เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
บทความการศึกษา
ว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูของญี่ปุ่น
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: ว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูของญี่ปุ่น (อ่าน 3706 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3923
ว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูของญี่ปุ่น
เมื่อ:
กันยายน 26, 2015, 12:00:47 AM
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระบบการผลิตครูของประเทศญี่ปุ่นเปลี่ยนจากระบบปิดมาเป็นระบบเปิด หมายความว่า เปลี่ยนจากการผลิตครูจากโรงเรียนฝึกหัดครูเท่านั้นมาเป็นผลิตครูจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และไม่จำกัดเฉพาะที่คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ โดยภายใต้ระบบเปิดนี้จะเปิดให้ผู้ที่มีความตั้งใจจะเป็นครูสามารถเลือกเรียนคณะใดก็ได้ เช่น คณะวิทยาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรวิชาชีพครู ซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา โดยนักศึกษาจะได้เรียนทั้งวิชาเฉพาะ และเรียนวิชาครูด้วย เมื่อเรียนจบ 4 ปีออกมาแล้วจะได้ปริญญาบัตรพร้อมใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตลอดชีพโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องมีการต่ออายุแต่ใช้ไปได้ถึงเกษียณเลย
กระทั่งปี 2550 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการครูของญี่ปุ่น เมื่อสภาการศึกษากลางได้เห็นชอบพระราชบัญญัติด้านการศึกษา 3 ฉบับ ฉบับที่เกี่ยวกับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาได้เพิ่มมาตราที่กำหนดให้มีการทบทวนการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งผ่านสภาไดเอ็ตและประกาศให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา การต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครูได้พัฒนาความรู้และทักษะให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อรักษาศักยภาพของวิชาชีพครู และยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ครูในการสอน การยอมรับและไว้วางใจจากสังคมด้วย
มาตราที่เพิ่มใหม่ได้กำหนดให้ครูทุกคนต้องต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทุก 10 ปี โดยครูจะต้องเข้ารับการอบรมหลักสูตรการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพที่คณะครุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่งที่เปิดการอบรม เป็นเวลา 30 ชั่วโมง ภายในระยะเวลา 2 ปี หมายความว่าในรอบ 10 ปีแรกนี้ ครูทุกคนจะต้องเข้ารับการอบรมเพื่อต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2554
หลักสูตรอบรม 30 ชั่วโมง ประกอบด้วยวิชาบังคับ 12 ชั่วโมง และวิชาเลือกอีก 18 ชั่วโมง วิชาบังคับ ตัวอย่างเช่น
1) การทบทวนเกี่ยวกับวิชาชีพครู ประกอบด้วย สภาพแวดล้อมของสังคมยุคใหม่ที่มีอิทธิพลต่อโรงเรียน ผลสะท้อนต่อการทำงานของครู และมุมมองเกี่ยวกับนักเรียนและการศึกษา
2) การเปลี่ยนแปลงของนักเรียน เช่น ความรู้เกี่ยวกับการวิจัยใหม่ ๆ ในเรื่องการพัฒนาเด็ก และอิทธิพลของสภาพแวดล้อมทางสังคมที่มีต่อนักเรียน
3) นโยบายด้านการศึกษาใหม่ ๆ คือ การปรับปรุงมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาของชาติ และกฎหมายการศึกษาใหม่ต่าง ๆ
4) การเป็นหุ้นส่วนของโรงเรียน เช่น ยุทธศาสตร์องค์กร การบริหารจัดการยามฉุกเฉิน และความร่วมมือระหว่างครอบครัว โรงเรียนกับชุมชน เป็นต้น
ส่วนวิชาเลือกมี อาทิ วิชาเฉพาะต่าง ๆ เช่น คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา ฯลฯ วิธีการสอน การแนะแนวนักเรียน ความปลอดภัยของโรงเรียน (เช่น เวลาเกิดแผ่นดินไหว สึนามิ หรือมีคนแปลกหน้าเข้ามาในโรงเรียน ครูควรจะทำอย่างไรเพื่อปกป้องเด็กนักเรียน)และความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนตามยุคสมัย ฯลฯ ซึ่งทุกวิชาต้องเป็นเรื่องที่ได้ปรับเนื้อหาเข้ากับสถานการณ์ล่าสุด ส่วนใหญ่จะจัดอบรมวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดภาคฤดูร้อน คือ ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ในวันหนึ่ง ๆ จะมีการอบรม 4 วิชา เสร็จแล้วสอบอีก 1 ชั่วโมง ตามวิธีการสอนของญี่ปุ่นที่มักจะสอนแล้วสอบทันที ดังนั้น เวลาเรียนทุกคนจึงต้องตั้งใจเรียนเพื่อสอบให้ผ่าน เมื่อผ่านการอบรมแล้ว มหาวิทยาลัยจะมอบหลักฐานให้ครูนำไปแสดงต่อสำนักงานการศึกษาจังหวัดที่โรงเรียนของตนสังกัด เพื่อรับใบต่ออายุการประกอบวิชาชีพอีก 10 ปี
จากผลการวิจัยของ รศ.ดร.โมโตโกะ อาคิบะ แห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดาและศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยซึกุบะ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ปรับสถานะมาจากวิทยาลัยครูชั้นสูงที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงควบคู่มากับมหาวิทยาลัยฮิโรชิมา พบว่า ก่อนการเข้าอบรม ครูไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับนโยบายนี้ถึง 89% แต่หลังจากการเข้ารับการอบรมแล้วพบว่า ครูที่ไม่เห็นด้วยลดลงเหลือ 64% ในขณะที่ครูที่เห็นด้วยเพิ่มขึ้นจาก 11% เป็น 36% เพราะยอมรับว่า หลักสูตรการอบรมมีคุณภาพดีมาก ช่วยพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา และช่วยพัฒนาทักษะในการสอนมากกว่าที่คิดไว้ แต่ไม่เห็นด้วยกับการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลผุดนโยบายการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูขึ้นมาเพียงเพราะมีครูไม่กี่คนที่มีข่าวอื้อฉาวทางสื่อมวลชน เรื่องขาดความสามารถในการสอน ทั้งที่ครูส่วนใหญ่เห็นว่า ผู้มีอาชีพครูเกือบทุกคนมีความรับผิดชอบสูง ตั้งใจสอนและพยายามพัฒนาตนเองไปจนตลอดชีวิตอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี แม้จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐ โดยทั่วไปชาวญี่ปุ่นเชื่อมั่นในผู้นำจึงต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้เพื่อจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ ต้องการพัฒนา หล่อหลอม และปกป้องทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของชาติ คือ เด็กและเยาวชนของญี่ปุ่นนั่นเอง.
ภัทณิดา พันธุมเสน
รศ.ดร.ทาคาโยชิ มากิ
ที่มาจาก : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 15 กันยายน 2558
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
บทความการศึกษา
ว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูของญี่ปุ่น
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?