ผู้เขียน หัวข้อ: การบริหารความเครียดของผู้นำ (Stress management)  (อ่าน 3753 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3923

             ไม่มีใครในโลกที่ปราศจากความเครียด ยิ่งเป็นผู้นำด้วยแล้ว สิ่งต่าง ๆ ถาโถมเข้ามามากมายให้ต้องคิด ต้องฟัง ต้องรับผิดชอบ ต้องแก้ปัญหา หากประคองตนไม่อยู่ก็จะเกิดภาวะ"สติแตก" แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมาให้เป็นที่ครหาของผู้คนรอบข้าง เกิดความเสียหาย ขาดความนับถือและเคารพของลูกน้องได้ การจัดการความเครียดของผู้นำไม่ได้มุ่งที่จะให้หมดไปได้ หากแต่จะทำให้เบาบางลงได้อย่างไร แนวทางมีดังนี้ี้

1. ยอมรับความเครียดของผู้นำเป็นเรื่องธรรมดา

              เมื่อตัดสินใจมาเป็นผู้นำ ภารกิจย่อมก่อความเครียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นเรื่องธรรมดา ควรมองให้เป็นเรื่องปกติวิสัย การจะเป็นไต้ก๋งเรือ ย่อมมองเห็นกระแสน้ำ พายุคลื่นลมแรงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเผชิญและฝ่าฟันให้ผ่านพ้นไปให้ได้ มันเป็นสภาวะธรรมชาติของทุกสิ่งที่มีเหตุปัจจัยให้เกิดไม่อาจเลี่ยงได้เพียง แต่เราต้องมีสติเพียงพอและรู้จักการปล่อยวางบ้าง

2. ตั้งสติให้ได้เมื่อมีปัญหา

             - กล้าเผชิญกับปัญหา ไม่มีวิธีการแก้ปัญหาได้โดยไม่รับรู้เข้าใจในปัญหา หลายคนพยายามระงับไม่พยายาม พยายามพูดถึงปัญหาเพราะความเกรงใจหรือเกรงกลัว หากเป็นเช่นนี้ย่อมไม่อาจแก้ปัญหาได้ 

             - แบ่งปัญหาตามความสำคัญก่อนหลัง หากมีปัญหาประดังเข้ามามาก ควรเรียงลำดับความสำคัญของปัญหาเพื่อ เอามาพิจารณา ไม่ควรเผชิญกับปัญหาทั้งหมดพร้อม ๆ กัน เพราะจะสูญเสียพลังในการแก้ปัญหาไปมาก เริ่มไปทีละเรื่อง เดี๋ยวก็หมดเอง

             - ใคร่ครวญวิเคราะห์ปัญหาด้วยใจเป็นกลาง บนพื้นฐานความเป็นจริง ให้มองปัญหาจากข้อมูลที่เป็นจริงแล้ว ค่อย ๆ ไตร่ตรองใคร่ครวญอย่างรอบคอบ หากมองปัญหาผิดการแก้ปัญหาก็ล้มเหลว

             - เลือกทางออกที่ดีที่สุด บางครั้งคนเราไม่อาจบอกสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นว่าอันไหนดีที่สุด แต่ผู้นำก็ต้องถึงจุดที่ต้อง ตัดสินใจเลือกทางออกที่ดีที่สุด บนพื้นฐานที่เป็นไปได้มากที่สุด หากผู้นำไม่ตัดสินใจ ลอยตัวเหนือปัญหาเท่ากับการก่อ ปัญหาใหม่ขึ้นมาไม่สิ้นสุด

             - ไม่เสียใจกับความผิดพลาดเมื่อคิดดีแล้ว สี่ขายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ไม่มีอะไรบนโลกที่แน่นอนที่สุด เมื่อตัดสินใจอย่างรอบคอบแล้ว ณ เวลานั้น ถือว่าดีที่สุด ต้องยอมรับตนเองและพร้อมที่จะแก้ไขถ้าผิดพลาด

3. ให้เวลากับปัญหาถ้าถึงทางตัน

               บางครั้งปัญหาหรืองานประดังเข้ามาหรือการแก้ปัญหาถึงทางตันที่ยังมองหา ทางออกไม่ได้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการให้เวลากับมัน ฝืนดันทุรังไปรังแต่จะมึน สติแตก สร้างความเครียดให้ตนเองทรมานเปล่า ๆ ให้ปล่อยใจออกจากเหตุการณ์ปัญหาสักระยะ พอเราว่างจากมันและปล่อยวางได้สติก็จะกลับคืนมาและปัญญาในการแก้ปัญหาก็จะเกิด คิดเสียว่า ยังไงก็ต้องแก้ได้ไม่ช้าก็เร็ว อาจใช้วิธีปรึกษาหารือกับ ผู้อื่นที่เราคิดว่าเขาพอช่วยเราได้

