ผู้เขียน หัวข้อ: การเลือกตั้งครั้งแรกของไทยเกิดขึ้นเมื่อไร?  (อ่าน 4259 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923


               การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งล่าสุด คือ ในวันที่ 3 ก.ค. 54 เป็นครั้งที่ 26 ของไทยแล้ว แต่ทราบไหมว่าการเลือกตั้งครั้งแรกของไทยนั้น เกิดขึ้นเมื่อไร

               การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ที่มาของการเลือกตั้งครั้งนั้นเกิดจากการที่นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น คือ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา แถลงต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลได้ปราบกบฏบวรเดชลงได้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม เมื่อบ้านเมืองสงบแล้ว จึงจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งขึ้น

               ในขณะนั้นประเทศไทยยังใช้ชื่อว่า "สยาม" แบ่งการปกครองเป็น 70 จังหวัด โดย ส.ส. ที่ได้รับคัดเลือกเข้าไปในสภามีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกคือ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขึ้น จำนวน 78 คน และประเภทที่ 2 มาจากการเลือกตั้งอีก 78 คน โดยประเภทที่เลือกตั้งนั้น ส่วนใหญ่ประชาชนสามารถเลือกผู้แทนได้จังหวัดละ 1 คน แต่ก็มีบางจังหวัดได้มากกว่าหนึ่งคน ได้แก่ เชียงใหม่, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, นครราชสีมา มีผู้แทนได้ 2 คน และ จังหวัดพระนครในขณะนั้น กับ อุบลราชธานี มีผู้แทนได้ 3 คน โดยคำนวณจากจำนวนประชากร 200,000 คน ต่อการมีผู้แทน 1 คน รวมมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 156 คน

               แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็น "การเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวของไทย" ตราบจนปัจจุบัน กล่าวคือ กรมการอำเภอ ได้ดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนตำบลขึ้นทั่วประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 จากนั้นผู้แทนตำบลก็จะไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกขั้นหนึ่ง

               การเลือกตั้งครั้งแรกมีผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 4,278,231 คน มีผู้ออกไปใช้สิทธิ 1,773,532 คน คิดเป็นร้อยละ 41.5 โดยจังหวัดที่มีผู้ไปใช้สิทธิมากที่สุด คือ จังหวัดเพชรบุรี คิดเป็นร้อยละ 78.82 และจังหวัดที่มีผู้ออกไปใช้สิทธิน้อยที่สุด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน คิดเป็นร้อยละ 17.71

ที่มา  :  วิชาการดอทคอม