ผู้เขียน หัวข้อ: รู้จักกับสเต็มศึกษา (Stem education)  (อ่าน 7256 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
เมื่อ: พฤศจิกายน 07, 2015, 10:57:58 AM

?สเต็มศึกษา?(science Technology Engineering and Mathematics Education : STEM Education)  การเรียนรู้ที่บูรณาการ การจัดการศึกษาทางด้านวิชาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ ตั้งแต่ระดับขั้นการศึกษาพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษาและรวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ประชากรรุ่นใหม่ได้มีความรู้และทักษะการเรียนรู้ในทางสร้างสรรค์แบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่  21 ที่โลกเราสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาทักษะในการดำรงชีวิต เพื่อให้เยาวชนไทยก้าวสู่การแข่งขันกับประชากรโลกได้ รวมทั้งเมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558(คศ.2015) ?เสต็มศึกษา?นั้นจะช่วยพลิกโฉมการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นวิชา เคมี  ฟิสิกส์ ชีววิทยา รวมทั้งวิชาคณิตศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์  โดยสเต็มศึกษานั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนวิชาเหล่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่เน้นการบูรณาการการเรียนรู้การนำไปใช้และการฝึกการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการใหม่ ๆไม่ใช่การเรียนที่เน้นการท่องจำหรือการเรียนเพื่อนำไปสอบเท่านั้น ซึ่งการเรียนแบบสเต็มศึกษานั้น จะเน้นการลงมือปฏิบัติจริง โดยครูผู้สอนมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะตั้งคำถามให้เด็กสนใจและเรียนรู้ว่าสิ่งที่เรียนในห้องเรียนนั้นเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวในชีวิตประจำวันของเรา  การพัฒนาขีดความสามารถของครู องค์ประกอบในการถ่ายทอดความรู้และการกระตุ้นให้นักเรียนแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ งบประมาณที่จะมาดำเนินการโดยการกระทำที่เป็นระบบในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าองค์กรปกครองท้องถิ่น กระทรวงไอซีที มหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมทั้งภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องและชุมชนที่จะต้องให้ความร่วมมือ เพื่อให้การเรียนการสอนแนวใหม่นี้ให้มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผล รวมทั้งการออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับนักเรียนได้

ดร.เปกกา เคส จากมหาวิทยาลัยโอลู ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษา กล่าวว่า ?การศึกษาในระบบสะเต็ม ทำให้ระบบการเรียนการสอนในประเทศฟินแลนด์ ถือว่าดีที่สุดในโลก รัฐบาลให้ความสำคัญกับระบบการศึกษา เพราะเป็นพื้นฐานการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยบุคคลที่ประกอบอาชีพครูในทุกระดับชั้น ต้องจบการศึกษาขั้นต่ำในระดับปริญญาโท นอกจากนี้ทุกโรงเรียนต้องปรับปรุงให้ได้มาตรฐานเท่ากันหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในเมืองหรือนอกเมืองและการสอบแข่งขันมหาวิทยาลัยก็ไม่สูง เพราะทุกมหาวิทยาลัยมีคุณภาพเท่าเทียมกัน

ชองชุง จากมูลนิธิวิทยาศาสตร์ขั้นสูงเพื่อการสร้างสรรค์ กล่าวว่าประเทศเกาหลีใต้ ก็เป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับระบบสะเต็ม โดยเริ่มมือสามปีที่ผ่านมาและพยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตรให้บ่อยขึ้นเพื่อตอบสนองเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่ให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นเมื่อหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมาแต่ให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ที่ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันและการคิดค้นวิทยาศาสตร์สร้างสรรค์เพื่อใช้ในอนาคต

โอบามา ก็ได้สนับสนุนนโยบายการศึกษาของระบบสเต็ม โดยการให้องค์กรเอกชนที่ลงทุนโดยไม่หวังผลกำไรมาสนับสนุนผลักดันการศึกษาระบบสเต็มเพื่อเพิ่มคุณภาพนักวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคต ซึ่งเกณฑ์ประเมินตัวชี้วัดการศึกษาทางวิทยาศาสตร์          คณิตศาสตร์จากการวัดของหน่วยงาน  Tim และ Pissa ได้ดำเนินการอยู่ ในหน่วยงานความร่วมือในระหว่างประเทศรวมทั้งประเทศไทยเราด้วย

