ผู้เขียน หัวข้อ: ดาบสองคมของคนเก่ง (Talent)  (อ่าน 3730 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923
เมื่อ: กรกฎาคม 20, 2015, 01:03:19 AM
บทเรียนจากละครดีๆ เรื่อง แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง ซึ่งท่านที่ติดตามเรื่องนี้อาจมีคำถามในใจว่าผิดด้วยหรือที่คนเก่งอย่างซอจังกึมโดนกลั่นแกล้ง สารพัดสารเพ จนบางคนทนดูเรื่องนี้อีกต่อไปไม่ได้

หากวิเคราะห์ขีดความสามารถ (competency) ที่รวมถึงความรู้ (knowledge) ความสามารถ (skill) บุคลิกลักษณะ (trait) นิสัยใจคอ (motive) ของซอจังกึมแล้ว จะพบว่าเธอคือ talent ขนานแท้ คือ นอกจากมีความรู้ ความสามารถ (high perfor mance) ที่เห็นได้อย่างเด่นชัดในงานที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นงานปรุงอาหาร และงานรักษาคนป่วย นอก จากนี้ยังมีศักยภาพ (high potential)ในการเติบโตในงานทั้งสองด้าน อีกทั้งถึงพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม (ethics)

ซึ่งประการหลังนี้ ในหลายๆ ครั้งผู้บริหารที่คัดเลือก talent อาจไม่ได้ใส่ใจในเบื้องต้น จนสนับสนุนให้เติบใหญ่แล้วจึงมาทราบที่หลังว่าสนับสนุนคนผิด

การเป็นคนเก่ง แล้วสังคมก็ยอมรับว่าเก่ง (social role) อีกทั้งตัวเองก็รู้ว่าตัวเองเก่ง (self-image) เป็นเสมือนดาบสองคมสำหรับ talent เพราะสิ่งนี้จะสร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับ talent จนในบางครั้งอาจกระทำการใดๆ ที่ขาดการพิจารณาอย่างถ้วนถี่ หรือหาเหตุของปัญหาอย่างจริงจัง ทำให้นำเสนอวิธีการแก้ปัญหาหรือตัดสินใจบนพื้นฐานของประสบการณ์เดิมที่เคยทำสำเร็จมา ซึ่งการกระทำนั้นอาจให้ผลต่างจากอดีตก็เป็นได้

ตัวอย่างตอนหนึ่งจากละครเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นในตอนที่หมอจังกึมคิดจะทำการรักษาคนไข้ที่มีอาการท้องบวมเหมือนกันด้วยวิธีเดียวกัน โดยลืมไปว่าอาการของโรคอาจมาจากสาเหตุที่แตกต่างกัน

ท่านผู้อ่านอาจเคยเจอกับประสบการณ์ที่เพื่อนร่วมงานที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในงาน บอกท่านให้ทำบางอย่างโดยกล่าวว่า

"เชื่อสิ เราเคยมีประสบการณ์มาแล้ว"

"ขอให้เชื่อผม แล้วจะดีเอง"

"ที่ครั้งนั้นเราได้รางวัลมาเพราะเราทำอย่างนี้แหละ"


การพูดเช่นนี้เป็นการพูดที่ขาดการมองบริบทของเรื่องที่อาจเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เวลา สถานที่ คน ทรัพยากร

ในอีกด้านหนึ่ง คนที่สังคมยอมรับว่าเก่ง หรือเป็น Talent นั้นก็มักจะถูกคาดหวังจากสังคมอย่างสูง ซึ่งลืมคิดไปว่า คนคนนี้ก็เป็นคนคนหนึ่ง ซึ่งอาจทำความผิดพลาดได้เช่นกัน จะเห็นว่าหมอจังกึมนั้นถูกคาดหวังจากพระมเหสีอย่างมากในการรักษาพระราชาแต่พออาการของพระราชาไม่ดีขึ้นก็ทำให้ พระมเหสีทรงกริ้วอย่างมาก จนหมอจังกึมเกือบถูกประหาร

เรื่องนี้คงเห็นได้ในหลายๆ องค์กรที่ผู้บริหารมักจะมอบหมายงานสำคัญให้กับคนคนหนึ่งที่เคยทำงานให้ตนสำเร็จงานแล้วงานเล่า โดยลืมไปว่าเค้าคนนั้นมีขีดจำกัดของความสามารถเช่นเดียวกัน

ส่วนคนรับที่เป็น talent นั้นก็ได้แต่ตั้งคำถามในใจว่าตนเป็นผู้วิเศษหรืออย่างไรที่จะทำได้ทุกอย่างที่ผู้บริหารมอบหมายมา หรือคิดว่างานนี้อยู่ในคำบรรยายลักษณะงาน (job description) ข้อไหนของตน แต่ถ้าไปถามผู้บริหาร talent ก็อาจหน้าแตกได้ เพราะทุกเรื่องที่ผู้บริหารสั่งอยู่ในข้อสุดท้ายของคำบรรยายลักษณะงานเสมอ นั่นคือ รับผิดชอบงานที่หัวหน้างานมอบหมาย

นอกจากนี้การกระทำของหัวหน้าที่มอบหมายงานแต่เฉพาะคนที่ตนเห็นว่าเป็น talent นั้นอาจทำให้เกิดการแตกสามัคคีในหมู่เพื่อนที่ทำงานด้วยกัน

"เก่งนักก็ทำคนเดียวแล้วกัน"

"เธอทำนะดีแล้ว หัวหน้าชอบสไตล์เธอ"

"คุณบอกมาแล้วกันว่าจะเอายังไง"


กลายเป็นว่างานที่ควรจะต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ กลับไม่มีคนอยากจะคิดอยากจะทำ เนื่องจากตนรู้สึกว่าด้อยกว่า talent

การจัดการ talent จึงเป็นสิ่งที่น่าพึงระวังทั้งของคนที่ถูกยกย่องให้เป็น talent และคนที่คัดเลือก talent เพราะหากเลือกผิดพลาดก็เท่ากับส่งเสริมคนผิด
แต่หากเลือกถูกก็มิใช่ว่าจะส่งผลดีต่อผู้เลือกและผู้ถูกเลือกเสมอไป

เรื่องนี้จึงทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำกล่าวที่ว่า "ดีได้แต่อย่าเด่นจะเป็นภัย"

ที่มา : www.siamhrm.com