ผู้เขียน หัวข้อ: รพินทรนาถ ฐากูร เมธีปราชญ์ แห่งตะวันออก รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมคนแรกแห่งอินเดีย  (อ่าน 6204 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923


    รพินทรนาถ ฐากูร เป็นนามซึ่งรู้จักกันในหมู่นักอ่านชาวตะวันตกว่า The Sun of India ดวงอาทิตย์แห่งอินเดีย มีสมัญญานามว่า "คุรุเทพ" เป็นนักปรัชญาพรหโมสมัช นักธรรมชาตินิยม และกวีภาษาเบงกาลี วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 ราชบัณฑิตยสถานแห่งสวีเดน ประกาศจากกรุง สต๊อกโฮล์มว่า ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปีคือ ระพินทรนาถ ฐากูร เจ้าของบทประพันธ์เรื่อง คีตาญชลี นับเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล
     
    รพินทรนาถ ฐากูร เกิดที่คฤหาสน์โชราสังโก นครกัลกัตตา เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2404 และกลับมาถึงแก่กรรมที่คฤหาสน์หลังเดิม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2484 รวมอายุ 80 ปี 3 เดือน ท่านเกิดในวรรณะพราหมณ์ ตระกูลฐากูร ซึ่งเป็นตระกูลที่มั่งคั่งที่สุดตระกูลหนึ่งในแคว้นเบงกอล และไม่ได้มั่งคั่งแต่เพียงทรัพย์สมบัติเท่านั้น หากยังเพียบพร้อมไปด้วยสติปัญญาอีกด้วย กล่าวคือ ผู้สืบสกุลฐากูรหลายคน ได้บำเพ็ญกรณียกิจนานาประการ โดยเฉพาะกิจการด้านวัฒนธรรม ทั้งยังเป็นตระกูลที่ดื่มด่ำในวัฒนธรรมอินเดีย มีความเลื่อมใสต่อลัทธิที่ภักดีต่อพระวิษณุเจ้าเป็นพิเศษ           
 
    รพินทรนาถเป็นบุตรคนที่ 14 ในจำนวน 15 คนของ 'มหาฤาษีเทเพนทรนาถ ฐากูร' ซึ่งให้ความสนใจต่อการศึกษาของบุตรคนเล็กมาก หลังจากประกอบพิธีสวมด้ายมงคลยัชโญปวีตตามแบบศาสนาพราหมณ์ให้แล้ว ท่านก็พาบุตรคนเล็กเดินธุดงค์ไปยังเมืองอมฤตสาร์ และเทือกเขาหิมาลัย กล่าวได้ว่าทัศนะทางด้านศาสนาของรพินทรนาถนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากบิดามากทีเดียว รวมทั้งนิสัยที่ชอบเดินทาง นอกจากท่องเที่ยวในประเทศแล้ว ท่านยังได้ไปบรรยายที่สหรัฐอเมริกา 5 ครั้ง ยุโรป 5 ครั้ง ญี่ปุ่น 3 ครั้ง และที่จีน อเมริกาใต้ โซเวียตรัสเซีย (ชื่อขณะนั้น) และเอเชียอาคเนย์แห่งละครั้ง
     
    ความสามารถในเชิงการเขียนของท่านเกิดขึ้นเมื่ออายุ 14 ปี รพินทรนาถเขียนเพลงปลุกใจ พาดพิงถึงงานมหกรรมเดลฮีเดอร์บาร์ โดยดำริของลอร์ด ลิททัน ด้วยท่าทีเย้ยหยัน เพราะเป็นความสนุกสนานท่ามกลางภาวะขาดแคลนของประเทศในขณะนั้น ความโด่งดังของรพินทรนาถทำให้ได้รับสมญานามว่า 'เกอเธ่แห่งอินเดีย'
     
    ผลงานของท่านนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากบทร้อยกรองกับบทละครซึ่งมีอยู่ถึง 1.5 หมื่นบรรทัด ยังมีวรรณกรรมประเภท นวนิยาย เรื่องสั้น อัตชีวประวัติ บทวิจารณ์ และบทความนานาชนิด
     