สำหรับประเทศที่มีการตื่นตัวกับการศึกษาในเรื่องสเต็มกันมากไม่วาจะเป็นประเทศจีน อเมริกา อนเดีย ฯลฯ โดยจากการศึกษาพบว่าในจีนจะผลิตบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสเต็มออกมาประมาณ 3.5 ล้านคน ซึ่งประเทศไทยนั้นยังไม่ตื่นตัวและยกระดับในเรื่องนี้ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก สำหรับคนไทยในอนาคต

10 แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะนำเสนอในบทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการหลากหลายที่จะปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในห้องเรียนของท่าน ให้สอดคล้องกับแนวคิดสเต็มศึกษา ท่านสามารถเลือกบางแนวทางที่เหมาะสมไปปรับใช้ในชั้นเรียนของท่านได้ตามความเหมาะสม ทุกข้อไม่ใช่แนวคิดใหม่ และหวังว่าจะเป็นแนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นอยู่บ้างแล้วในหลายโรงเรียน

1. เชื่อมโยงเนื้อหาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี สู่โลกจริง คุณครูหลายท่านน่าจะทำอยู่แล้วอย่างสม่ำเสมอ เพียงนักเรียนมองเห็นว่าแนวคิดหลัก หรือกระบวนการที่เรียนรู้นั้น สามารถเกิดขึ้นได้ในธรรมชาติ ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง ก็เป็นก้าวแรกสู่การบูรณาการความรู้สู่การเรียนอย่างมีความหมาย เพราะปรากฏการณ์หรือประดิษฐกรรมใดๆ รอบตัวเรา ไม่ได้เป็นผลของความรู้จากศาสตร์หนึ่งศาสตร์ใดเพียงศาสตร์เดียว การประยุกต์ความรู้ง่ายๆ เช่น การคำนวณพื้นที่ของกระดาษชำระแบบม้วน เชื่อมโยงสู่ความรู้ความสงสัยด้านวัสดุศาสตร์ เทคโนโลยีการผลิต และการใช้กระบวนการทางวิศวกรรมวิเคราะห์ปัญหาและสร้างสรรค์วิธีแก้ไขได้อย่างหลากหลายจนน่าแปลกใจ

2. การสืบเสาะหาความรู้ การจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนได้ศึกษาประเด็นปัญหา หรือตั้งคำถาม แล้วสร้างคำอธิบายด้วยตนเอง โดยการรวบรวมประจักษ์พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง สื่อสารแนวคิดและเหตุผล เปรียบเทียบแนวคิดต่างๆ โดยพิจารณาความหนักแน่นของหลักฐาน ก่อนการตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่ง นับเป็นกระบวนการเรียนรู้สำคัญ ที่ไม่เพียงแต่สนับสนุนการเรียนรู้ในประเด็นที่ศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นช่องทางให้มีการบูรณาการความรู้ในศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำถาม นับเป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่สนับสนุนจุดเน้นของสเต็มศึกษาได้เป็นอย่างดี

3. การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน การทำโครงงานเป็นการสืบเสาะหาความรู้ในรูปแบบหนึ่ง แต่ผู้เขียนได้แยกโครงงานออกมาเป็นหัวข้อเฉพาะ เนื่องจากเป็นแนวทางที่สามารถส่งเสริมการบูรณาการความรู้สู่การแก้ปัญหาได้ชัดเจน การสืบเสาะหาความรู้บางครั้งครูเป็นผู้กำหนดประเด็นปัญหา หรือให้ข้อมูลสำหรับศึกษาวิเคราะห์ หรือกำหนดวิธีการในการสำรวจตรวจสอบ ตามข้อจำกัดของเวลาเรียน วัสดุอุปกรณ์ หรือปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แต่การทำโครงงานนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนเกิดประสบการณ์การเรียนรู้สำคัญในทุกขั้นตอนด้วยตนเอง ตั้งแต่การกำหนดปัญหา ศึกษาความรู้ที่เกี่ยวข้อง ออกแบบวิธีการรวบรวมข้อมูล ดำเนินการ ลงข้อสรุป และสื่อสารสิ่งที่ค้นพบ (บางครั้งครูอาจกำหนดกรอบกว้างๆ เช่น ให้ทำโครงงานเกี่ยวกับพลังงานทดแทน โครงงานเกี่ยวกับการใช้คณิตศาสตร์ในผลิตภัณฑ์ของชุมชน เป็นต้น) โครงงานในรูปแบบสิ่งประดิษฐ์จะมีการบูรณาการกระบวนการทางวิศวกรรมได้อย่างโดดเด่น แต่โครงงานในรูปแบบอื่น ทั้งโครงงานเชิงทดลอง เชิงสำรวจ หรือเชิงทฤษฎี ก็มีคุณค่าควรแก่การสนับสนุนไม่แพ้กัน แม้นักเรียนจะมีบทบาทหลักในการเรียนรู้ผ่านการทำโครงงาน แต่บทบาทของครูในการให้คำปรึกษาระหว่างนักเรียนทำโครงงานนั้นเป็นบทบาทที่สำคัญและท้าทาย เนื่องจากครูมีความรับผิดชอบในการสนับสนุนให้นักเรียนเกิดความรู้ความสามารถตามเป้าหมายการจัดการเรียนรู้ โดยครูต้องเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ไปพร้อมๆ กับนักเรียนในทุกหัวข้อโครงงาน

