันยายน 12, 2015, 09:51:30 AM
รื้อระบบ - แก้ยกแผงดันมหาวิทยาลัยไทยสู่ระดับโลก
"ถึงแม้เราจะยอมรับว่าการศึกษาของประเทศไทยมีปัญหา และเป็นปัญหาทั้งระบบก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ควรทำให้เราไม่กล้าคิดในระดับอุดมศึกษา ในการที่จะผลักดันให้มหาวิทยาลัยของไทย ก้าวเข้าสู่ระดับโลกได้" ถือเป็นหัวข้อสำคัญในเวทีของการประชุมประจำปีของสภามหาวิทยาลัยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนเชื่อว่า จะสามารถผลักดันให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาได้
ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อุปนายกสมาคม สภามหาวิทยาลัยฯ กล่าวในรายการชั่วโมงที่ 26 ทางช่อง NOW26 เมื่อคืนวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยที่เข้าข่ายจะก้าวขึ้นสู่ระดับโลกได้ เป็นมหาวิทยาลัยรุ่นเก่าประมาณ 20 มหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมทุกวันนี้ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยประมาณ 150 แห่ง แบ่งเป็นของรัฐประมาณ 70-80 แห่ง ที่เหลือก็เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน
รุ่นที่พัฒนามาแต่ดั้งเดิม ประมาณ 20 กว่าแห่ง รุ่นนี้มีระยะทางในการพัฒนามาพอสมควร สะสมอะไรต่ออะไรมาพอสมควร คิดว่าในจำนวนเหล่านี้ หากจะคัดเลือกให้ดี มี นโยบายที่ดี มีการสนับสนุนที่ดี ก็จะสามารถก้าวขึ้นทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศได้ แต่จะต้องมีความจริงใจ มีความแน่วแน่ที่จะทำ
ในความเป็นจริงแล้วเราห่างจากจุดนั้นกี่ก้าว ตรงนี้ต้องเอาตรงที่คนอื่นมาดูเรา ระบบการจัดอันดับมหาวิทยาลัยก็มีอยู่ 2 ค่าย คือ นิตยสารไทม์ ของอังกฤษ อีกค่ายก็คือ บริษัท คิวเอส ก็ของอังกฤษเช่นเดียวกัน ของคิวเอสที่ประกาศล่าสุด จากการคัดเลือกมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่ดีที่สุดมีอยู่ 200 มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่ติดอันดับ 1 ใน 200 ของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของไทย อยู่ในอันดับที่ 243 เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นของเอเชีย อันดับ 1 ของเอเชีย คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ อยู่ในอันดับที่ 22 ของโลก
การที่จะยอมรับกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยดังกล่าวหรือไม่นั้น ต้องไปดูที่ดัชนีที่เขาใช้วัด ประเด็นก็คือดัชนีที่เขาใช้วัดนั้นเขาใช้ทั่วโลก เราก็คงไม่มีเหตุผลที่จะไปบอกว่า อย่าเอาดัชนีตัวนี้มาใช้กับมหาวิทยาลัยของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยหนีไม่ได้ เพราะจะต้องอยู่บนเวทีโลก ดังนั้น ก็เป็นกติกาที่ยอมรับได้ และทั่วโลกเขาก็ยอมรับกัน
อย่างกรณี เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม (World Economic Forum) หรือ WEF เวทีเศรษฐกิจโลก ก็จัดอันดับมหาวิทยาลัยของโลกด้วยเช่นกัน ซึ่งในกลุ่มอาเซียน 10 ประแทศ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ไทยเราก็อยู่อันดับ 8 เหนือเวียดนาม กับ พม่า
ตรงนี้ต้องบอกว่า เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม มีหน้าที่ดูตัวบ่งชี้ทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งหนึ่งที่จะต้องดูก็คือ คุณภาพทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งก็ต้องดูที่เรื่องการศึกษาดีหรือไม่ แต่เขาไม่ได้ดู อันดับของมหาวิทยาลัยโดยตรง เขาดูในภาพรวมของระบบ ซึ่งเขาก็แยกดูว่า การศึกษาพื้นฐานเป็นอย่างไร อุดมศึกษาเป็นอย่างไร
สิ่งที่อาจจะเป็นข้อโต้แย้งในกรณีของ เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ได้ก็คือ ในประเด็นที่เกี่ยวกับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เขาใช้วิธีสัมภาษณ์ เขาไม่ได้ใช้วิธีหาข้อมูล โดยเขาสัมภาษณ์คนในประเทศนั้น ก็คือ ผู้ประกอบการในประเทศนั้น จากนั้น ก็นำมาจัดเรียง ตรงนี้เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่า เชื่อถือได้ หรือไม่