4. มองอดีตในเรื่องดีๆ ที่ผ่านมา

              การคิดถึงความสุข ความสำเร็จในอดีตบ้างในยามที่ท้อแท้ หรือมองเห็นชีวิตคนอื่นที่แย่กว่าเรา อาจช่วยให้เรามองเห็นคุณค่าของตนเองและมีกำลังใจในการแก้ปัญหา หรือมุ่งทำสิ่งดี ๆ เป็นการลดความเครียดลงไป

5. มองว่าวันนี้ยังไงก็ต้องผ่านไป

               วันเวลาไม่เคยหยุดนิ่ง วันนี้จะกลายเป็นอดีตในวันพรุ่งนี้ ความสุขและความทุกข์ของคนเราเมื่อมีเกิดขึ้นย่อมมีวันดับไปสลับกันเช่นนี้ไปชั่วชีวิตตราบที่มีลมหายใจอยู่

6. มองวันข้างหน้าว่าต้องมาถึง

              ดวงอาทิตย์มีขึ้นแล้วมีลับจากไป เป็นมาอย่างนี้ไม่มีวันสิ้นสุด หากวันนี้มีความทุกข์มากมาย ให้คิดว่าพรุ่งนี้ยังมีวันใหม่เสมอ เพียงแต่ขอให้เรามีความหวัง มีลมหายใจและความพยายาม ความกล้าพร้อมที่จะเผชิญกับมันในวันรุ่งขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โอกาสย่อมเป็นของเรา

7. หาใครสักคนที่ฟังเราได้ ไม่ควรอยู่คนเดียว

              ผู้นำควรมีคู่คิดไว้เพื่อปรึกษาและระบายความกดดันที่มีอยู่ เพราะบางครั้งผู้นำไม่อาจแสดงอาการออกได้อย่างเสรีต่อหน้าผู้คน ความที่ต้องอดทนอดกลั้นอาจกลายเป็นความกดดันให้เราต้องพบกับความเครียด ผู้ที่สามารถฟังเราได้อาจเป็นสามีหรือภรรยา ลูกน้องคนสนิทที่รู้ใจและเข้าใจบทบาทของตนเองไม่แสดงอาการใกล้ชิดผู้นำ (Power of reference) เพราะเขาอาจนำความลำบากใจมาสู่ผู้นำได้

8. ออกกำลังกาย ผ่อนคลายสมอง

              การออกกำลังกายเป็นการช่วยให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข (Endorphin) อีกทั้งเป็นการปลดปล่อยความเครียดออกมา ลดความฟุ้งซ่านได้นอกจากช่วยสุขภาพแข็งแรง

9. ศึกษาธรรมะเพื่อชำระความเครียด

              หลักของพุทธธรรมจะกล่าวถึง ความทุกข์ สาเหตุแห่งทุกข์ หนทางที่จะดับทุกข์และแนวทางปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ ช่วยให้ผู้นำมองเห็นกฎแห่งความเป็นจริงว่าด้วย ความไม่เที่ยงของทุกสิ่ง เมื่อมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ไม่สามารถยึดถือให้สิ่งที่รักหรือชัง ทุกข์หรือสุข ให้ดำรงอยู่ได้ตลอดกาล ทุกอย่างเกิดขึ้นล้วน มีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่รู้ถึงสภาวะธรรมชาติของโลกทำให้เกิดการรับรู้และปรุงแต่งไม่สิ้นสุดตามตัณหากิเลสของบุคคล การยึดความสุขในทาง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เอาความอยากเป็น ความไม่อยากเป็นมาไว้มากเกินพอดี ทำให้เกิดความทุกข์ ผู้นำตราบที่ยังต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ ขอเพียงเข้าใจสภาวธรรมที่เป็นจริงตามธรรมชาติของตนเอง ผู้อื่น และเหตุการณ์ และมีโยนิโสมนสิการ คือรู้จักการใคร่ครวญ ไตร่ตรองในเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างรอบคอบ ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม มีความรักเมตตาต่อผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น และรู้จักวางเฉยกับเหตุการณ์ที่เราไม่อาจแก้ไขได้ แค่นี้ก็สุขได้เกินพอ

ที่มา : www.ksbrhospital.com