4. การสร้างสรรค์ชิ้นงาน แนวคิดนี้ไม่ได้เป็นแนวคิดใหม่เลยเสียทีเดียว ผู้เขียนยังจดจำประสบการณ์วัยเด็กได้ว่า มีโอกาสประดิษฐ์สิ่งของ อุปกรณ์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสานพัด การร้อยมาลัย การประดิษฐ์เครื่องดนตรี สมุดภาพ การจัดป้ายนิเทศ เด็กๆ ทุกวันนี้อาจได้รับการมอบหมายให้สร้างสรรค์ชิ้นงานที่แตกต่างไปจากยุคก่อน เช่น ประดิษฐ์ป้ายไฟ รถแข่งพลังงานแสงอาทิตย์ ถ่ายหนังสั้น ทำมัลติมีเดียสำหรับนำเสนองาน ประสบการณ์การทำชิ้นงานเหล่านี้ สร้างทักษะการคิด การออกแบบ การตัดสินใจ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นงานที่ครูผู้สอนเปิดโอกาสให้นักเรียนคิดอย่างอิสระและสร้างสรรค์ การประดิษฐ์ชิ้นงานเหล่านี้ประยุกต์ใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ อย่างไม่รู้ตัว บางครั้งครูอาจจัดให้นักเรียนสะท้อนความคิดว่าได้เกิดประสบการณ์หรือเรียนรู้อะไรบ้างจากงานที่มอบหมายให้ทำ เพราะเป้าหมายของการเรียนรู้อยู่ที่กระบวนการทำงานด้วยเช่นกัน หากนักเรียนมองเพียงเป้าหมายชิ้นงานที่สำเร็จอย่างเดียว อาจไม่ตระหนักว่าตนเองได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญมากมายระหว่างทาง

5. การบูรณาการเทคโนโลยี เพียงครูบูรณาการเทคโนโลยีที่เหมาะสมสู่กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน ครูก็ได้ก้าวเข้าใกล้เป้าหมายการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสเต็มศึกษาอีกก้าวหนึ่งแล้ว เทคโนโลยีที่ครูสามารถใช้ประโยชน์ในชั้นเรียนปัจจุบันมีได้ตั้งแต่การสืบค้นข้อมูลลักษณะต่างๆ การบันทึกและนำเสนอข้อมูลด้วยภาพนิ่ง วีดิทัศน์ และมัลติมีเดีย การใช้อุปกรณ์ sensor/data logger บันทึกข้อมูลในการสำรวจตรวจสอบ การใช้ซอฟต์แวร์จัดกระทำ วิเคราะห์ข้อมูล และเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมากมาย การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ กระตุ้นให้นักเรียนสนใจการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้ประยุกต์ใช้ความรู้ แก้ปัญหา และทำงานร่วมกัน รวมทั้งสร้างทักษะสำคัญในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพต่อไปในอนาคตด้วย