ส่วนการศึกษาขั้นพื้นฐานมีข้อมูลอื่นเข้ามาด้วย อย่างเช่นผลการสอบพิซ่า ก็คือ ที่ 60 กว่าประเทศ ประเทศละ 5,000 คน ส่งเด็กระดับ ม.4 มาสอบแข่งกัน แล้วมาดูคะแนนกัน ตรงนี้เป็นข้อมูลจริง เกิดขึ้นจริง เถียงไม่ได้เลย สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยก็คือ ค่อนข้างต่ำ จาก 60 ประเทศ ไทยเราอยู่ที่ประมาณอันดับที่ 50 มาทุกครั้ง ตรงนี้ต้องไปดูที่เด็กว่า เด็กไทยรู้มากรู้น้อยกว่าเด็กประเทศอื่นอย่างไร ซึ่งเด็กไทยท่องเก่ง รู้เนื้อหา แต่ขาดความสามารถในเรื่องของการคิดวิเคราะห์ ขาดความสามารถในการคิดแบบสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นประเด็นที่เขาสอบกันทั่วโลกทุกวันนี้
ในเมื่อวิธีการศึกษา หลักสูตรการศึกษาของไทยไม่ได้เอื้อไปในทิศทางนั้น ก็แน่นอนว่า ส่งเด็กไทยไปสอบเมื่อไหร่ เด็กไทยก็แพ้อยู่อย่างนั้น
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เวียดนามส่งเด็กเข้าร่วมสอบแข่งขันเป็นครั้งแรกในปี 2012 ปรากฏว่า คะแนนสูงกว่าเด็กไทยทั้งหมด อย่างเช่น วิชาวิทยาศาสตร์ เด็กเวียดนามอยู่อันดับที่ 8 ของโลก ขณะที่เด็กไทยอยู่ที่อันดับ 48 ตรงนี้น่าจะต้องวิเคราะห์อย่างมาก และจะต้องเตรียมตัวรับด้วยว่า ในที่สุดภาพรวมระยะยาว คุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของเราจะถูกคนอื่นมองว่าอย่างไร ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก
โดยส่วนตัวมองว่า การศึกษาของไทยมีปัญหาทุกระดับ ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครู เรื่องระบบบริหาร เรื่องงบประมาณ เรื่องหลักสูตร สิ่งที่อยู่ในหลักสูตรได้แก่ตัวเนื้อหาก็มีปัญหา เป็นปัญหาที่ต้องแก้ยกแผง เพื่อผลักดันให้มหาวิทยาลัยไทยก้าวเข้าสู่ชั้นนำของโลก
ในเชิงยุทธศาสตร์ก็มองได้หลายระบบการเคลื่อน อย่างเช่น จีน ซึ่งเริ่มโครงการมาตั้งแต่ก่อนปี 2000 ชื่อโครงการ 211 โดย 21 หมายถึงศตวรรษที่ 21 ส่วน 1 ตัวท้าย หมายถึง 100
จีนมีมหาวิทยาลัยเกือบ 2,000 แห่ง เขาก็ใช้วิธีดูว่า จะใช้กี่แห่งสู้กับประเทศอื่น สู้กับอะไร ผลิตบัณฑิตออกมาแล้วต้องเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง ทัดเทียมกับคนอื่นในโลก สามารถต่อรองกับวงการค้าระหว่างประเทศ คิดค้นอะไรต่อมิอะไรระหว่างประเทศ ไม่ใช่เรียนแล้วมีงานทำอย่างเดียว จะต้องมีกลไกสังคมได้แก่ มหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพเพียงพอที่จะผลิตบัณฑิตระดับนั้นได้ มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นแหล่งผลิต คิด ค้น ทำนวัตกรรม หรืออย่างน้อยเป็นต้นกำเนิด ในที่สุดบัณฑิตของตนสามารถออกไปสร้างนวัตกรรมได้ ซึ่งจะต้องเป็นระดับโลก
ซึ่งจีนก็สรุปว่า ผลักดันมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ทั้งหมด เพียง 100 แห่ง ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก ซึ่งขณะนี้เขามี 116 แห่ง
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในแวดวงการศึกษา ก็คือ ประเทศรัสเซีย ที่พบว่า มีมหาวิทยาลัยเพียง 5 แห่ง ที่พอจะสู้กับประเทศอื่นได้ ดังนั้น จึงตั้งโครงการ 5-100 นั่นหมายถึง เขาจะผลักดันจากที่มีอยู่ 5 มหาวิทยาลัยโลก ให้มี 100 แห่งให้ได้
สำหรับทิศทางมหาวิทยาลัยในประเทศไทย หากจะผลักดันที่มีอยู่ 150 แห่ง ให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก จะต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล ดังนั้น แนวทางก็คือจะคัดเลือกมาจำนวนหนึ่งแล้วผลักดันไปให้ได้จริงๆ ก็น่าจะอยู่ที่ 10% ก็ประมาณ 45 มหาวิทยาลัย ซึ่งก็มีแนวทางที่จะเป็นไปได้
ที่ผ่านมาในประเทศไทยก็เคยมีแนวคิดที่จะผลักดัน แต่ไม่ค่อยชัดเจน แต่ก็มีความพยายามที่จะให้มีโครงการมหาวิทยาลัยวิจัย สนับสนุนให้มีการวิจัยมากขึ้น แต่เมื่อไปดูเนื้อโครงการกลับแรงไม่พอ วิธีการยังไม่ถูกต้องเท่าที่ควร เพราะเปิดให้มีทุนวิจัยเยอะขึ้น ในขณะที่ขีดความสามารถในการทำวิจัยในมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งยังด้อยอยู่
โดยส่วนแล้วเห็นว่า เรื่องวิจัยอย่างเดียวไม่พอ ต้องกล้า อย่างที่เขาทำกัน ก็คือ ยกมหาวิทยาลัยขึ้นมาให้เป็นระดับโลกให้ได้
ผู้บริหารแต่ละมหาวิทยาลัยต้องมานั่งคุยกัน ระดมความคิดกัน เตือนสติกันว่า คุณภาพเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับประเทศ เพราะทุกวันนี้ หลายแห่งทำกันในเชิงปริมาณ ทำให้ไปคุณภาพลดลงไป
ทั้งนี้ทั้งนั้น ความชัดเจนในการขับเคลื่อนไปสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก จะต้องขับเคลื่อนออกมาจากรัฐบาลก่อน
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
บทความการศึกษา
รื้อระบบ - แก้ยกแผงดันมหาวิทยาลัยไทยสู่ระดับโลก
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?