    ชีวิตครอบครัวของรพินทรนาถเริ่มขึ้นเมื่ออายุ 22 ปี โดยแต่งงานกับมฤณาลิณี เทวี มีบุตรชาย 2 คน บุตรสาว 3 คน (ภายหลังเสียชีวิตไป 3 คน) ช่วงนี้ท่านตั้งอกตั้งใจรังสรรค์งานออกมาชิ้นแล้วชิ้นเล่า ทั้งบทละครที่ท่านร่วมแสดง หรือแม้กระทั่งบทกวีที่ใช้กล่อมเด็ก ภรรยาของท่านได้ถึงแก่กรรมก่อนหลังจากใช้ชีวิตร่วมกันได้ 19 ปี
     
    ปี พ.ศ.2455 รพินทรนาถได้แปลบทกวีนิพนธ์ที่เขียนอุทิศให้แก่ภรรยาและบุตร 3 ใน 5 คนที่เสียชีวิตไปเป็นภาษาอังกฤษ แล้วรวบรวมนำมาพิมพ์เป็นเล่มให้ชื่อว่า 'คีตาญชลี' อีก 1 ปีถัดมาขณะที่อายุได้ 52 ปี ราชบัณฑิตยสถานแห่งสวีเดนได้ประกาศจากกรุงสตอกโฮล์ม ว่าผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี คือ รพินทรนาถ ฐากูร จากบทประพันธ์คีตาญชลี ท่านเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้
     
    นักอ่านชาวตะวันตกเปรียบเทียบ คีตญชลี ไว้ในลักษณะต่างกัน บ้างว่าปราดเปรื่องเสมอด้วย "บทเพลงของโซโลม่อน" (Song of Solomon) และบ้างก็ว่าบริสุทธิ์กว่า "บทสวดชองเดวิด" (Psalms of David) เอซรา พาวนด์ ส่วนรพินทรนาถได้รับการยกย่องว่าเป็นเสมือน "ยอห์นผู้ประกอบพิธีศีลจุ่ม" หรือเรียกตามสำนวนของหอพระคริสตธรรมว่า "โยฮันผู้ให้บัพติสมา" คือผู้ที่ทำหน้าที่วางรากฐาน เพื่อให้พระเยซูประกาศสัจธรรมโดยสะดวก
     
    แต่งานชิ้นต่อมาแทนที่จะปรากฎในทำนองเอาใจผู้อ่าน รพินทรนาถกลับเสนอบทนิพนธ์ "คนทำสวน" (The Gardener) เขาชี้แจงอย่างไม่อ้อมค้อมว่า " เพื่อเห็นแก่พระเจ้า โปรดอย่าลืมว่าข้าพเจ้าไม่ใช่นักสอนศาสนา แท้ที่จริงข้าพเจ้าเป็นกวีต่างหาก"
     
    ผลงานของรพินทรนาถ อันเป็นที่รู้จักกันดีทั่วไป อาทิ คีตาญชลี, บทกวีจันทร์เสี้ยว, บทละครเรื่องจิตรา, เพลงชาติอินเดีย, เรื่องสั้นราชากับรานี, เรื่องสั้นนายไปรษณีย์, พระกรรณะกับนางกุนตี ฯลฯ
     
    ในช่วงปลายของชีวิตเมื่ออายุ 70 ปี รพินทรนาถได้เริ่มเขียนภาพ ภายในเวลา 10 ปีท่านเขียนได้ถึง 3,000 ภาพ และได้นำผลงานเหล่านี้ไปแสดงตามที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศอินเดีย รวมทั้งที่ปารีสด้วย
     
    งานที่ยิ่งใหญ่ของระพินทรนาถอีกสิ่งหนึ่งคือ สถาบันการศึกษา ด้วยใจรักการเป็นครู จนได้รับการสดุดีว่า "คุรุเทพ" ท่านได้ตั้งโรงเรียนศานตินิเกตัน ซึ่งหมายถึงสถานที่แห่งความสงบ โดยสอนแบบครูสัมพันธ์กับศิษย์เหมือนพ่อกับลูก อีก 21 ปีต่อมา จึงได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยโดยใช้ชื่อว่า 'วิศวภารตี' หมายถึง สถานอันเป็นที่พักพิงแห่งโลก


ที่มา  :  http://www.toulo.com