6. การมุ่งเน้นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 กิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทางสเต็มศึกษาพัฒนาพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างทักษะการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรม (Learning and Innovation Skills) ตามกรอบแนวคิดของ Partnership for 21st Century Skills ที่ครอบคลุม 4C คือ Critical Thinking (การคิดเชิงวิพากษ์) Communication (การสื่อสาร) Collaboration (การทำงานร่วมกัน) และ Creativity (การคิดสร้างสรรค์) จะเห็นได้ว่ากิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบโครงงาน หรือการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นสามารถสร้างเสริมทักษะเหล่านี้ได้มาก อย่างไรก็ตามในบริบทของโรงเรียนทั่วไป ครูอาจไม่สามารถให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยการทำโครงงาน หรือการสร้างสรรค์ชิ้นงานเท่านั้น ดังนั้นในบทเรียนอื่นๆ ถ้าครูมุ่งเน้นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ในทุกโอกาสที่เอื้ออำนวย เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น ทำงานร่วมกัน เรียนรู้การหาที่ติ (ฝึกคิดเชิงวิพากษ์) หาที่ชมหรือเสนอวิธีการใหม่ (ฝึกคิดเชิงสร้างสรรค์) ก็นับว่าครูจัดการเรียนการสอนเข้าใกล้แนวคิดสเต็มศึกษามากขึ้น ตามสภาพจริงของชั้นเรียน

7. การสร้างการยอมรับและการมีส่วนร่วมจากชุมชน ครูหลายท่านอาจเคยมีประสบการณ์กับผู้ปกครองที่ไม่เข้าใจแนวคิดการศึกษาที่พัฒนานักเรียนให้เป็นคนเต็มคน แต่มุ่งหวังให้สอนเพียงเนื้อหา ติวข้อสอบ อยากให้ครูสร้างเด็กที่สอบเรียนต่อได้ แต่อาจใช้ชีวิตไม่ได้ในสังคมจริงของการเรียนรู้และการทำงาน เมื่อครูมอบหมายให้นักเรียนสืบค้น สร้างชิ้นงาน หรือทำโครงงาน ผู้ปกครองไม่ให้การสนับสนุน หรืออีกด้านหนึ่งผู้ปกครองรับหน้าที่ทำให้ทุกอย่าง อย่างไรก็ตาม หวังว่าผู้ปกครองทุกคนจะไม่เป็นไปตามที่กล่าวข้างต้น ผลงานจากความสามารถของเด็ก เป็นอาวุธสำคัญที่ครูจะนำมาเผยแพร่จัดแสดงเพื่อชนะใจผู้ปกครองและชุมชนให้ให้การสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสเต็มศึกษา ครูสามารถนำนักเรียนไปศึกษาในแหล่งเรียนรู้ของชุมชน สำรวจสิ่งแวดล้อมธรรมชาติในท้องถิ่น ศึกษาและรายงานสภาพมลพิษหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ให้ชุมชนรับทราบ ตลอดจนศึกษาและแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในชุมชน กิจกรรมการเรียนรู้เหล่านี้ เกิดประโยชน์สำหรับนักเรียนเอง อาจเป็นประโยชน์สำหรับชุมชน และสามารถสร้างการมีส่วนร่วม ความภาคภูมิใจ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือความรู้สึกเป็นเจ้าของ ร่วมรับผิดชอบคุณภาพการจัดการศึกษาในท้องถิ่นตัวเองให้เกิดขึ้นได้

8. การสร้างการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่น การให้นักเรียนศึกษาปัญหาปลายเปิดตามความสนใจของตนเองในลักษณะโครงงาน ตลอดจนการเชื่อมโยงการเรียนรู้สู่การใช้ประโยชน์ในบริบทจริงนั้น บางครั้งนำไปสู่คำถามที่ซับซ้อนจนต้องอาศัยความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง ครูไม่ควรกลัวจะยอมรับกับนักเรียนว่าครูไม่รู้คำตอบ หรือครูช่วยไม่ได้ แต่ควรใช้เครือข่ายที่มี เชื่อมโยงให้ผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นมาช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน เครือข่ายดังกล่าวอาจเป็นได้ทั้ง ศิษย์เก่า ผู้ปกครอง ปราชญ์ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่น ครูสามารถเชิญวิทยากรภายนอกมาบรรยายหรือสาธิตในบางหัวข้อ หรือใช้เทคโนโลยี เช่น การประชุมผ่านวีดิทัศน์ เอื้ออำนวยให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถพูดคุย ให้ความคิดเห็น หรือวิพากษ์ผลงานของนักเรียน เป็นต้น

9. การเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ (informal learning) เด็กๆ นั้นรักความสนุก หากเราจำกัดความสนุกไม่ให้กล้ำกรายใกล้ห้องเรียน ความสุขคงอยู่ห่างไกลจากครูและจากเด็กไปเรื่อยๆ แต่จะบูรณาการความสนุกสู่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ผ่านกระบวนการแก้ปัญหาอย่างไร ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ของครูในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ท้าทาย เพลิดเพลิน ให้การเรียนเหมือนเป็นการเล่น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความรู้และความสามารถตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรด้วย การเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการที่ได้รับความนิยม คือ การจัดกิจกรรมค่าย การเรียนรู้จากเพลง เกม ละคร หรือการประกวดแข่งขัน กิจกรรมเหล่านี้เป็นโอกาสดีที่จะสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชน เช่น อาจเชิญผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นเป็นวิทยากรในค่าย เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หรือให้การสนับสนุนของรางวัล

10. การเรียนรู้ตามอัธยาศัย (non-formal learning) เมื่อครูได้ดำเนินการ 9 ข้อข้างต้นแล้ว อาจมองออกนอกขอบเขตรั้วโรงเรียน สร้างนิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้เป็นวัฒนธรรมของชุมชน ร่วมกันสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านสเต็มในท้องถิ่น เช่น เส้นทางศึกษาธรรมชาติ หรือประยุกต์ความรู้สเต็มเพื่อสนับสนุนแหล่งเรียนรู้วิถีชุมชน เช่น ส่งเสริมให้นักเรียนใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมนำเสนอข้อมูลภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมในชุมชน สร้างหอเกียรติยศสเต็มของหมู่บ้าน เพื่อนำเสนอเรื่องราวการใช้ความรู้สเต็มในการพัฒนาอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น ผลงานด้านการเกษตร ด้านสาธารณสุข ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เป็นต้น

การสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่เคยง่าย แต่ระบบที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้จะมีผลิตภาพจำกัด หน่วยวิจัยของฝ่ายส่งเสริมการศึกษาบริษัทอินเทล ศึกษาโรงเรียน 5 โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้ส่งเสริมสเต็มศึกษาพบว่า ปัจจัยร่วมของโรงเรียนเหล่านี้มี 5 ปัจจัย คือ หนึ่ง ทำในสิ่งที่แตกต่าง สร้างวิสัยทัศน์ และวัฒนธรรมในการเรียนรู้ในแบบของโรงเรียนเอง สอง ครูในโรงเรียนทั้ง 5 ไม่ได้ทำงานแบบข้ามาคนเดียว แต่มีชุมชนวิชาชีพ (professional learning communities) เกิดขึ้นในโรงเรียน ครูคอเดียวกัน ใจเดียวกัน คิด ทำ ร่วมกันในการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน และครูร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาตนเองให้ตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริง สาม มีการออกแบบกิจกรรมเสริมนอกโรงเรียนหรือนอกเวลาเรียน เป็นกิจกรรมที่ออกแบบอย่างรอบคอบและสร้างสรรค์ เช่น ค่าย ชุมนุม ชมรม การประกวดแข่งขันต่างๆ สี่ โรงเรียนให้ความสำคัญและมีคำตอบในการสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้เด็กทุกๆ กลุ่ม ทั้งเก่ง อ่อน รวย จน อย่างทั่วถึง ห้า ทุกโรงเรียนเสาะแสวงหาความร่วมมือและทรัพยากรจากท้องถิ่น

การส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสเต็มศึกษา เป็นความพยายามจากหลากหลายภาคส่วนในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาให้สามารถเตรียมพร้อมเด็กและเยาวชน ให้พร้อมสำหรับการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพในโลกของวันพรุ่งนี้ ด้วยความรู้ความเข้าใจในความงามและคุณค่าของธรรมชาติ ด้วยความสามารถในการสร้างสรรค์วิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบด้วยกระบวนคิดเชิงวิศวกรรม และการใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ เรามีความหวังสร้างลูกหลานของเราให้เป็นคนเต็มคน ที่จะประคับประคองโลกของเรา สังคมของเรา ผ่านอนาคตที่กำหนดไม่ได้ เริ่มจากห้องเรียนของท่าน เริ่มจากโรงเรียนของท่าน เริ่มจากวันนี้

ที่มา : http://www.vcharkarn.com/varticle/60865
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 07, 2015, 11:01:35 AM โดย เลิศชาย ปานมุข »